ปฏิจจสมุปบาท จะอธิบายชาติเดียว...หรือ ๓ ชาติ...?


อ่านทั้งหมด ที่เวป http://khunsamatha.com/

ปฏิจจสมุปบาท จะอธิบายชาติเดียว...หรือ ๓ ชาติ...? 

เรื่องนี้นักปราชญ์หลายฝ่ายยังถกเถียงกันอยู่  บางกลุ่มเห็นว่าปฏิจจสมุปบาททั้ง ๑๒ ช่วงสำเร็จได้  มีได้ในชาติเดียวไม่จำเป็นต้องอธิบายข้ามภพข้ามชาติ


--->  คำว่า ชาติ = ความเกิด  ไม่ได้หมายถึงความเกิดจากท้องแม่  แต่หมายถึงความเกิดขึ้นของกิเลส  หรือ  อหังการ  มมังการ (ความสำคัญมั่นหมายว่า  “เรา”  ว่า  “ของเรา”)  ด้วยอำนาจตัณหา อุปาทานนั่นเอง  ส่วนชรามรณะนั้นหมายเอาความรู้สึกว่าตัวตนถูกคุกคามด้วยความสูญสิ้นสลาย  หรือความต้องพลัดพรากจากภาวะชีวิต  อันเป็นที่ปรารถนาที่ต้องการ  


โดยนัยนี้  วงจรของปฏิจจสมุปบาทในการเกิดทุกข์และการดับทุกข์  จึงเป็นเรื่องของชีวิตในปัจจุบันนี้เอง  ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวถึงชาติก่อนและชาติหน้า


กลุ่มที่มีความเห็นอย่างนี้  ก็มีหลักฐานอ้างอิงจากพระไตรปิฎกอยู่พอสมควรเหมือนกัน  เช่นจาก มัชฌิมนิกาย  มัชฌิมปัณณาสก์ (ม.ม. ๑๓/๓๕๔  ข้อ ๓๗๑)  , สังยุตตนิกาย  สฬายตนวรรค (๑๘/๔๐๓  ข้อ ๖๒๗) เป็นต้น  ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทให้เห็นในชีวิตปัจจุบัน



--->  ส่วนกลุ่มที่แบ่งปฏิจจสมุปบาทเป็น  ๓  ชาติ  คือ  อดีต  ปัจจุบัน  และอนาคตนั้น  แบ่ง  อวิชชา  และสังขาร  เป็นส่วนอดีตชาติ  และชรามรณะ  เป็นส่วนของชาติหน้า  นอกจากนั้นอีก ๘ ช่วง  เป็นส่วนปัจจุบันชาติ


กลุ่มหลังนี้มีข้ออ้างอิงทางตำราเหมือนกันเพราะถือว่าถ้าเรายอมรับเรื่องสังสารวัฏคือการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว  ชาติ คือความเกิด  ก็ควรจะหมายถึงความเกิดจากครรภ์มารดา  หรือความเกิดแบบใดแบบหนึ่งใน ๔ แบบ (กำเนิด ๔)  


อนึ่ง  ในนิทเทสแห่งปฏิจจสมุปบาทนั่นเองก็อธิบาย  ชาติ = ความเกิดว่า  การปรากฏขึ้นแห่งขันธ์ (ขนฺธานํ  ปาตุภาโว)  การกลับได้ซึ่งอายตนะ (อายตนานํ  ปฏิลาโภ)  ส่วนชราก็อธิบายในแนวความคร่ำคร่าทรุดโทรมของขันธ์   มรณะก็อธิบายไปในทางความแตกทำลายแห่งขันธ์  การต้องทอดทิ้งร่างกาย  และความขาดชีวิตินทรีย์  เป็นต้น (ขนฺธานํ  เภโท  กเฬวรสฺส  นิกฺเขโป  ชีวิตินฺทริยสฺส  อุปจฺเฉโท)


นอกจากนี้ยังมีพระพุทธพจน์หลายแห่งที่แสดงว่า  เพราะไม่รู้แจ้งแทงตลอดหรือไม่เข้าใจปฏิจจสมุปบาทนี้เอง  สัตว์ทั้งหลายจึงยุ่งเหยิง  เหมือนกลุ่มเส้นด้ายที่ยุ่งขอดกันเป็นปม  และจะไม่สามารถล่วงพ้น  อบาย  ทุคติ  วินิบาต  และสังสารวัฏ(การเวียนว่ายตายเกิด)
(ดู  ที. มหา. ๑๐/๖๕  ข้อ ๕๗  ,  สํ.นิ.  ๑๖/๑๐๐-๑  ข้อ๒๒๔-๕)


หนังสือพระพุทธศาสนาที่ชาวต่างประเทศเขียนที่แบ่ง  ปฏิจจสมุปบาทเป็น ๓ ชาติก็มี  เช่นหนังสือเรื่อง  A critical  survey  of  Indian  philosophy  หน้า ๗๔  ของท่าน  Chandradhar  Sharma  ซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลายในหมู่นักศึกษาปรัชญา

สำหรับผู้เขียน(วศิน  อินทสระ)มีความเห็นแบบประนีประนอม  คือ เห็นว่าปฏิจจสมุปบาทนั้น  จะอธิบายในช่วงสั้นหรือช่วงยาวก็ได้  จะอธิบายวงจรของปฏิจจสมุปบาททั้งหมดโดยขณะจิตเดียว (ตามแนวพระอภิธรรม) ก็ได้  จะอธิบายปฏิจจสมุปบาทในชาติเดียว  ไม่ต้องข้ามภพข้ามชาติก็ได้  และจะอธิบายในช่วงยาวติดต่อกันหลายร้อยชาติก็ได้เช่นกัน  เพราะกิเลสอันก่อให้เกิดกรรมและวิบาก  เช่น  อวิชชา  ตัณหา  อุปาทานนั้น  ย่อมอธิบายให้เห็นได้ทั้งในขณะจิตเดียว  ชาติเดียว  และติดต่อกันหลายร้อยชาติก็ได้  


ทำนองเดียวกับหลักกรรมจะอธิบายในสายสั้นเพียงชาติเดียว  หรือสายยาวหลายๆ ชาติก็ได้  เพราะความต่อเนื่องกันแห่งกรรมเก่ากับกรรมใหม่ย่อมมีอยู่เสมอ


ด้วยเหตุนี้  ในตำราปรัชญาฝ่ายตะวันออกเมื่อกล่าวถึงปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธเจ้าก็มักกล่าวว่า  


ปฏิจจสมุปบาทนั้น ถ้ามองจากทรรศนะสัมพันธภาพ(Relativity) ก็เป็นสังสารวัฏ  แต่ถ้ามองจากทรรศนะสัจจภาพ (Reality)  ก็เป็นนิพพาน  หมายความว่ามันเป็นความจริงอันเดียวกันที่มี ๒ ด้าน


ด้านหนึ่งเป็นสังสารวัฏ (สมุทัยวาร)  อีกด้านหนึ่งเป็นนิพพาน (นิโรธวาร)  


ปฏิจจสมุปบาทสายเกิด (ทุกข์) เป็นสังสารวัฏ  ส่วนปฏิจจสมุปบาทสายดับ(ทุกข์) เป็นนิพพาน  


กล่าวอีกทีหนึ่ง  มีความจริงหรือสิ่งที่เป็นจริงอยู่  ๒  แบบ  หรือ  ๒  ด้าน  คือ  ความจริงแบบสัมพัทธ์ (Relative  Truth) กับความจริงแบบสมบูรณ์  สัมบูรณภาพ (Absolute  Truth)

เมื่อมองในแง่ความจริงแบบสมบูรณ์  ปฏิจจสมุปบาทเป็นนิพพาน    สายนิโรธวารเป็นนิพพาน


พูดย้ำอีกทีหนึ่งว่า  สายสมุทัยวารเป็นสังสารวัฏ  สายนิโรธวารเป็นนิพพาน



ในทำนองเดียวกันนี้  อริยสัจ  ๒  สาย  คือสายเกิดทุกข์ (ทุกข์ , สมุทัย) เป็นสังสารวัฏ   สายดับทุกข์ (นิโรธ)  ซึ่งมีมรรคมีองค์ ๘  เป็นทางดำเนินเป็นนิพพาน  


รวมความว่า  ปฏิจจสมุปบาทเป็นสัมพันธภาพ  เป็นเหตุเป็นผลหรือเป็นเหตุต่อเนื่องกัน  อาศัยเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน  และมันก็เป็นสมบูรณภาพ (Absolute)  ด้วยเหมือนกัน


ตามหลักปฏิจจสมุปบาท  ทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวเนื่องกัน  มีเหตุปัจจัยอาศัยซึ่งกันและกัน  ตกอยู่ภายใต้อำนาจแห่งความเกิดความตาย  มันจึงไม่เที่ยงแท้ถาวร  มันไม่ใช่มีอยู่จริงอย่างเด็ดขาด  และไม่ใช่ไม่จริงอย่างเด็ดขาด  ดังนั้นปรากฏการณ์ต่างๆ จึงแขวนอยู่ท่ามกลาง  ระหว่างความมีอยู่จริงอย่างเด็ดขาด  กับความไม่มีอะไรเลย  (Nothingness)  


แต่ยอมรับว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย  เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดก็ย่อมเกิด  เมื่อมีเหตุปัจจัยให้ดับก็ย่อมดับ  หลักปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธเจ้า  จึงเข้ากลางระหว่างทิฐิทั้งสอง  คือ  อัตถิตา = ความเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีอยู่และมีอยู่อย่างถาวร (Eternalism)  และ นัตถิตา =  ความเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอยู่จริง (Nihilism)  


กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า  ฝ่ายแรกเป็นสัสสตวาทะ  ฝ่ายหลังเป็นอุจเฉทวาทะ

ปฏิจจสมุปบาทในฐานะมัชฌิมาปฏิปทา


เพื่อให้เรื่องดังกล่าวมาข้างบนนี้แจ่มแจ้ง  เห็นควรอ้างพระสูตรบางสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทในฐานะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา  หรือ  มัชเฌนธรรมเทศนา  คือเข้ากลางระหว่างทิฐิเอียงสุดไปข้างใดข้างหนึ่ง


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ”  พระกัจจานะทูลถาม
“ที่เรียกว่าสัมมาทิฐิ  สัมมาทิฐิ”  นั้น  อย่างไร
เรียกว่า สัมมาทิฐิ ?”

“กัจจานะ”  พระศาสดาตรัสตอบ  
“ชาวโลกส่วนมากอาศัยภาวะ  ๒  อย่าง  แสดง
ทิฐิของตน  คือ  อัตถิตา (ความเห็นว่าสิ่งทั้งปวง
มีอยู่จริง)  และ นัตถิตา  (ความเห็นว่าสิ่งทั้งปวง
ไม่มีอยู่จริง)  

ดูก่อนกัจจานะ  เมื่อเห็นโลกสมุทัยด้วยปัญญา
ชอบตามความเป็นจริง  นัตถิตาในโลกก็ไม่มี  
เมื่อเห็นโลกนิโรธด้วยปัญญาชอบตามความเป็นจริง  
อัตถิตาก็ไม่มี  

ดูก่อนกัจจานะ  ชาวโลกส่วนใหญ่มากไปด้วย
ความยึดมั่นถือมั่นในอุบาย(systems) และถูก
คล้องไว้ด้วยหลักการ(อภินิเวส – dogmas)  
ส่วนอริยสาวกย่อมไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุบาย  
ความปักใจ (อฐิฏฺฐานํ)  หลักการ (อภินิเวส)  
และอนุสัยว่า  “ตัวตนของเรา”  ย่อมไม่เคลือบ
แคลงสงสัยในเรื่อง  ทุกข์เท่านั้นย่อมเกิดขึ้น  
ทุกข์เท่านั้นย่อมดับไป”  อริยสาวกย่อมมีญาณ
ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่น  เพียงเท่านี้แหละ
กัจจานะชื่อว่า สัมมาทิฐิ”

“ดูก่อนกัจจานะ  ความยึดมั่นว่า  “สิ่งทั้งปวงมีอยู่”  
เป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง  ความยึดมั่นว่า  “สิ่งทั้งปวง
ไม่มีอยู่  เป็นส่วนสุดข้างหนึ่ง”  ตถาคตแสดงธรรม
เป็นท่านกลาง  ไม่เข้าไปอิงอาศัยส่วนสุดทั้งสอง
นั้นว่า  เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยสังขารจึงมี...เพราะ
อวิชชาดับสังขารจึงดับ...”

(สํ. นิ. ๑๖/๒๐  ข้อ ๔๒-๔๔)

พราหมณ์โลกายัต(โลกายติโก = เรื่องอันเกี่ยวกับ
โลก  ความยึดมั่นเกี่ยวกับโลก
)  คนหนึ่งเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคทูลถามว่า  “สิ่งทั้งปวงมีอยู่หรือ ?”

ตรัสตอบว่า  “ความเห็นว่า  สิ่งทั้งปวงมีอยู่เป็นโลกายัต
ใหญ่ที่สุด”

ถาม : สิ่งทั้งปวงไม่มีหรือ ?

ตอบ : ความเห็นว่า  สิ่งทั้งปวงไม่มี  เป็นโลกายัตที่สอง

ถาม : สิ่งทั้งปวงเป็นภาวะหนึ่งเดียว (เอกัตตะ) หรือ ?

ตอบ : นั่นเป็นโลกายัตที่สาม

ถาม : สิ่งทั้งปวงเป็นภาวะหลายหลาก (ปุถุตตะ) หรือ ?

ตอบ : นั่นเป็นโลกายัตที่สี่

“ดูก่อนพราหมณ์  ตถาคตไม่เข้าไปข้องแวะกับความเห็น
เอียงสุดทั้งสองนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง  แต่ตถาคตย่อม
แสดงธรรมเป็นกลางๆ ว่า  “เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย
 สังขารจึงมี...เพราะอวิชชาดับสังขารจึงดับ...ฯลฯ”
(สํ. นิ. ๑๖/๙๒  ข้อ ๑๗๖)


--->  โดยทำนองเดียวกันนี้  เมื่อมีผู้ทูลถามว่า  ความทุกข์ตนทำให้เกิดขึ้นเองหรือคนอื่นทำให้  หรือทั้งตนเองทำและคนอื่นทำให้  ทรงปฏิเสธความเห็นเช่นนั้น  


เมื่อผู้ถามทูลถามว่า  ความทุกข์ไม่มีหรือ ?  พระโคดมไม่รู้ไม่เห็นทุกข์หรือ ?  ก็ทรงปฏิเสธความคิดเห็นเช่นนั้นแล้วทรงแสดง ปฏิจจสมุปบาท ทั้งสายเกิดและสายดับทุกข์
(สํ. นิ. ๑๖/๒๓-๒๔  ข้อ ๔๙-๕๐)


--->  รวมความว่า  พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฏิจจสมุปบาทในฐานะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา  หรือ  มัชเฌนธรรมเทศนา  ไม่ข้องแวะด้วยอันตคาหิกทิฐิใดๆ


ผู้เข้าใจปฏิจจสมุปบาทอย่างชัดเจน  ย่อมแจ่มแจ้งในปัญหาชีวิตไม่ต้องสงสัยในปัญหาชีวิตอีกต่อไป  สมดังพระพุทธพจน์ที่ว่า


“ภิกษุทั้งหลาย  เมื่อใดอริยสาวกเห็นปฏิจจสมุปบาทนี้
เป็นปฏิจจสมุปปันธรรม(สิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้นตามหลักปฏิ-
จจสมุปบาท) เหล่านี้ชัดเจนตามที่เป็นจริงด้วยปัญญาอัน
ชอบแล้ว  เมื่อนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่อริยสาวกนั้น  จะ
แล่นเข้าหาที่สุดข้างต้น(ปุพพันตะ)  คือสงสัยในชาติก่อน
ว่า  “ในอดีตเราเคยมีหรือไม่หนอ ?  ในอดีตเราได้เคยเป็น
อะไรหนอ ?  ในอดีตเราเคยเป็นอย่างไรหนอ ?  ในอดีต
เราได้เป็นอะไรแล้วจึงได้มาเป็นอะไรหนอ ?”

หรือจะแล่นไปหาที่สุดข้างปลาย (อปรันตะ) คือสงสัยใน
ชาติหน้าว่า  “ในอนาคตเราจักมีหรือไม่หนอ ?  ในอนาคต
เราจักเป็นอะไรหนอ ?  ในอนาคตเราจักเป็นอย่างไร
หนอ ?  ในอนาคตเราเป็นอย่างไรแล้วจักได้เป็นอะไรอีก
หนอ ?”  

หรือจะสงสัยในปัจจุบันว่า  เรามีอยู่หรือไม่หนอ ?  เราคือ
อะไรหนอ ?  เราเป็นอย่างไรหนอ ?  สัตว์นี้มาจากไหนแล้ว
จักไปไหนอีกหนอ ?  ดังนี้  

ที่อริยสาวกไม่แล่นไปเช่นนี้ก็เพราะได้เห็นปฏิจจสมุปบาท
นี้  และปฏิจจสมุปปันนธรรมเหล่านี้ชัดเจนตามความเป็น
จริงด้วยปัญญาอันชอบ”
 
(สํ. นิ. ๑๖/๓๑-๓๒  ข้อ ๖๓)


--->  จะเห็นได้ว่าตามแนวพุทธปรัชญาหรือพุทธมติ  ความเข้าใจอย่างชัดเจนในปฏิจจสมุปบาท  และปฏิจจสมุปปันนธรรม  ทำให้หมดสิ้นความสงสัยในปัญหาชีวิตอย่างไร  ซึ่งปัญหาชีวิตทำนองนี้เป็นที่สงสัย  พิศวงของประชาชนทั่วโลก  นั่นคือปัญหาเรื่องชาติก่อน  ชาติหน้า  และแม้ในปัญหาชีวิตปัจจุบันนี้เอง  ชนส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถให้แจ่มแจ้งได้


สังคมมนุษย์จึงยุ่งเหยิงเหมือนเส้นด้ายที่ขอดกันเป็นปม  ปัญหาชีวิตนั้น  ถ้าแก้ไม่เป็นยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง  


แต่ถ้าบุคคลเข้าใจปฏิจจสมุปบาทอย่างชัดเจนแล้ว  ความสงสัยในปัญหาชีวิตทั้งในอดีต  อนาคต  และปัจจุบันก็จะสลายลงทันที  ภาวะเช่นนั้นเมื่อเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วก็จะดำรงอยู่ตลอดไป

อนึ่ง  ปัญหาของอภิปรัชญาบางอย่างอันเป็นที่สงสัยของนักคิดทั้งสมัยก่อนและสมัยนี้นั้น  มีหลายอย่างที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบ  เพราะทรงเห็นว่าเป็นการเสียเวลาเปล่า  ไม่เป็นขั้นต้นของการบำเพ็ญคุณงามความดี  แต่ละความเห็นล้วนเป็นส่วนสุดข้างใดข้างหนึ่ง  ขอยกตัวอย่าง  อันตคาหิกทิฐิ  ๑๐  ข้อ  ดังนี้


เกี่ยวกับโลก  ๔  ข้อ

๑.  โลกเที่ยง  คือเป็นไปนิรันดรหรือ ?
๒.  โลกไม่เที่ยงหรือ ?
๓.  โลกมีที่สิ้นสุดหรือ ?
๔.  โลกไม่มีที่สุดหรือ ?


เกี่ยวกับชีวะกับสรีระ  ๒  ข้อ

๕.  ชีวะอันนั้น  สรีระก็อันนั้นหรือ ?
๖.  ชีวะก็อย่าง  สรีระก็อย่างหรือ ?


เกี่ยวกับสัตว์หลังจากตาย  ๔  ข้อ

๗.  สัตว์หลังจากตายแล้วมีอยู่หรือ ?
๘.  สัตว์หลังจากตายไม่มีอยู่หรือ ?
๙.  สัตว์หลังจากตายแล้วทั้งมีทั้งไม่มีหรือ ?
๑๐.สัตว์หลังจากตายมีอยู่ก็ไม่ใช่ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่หรือ ?
(สํ. สฬ. ๑๘/๔๘๐  ข้อ ๗๙๕)


--->  ๔  ข้อหลังนั้นอาจทำให้ผู้อ่านบางท่านเข้าใจไปว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงตอบเรื่องตายแล้วเกิด  หรือเรื่องชาติก่อนชาติหน้า  แต่ตามความเป็นจริง  ตามหลักฐานในคัมภีร์ทรงแสดงเรื่องตายแล้วเกิด  หรือเรื่องชาติก่อนชาติหน้าไว้มากมาย  แต่ไม่ทรงยืนยันเด็ดขาดว่า  คนทุกคนสัตว์ทุกตัวตายแล้วเกิดอย่างแน่นอน  หรือตายแล้วสูญอย่างแน่นอน  แต่ทรงแสดงในแนวปฏิจจสมุปบาทว่าจะเกิดหรือไม่เกิดก็สุดแล้วแต่เหตุปัจจัย  


ส่วนเจ้าลัทธิอื่นๆ ซึ่งร่วมสมัยกับพระองค์  เมื่อถูกถามอย่างนี้ก็พยากรณ์เอียงสุดไปข้างใดข้างหนึ่ง
 

บางพวกว่าโลกเที่ยง  บางพวกว่าตายแล้วสูญ  บางพวกว่าทั้งเกิดทั้งสูญ  บางพวกว่าเกิดก็ไม่ใช่สูญก็ไม่เชิง  ตามความเห็นของตนหาคำนึงถึงเหตุปัจจัยไม่  เพียงแต่ยืนยันหรือปฏิเสธไปตามความนึกเดาของตน

อนึ่ง  ปัญหาเหล่านี้  มิใช่เป็นสิ่งที่จะเข้าถึงได้ด้วยเหตุผล  แต่เป็นเรื่องที่ต้องรู้กันด้วยญาณ หรือ การมัวมานั่งเถียงกันด้วยเหตุผลข้างๆ คูๆ แบบตาบอดคลำช้างจึงเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า  ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริง


ใครต้องการรู้จริงก็ทรงแนะนำให้ปฏิบัติตาแนวที่พระองค์เคยผ่านมาแล้ว  ถ้าปฏิบัติได้จริง  ความรู้จริงก็จะเกิดขึ้นเอง  ความสงสัยต่างๆ ก็จะสิ้นสุดไปเอง  


อนึ่ง  การมองให้เห็นวัตถุอันเป็นจักษุวิสัยนั้น  ต้องมองกันด้วยตาจึงจะเห็นได้  และผู้นั้นต้องมีนัยน์ตาปกติด้วย  ถ้าจะเอาหูมามองแม้จะพยายามปานใดก็หาได้เห็นรูปไม่  ฉันใดปัญหาบางอย่างเป็นวิสัยของญาณไม่ใช่วิสัยของเหตุผล  การใช้เหตุผลเข้าไปพิจารณาปัญหาเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จประโยชน์ฉันนั้น

ขอพูดไว้ในที่นี้เสียด้วยว่า  เหตุผล(reason)  ซึ่งใครๆ พากันยกย่องนักหนานั้น  เมื่อนำไปเทียบกับความรู้อันได้จากญาณแล้วเหตุผลต่ำเตี้ยลงไปถนัด  


ตราบใดที่เรายังวุ่นวายอยู่กับการหาเหตุผลนั้น  แสดงว่าเรายังไม่รู้ความจริง  ถ้ารู้ความจริงแล้วก็ไม่ต้องหาเหตุผลอีกต่อไป  เพราะเขาได้ถึงจุดหมายปลายทางที่เหตุผลต้องการจะไปให้ถึงเสียแล้ว


เขาอาจต้องใช้เหตุผลในการอธิบายความจริงที่เขารู้แล้วนั้นบ้าง  เพื่อคนที่ยังไม่รู้ไม่เห็นความจริงจะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความจริงนั้น  


ความจริงบางอย่างเราสามารถรู้ได้แม้เพียงด้วยประสาทสัมผัสทั้ง ๕  อย่างใดอย่างหนึ่ง

ความจริงบางอย่างเราพอรู้ได้ด้วยเหตุผล

แต่ความจริงบางอย่างต้องรู้ด้วยญาณ



คนที่จะรู้อะไรด้วยผัสสะเช่น  จักษุผัสสะ  ต้องมีจักษุดี  


คนที่จะรู้อะไรด้วยเหตุผลก็ต้องมีเหตุผลดี  มีสติปัญญาสูง  


ทำนองเดียวกัน คนที่จะรู้อะไรได้ด้วยญาณ  ก็ต้องมีญาณกว้างไกลและลึกซึ้ง  ญาณนี้เกิดขึ้นด้วยการพัฒนาจิตใจให้เกลี้ยงเกลาสูงส่ง

//////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

ข้อมูลที่ใช้ในการเรียบเรียง  หนังสือชื่อ พุทธปรัชญาเถรวาท  :  อ.วศิน  อินทสระ



หมายเลขบันทึก: 215582เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2008 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

บอกตรงๆว่า สงสัยในพระไตรปิฏก เพราะกว่าจะรวบรวมขึ้นมาได้ต้องผ่านปากต่อปากมาเป็นเวลาตั้งเกือบพันปี แล้วผู้ที่รวบรวมก็มิใช้ใครอื่นไกล ผู้ที่เป็นพราหมณ์มาแต่กำเนิดแล้วเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ผมจึงไม่มีความมั่นใจ

ความจริงแล้วเรื่องในพระไตรปิฎกนั้น เราจะเข้าใจได้จริงแท้อยู่ที่รู้แล้วน้อมนำมาปฏิบัตินะครับ

 

แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ในอินเดียมีจากพื้นเพมาจากศาสนาพราหมณ์ แต่ก็อีกนะครับท่านเหล่านี้ก็มาขอบวชในพุทธศาสนาจนกระทั่งบรรลุธรรมอย่างมากมาย แปลว่าท่านเหล่านั้นย่อมเข้าถึงหลักของศาสนาพุทธและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง  ดังนั้นถ้าผู้รู้ระดับนี้มารวบรวมพระไตรปิฎกก็น่าจะทำให้เกิดความน่าเชื่อมั่นได้นะครับ แต่ถ้าจะมีอะไรผิดพลาดก็ไม่น่าจะมาจากผู้เป็นพราหมณ์มาบวช น่าจะมาจากการไม่เข้าใจจริงหรือไม่เข้าถึงจริงของเราผู้อ่านและผู้แปลมากกว่า ทีนี้เราจะวางใจอย่างไร ก็ให้ว่างใจต่อความรู้ทั้งหลายตามหลักกาลามสูตรแล้วน้อมนำมาปฏิบัติให้กิเลสเบาบางจางคลายให้ได้เถิดครับ ถ้าปฏิบัติแล้วกิเลสบรรเทาลงได้ก็แปลว่าเราน้อมนำความรู้นั้นมาใช้ได้ผลจริงนั่นเองครับ

เดชากูล ชยเดชเบจฆกุล

มีคำสอนของพระพุทธเจ้าตรัสว่า หากสงสัยว่าธรรมข้อใดที่พระสงนั้นได้นำมากล่าวว่าถูกต้องหรือไม่ ให้ นำมาเทียบดูกับธรรมที่มีอยู่

หากว่าสอดคล้องกัน ไม่ขัดแย้งกัน แทงตลอด ก็ ชัดแล้วว่าได้นำมาอย่างถูกต้อง หากไม่ ก็ชัดแล้วว่าไม่ถูกต้องที่นำมานั้นผิด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท