เรื่องดีที่ มวล. : กลั่นกรองโครงการสร้างเสริมสุขภาพ


งานที่จะทำมีทั้งที่ focus ที่กลุ่มนักศึกษา บุคลากร ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย รวมทั้งในจังหวัดนครศรีธรรมราช

เรื่องเดิม

เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๑ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๒.๐๐ น. มีการประชุมเพื่อกลั่นกรองโครงการสร้างเสริมสุขภาพเบื้องต้น ก่อนเสนอของบประมาณสนับสนุนจากแผนงานเครือข่ายพยาบาลศาสตร์ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (พย.สสส.) ณ ห้องประชุมโมคลาน อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ งบประมาณที่ใช้เพื่อการนี้ได้รับการสนับสนุนจากแผนงาน พย.สสส.

ผู้รับผิดชอบหลักคือสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ร่วมกับส่วนกิจการนักศึกษา มีผู้เข้าประชุมทั้งที่เป็นผู้วิพากษ์ ผู้เสนอโครงการ กองเชียร์ผู้พร้อมจะร่วมทำงาน รวมแล้วเกือบ ๓๐ คน

ผู้ทำหน้าที่วิพากษ์ที่เข้าประชุมได้มี ๓ คนคือ ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน ผศ.ดร.มารวย เมฆานวกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คุณ ก. สินศักดิ์ สุวรรณโชติ จากโครงการจัดการองค์ความรู้เรื่องยาเสพติด (อสต.) อีก ๒ ท่านติดภารกิจแต่จะเขียนความเห็นมาให้คือ ดร.ทิพย์วัลย์ สุทิน และ ดร.เลิศชาย ศิริชัย สำนักวิชาศิลปศาสตร์

ดร.เลิศชายบึ่งรถเข้ากรุงเทพฯ อย่างกระทันหันเมื่อตอนเช้าเพื่อทำภารกิจเพื่อชาติ ขอโทษเป็นการใหญ่ที่เข้าฟังการนำเสนอครั้งนี้ไม่ได้ ผู้วิพากษ์ทุกคนได้รับเอกสารโครงการต่างๆ พร้อมแนวทางการให้ความเห็นล่วงหน้าหนาเป็นปึกทีเดียว

คุณปิยวัชน์ คงอินทร์ รักษาการแทนหัวหน้าส่วนกิจการนักศึกษา ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ กำหนดเวลาการนำเสนอโครงการละ ๕-๘ นาที ผศ.ดร.สายฝน เอกวรางกรู อาจารย์สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก นำเสนอความคาดหวังของแผนงาน แนวคิดเรื่อง Health Promoting University (HPU) ภาพรวมของโครงการทั้งหมด ๑๐ โครงการ ว่า map อยู่ใน aspect ใดของ HPU งานที่จะทำมีทั้งที่ focus ที่กลุ่มนักศึกษา บุคลากร ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย รวมทั้งในจังหวัดนครศรีธรรมราช หลายโครงการจะมีผลย้อนกลับเข้าสู่หลักสูตรและการเรียนการสอน

เมื่อได้รู้ว่าโครงการใดอยู่ใน aspect ใดของ HPU ดร.กีร์รัตน์จึงเสนอให้จัดการนำเสนอเป็นกลุ่มๆ แล้วให้ความเห็นตามหลังทีละกลุ่ม ผู้นำเสนอแต่ละคนแสดงออกถึงความตั้งใจที่จะดำเนินโครงการ เอาจริงเอาจังต่อการนำเสนอ การให้ความเห็นไม่เยิ่นเย้อ เราสามารถจบการประชุมได้ก่อน ๑๒ น.เล็กน้อย ต่อจากนั้นได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน โดยเชิญอธิการบดีมาร่วมรับประทานอาหารและรับรู้เรื่องราวของพวกเราไปด้วย

 

บรรยากาศในห้องประชุม

สิ่งดีๆ ที่ปรากฏในการประชุมครั้งนี้  ได้แก่
- เห็นภาพของการทำงานร่วมกันของคนหลายหน่วยงาน ที่ชัดเจนและเชื่อว่าเกิดขึ้นได้แน่นอนคือระหว่างอาจารย์สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์และเจ้าหน้าที่ส่วนกิจการนักศึกษา มีการพบปะพูดคุยกันหลายครั้งแล้ว ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นได้อีก เช่น จากหน่วยพัฒนาองค์กร ศูนย์บริการวิชาการ อาจารย์จากสำนักวิชาอื่นๆ นอกจากนี้ยังเห็นโอกาสในการเชื่อมโยงกับเครือข่ายภายนอก

- นักศึกษาจะเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการหลายโครงการ เป็นโอกาสในการเรียนรู้ ซึ่งจะมีประโยชน์ทั้งต่อตนเองและการทำงานต่อไปในอนาคต

- รองอธิการบดีทั้ง ๒ ท่านให้เวลาในการฟังการนำเสนอและให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารระดับสูงให้การสนับสนุน รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาจะจัดคนให้ช่วยทำงานในโครงการด้วย และมีมุมมองว่าโครงการที่ออกสู่ภายนอกเป็นการนำเสนอ มวล.

- กิจกรรมแบบนี้น่าจะช่วยให้ผู้บริหารและคนทำงานได้รู้จักกันและกันมากยิ่งขึ้น (เชิงศักยภาพ ความรู้ ความคิด) เป็นการสานความสัมพันธ์ และยังช่วยให้ผู้บริหารมองเห็นจุดแข็ง-จุดอ่อนของบุคลากร อันจะนำไปสู่การวางแผนการพัฒนาได้เหมาะสมยิ่งขึ้น บุคลากรเองก็เกิดความรู้สึกดีๆ มีความภาคภูมิใจจากคำชื่นชมของผู้บริหาร

- การนำเสนอของเจ้าของโครงการ แม้จะมีเวลาเพียงสั้นๆ แต่ก็มีข้อมูลที่ช่วยผู้ฟังเข้าใจได้มากกว่าการอ่านเอกสารอย่างเดียว สะท้อนความเข้าใจปัญหา/สถานการณ์ ความตั้งใจ วิธีคิด/การออกแบบการทำงาน

- เจ้าของทุกโครงการ พยายามนำเอา OM มาเป็นเครื่องมือในการวางแผนโครงการ แม้ว่าบางคนจะไม่ได้เข้าประชุมเชิงปฏิบัติการ (อ่านที่นี่) มาก่อน

- ผู้วิพากษ์ กล่าวชื่นชม/ยกย่อง/ขอบคุณผู้จัดทำโครงการทุกคน เพราะงานที่คิดมานั้นตรงกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว และเป็นสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น การให้ความเห็นในส่วนที่ควรปรับปรุงก็ชัดเจนตรงประเด็นด้วยคำพูดที่สร้างสรรค์และให้กำลังใจ

ตัวอย่างของข้อเสนอแนะ มีดังนี้
- การเขียนโครงการ ควรนำเสนอให้เห็นรูปธรรมมากที่สุด ว่าเราเห็นอะไร คิดอะไร จะทำอะไร ให้เกิดผลอะไร เขียนให้เหมือนกับที่พูด คนที่ไม่รู้เรื่องมาก่อนอ่านแล้วรู้เรื่อง

- ถ้าเป็นโครงการระยะสั้น ต้องนำเสนอให้เห็นว่าเรื่องนั้นๆ จะยั่งยืนได้อย่างไร ๑ ปีผ่านไปได้อะไร จะเอาไปใช้ต่ออย่างไร ซึ่งจะเป็นตัวล่อให้งบประมาณไหลเข้ามา

- โครงการระยะยาว ๓ ปี ต้องชัดว่าแต่ละปีจะทำอะไรได้บ้าง ระบุตัวชี้วัดแต่ละช่วงปีให้ชัดเจน

- การพัฒนาระบบข้อมูล เป็นเรื่องเชิงเทคนิค ต้องเลือกว่าชุดข้อมูลที่จะทำก่อนคืออะไร และต้องแสดงให้ชัดว่าการเอาข้อมูลไปใช้จริงๆ เป็นอย่างไร

- เหตุผลที่เลือกทำโครงการนั้นๆ ควรเอาเรื่องใกล้ตัวมาเสนอด้วย ไม่เพียงเขียนตามกรอบวิชาการ อาทิ การทำเรื่องปัญหาอุบัติเหตุจราจรใน มวล. ก็ควรมีข้อมูลว่าในเรื่องดังกล่าวนี้ใน มวล.เป็นอย่างไร มีการดำเนินการแล้วอย่างไรบ้าง ผลลัพธ์เป็นอย่างไร

- โจทย์และคำตอบต้องชัดภายในกรอบเวลาของโครงการ

- การเลือกกลุ่มเป้าหมาย แต่ละโครงการควรเลือกกลุ่มเป้าหมายใดจึงจะเกิดผลตามที่ต้องการ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษาควรเลือกกลุ่มที่ไม่ซ้ำซ้อนกัน

- โครงการที่จะใช้เครือข่ายในชุมชน ต้อง define เครือข่ายให้ชัดและ motivate ให้เข้ามาร่วมเพราะในชุมชนมีหลายเครือข่าย

- การเขียนวัตถุประสงค์ของโครงการ น่าจะมีการ set priority

- แนะให้มีการทำงานร่วมกันกับองค์กร/เครือข่ายภายนอกที่มีการทำงานด้านเดียวกัน

- การตั้งงบประมาณแต่ละโครงการ ต้องปรับให้เหมาะสมกับขนาดของโครงการ กิจกรรม และเป็นไปได้จริง

ดิฉันมีความสุขที่ได้อยู่ในบรรยากาศการทำงานแบบนี้ ช่วยทำหน้าที่จดบันทึกความเห็นต่างๆ เพื่อส่งต่อให้เจ้าของโครงการนำไปปรับปรุง เรานัดกันให้ส่งโครงการฉบับสมบูรณ์ภายในวันศุกร์ที่ ๑๗ ตุลาคม เชื่อว่าหากโครงการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนและดำเนินการได้เกิดผลจริง มวล.จะมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 215343เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท