พุทธคุณ ๓


พระปัญญาธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ



          พระคุณของพระพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์ในโลกอย่างมาก คือ การเสียสละอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ในการละทิ้งความสุขสบายทั้งหลายทั้งปวง เพื่อออกผนวชและแสวงหาหนทางดับทุกข์ ซึ่งพระองค์ทรงมุ่งประโยชน์สุขของส่วนรวมมากกว่าสิ่งอื่นใด

 

พระคุณของพระพุทธเจ้ามี ๓ ประการ ดังนี้

 พระปัญญาธิคุณ

          พระพุทธเจ้ามีความรู้ทั้งด้านทางโลก รู้การเกิดและการตายของสัตว์โลก รู้การหลุดพ้นจากกิเลสของพระองค์ ในที่สุดพระองค์ทรงค้นพบความจริง ๔ ประการ คือ

          รู้ทุกข์

          รู้เหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ (สมุทัย)

          รู้ความดับทุกข์ (นิโรธ)

          รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (มรรค)

          ทั้งหมดนี้เป็นพระคุณของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า  พระปัญญาคุณ

 พระบริสุทธิคุณ

          พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุธรรมและหลุดพ้นจากกิเลส คือ

          ความอยาก (โลภ)

          ความเกลียด ไม่พอใจ (โกรธ)

          ความหลง (โมหะ)

          ดวงจิตของพระองค์ที่สะอาดบริสุทธิ์ สงบผ่องใสทั้งหมดนี้ เป็นคุณของพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า พระบริสุทธิคุณ

 

พระกรุณาธิคุณ

          หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วพระองค์ได้เสด็จไปสั่งสอนประชาชนให้ได้รู้พระธรรมที่พระองค์รู้แจ้งโดยมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย พระองค์ทรงสั่งสอนคนทุกคนเสมอเหมือนกันหมดเป็นเวลา ๔๕ ปี  การกระทำทั้งหมดนี้เป็นพระคุณของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า พระกรุณาคุณ

 

หลักกรรม

            หลักกรรมเป็นหลักธรรมคำสอนที่สำคัญประการหนึ่งของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงสอนและเน้นเรื่องกรรมดังพระบาลีที่ว่ากลฺยาณการี  กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ  แปลว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

          กรรม หมายถึง การกระทำทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ ที่ประกอบด้วยเจตนาดีก็ตาม เจตนาชั่วก็ตาม  กรรมเป็นคำกลาง ๆ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

          กุศลกรรม หรือ กรรมดี  คือ การกระทำที่ประกอบด้วย

          ความไม่โลภ

          ความไม่โกรธ

          ความไม่หลงงมงาย

          อกุศลกรรม หรือ กรรมชั่ว คือ การกระทำที่ประกอบด้วย

          ความโลภ

          ความโกรธ

        ความหลงงมงาย

 

          ฉะนั้น คำว่า กฎแห่งกรรม จึงหมายถึง ความเป็นไปตามหลักเหตุและผลของการกระทำ สามารถอธิบายได้ง่าย ๆ ว่า ผู้ใดกระทำสิ่งใดไว้ย่อมจะได้รับผลแห่งการกระทำนั้น ถ้าทำดีย่อมได้รับผลดีตอบแทนแต่ถ้าทำชั่วย่อมได้รับผลชั่วตอบแทนเช่นกัน


 

ไตรสิกขา

            ไตรสิกขา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สิกขา ๓ หมายถึง ข้อที่จะต้องศึกษา ๓ ประการ ได้แก่  ศีล  สมาธิ ปัญญา

            ๑. ศีล  คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติ ในที่นี้ได้แก่ ศีล ๕ นักเรียนจะต้องปฏิบัติตามศีล ๕ อย่างครบถ้วน เพื่อจะเป็นรากฐานสำหรับสมาธิและปัญญา

            ๒. สมาธิ  คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิต เพื่อให้เกิดสมาธิ และเป็นรากฐานสำหรับการเจริญปัญญา จิตที่มีสมาธิจะทำให้มีความสุข ความสงบ มีความมั่นคง ว่องไวต่อการทำงาน และมีความจำดี

            ๓. ปัญญา คือ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง คือ รู้อริยสัจ ๔ อันเป็นธรรมอันประเสริฐ

 

          ผู้ที่รักษาศีลจะเกิดอานิสงส์ข้อหนึ่ง คือ ศีลจะส่งเสริมให้ผู้นั้นเกิดสมาธิได้โดยง่าย ในการฝึกสมาธินั้นปัญญาและสมาธิจะต้องมีความเกี่ยวข้องเสมอไป ในทางพุทธศาสนาแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสมาธิกับปัญญาไว้ว่า "ต้องมีสมาธิจึงจะมีปัญญา" ต้องมีปัญญาจึงจะมีสมาธิ" ซึ่งหมายถึงคนมีปัญญาจึงสามารถมีสมาธิมากขึ้นตามลำดับ เมื่อมีสมาธิมากขึ้นปัญญาก็ยิ่งมีกำลังมากขึ้นตาม ทั้ง ๒สิ่งนี้ ส่งเสริมซึ่งกันและกันไปในตัว

          ถ้ามีปัญญาแล้วจะมีความเห็นแจ้ง จะตัดความยึดมั่นออกได้ จิตใจจะหลุดพ้นจากการเป็นทาสของสิ่งทั้งปวง แล้วจิตใจจะเป็นอิสระไม่เป็นทาสของสิ่งใดอย่างแต่ก่อนตลอดไป

 

โอวาท ๓

                โอวาท ๓ คือ คำสอนที่เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนามี ๓ ประการ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ องค์ ที่มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ที่วัดเวฬุวนาราม กรุงราชคฤห์ ในวันมาฆบูชา  หลักคำสอน ๓ ประการนี้ เรียกว่า  โอวาทปาฏิโมกข์  ถือเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตใจให้ผ่องใส

            ๑. การไม่ทำความชั่วทั้งปวง หมายถึง การไม่ทำความชั่วทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ  การไม่ทำชั่วตรงกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ดังนี้

เบญจศีล หรือ  ศีล  ๕  เป็นข้อปฏิบัติในการเว้นจากความชั่ว

          ๑. เว้นจากที่การปลงชีวิต,เว้นจากการฆ่าการประทุษร้าย

          ๒. เว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้,เว้นจากการลัก โกง ละเมิดกรรมสิทธิ์ ทำลายทรัพย์สิน

          ๓. เว้นจากการละเมิดสิ่งที่ผู้อื่นรักใคร่หวงแหน

          ๔. เว้นจากการพูดเท็จ โกหก หลอกลวง

          ๕. เว้นจากน้ำเมา คือ สุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท,เว้นจากสิ่งเสพย์ติดให้โทษ


 

ทุจริต ๓

          ทุจริต ๓ หมายถึง การกระทำความชั่วทางกาย (กายทุจริต)  การกระทำความชั่วทางวาจา (วจีทุจริต) และการกระทำความชั่วทางใจ (มโนทุจริต)

            การประพฤติชั่วทางกาย ได้แก่

          ๑. การฆ่าสัตว์และการทำร้ายสัตว์หรือการเบียดเบียนผู้อื่น

          ๒. การลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น

          ๓. การประพฤติผิดในกาม หรือแย่งชิงของรักของผู้อื่น

  การประพฤติชั่วทางวาจา ได้แก่

 

 

 

 

 

          

          ๑. การพูดเท็จ

          ๒. การพูดยุยงให้แตกแยกกัน

          ๓. การพูดคำหยาบ

          ๔. การพูดเพ้อเจ้อ

            การประพฤติชั่วทางใจ ได้แก่

          ๑. การโลภอยากได้ของของผู้อื่น

          ๒. การคิดพยาบาทปองร้าย

          ๓. การเห็นผิดเป็นชอบ

 

ทำความดีให้ถึงพร้อม

          เมื่อเราละเว้นจากการทำความชั่วแล้ว ก็ต้องหมั่นทำความดีควบคู่กันไปด้วย  จึงจะถือว่ามีความดีสมบูรณ์อย่างแท้จริง ส่งผลให้เราอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข  ดังนั้น เมื่อเราปฏิบัติเบญจศีลแล้ว จะต้องปฏิบัติเบญจธรรมควบคู่กับไปด้วย     

 

            เบญจธรรม หมายถึง คุณธรรม ๕ ประการ คู่กับเบญจศีล ได้แก่

            ๑. เมตตากรุณา ความรักใคร่ปรารถนาให้มีความสุขความเจริญ และความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์ คู่กับศีลข้อที่ ๑

            ๒. สัมมาอาชีวะ การหาเลี้ยงชีพในทางสุจริต คู่กับศีลข้อที่ ๒

            ๓. กามสังวร ความสำรวม ระวัง รู้จักยับยั้ง ควบคุมตนไม่ให้หลงใหลในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส คู่กับศีลข้อที่ ๓

 

            ๔. สัจจะ ความสัตย์ ความซื่อตรง คู่กับศีลข้อที่ ๔

            ๕. สติสัมปชัญญะ ระลึกได้รู้ตัวอยู่เสมอ คือฝึกตนให้เป็นคนรู้จักยั้งคิดรู้สึกตัวเสมอ สิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ ระวังมิให้เป็นคนมัวเมาประมาท คู่กับศีลข้อที่ ๕

 

สุจริต

          สุจริต ๓ หมายถึง การประพฤติชอบทางกาย (กายสุจริต) การประพฤติชอบทางวาจา (วจีสุจริต) และการประพฤติชอบทางใจ (มโนสุจริต)

            การประพฤติชอบทางกาย ได้แก่

          ๑. มีความเมตตากรุณา

          ๒. เคารพในสิทธิและทรัพย์สินของผู้อื่น

          ๓. สำรวมในกาม

 

            การประพฤติชอบทางวาจา ได้แก่

          ๑. พูดความจริง

          ๒. พูดในทางส่งเสริม

          ๓. พูดคำไพเราะสุภาพ

          ๔. พูดแต่เรื่องที่มีประโยชน์

            การประพฤติชอบทางใจ ได้แก่

          ๑. พอใจในสิ่งของที่ได้มาโดยถูกต้อง

          ๒. มีเมตตาต่อผู้อื่น และไม่คิดร้ายต่อใคร

          ๓. เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม

                                                

                                               ขอให้ท่านจงมีความสุขความเจริญ..เทอญ

หมายเลขบันทึก: 213768เขียนเมื่อ 3 ตุลาคม 2008 10:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท