การเมืองใหม่


ผู้มีบารมีเหล่านี้ประณามประชาชนว่า เป็นพวกยอมจำนน

ความคิดเห็น : การเมืองแบบใหม่ 

โดย  กมลรส  โมฆรัตน์

นิสิต ป.โท วัฒนธรรมศาสตร์  รหัส  51015580001

 

            หากไม่มีสถานการณ์ กันยายน  2549  ก็คงไม่มีสถานการณ์ สิงหาคม 2551  ซึ่งเป็นการยกระดับและพัฒนากระบวนการสู่พัฒนาการ การเมืองสมัยใหม่

            ปัญญาชน นักวิชาการ นักธุรกิจ องค์กรภาคประชาชนจำนวนไม่น้อยทำให้เกิดจุดต่าง ... ทางการเมือง  จุดแห่งการเมืองใหม่ที่ยากแก่การประนีประนอมอย่างง่ายดาย

            วาระของประเทศกำลังเข้าสู่การถกเถียงเรื่อง การเมืองใหม่ ถ้าจะให้ประเทศชาติพ้นจากความวุ่นวาย  เราจะต้องโละทิ้งการเมืองเก่า  แล้วหันมายอมรับให้การเมืองใหม่ เกิดขึ้น  แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าการเมืองใหม่คืออะไร   ส่วนการเมืองเก่านั้นเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าคือการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป  โดยประชาชนทุกคนที่มีอายุครบ 18 ปี  มีสิทธิเท่าๆกันที่จะเลือกผู้สมัครเข้าไปเป็น ส.ส. ในสภา  จากนั้น ส.ส. ก็เลือกผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี  แล้วนายกรัฐมนตรีก็เลือกผู้ที่จะมาเป็นคณะรัฐมนตรี

            ก่อนหน้านั้นการเมืองเหล่านี้คือสิ่งที่เราเรียกร้องให้เกิด  เพราะมีความเชื่อมั่นว่า “ประชาชนจะมีความเท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วมทางการเมือง  แต่ในวันนี้หลายกลุ่มที่มีบทบาทในการกำหนดการบริหารบ้านเมืองบอกว่า  การเมืองแบบนี้เป็นต้นเหตุของเผด็จการรัฐสภา  นำมาซึ่งอำนาจผูกขาดของกลุ่มนายทุน  เป็นช่องทางให้  ทุนนิยมผูกขาด  เข้ามายึดอำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มของตนเองและพวกพ้องก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับประชาชนโดยรวม

            ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่ว่าต้องกำจัดการเมืองเก่า และสร้างการเมืองใหม่ขึ้นมา

หลายสูตรถูกเสนอ  โครงสร้างของรัฐสภาต้องเปลี่ยนไป  ที่มาของส.ส. จะไม่ให้ประชาชนเลือกกันด้วยสิทธิ์ที่เท่าเทียมกันอีกแล้ว  จะต้องคิดรูปแบบที่มาของ ส.ส. กันใหม่เพื่อให้มีคุณภาพมากกว่า

            กล่าวอย่างง่ายก็คือ  ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งแบบเดิม ที่ประชาชนใช้สิทธิเลือกเข้ามานั้นจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น  อีกส่วนหนึ่งจะเป็น ส.ส. ที่มาจากวิธีการพิเศษที่ยังคิดไม่ตกว่าจะเอาแบบไหนดี

            จึงเรียกการเมืองใหม่นี้ว่า การเมืองภาคประชาชน  ที่ฟังแล้วเกิดความรู้สึกว่าเป็นการ ลดความเท่าเทียมกันของสิทธิประชาชน  เสียมากกว่า  เพราะจะมีประชาชนสักกี่คนที่เข้ามามีบทบาทในระดับที่มีสิทธิเลือกผู้แทนในโควตาของสถาบันหรือองค์กร

            ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกลุ่มที่มีบารมีทางการเมืองในปัจจุบัน  เห็นว่าการปล่อยให้ประชาชนใช้สิทธิอย่างเท่าเทียมกันนี้  ทำให้ได้ ส.ส. ที่ไม่มีคุณภาพ  โครงสร้างการเมืองเก่าถูกครอบงำด้วยระบบอุปถัมภ์  ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจสิทธิและหน้าที่ของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย  ทำให้การเมืองไม่มีคุณภาพ 

เมื่อเห็นแบบนี้ก็มีนักวิชาการหลายฝ่ายออกมาสนับสนุนกันอย่างคึกคัก  แม้แต่อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่มีเกียรติประวัติเรื่องการเมืองการปกครองยังออกมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนอย่างออกนอกหน้า  โดยบอกว่าการเมืองใหม่จะไม่ถูกชักจูงโดยกลุ่มผลประโยชน์  เพราะส.ส. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจไม่ใช่อยู่เพียงแค่อำนาจผู้มีบารมีทางการเมืองเหล่านั้น  หากแต่อยู่ที่ประชาชน  โดยเฉพาะประชาชนส่วนใหญ่จะรู้สึกอย่างไรกับการถูกลิดรอนความเท่าเทียมกันในสิทธิทางการเมือง  ด้วยท่าทีหมิ่นแคลนของผู้มีบารมีทางการเมืองเหล่านี้  ที่มองว่าประชาชนถูกชี้นำทางการเมือง 

หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ทางการเมืองจะเห็นว่าประชาชนเหล่านี้ไม่ได้เลือก ส.ส. เพราะถูกชี้นำหรือทำตามกระแส  การเทคะแนนไปยังพรรคใดพรรคหนึ่งโดยมิได้นัดหมายนั้น เป็นนัยทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ยากต่อการเข้าใจของนักการเมือง  ดังนั้นการกล่าวหาว่าประชาชนถูกชี้นำทางการเมืองจึงไม่น่าจะเป็นความจริง  เพราะประชาชนเหล่านี้เป็นชนกลุ่มใหญ่ของประเทศ  ชอบดำเนินชีวิตอยู่ตามปกติ  ตามกรอบตามกติกาของสังคม  แต่เวลามีการเลือกตั้งก็ให้ความสำคัญและไปใช้สิทธิเท่าที่ตัวเองมีสิทธิคือลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.  ซึ่งเป็นการใช้สิทธิอย่างตรงไปตรงมาตามความรู้สึกของตัวเอง   ความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมหรือชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน 

โดยผลที่ออกมาบางครั้งนักการเมืองก็ไม่เข้าใจด้วยซ้ำ  แต่ประชาชนบอกว่าเลือกในสิ่งที่ชุมชนอยากเลือก

ทำให้คนบางคนที่ทำตัวเป็นผู้ตัดสินความดี  ความเลว  เกิดความรู้สึกว่า ยอมไม่ได้  ขืนปล่อยให้เป็นแบบนี้จะได้นักการเมืองเลวมาปกครองประเทศอีก 

คนพวกนี้ประณามประชาชนที่ใช้ชีวิตอย่างปกติ  ทำหน้าที่ตามสิทธิของตนเองว่า  พวกยอมจำนน  โดยไม่คิดว่าการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เสนอมานี้  ประชาชนต้องเห็นด้วยหรือไม่  จึงจะถือเป็นผู้มีจิตสำนึกประชาธิปไตย  ผู้ที่เห็นด้วยเท่านั้นหรือ จึงจะไม่ถูกเรียกว่า เป็นผู้ยอมจำนน  ก่อนที่จะหาประเด็นกล่าวหาประชาชน ควรได้คิดพิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน  เพราะประชาชนรู้เห็นในการเมืองทุกอย่างแต่ไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้นเอง

 

อ้างอิง

หนังสือพิมพ์มติชน.  ฉบับวันพุธ ที่ 1  ตุลาคม  2551.

คำสำคัญ (Tags): #ประชาธิปไตย
หมายเลขบันทึก: 213942เขียนเมื่อ 4 ตุลาคม 2008 00:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ธรรมสวัสดีนะโยม
  • มาอ่านเรื่องการเมือง
  • ประชาชนรู้เห็นในการเมืองทุกอย่างแต่ไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้นเอง
  • หากประชาชนไม่อยากเกี่ยวข้องกับการเมือง
  • แล้วจะทำยังไงประชาธิปไตยที่แท้จึงจะเกิดขึ้น
  • ขอสนับสนุนแนวทางการเมืองใหม่
  • การเมืองเก่าเน่าหนอนชอนไช
  • การเมืองใหม่อารยะประชาธิปไตย(น.พ.ประเวศ วสี )
  • ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันวินิจฉัย การเมืองใหม่
  • เป็นจริงได้อย่างแน่นอนเพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อ
  • ประชาธิปไตยทำมานั้นสวยงามจริงๆ
  • การเมืองใหม่จะเกิดได้ จำเป็นต้องมี"สื่อของประชาชน"เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และคอยปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน และพร้อมที่จะออกมาร่วมสุขร่วมทุกข์กับประชาชน ในเมืองไทยตอนนี้มีอยู่ ๑% เช่น astvและพันธมิตรเป็นต้น..
  • อนุโมทนาสาธุกับเรื่องดีๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท