รู้ได้อย่างไรว่ารู้(จริง)?


นานแล้วไม่ได้เข้ามาเขียนในสมุดบันทึกเล่มนี้   เกรงว่าแมงมุมจะเข้ามาชักใย  เลยต้องเข้ามาบันทึกเสียหน่อย

วันศุกร์หนึ่งในเดือนกันยายน ปีนี้  ผมไปละหมาด"ญุม-อะฮ์" ที่สุเหร่าแถวๆ คู้ขวา มีนบุรี  ก่อนละหมาด โต๊ะอิหม่ามลุกขึ้นแจ้งข่าว  และกล่าวไปถึงการเชิญชวนให้พี่น้องทั้งหลาย  หันมาให้ความสำคัญกับการปฏิบัติศาสนกิจ  โดยเฉพาะเรื่องที่มุสลิมทุกคนต้องทำ

มีอยู่ตอนหนึ่งที่กระตุกความคิดผมให้คิดเตลิดไปไกล   ตรงประเด็นที่โต๊ะอิหม่ามท่านนี้กล่าวประมาณว่า... "การที่ท่านรู้   แล้วท่านไม่ทำ (ซึ่งหมายถึง การปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ อาทิ  การละหมาด  การถือศีลอด  การบริจาคทาน เป็นต้น)  นั่นมีค่าแย่กว่าคนที่ไม่รู้เสียอีก  โทษทัณฑ์จะมากกว่าคนที่ไม่รู้"  

ทำให้ผมนึกไปไกลว่า   การรู้จริง  หรือการเข้าใจนั้น  มันเป็นเรื่องที่มากกว่า แค่รู้ประดับสมอง   เพราะมันยังมีมิติอื่นที่เกี่ยวข้อง  เช่น ความเชื่อ  ความสนใจใคร่ค้นหาอะไรบางอย่าง     ผมเชื่อว่า  การที่คนเราจะลงมือทำอะไรสักอย่าง (กรณีที่เราทำอะไรแบบอิสระจริงๆ) ถ้าเราไม่เชื่อ  เราก็จะไม่ทำ   หรือไม่อยากทำ

ยิ่งตอกย้ำความคิดนี้เข้าไปอีก   เมื่อเช้าวันหนึ่ง ขณะขับรถมาทำงาน  เปิดวิทยุฟังในรถ    มีคำถามจากผู้ดำเนินรายการ  เชิญชวนผู้ร่วมรายการให้เข้ามาสนทนาด้วย  คำถามที่ว่า  คำว่า "ฟิกห์"  ในภาษาอาหรับนั้น แปลว่าอะไร?  พร้อมมีคำตอบ 2 ข้อให้เลือก

ผมสนใจขึ้นมาทันที  เพราะผมรู้จักคำนี้แค่ว่า   เคยเรียกชื่อวิชาหนึ่งที่โรงเรียนสอนศาสนาตอนเด็กๆ  คือ "วิชาฟิกห์"   ผมแอบทายในใจว่า  หมายถึง  การปฏิบัติ  แน่ๆเลย  แต่ผิดครับ   คำนี้กลับแปลว่า  "ความเข้าใจ"

ที่ผมแอบทาย  เพราะว่าวิชาฟิกห์  ตอนนั้นที่ผมเคยเรียน   ว่าด้วยเรื่องการปฏิบัติล้วนๆ  เป็นการอธิบายวิธีการปฏิบัติศาสนกิจ    เช่น การปฏิญาณตน  การละหมาดต่างๆ  การถือศีลอด  การบริจาคทาน  การไปทำฮัจญ์  เป็นต้น   ทำให้ผมคิดเอาเองว่า...  

การปฏิบัติ (pratice) นั้น  คือ หนทางที่จะทำให้เราก้าวสู่ประตู "ความเข้าใจ"  แบบจริงๆ  การปฏิบัติจึงน่าจะเป็นการสะท้อนที่ดีที่สุดว่า  "เราเข้าใจ" สิ่งต่างๆ ดีแค่ไหน

ตอนนี้ผมเริ่มมีความรู้สึกว่า  "ความรู้  ความเข้าใจ"  ที่ผมเคยรู้จักมาก่อนหน้านี้นั้น  หน้าตามันเปลี่ยนมาก   อย่างน่าแปลกใจมาก...มาก

หมายเลขบันทึก: 213604เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2008 15:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า ท่านนบี(ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) เปรียบความรู้ของมนุษย์อุปมาดั่งการเอานิ้วมือจุมลงไปในน้ำทะเล(ซึ่งเปรียบกับสรรพความรู้) และน้ำที่ติดที่ปลายนิ้วนั่นแหละคือความรู้ของมนุษย์หละ  มันเล็กน้อยจริงๆนะครับท่าน อ.Thawat

วัลลอฮฺฮูอะอฺลัม

  • สวัสดีครับ อ.ธวัช KMI
  • ไม่ได้เจอกันหลายเดือนแล้วนะครับ
  • ในหนังสือธรรมะก็เคยได้อ่านเหมือนกันครับ เขาสรุปว่า
  • "ธรรมใดก็ไร้ค่าถ้าไม่ทำ"
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท