คิดแบบประภาส


คุณประภาสได้เปรียบเทียบวิธีการสร้างความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็นในลักษณะเดียวกับการตีหินเพื่อให้เกิดประกายไฟ สำหรับใช้งานใดๆ ก็ตาม เราก็ต้องมีเชื้อเพลิงที่ดีเป็นตัวช่วยให้ไฟที่เกิดขึ้นลุกโชนต่อเนื่องสำหรับใช้งานต่อไปได้

บันทึกจากการประชุมวิชาการทางความคิดประจำปี ของ TCDC

Creativities Unfold 08-Connecting Dots: Day 1 Culture: 031008

โดยคุณประภาส ชลศรานนท์

TCDC Gallery II

คุณประภาสเริ่มต้นการบรรยายเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์จากการทบทวนประสบการณ์ของตนเองว่า ลักษณะความคิดของมนุษย์ที่ใช้ในการดำเนินชีวิตและการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในชีวิตของเรา สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ

·                    คิดแบบเป๊ะ เป๊ะ : เป็นความคิดที่มีกรอบ มีบรรทัดฐานชัดเจนแน่นอนหรือมีความตรงเป๊ะ เป็นความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของตรรกะ ทฤษฎี หรือความเป็นเหตุและผล ดังนั้นข้อมูลจากความคิดแบบเป๊ะ เป๊ะ จะมีการแบ่งแยกชัดเจนระหว่างความผิดและความถูกต้อง หรือเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริง  สำหรับความคิดในลักษณะนี้ในทางทฤษฎีทางความคิดก็คือ  Logic Thinking (ผู้เขียน)

ตัวอย่างของความคิดแบบนี้ คือ เราสามารถบอกได้อย่างมั่นใจว่า สุนัข หรือ แมว มีสี่ขาอย่างแน่นอน หรือ ถ้าเราไปฆ่าคนตายก็ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย เป็นต้น

·                    คิดแบบกะ กะ : เป็นความคิดเกิดจากการคาดเดา กะเกณฑ์ ประมาณการในชีวิตประจำวันของเรา โดยอาศัยการเชื่อมโยงประสบการณ์ที่เราเคยประสบมา หรือองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง (หรือบางทีอาจไม่เกี่ยวข้องก็ได้แต่มีผลต่อความคิดในประเด็นดังกล่าวได้-ผู้เขียน) ข้อมูลที่ได้จากความคิดแบบกะ กะ จะเป็นไปในลักษณะเผื่อขาดเผื่อเหลือและไม่ตายตัวเท่าใดนัก เรามักใช้ความคิดลักษณะนี้เพื่อทำนายหรือบ่งบอกสถานการณ์ที่จะกระทำหรือเกิดขึ้นในอนาคตได้

ตัวอย่างของความคิดนี้ เช่น เวลาเราจะไปซื้อของในตลาดสด เราก็จะกะ กะ หรือประมาณว่าเราน่าจะซื้ออะไรบ้างแล้วก็นำเงินไปเผื่อให้พอกับสิ่งของที่เราจะซื้อ โดยมีประสบการณ์ที่เราเคยไปตลาดในอดีตเป็นพื้นฐานว่าควรนำเงินไปจำนวนเท่าใด (ผู้เขียน)

·                    คิดแบบทางเลือก : ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์เพราะความคิดแบบทางเลือกจะไม่ถูกจำกัดแค่หนึ่งหรือสอง แต่อาจมีได้หลายลักษณะหรือหลายรูปแบบ ความคิดลักษณะนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลหรือรูปแบบการแก้ปัญหาที่อยู่บนพื้นฐานของจินตนาการหรือการสร้างสรรค์เพราะจะไม่มีการชี้ถูก ชี้ผิดชัดเจน แต่จะเป็นการคิดเพื่อให้เกิดความคิดแตกแขนงต่อเนื่องไปได้ จุดเริ่มต้นของความคิดแบบทางเลือกที่เราคุ้นเคยคือ การตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นหรือสิ่งที่เราประสบอยู่ในชีวิตประจำวันว่า จริงๆ แล้วต้องเป็นอย่างนั้นหรือไม่ จะมีวิธีอื่นหรือรูปแบบอื่นได้ไหม อย่างไรบ้าง สำหรับความคิดในลักษณะนี้ในทางทฤษฎีทางความคิดก็คือ ความคิดเชิงวิพากษ์หรือ  Critical Thinking หรือทฤษฎีแห่งความน่าจะเป็น (Probability) (ผู้เขียน)

ตัวอย่างของความคิดแบบนี้ เช่น ถ้าบ้านเราอยู่ที่สุทธิสาร แล้วจะไปเรียนที่จุฬาฯ จะมีวิธีการเดินทางในลักษณะใดได้บ้าง คำตอบก็คือ เราสามารถทำได้หลายวิธีทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า แท็กซี่ รถสามล้อ หรือแม้แต่จะใช้หลายวิธีผลมกันก็ได้ ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่พาเราไปสู่จุดหมายได้ทั้งสิ้น (ผู้เขียน)

 

ความคิดทั้ง 3 ลักษณะนี้ดูแล้วมีรูปแบบ และวิธีการคิดที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน รวมทั้งความคิดแต่ละแบบดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องกันเท่าใดนัก แต่ในความเป็นจริงเราต้องใช้ความคิดทั้ง 3 รูปแบบนี้อย่างสอดคล้องสัมพันธ์กันอยู่เสมอๆ ทั้งในการดำเนินชีวิต การทำงาน หรือการตัดสินใจต่างๆ ในชีวิตประจำวันอย่างเป็นอัตโนมัติ เพียงแต่เรื่องบางเรื่องเราอาจใช้ความคิดแบบที่หนึ่งหรือสองหรือสามเป็นปัจจัยหลัก บางเรื่องเราอาจใช้สองวิธีผสมกัน หรือบางทีก็ใช้ทั้งสามวิธีผสมกันไปก็เป็นได้ โดยผู้ที่เลือกใช้วิธีการคิดที่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือปัญหาที่ตนเองประสบอยู่ ย่อมสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและรวดเร็วทันท่วงที (ผู้เขียน)

 

7 วิธีตีหิน (เพื่อจุดประกายไฟแห่งการสร้างสรรค์)

ในประเด็นต่อมา คุณประภาสได้กล่าวถึงกระบวนการและขั้นตอนแห่งความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ โดยเริ่มต้นจากความคิดที่ว่าการจุดประกายไฟแห่งจินตนาการ หรือความคิดสร้างสรรค์ในแบบที่สาม จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามนุษย์ไม่มีความคิด 2 แบบแรกคือคิดแบบเป๊ะ เป๊ะ และคิดแบบกะ กะเป็นตัวสนับสนุน เพราะเราต้องใช้ข้อมูลพื้นฐานหรือข้อเท็จจริงเป็นฐานสั่งสมเพื่อสร้างองค์ความรู้หรือสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ให้เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้คุณประภาสได้เปรียบเทียบวิธีการสร้างความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็นในลักษณะเดียวกับการตีหินเพื่อให้เกิดประกายไฟ สำหรับใช้งานใดๆ ก็ตาม เราก็ต้องมีเชื้อเพลิงที่ดีเป็นตัวช่วยให้ไฟที่เกิดขึ้นลุกโชนต่อเนื่องสำหรับใช้งานต่อไปได้

หลังจากนั้น คุณประภาสได้นำเสนอวิธึการคิดสร้างสรรค์ 7 รูปแบบโดยตั้งชื่อตามแนวคิดการจุดประกายไฟว่า 7 วิธีตีหินเพื่อให้เกิดไฟแห่งจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ไว้ดังต่อไปนี้

1)       ทำลายกรอบดวงตา ประเด็นสำคัญของวิธีการนี้คือ เมื่อเราต้องการคิดหรือสร้างสรรค์สิ่งใดขึ้นมา เราไม่ควรนำความคิดของเราไปติดกับดักแห่งความเคยชิน หรือยึดติดกับสิ่งที่เรายึดถือหรือปฏิบัติต่อๆ กันมาโดยไม่พิจารณาถึงความเป็นจริงหรือการเปลี่ยนแปลงของบริบท เพราะเมื่อเราปฏิบัติซ้ำๆ ไปทุกครั้ง ทุกวันๆ ย่อมไม่เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นได้อย่างแน่นอน

คุณประภาสได้นำเสนอประเด็นของกรอบความคิดที่น่าสนใจอีกประการว่า การสร้างความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องอยู่นอกกรอบเสมอไป (ซึ่งต่างจากข้อมูลที่เคยรับทราบจากข้อมูลหรือคำกล่าวของนักคิดสร้างสรรค์อื่นๆ ว่า ต้องคิดนอกกรอบ-ผู้เขียน) เพียงแต่เราต้องขยายกรอบความคิดของเราให้กว้างใหญ่มากขึ้นกว่าที่เราเคยคิดหรือเคยรับรู้มา ซี่งจะทำให้เราสามารถคิดหรือปฏิบัติได้มากกว่าที่เคยคิดหรือปฏิบัติมา โดยกรอบเหล่านี้กลับจะเป็นบรรทัดฐานให้เราใช้คิดสร้างสรรค์ต่อไปได้ง่ายขึ้นมากกว่าการเริ่มต้นโดยปราศจากกรอบหรือบรรทัดฐานใดๆ โดยอิสระ

คุณประภาสได้ยกตัวอย่าง การพัฒนารถไฟชินคันเซ็นในประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางให้รวดเร็วยิ่งขึ้นด้วยการติดเครื่องยนต์ที่หัวรถจักรทุกโบกี้เพื่อให้รถจักรทุกคันวิ่งไปพร้อมๆ กัน แทนที่จะเป็นการให้หัวขบวนรถจักรลากโบกี้ที่ตามมาหลายๆ โบกี้เพียงลำพังคันเดียว หรือกรณีร้านค้าของชำธรรมดาๆ ชื่อ จีฉ่อย บริเวณตลาดสามย่านที่สามารถหาสินค้าทุกอย่างที่ลูกค้าต้องการมาได้โดยไม่มีกรอบกำหนด จนมีลูกค้าชอบมาลองของให้หาสินค้าแปลกๆ มาให้เป็นประจำ

2)       มองย้อนศร ประเด็นสำคัญของวิธีการนี้คือ การมองปัญหาหรือสิ่งที่ต้องการคิดในแง่มุมอื่นให้แตกต่างจากที่เคยเห็นหรือเคยประสบมา แนวคิดนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยหรือเคยอ่านพบเจอในหนังสือด้วยคำว่า การคิดสร้างสรรค์ต้องมีความคิดต่าง หรือความคิดแตกต่างนั่นเอง ข้อดีของแนวทางนี้คือเมื่อเราไม่คิดหรือกระทำตามสิ่งที่เคยประพฤติหรือปฏิบัติต่อๆ กันมาตามความเคยชินหรือขนบธรรมเนียมปฏิบัติ เราย่อมมองเห็นสถานการณ์ปัญหาในแง่มุมใหม่ที่เกิดขึ้นจากการมองย้อนกลับไปที่สภาพความเป็นอยู่เดิมว่าต้องเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ถ้าไม่เป็นแบบนี้จะเป็นไปในลักษณะใดได้บ้าง และจากจุดที่มองย้อนกลับไปนี้จะสามารถนำเราไปสู่กระบวนการหรือกรรมวิธีในการแก้ไขปัญหารูปแบบใหม่ได้ในที่สุด

คุณประภาสได้ยกตัวอย่างวิธีการคิดแบบมองย้อนศรผ่าน การตั้งชื่อ Brand “Muji” ในประเทศญี่ปุ่น ที่มีคำแปลว่าไม่มี Brand แต่สินค้าของ Muji ก็ได้รับความนิยมจากลูกค้าทั่วโลก หรือแม้แต่ตัวอย่างการแสดง Silent Concert ในเมือง New York ด้วยการไม่เล่น (ตัวโน๊ต) เป็นเสียงเพลงแต่อย่างใด นักดนตรีเพียงแต่เล่นตัวโน๊ต หยุด เพื่อให้เกิดความเงียบขึ้นในการแสดงและให้ผู้ชมตระหนักถึงความสำคัญของความเงียบในเมืองใหญ่ที่มีเสียงดังมากมายและหลากหลายจนแทบฟังไม่ได้ศัพท์สำเนียงใดๆ แม้แต่เสียของตัวเอง

สำหรับในงานเขียนเพลงคุณประภาสก็ได้ใช้แนวคิดมองย้อนศรผ่านการเขียนเพลงสองเพลงคือ รักเป็นดั่งต้นไม้ ซึ่งกล่าวถึงความเจริญงอกงามของความรักที่ปลูกเลี้ยงให้สวยงามได้ โดยได้แรงบันดาลใจแบบกลับด้านจากการได้ยินเสียงเพลง ฝันสลาย ที่กล่าวถึงความแตกสลายของความรัก หรือตัวอย่างจากเพลง ต้นชบากับคนตาบอด ที่กล่าวถึงศักยภาพชื่นชมความงดงามของต้นชบาด้วยหัวใจของคนตาบอด ซึ่งได้แรงบันดาลใจแบบย้อนกลับจากการอ่านบทกลอนที่รำพึงถึงความน่าสงสารของคนตาบอดที่ไม่อาจชื่นชมความสวยงามของต้นชบาและดอกชบาได้

3)       หนามยอก เอาหนามบ่ง ปัญหาที่เราคิดว่าเป็นปัญหาเมื่อพิจารณาดูแล้วอาจแก้ได้ยากหรือไม่สามารถแก้ไขได้ เราอาจลองนำเอาตัวปัญหานั้นมาใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหานั้นเสียเลย ก็อาจเป็นวิธีที่สร้างสรรค์และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นได้ วิธีคิดแบบนี้ตรงกับคำกล่าวที่ว่า “ ถ้าสู้ไม่ได้ ก็ไปเป็นพวกมันเสียเลย” หรือใช้พิษมาแก้พิษในลักษณะเดียวกับการใช้เซรุ่มแก้พิษงูซึ่งตัวเซรุ่มนั้นก็ทำมาจากพิษงู (ผู้เขียน)

ตัวอย่างการแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดแบบนี้ ได้แก่ การใช้น้ำแข็งที่มีอยู่ทั่วไปในขั้วโลกเหนือมาเป็นวัสดุทำบ้าน Igloo ของชาวเอสกิโม หรือจุดเริ่มต้นของกระดาษ Post It ที่เริ่มต้นจากความล้มเหลวในการผลิตกระดาษที่มีกาวด้านหลังเหนียวแน่นมากที่สุด จนกลายมาเป็นกระดาษบันทึกข้อความเตือนความจำที่ลอกทิ้งได้ง่ายเมื่อไม่ใช้งาน

4)       อย่ามองข้ามเรื่องเล็กรอบตัว การเปิดเสาอากาศแห่งการรับรู้และการเปิดโลกทัศน์ของตัวเองในการรับรู้ รับเห็น และรับทราบข้อมูลต่างๆ ทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่รอบตัวเราเพื่อเป็นฐานความรู้ของตัวเราเอง จะนำมาซึ่งการจุดประกายความคิด (ปิ๊ง! แว๊บ! หรือ Intuition – ผู้เขียน) ในเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาและสถานการณ์ที่ประสบอยู่ได้ และบางทีจากข้อมูลที่เรารับรู้ในประเด็นหนึ่งอาจนำไปสู่ความคิดใหม่ในอีกสถานการณ์หนึ่งก็เป็นได้

คุณประภาสยกตัวอย่างจากจุดเริ่มต้นของเกม แฟนพันธุ์แท้ ให้เป็นกรณีศึกษาว่าเริ่มจากวงสนทนาของเพื่อนๆ ในกลุ่มที่พูดคุยซักถามกันเกี่ยวกับนักฟุตบอลทีมลิเวอร์พูลในประเด็นรายละเอียดย่อยๆ ที่คาดไม่ถึงหรือไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาได้อย่างสนุกสนาน ทั้งนี้ หลักการสำคัญของวิธีคิดแบบนี้คือ การสะสมและสั่งสมข้อมูลในหลากหลายรูปแบบด้วยวิธีการอ่าน พูด คุย ฟัง ไว้ให้มากเพียงพอที่จะนำไปใช้งานได้ทันทีที่ต้องการ หรือการสังเคราะห์ให้เกิดข้อมูลใหม่จากฐานข้อมูลที่เรามีอยู่ในตัวเองโดยที่เราไม่รู้ตัว

5)       จับคู่ผสมพันธุ์ การนำวิธีการแก้ปัญหาสองเรื่องขึ้นไปที่ไม่น่าจะนำมาใช้ร่วมกัน ผสมผสานกันหรือ Mix & Match ได้อย่างเหมาะสม วิธีการนี้อาจนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหาหรือรูปแบบความคิด (พันธุ์) ใหม่ที่สร้างสรรค์กว่าของเดิมได้เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามการผสมผสานกันนี้ ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นไปได้และความเป็นเหตุผลเป็นหลัก

ตัวอย่างของวิธีการคิดแบบนี้ คุณประภาสได้ยกตัวอย่างการให้บริการคลีนิคทำฟันในประเทศญี่ปุ่น ที่ให้บริการนวดเท้าเพื่อลดความเครียดของลูกค้าขณะรับบริการกรอฟันและขูดหินปูน ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างดี

6)       สมมตินะ..สมมติ คุณประภาสกล่าวว่าวิธีการนี้จะเป็นรูปแบบที่ตนเองนำมาใช้มากที่สุดในงานเขียนหนังสือ โดยการสมมติเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหรือสถานการณ์นั้นว่า ถ้าเกิดเหตุแบบนี้แล้วจะมีผลอย่างไรหรือมีผลอย่างไรในหลายรูปแบบที่ต่างกันไป วิธีการนี้ถือได้ว่าจะช่วยพัฒนาศักยภาพแห่งจินตนาการของตนเองได้อย่างเต็มที่และตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหรือสถานการณ์นั้น การสมมติจะทำให้เราสามารถคิดค้นเรื่องราวที่ต้องการได้ด้วยการพาความคิดให้หลุดออกมาจากกรอบหรือโลกแห่งความเป็นจริง เพราะเมื่อเป็นเรื่องสมมติย่อมทำให้เราสามารถมองเห็นวิธีการกระทำในลักษณะต่างๆ ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้แต่อย่างใด

วิธีการนี้จะทำให้เราสามารถมองเห็นวิธีการแก้ไขหรือเกิดความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่เป็นการคิดนอกประเด็นหรือไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการแก้ไข นอกจากนี้ วิธีการสมมตินี้ยังใช้ได้ดีกับการระดมสมอง (Brainstorm) ในการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดทั่วไป เพื่อให้เกิดวิธีการแก้ไขปัญหาจากหลากหลายแง่คิดและต่างมุมมองกันไป ซึ่งเมื่อนำมาสังเคราะห์และประมวลรวมกันอย่างมีเหตุผลแล้วจะนำไปสู่รูปแบบการแก้ไขปัญหาหรือแนวความคิดใหม่ได้

7)       ขีดไปก่อน เขียนไปก่อน เคยมีคำพูดในละคอนถาปัดจุฬาเรื่อง หอมกรุ่น..ศุลปุนนอนเปล ว่า “ใด ใด ในโลกล้วนลุยเอา” (ผู้เขียน) คำกล่าวนี้สอดคล้องกับวิธีการนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะหากเรามัวแต่นั่งคิดโน่น คิดนี่บนจินตนาการของเราเองบางทีก็อาจไม่มีผลลัพธ์ออกมาในความเป็นจริงได้แต่อย่างใด ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือ การเริ่มต้นทำหรือขีดๆ เชียนๆ ให้เกิดภาพ เกิดตัวหนังสือ หรือแม้แต่ทำออกมาเป็นวิธีการแก้ไขที่เราคิดอยู่ในสมองให้ออกมาเป็นรูปธรรมเสียก่อน แล้วจากนั้นเราก็ค่อยๆ ขัดเกลาต้นร่างทางความคิดในกระดาษนั้นให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการทีละเล็กทีละน้อยจนสำเร็จครบถ้วน

สำหรับวิธีการแบบนี้ จะตรงกับการคิดแบบร่างอาคารบ้านเรือนที่คุ้นเคยกันในหมู่สถาปนิกผู้ออกแบบในกระดาษร่าง โดยแบบร่างนี้จะบันทึกความคิดตั้งต้นของเราไว้ และแสดงพัฒนาการของความคิดในรูปแบบต่างๆ ที่เรามีต่ออาคารบ้านเรือนที่เราออกแบบหรือแก้ไขปัญหาอยู่จนบรรลุเป็นแบบขั้นสุดท้ายสามารถใช้งานได้ เช่นเดียวกับงานเขียนที่จากจุดต้นร่างความคิดก็ย่อมมีการขูด ขีด แก้ไขต้นฉบับหรือตัวความคิดนั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะพอใจหรือถึงจุดสิ้นสุด (ผู้เขียน)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 214874เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2008 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณที่นำมาเล่าสู่กันฟังครับ

ติดตามผลงานคุณประภาสมาตลอดครับ

สวัสดีค่ะคุณรัชด

ขอบคุณค่ะที่นำเรื่องความคิดของพี่จิก(นักเขียนคนโปรด) มาเล่าต่อ ได้ความรู้มากมายเลยค่ะ

ขอบคุณมากครับ มีประโยชน์มากๆเลย

เสียดายไม่มีโอกาสไป แต่รู้สึกว่ามีนักออกแบบเก่งๆ

หลายท่านมาบรรยายด้วยนะครับ

เชิญชมได้ที่บล็อกของคุึณ นรินทร์ ครับ

มีภาพด้วย แบ่งปันกันครับ

http://1001ii.wordpress.com/

ขอบคุณมากครับ

กำลังทำอีกหลายๆ คนเก็บไว้

เสร็จแล้วจะมาแชร์กันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท