น้ำตกแจ้ซ้อน


บ่อน้ำพุร้อน

  

แจ้ซ้อน - ข้อมูลทั่วไป

      อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ และอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด มีสภาพป่าอันอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร มีสัตว์ป่านานาชนิด และมีทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกแอ่งน้ำอุ่น บ่อน้ำพุร้อน ซึ่งสามารถเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่าใต้พื้นโลกเรายังมีความร้อนระอุอยู่ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง มีเนื้อที่ประมาณ 480,000 ไร่ หรือ 768 ตารางกิโลเมตร
      ป่าไม้เขตลำปางได้มีหนังสือ ที่ กษ 0709(ลป)/4181 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2524 เรื่อง ขอกำหนดพื้นที่ป่าบริเวณน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นวนอุทยาน กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งที่ 1648/2524 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2524 ให้นายนฤทธิ์ ตันสุวรรณ นักวิชาการป่าไม้ 6 ไปทำการสำรวจ สรุปได้ว่าสภาพป่าบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีจุดเด่นทางธรรมชาติสวยงามหลายแห่ง มีน้ำตกและน้ำพุร้อนไหลตลอดปี เหมาะสำหรับจัดเป็นวนอุทยาน ในปีงบประมาณ 2526 กรมป่าไม้ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งวนอุทยานแอ่งน้ำอุ่น (วนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน) บริเวณน้ำตกแจ้ซ้อน ตำบลแจ้ซ้อน กิ่งอำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 45,000 ไร่ หรือ 75 ตารางกิโลเมตร โดยอยู่ในความดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตลำปาง
      ต่อมากรมป่าไม้ได้มีหนังสือ ที่ กษ 0713/13868 และ 13870 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2526 ถึงจังหวัดลำปางและป่าไม้เขตลำปาง ขอความเห็นที่จะยกฐานะวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน (วนอุทยานแอ่งน้ำอุ่น) เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจังหวัดลำปางได้มีหนังสือ ด่วนมาก ที่ ลป 0009/18356 ลงวันที่ 12 กันยายน 2526 และป่าไม้เขตลำปางได้ให้ความเห็นชอบและสนับสนุน ในการที่จะกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ เป็นการสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2526 ที่กำหนดให้จังหวัดลำปาง เป็นจังหวัดส่งเสริมการท่องเที่ยว
      กองอุทยานแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมต่อมาเป็นระยะๆ และกองอุทยานแห่งชาติ สำนักงานป่าไม้เขตลำปางและส่วนราชการองค์กรภาคเอกชนของจังหวัดลำปาง ได้เริ่มโครงการจัดตกแต่งวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 60 พรรษา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2529 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2530 และเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2530 ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจราชการวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน เกิดความประทับใจในธรรมชาติที่สวยงาม จึงเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อวางแผนพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีเสนอ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2530 และได้มีหนังสือแจ้งให้กรมป่าไม้ดำเนินการตามสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0202/2889 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2530
      กองอุทยานแห่งชาติกรมป่าไม้ จึงมีคำสั่งที่ 388/2530 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2530 ให้ นายสุทัศน์ วรรณะเลิศ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจพื้นที่ป่าบริเวณวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อน เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่ เพื่อยกระดับฐานะวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นอุทยานแห่งชาติ อีกทั้งนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อธิบดีกรมป่าไม้ และนายธำมรงค์ ประกอบบุญ ผู้อำนวยการกองอุทยานแห่งชาติ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและร่วมพิจารณาความเหมาะสมในการวางแนวทางพัฒนาวนอุทยานน้ำตกแจ้ซ้อนเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2530 และกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2530 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2530 เห็นชอบในการยกฐานะเป็นอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าแม่สุก ป่าแม่สอย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย ป่าแม่ตุ๋ยฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลแจ้ซ้อน ตำบลเมืองปาน ตำบลบ้านขอ ตำบลทุ่งกว้าง อำเภอแจ้ห่ม และตำบลบ้านคำ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เนื้อที่ประมาณ 370,000 ไร่ หรือ 592 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 105 ตอนที่ 122 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2531 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 58 ของประเทศ
      ต่อมาได้มีประกาศขยายเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติป่าแม่สุก ป่าแม่สอย ป่าแม่ตุ้ยฝั่งซ้าย และป่าแม่ตุ้ยฝั่งขวา ในท้องที่ตำบลวังใต้ ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ ตำบลแม่สุก อำเภอแจ้ห่ม และตำบลหัวเมือง ตำบลเมืองปาน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง พ.ศ. 2543 เนื้อที่ประมาณ 110,000 ไร่ หรือ 176 ตารางกิโลเมตร ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 121 ก ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2543
     
     
      การเดินทาง
      อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดลำปางประมาณ 75 กิโลเมตร สามารถเดินทางไปอุทยานแห่งชาติได้ดังนี้
     
     
      - จากตัวเมืองลำปาง ไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1035 (ลำปาง-วังเหนือ) จนถึงปากทางเข้าอำเภอแจ้ห่มไปประมาณ 3 กิโลเมตร จนถึง กม.ที่ 58 เลี้ยวซ้ายมาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1287 ซึ่งผ่านอำเภอเมืองปาน และเลี้ยวไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1252 (ข่วงกอม-ปางแฟน) เป็นระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานแห่งชาติตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
     
     
     
      - จากตัวเมืองลำปางไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 (ลำปาง-ห้างฉัตร) เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1157 (ลำปาง-ห้วยเป้ง-เมืองปาน) ระยะทาง 55 กม. เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1287 (เมืองปาน-แจ้ห่ม) ประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1252 อีกประมาณ 11 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าอุทยานแห่งชาติตามทาง รพช.อีกประมาณ 3 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน
     
     
      ห้องสุขาชาย
      มีห้องสุขาชายให้บริการ
      ห้องสุขาหญิง
      มีห้องสุขาหญิงให้บริการ
      ที่พักแรม/บ้านพัก
      มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
      สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์
      อุทยานแห่งชาติจัดเตรียมเต็นท์และสถานที่กางเต็นท์ ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว การสำรองที่พักเต็นท์สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดและสำรองที่พักเต็นท์ได้กับอุทยานแห่งชาติโดยตรง สำหรับอัตราค่าบริการอยู่ระหว่าง 250-800 บาท ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ เช่น
      รายการที่ 1
      - เต็นท์ ขนาด 3 คน ราคา 250 บาท/คืน
      - เต็นท์โดม ขนาด 5 คน ราคา 400 บาท/คืน
      - เต็นท์เคบิน ขนาด 6 คน ราคา 500 บาท/คืน
      - เต็นท์ค่าย ขนาด 6 คน ราคา 500 บาท/คืน
      แต่ละประเภทจะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอน ที่รองนอน ถุงนอน และชุดสนาม
      รายการที่ 2
      - เต็นท์ ขนาด 2 คน ราคา 400 บาท/คืน
      - เต็นท์โดม ขนาด 4 คน ราคา 800 บาท/คืน
      - เต็นท์เคบิน ขนาด 4 คน ราคา 800 บาท/คืน
      - เต็นท์ค่าย ขนาด 4 คน ราคา 800 บาท/คืน
      แต่ละประเภทจะได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอนใหญ่ ที่นอน ผ่าห่ม และชุดสนาม
      กรณีที่นำเต็นท์ไปกางเอง ต้องเสียค่าบริการสถานที่ 30 บาท/คน/คืน หากไม่มีเครื่องนอนก็ใช้บริการเครื่องนอนและอุปกรณ์สนามของอุทยานฯ มีอัตราค่าบริการเครื่องนอนกรณีนำเต็นท์ไปเอง มีดังนี้
      1) ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอน ถุงนอน ที่รองนอน และชุดสนาม ราคา 150 บาท/ชุด/คืน
      2) ชุดเครื่องนอน ประกอบด้วย หมอนใหญ่ ที่นอน ผ่าห่ม และชุดสนาม ราคา 200 บาท/ชุด/คืน
      ที่จอดรถ
      มีลานจอดรถให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
      บริการอาหาร
      มีร้านอาหารไว้บริการอาหารและเครื่องดื่มแก่นักท่องเที่ยว
      ร้านขายของที่ระลึก
      มีร้านจำหน่ายของที่ระลึกของอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อนสำหรับนักท่องเที่ยว
      ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว
      มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาขอรับบริการข้อมูลได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ระหว่างเวลา 8.00 - 16.30 น.
      ห้องอาบน้ำแร่
      มีห้องสำหรับอาบน้ำแร่ไว้บริการแก่นักท่องเที่ยวมีทั้งแบบอาบฝักบัวและแบบเป็นห้องนอนแช่ในบ่อน้ำแร่ ซึ่งจะอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ

หมายเลขบันทึก: 214183เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2008 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

น่าเที่ยวนะค่ะ

อยากให้ทุกคนได้ไปกัน

ไปเที่ยวแล้วสวยมาเลย

อยากให้ทุกคนได้ไป

ยังไม่เคยไปคะ คิดว่าน่าจะมีโอกาส ได้เที่ยว

สวยมาก ๆนะคะ เที่ยวเมืองไทยดีกว่าคะ

สวัสดีค่ะ เคยไปมาแล้วหลายครั้ง ประทับใจมากๆๆค่ะ

ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันค่ะ

สวยจริงๆไปมาแล้วว

แวะมาหาข้อมูลคับ

สวยมากจริงๆค่ะ ประทับใจสุดๆโดยเฉพาะห้องอาบน้ำแร่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท