พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงแสดง ธรรมกาย อันเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ


พิจารณาคำว่าธรรมกายในคัมภีร์ศาสนา

คำว่า “ธรรมกาย” ใน พระบาลีพระสูตรที่ ๔ ขุททกนิกาย อปทาน อัตถสันทัสสกเถราปทาน ที่ ๗ ฉบับสยามรัฐ เล่ม ๓๒ ข้อ ๑๓๙ หน้า ๒๔๓ ว่า


ธมมกายญจ ทีเปนติ เกวลํ รตนากรํ
วิโกเปตุ น สกโกนติ โก ทิสวา นปปสีทติ.


แปลว่า อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงแสดง ธรรมกาย  อันเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะทั้งสิ้น กิเลสทั้งหลายไม่สามารถทำให้ทรงอ่อนกำลังได้ ใครเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใสเล่า


คาถานี้  ท่านพระอัตถสันทัสสกเถระ ระลึกถึงการสร้างบารมีในอดีตชาติ ในครั้งที่ท่านเกิดเป็นพราหมณ์ แล้วกล่าวสรรเสริญพระปทุมมุตระพุทธเจ้า ซึ่งข้าพเจ้าจะอธิบายความตามนัยยะแห่งพระสูตร อรรถกถา และนัยยะแห่งครูธรรมกายทั้งหลาย เฉพาะคำที่ควรอธิบาย ดังต่อไปนี้



คำว่า ทรงแสดงธรรมกาย  ได้แก่ ทรงประกาศ คือทรงทำภาวลักษณะแห่งธรรมกาย ให้ปรากฏ


คำว่า เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ  ได้แก่ เป็นที่เกิด เป็นที่สถิตหรือเป็นที่ปรากฏแห่งรัตนะ คือพระรัตนตรัย แห่งรัตนะคือโพชฌงค์ ๗ และแห่งรัตนะคือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ


อธิบายว่า ธรรมกาย  ย่อมเป็นที่สถิตเป็นที่ปรากฏอยู่แห่งพระรัตนตรัยคือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะอันยอดเยี่ยมจะหารัตนะใดในภพสามเสมอมิได้เลย ดังที่ตรัสไว้ในรัตนสูตรนั้นถ้าว่า บ่อเกิดแห่งรัตนตรัยคือ ธรรมกาย  



ธรรมกาย ก็คือพระพุทธเจ้า เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าก็ทรงเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะเช่นกัน ดังที่ท่านพระเสลเถระกล่าวไว้ในอปทาน ว่า


พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น เป็นที่อาศัยแห่งมนต์คือความรู้ เป็นบุญเขตของผู้แสวงหาความสุข เป็นบ่อเกิดแห่งรัตนะ ฯ


แท้จริง เพราะความปรากฏแห่งธรรมกาย  จึงทำพระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายให้ถึงความเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพุทธรัตนะได้ เพราะความปรากฏแห่งธรรมกาย  พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จึงตรัสรู้ธรรมได้คือทั้งรู้ทั้งเห็นธรรม เป็นธรรมรัตนะ เป็นพระธรรมดวงแก้ว สามารถกำจัดมลทินคือกิเลสทั้งหลายได้จริง และเพราะความปรากฏแห่งธรรมกาย  พระสงฆ์จึงเป็นอริยสงฆ์ เป็นสังฆรัตนะอย่างแท้จริง และเป็นเนื้อนาบุญของชาวโลกได้ เพราะฉะนั้นธรรมกาย จึงเป็นบ่อเกิดแห่งรัตนตรัยด้วยประการฉะนี้ฯ


อีกอย่างหนึ่ง เมื่อธรรมกาย คือพระตถาคตเจ้าปรากฏ รัตนะ คือ โพชฌงค์ ๗ จึงปรากฏ ดังที่ตรัสไว้ในจักกวัตติสูตร ในสังยุตตนิกาย มหาวารวรรคว่า


“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะพระตถาคตอรหันตสัมมา
สัมพุทธเจ้าปรากฏ รัตนะคือ โพชฌงค์ ๗ จึงปรากฏ" ฯ



อนึ่ง ธรรมกาย เป็นบ่อเกิดแห่งธรรมวินัยย่อมมีรัตนะมากมาย คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ รวมเรียกว่าโพธิปักขิยธรรม อันเป็นธรรมฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ ๓๗ ประการ ย่อมมีในธรรมกาย นี้เหมือนกันฯ


คำว่า กิเลสทั้งหลายไม่สามารถทำให้ทรงอ่อนกำลังได้  มีอธิบายว่า กิเลสทั้งหลายไม่อาจทำพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายให้พินาศ คือให้พ่ายแพ้ได้อีก ดังที่ตรัสไว้ในขุททกนิกายธรรมบทว่า


“กิเลสชาตมีราคะเป็นต้น อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระองค์ใดทรงชนะแล้ว อันพระองค์ย่อมไม่กลับแพ้อีก” ฯ


คำว่า ใครเห็นแล้วจะไม่เลื่อมใสเล่า มีอธิบายว่า คำว่า “ใคร”  ในที่นี้หมายเอาบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีบุญสมภารอันสั่งสมไว้มากมายในพุทธศาสนา และไม่เป็นผู้มากด้วยความริษยา เห็นพระสัมพุทธเจ้าแล้วย่อมเกิดความเลื่อมใส ผู้ไม่เลื่อมใสมีประมาณน้อยนัก

 

ด้วยว่าบุคคลผู้ชอบรูป  เมื่อเห็นพระสรีระของพระตถาคต อันประดับด้วยพระมหาปุริสลักษณะและอนุพยัญชนะมีพระฉวีวรณดุจทองคำ รุ่งโรจน์ด้วยพระฉัพพรรณรังสีมี ๖ สี ย่อมเลื่อมใส


บุคคลผู้ชอบเสียง  ฟังพระสุรเสียงที่ทรงแสดงธรรมเทศนา ดุจเสียงของนกการเวก หรือดุจเสียงของท้าวมหาพรหม ย่อมเลื่อมใส



บุคคลผู้ชอบถือการปฏิบัติเศร้าหมองเรียบง่าย  เห็นความที่พระองค์เป็นผู้เรียบง่ายในการใช้ปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้นที่ปอนๆ (แต่สะอาด) ย่อมเลื่อมใส



บุคคลผู้ชอบถือธรรมเป็นประมาณ  ได้ทราบคุณ มีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้นก็ดี ได้เห็น อิทธิปาฏิหาริย์เป็นต้นก็ดี ของพระตถาคตเจ้าแล้ว ย่อมเลื่อมใส นี้เป็นปริยายเบื้องต่ำ



อนึ่ง  การเห็นโดยปริยายเบื้องต่ำ ซึ่งเป็นการเห็นด้วยมังสจักษุ  แล้วเกิดความเลื่อมใส ย่อมนำมาซึ่งการเห็นโดยปริยายเบื้องสูง คือการเห็นธรรมกาย  อันเป็นองค์พระตถาคตเจ้าแท้จริงด้วยปัญญาจักษุ  ของพระอริยสาวกทั้งหลายอันเป็นทัสสนานุตริยะ  (การเห็นอย่างยอดเยี่ยม) ย่อมนำมาซึ่งความเลื่อมใสอย่างแท้จริง และเป็นการเห็นที่ทำให้พ้นจากทุกข์นำสุขมาให้ เหมือนคนเลี้ยงโคชื่อธนิยะ ได้เห็น ธรรมกาย ของพระตถาคตเจ้าแล้วเลื่อมใสยิ่งขึ้นฉะนั้นฯ



ส่วนบุคคลผู้ประกอบด้วยความเห็นผิด (พวกมิจฉาทิฏฐิ) เช่น ครูทั้ง ๖  มีปูรณกัสสปเป็นต้น ก็ตาม คนผู้มีบุญสมภารอันสั่งสมไว้น้อย และเป็นอันธพาลบุคคล ดังเช่นภรรยาของนายสุมนมาลาการเป็นต้นก็ตาม คนผู้มากไปด้วยความริษยาในคุณความดีของผู้อื่น ดังเช่นพระเทวทัตเป็นต้นก็ตาม แม้เกิดร่วมสมัยกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เห็นความงามแห่งพุทธสรีระอันประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการเป็นต้นก็ตาม ได้เห็นอิทธิปาฏิหาริย์อันมหัศจรรย์ไม่ทั่วไปแก่พระสาวกก็ตาม ได้ยินกิตติศัพท์อันงามที่ฟุ้งขจรไปก็ตาม ย่อมไม่เลื่อมใส



**************************************************************************
ขยายความหลักฐานธรรมกาย โดย พระมหาสมเกียรติ วรยโส (ป.ธ.๙)


หมายเลขบันทึก: 215227เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2008 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 เมษายน 2012 15:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท