บ้านเขาตะเภาทอง ชุมชนพึ่งตนเอง


เมืองแห่งขุนเขา ม่านหมอก ป่าไม้และพันธุ์พืช หลากหลายวัฒนธรรม

บทเรียนงานสร้างสุขภาวะเชิงพื้นที่ โดนทีมจัดการความรู้ดับบ้านดับเมืองชุมพร  ต้องขอขอบคุณ อาจารย์พันทิพย์  รัตนราช  ที่ได้สังเคราะห์เรียบเรียง

ไม่สำคัญว่ามาจากไหน  แต่รวมใจได้เป็นหนึ่ง

ต้นกล้าแห่งบ้านเขาตะเภาทอง :

                              

                                                                                  พันทิพย์ รัตนราช.....เรียบเรียง

                                                                            ชาวบ้านบ้านเขาตะเภาทอง....ช่วยหาข้อมูล

 

ต้นกล้าต้นที่  1  ความเป็นมาแห่งชีวิต

 

ภูเขาสูงที่เห็นอยู่ลิบๆ ปกคลุมด้วยหย่อมของต้นไม้ใบหญ้าเสมือนภาพวาดของจิตรกรชั้นเยี่ยมที่ละเลงสีเขียวขจีแต่งแต้มด้วยสีเหลืองอร่ามยามที่แสงอาทิตย์อาบไล้ผืนโลก ได้สร้างความรื่นรมย์ให้แก่สายตา สร้างความประทับใจให้แก่จิตใจ รวมทั้งสร้างความสุขให้แก่ผู้มาเยือน  และที่สำคัญคือสร้างชีวิตอันยืนยาวให้แก่เจ้าของพื้นที่ที่พักอาศัย

"พวกเขามากันสิบเจ็ดจังหวัดมาอยู่รวมกันที่นี่" สมชาย สอนสุวรรณ หนุ่มใหญ่ใจดีที่ย้ายมาจากอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจ ทำให้อดคิดถึงต้นกล้าต่างสายพันธุ์และต่างถิ่นที่นำมาปลูกรวมกันในแปลงเดียวกันไม่ได้  ต้นกล้าแต่ละต้นมีที่มาที่ไปไม่เหมือนกัน แต่เมื่อนำมาอยู่ในเบ้าหลอมเดียวกันแล้ว ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน ต่างต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต่างต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  ต้นกล้าทุกต้นจึงจะเติบใหญ่สยายกลีบใบรับน้ำค้างยามรุ่งอรุณ  เปิดปีกกว้างรับแสงแดดอันอบอุ่นเพื่อสร้างอาหารหล่อเลี้ยงตัวเองได้

พวกเขาอพยพเข้ามาอยู่ที่นี่ด้วยจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน  เขตศักดิ์ หอมเนียม เล่าว่าที่อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ แห้งแล้งหนักเขาไม่มีงานทำจึงต้องดิ้นรนลงมาทางใต้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 สู่ด้ามขวานทองของไทยที่อุดมสมบูรณ์เช่นเดียวกับทองใสและปราณี เหนือโท สามีภรรยาที่อพยพกันมาทั้งครอบครัวจากอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ในปี พ.ศ. 2532  ด้วยเหตุผลเดียวกัน

ลอง แทนโนนงิ้ว  บ่ายหน้ามาคนเดียวจากอำเภอพล  จังหวัดขอนแก่น ในปีพ.ศ. 2526  ส่วน สมศรี  จำปาเดช  มาจากอำเภอนาดี  จังหวัดปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2534 ทั้งสองได้รับการบอกเล่าจากเพื่อนบ้านว่าทางใต้มีงานดีรายได้งามรออยู่  เช่นเดียวกับ สายสิญจน์  จรรยาเลิศ ที่ละทิ้งถิ่น อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 มาสร้างหลักปักฐานที่นี่เพื่อหวังสร้างงานสร้างชีวิตใหม่ให้กับตนเองและครอบครัว

เด็กสาววัยใส  กาญจนา วิไธสง  ไม่ได้ตั้งใจจะเดินทางไกลในชีวิตเลย  เธอดูแลยายที่ชราภาพที่อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศีรษะเกษ  แต่เมื่อยายถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2546 จึงจำใจต้องมาอาศัยอยู่กับป้าที่อำเภอละแม จังหวัดชุมพร ก่อนที่กามเทพจะแผลงศรเข้าใส่ชายหนุ่มหน้าตาดีจนได้สร้างครอบครัวแล้วอพยพมาทำมาหากินอยู่ที่นี่ เหมือนกับ เฉลิมชาติ กวยรักษา ที่เดินทางมาจากอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อปี พ.ศ. 2542 เขาตั้งใจเพียงว่าจะมาบวชเป็นพระที่วัดประสาทนิกร อำเภอหลังสวน  เมื่อสึกจากการแป็นพระแล้วจะเดินทางกลับบ้าน  แต่แล้วก็ไม่ได้กลับดังที่ตั้งใจเพราะต้องอยู่ช่วยป้าขายหมูในตลาดหลังสวน จนกระทั่งกามเทพต้องทำหน้าที่อีกครั้งให้เขาได้พบรักกับสาวชาวหลังสวนที่มีสวนอยู่ที่นี่  ดังนั้นเมื่อแต่งงานแล้วเขาจึงย้ายมาสร้างสวนยางอยู่ด้วยกันอย่างผาสุก

หวังกิกิ บาซา รับจ้างตัดยางอยู่ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา  ชีวิตของเขาพอมีพอกินตามอัตภาพของตนเอง  แต่แล้ววันหนึ่งในปี พ.ศ. 2517 เขาถูกกล่าวหาจากหลายฝ่ายว่ามีใจฝักใฝ่กับฝ่ายตรงข้าม คือเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้เขาต้องหนีเตลิดเปิดเปิงมาทางรถไฟไปเป็นกรรมกรอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่เพื่อนจะแนะนำให้มาถางป่าสร้างสวนที่นี่  แล้วเขาก็ได้พบกับ ปราณี เนียมแก้ว ภรรยาคนปัจจุบันที่อดีตเคยรับจ้างทำสวนสับปะรดที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนถึงปี พ.ศ. 2539 เมื่อประสบมรสุมชีวิต  พี่ชายของปราณีจึงชวนเธอมาทำสวนกาแฟที่นี่เพราะเห็นว่ามีรายได้ดี 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นกล้าต่างสายพันธุ์และต่างถิ่นที่มาเจริญเติบโตในถิ่นเดียวกันและในสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีต้นกล้าที่มาจากต่างถิ่นอีกหลายต้นที่พร้อมจะเติบโตในผืนดินฉ่ำน้ำริมภูเขาสูง และพร้อมจะดูแลรักษาธรรมชาติ ป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร หุบห้วยเหวใหญ่ ภูเขาสูงชัน ให้ยืนยงคงอยู่เหมือนอย่างเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่ากาลเวลาจะเดินผ่านไปนานสักเท่าใด หรือหากจะเปลี่ยนแปลงพวกเขาก็หวังให้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้สภาพร่างกายและจิตใจยอมรับกับสภาพความเป็นจริงได้ในที่สุด ต้นกล้าต่างถิ่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วเป็นต้นว่า ต้นกล้าที่มาจากอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี  จากอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช  จากอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา  จากอำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี  จากอำเภอแกลง จังหวัดระยอง  จากอำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จากอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และจากอำเภอเซกา จังหวัดหนองคาย   

เรื่องราวแห่งชีวิตของต้นกล้าแต่ละต้นที่โบยบินมาจากถิ่นต่างๆ เพื่อมาเพาะบ่มที่บ้านเขาตะเภาทอง ตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพรเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะต้นกล้าเช่นพวกเขามีความใฝ่ฝัน มีความหวังที่จะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงด้วยสายใยแห่งความรัก ความสามัคคี ความมีน้ำใจที่ถักทอร่วมกันอย่างแน่นเหนียวประดุจใยไหมที่เกี่ยวเกาะโยงใยเป็นเส้นด้ายอันยืดยาวฉะนั้น

   ต้นกล้าต้นที่  2  ความเป็นมาแห่งแผ่นดิน

 

สายลมจากยอดเขาสูงพัดโชยมาเป็นระยะๆ โบกไล่กระไอร้อนจากแสงแดดที่กำลังแผดจ้าให้เหือดแห้งจนกลายเป็นความเย็นโอบไล้ร่างกายและกระพือพัดเข้าไปถึงจิตใจ  จากแผ่นดินผืนกว้างริมถนนสายหลังสวน - พะโต๊ะในจุดที่มีป้ายไม้ปรากฏอยู่  "บ้านเขาตะเภาทอง" ผืนดินที่กำเนิดเกิดมาพร้อมๆ กับกิ่งอำเภอพะโต๊ะแห่งนี้ เมื่อนึกย้อนไปหลายร้อยกว่าปีพบว่ามีชื่อว่า "บ้านกะแย" ซึ่งเป็นภาษามอญแปลว่า เล้าไก่  จึงสันนิษฐานได้ว่าคงเป็นแผ่นดินที่ชนชาติมอญอาศัยอยู่มาก่อน และชาวมอญส่วนใหญ่น่าจะเลี้ยงไก่เป็นอาชีพหลัก

ดั้งเดิมประมาณปี พ.ศ. 2440 พื้นที่อำเภอพะโต๊ะมีชาวบ้านเข้ามาอาศัยอยู่เพื่อทำเหมืองแร่ดีบุกและตัดหวายเป็นหลัก การคมนาคมในสมัยนั้นชาวบ้านจะใช้ช้างบรรทุกแร่ไปขายที่จังหวัดระนอง  และขากลับจะซื้อเคย (กะปิ) มาขายที่พะโต๊ะ  ต่อมาได้มีอั้งยี่หลายคณะหลบหนีการกวาดล้างจากทางการมาอาศัยอยู่  คณะที่มีชื่อมากคืออั้งยี่เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม  ลุงมิตร ฤทธิเดช  วัย 76 ปี  คนชราของหมู่บ้านเล่าให้ฟังว่าปู่ของลุงมิตรเป็นอั้งยี่ที่อยู่ในคณะของเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อมาก่อน ได้อพยพหลบหนีมาจากอำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ประมาณปี พ.ศ. 2453  โดยหนีมาทางทะเลมาพักอาศัยที่บ้านกะแยแห่งนี้

แต่ไม่นานนักที่บ้านกะแยก็เกิดไข้ห่า (อหิวาตกโรค) ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก คนที่เหลือจึงอพยพหลบหนีไปอยู่ที่อื่น ทว่าพื้นที่นี้ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร ธรรมชาติทั้งแร่ดีบุก หวาย ของป่า และสัตว์ป่า  ด้วยเหตุนี้จึงมีชาวบ้านจากหลายจังหวัดเดินทางมาหาของป่าและพักค้างคืนครั้งละหลายๆ วัน  ต่อมาจึงได้มีการจับจองพื้นที่เป็นสัดเป็นส่วนสำหรับแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยเหมือนกับชาวเขาของประเทศไทย และปู่ของลุงมิตรซึ่งไม่ได้โยกย้ายไปไหนจึงแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยเช่นเดียวกัน ลุงมิตรเล่าว่าตอนนี้มีชาวบ้านอพยพเข้ามาอยู่กันมากขึ้นเรื่อยๆ  ลุงมิตรจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านดูแลสารทุกข์สุกดิบของคนในหมู่บ้านเรื่อยมาหลายสมัย  

การคมนาคมในช่วงเวลานั้นจะใช้แม่น้ำหลังสวนเป็นหลัก โดยชาวบ้านจะนำไม้ไผ่ขนาดเล็กมามัดเป็นแพลูกบวบ แล้วใช้ไม้ไผ่เป็นถ่อค้ำแพให้ล่องไปตามน้ำจนถึงอำเภอหลังสวน จากนั้นจึงขายผลผลิตที่บรรทุกมา  หากมีคนซื้อระหว่างทางจะขายทั้งผลผลิตและทั้งแพเพราะไม่สามารถถ่อแพทวนน้ำขึ้นมาได้  ผลผลิตที่นำไปขายนั้นจะเป็นผลไม้ เช่น มังคุด ทุเรียน ลางสาด แหล่งซื้อขายจะอยู่แถวตลาดช่องสะท้อนและตลาดต้นโด โดยมีโกโม โกจ๋าย เจ๊เหี้ยง เจ๊หยิ่น เป็นพ่อค้าคนกลางสำหรับรับซื้อผลผลิตเพื่อไปจำหน่ายต่อ

ต่อมาพาหนะในการเดินทางเริ่มวิวัฒนาการเป็นเรือถ่อที่ขุดจากไม้ตะเคียน รูปร่างคล้ายกับเรือยาวในปัจจุบัน แต่ลักษณะสั้นกว่า เรือถ่อนี้เป็นเรือที่ไม่ต้องใช้เครื่องยนต์แต่จะใช้ไม้ยาวสำหรับเป็นถ่อค้ำให้เรือเดิน  ราคาค่าโดยสารจากพะโต๊ะไปถึงอำเภอหลังสวนคนละ 50 บาท แต่ค่าโดยสารจากอำเภอหลังสวนไปยังพะโต๊ะเพียง 25 บาทเท่านั้น ทั้งนี้เพราะต้องถ่อเรือทวนน้ำแล้วให้ผู้โดยสารช่วยบ้างในบางโอกาส หากผู้โดยสารคนใดช่วยถ่อเรือด้านหัวเรือตลอดเส้นทางก็จะไม่เสียค่าโดยสารแต่อย่างใด

จากการถ่อโดยใช้แรงคนที่เหนื่อยแรงและเสียเวลาในการเดินทาง ไพศาล ศรีวาลัย จึงเป็นคนแรกที่ริเริ่มนำเรือหางยาวติดเครื่องยนต์มาใช้  ซึ่งทำให้การเดินทางจากพะโต๊ะไปอำเภอหลังสวนสะดวกและรวดเร็วขึ้น เพราะขาไปเป็นการขับเรือตามน้ำใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง  แต่ขากลับจะขับเรือทวนน้ำใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง นอกจากนั้นราคาน้ำมันเบนซินไม่แพงนัก เพียงลิตรละ 5 - 6 บาทเท่านั้น  ลุงมิตรเองเล่าว่าได้ขับเรือรับส่งผู้โดยสารระหว่างพะโต๊ะกับหลังสวนแบบไปเช้าเย็นกลับถึงสิบปีเต็มทีเดียว

ต่อมา เพิ่ม  เกื้อหนุน และ เพิ่ม  นนทสุวรรณ  ได้ร่วมกันซื้อเรือยนต์แบบมีประทุนจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาวิ่งรับส่งผู้โดยสาร  ซึ่งเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสารและสามารถรับผู้โดยสารได้เป็นจำนวนมาก  แต่เรือหางยาวก็ยังวิ่งรับส่งผู้โดยสารอยู่  จนมีคำกล่าวเล่าต่อๆ กันมาว่า 

"ถ้าต้องการความสะดวกสบายให้ไปเรือยนต์  ถ้าต้องการความรวดเร็วว่องไวให้ไปเรือหางยาว"  

ในขณะเดียวกันจะมีเรือยนต์ของชาวบ้านตำบลแหลมทรายอีกลำหนึ่งวิ่งรับส่งผู้โดยสารจากท่าบางยี่โร อำเภอหลังสวนไปจนถึงตำบลปากน้ำหลังสวน ดังนั้นชาวพะโต๊ะผู้ซึ่งอยู่ในดินแดนแห่งภูเขาสูงที่อยู่ไกลทะเลจึงมีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารทะเลแห้ง ทั้งปลา ปู กุ้ง หอย รวมทั้งกะปิน้ำปลาอันลือชื่อของชาวปากน้ำหลังสวนอีกด้วย

ประมาณปี พ.ศ. 2486  เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ของประเทศไทย  เป็นเหตุให้เกิดภาวะน้ำมันขาดแคลนทำให้เรือยนต์ไม่สามารถวิ่งรับส่งผู้โดยสารได้  แต่เรือหางยาวยังวิ่งรับผู้โดยสารอยู่โดยแก้ปัญหาด้วยการนำน้ำมันชันมาเติมในเครื่องยนต์  ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันได้ในระดับหนึ่ง

"ไม่มีสิ่งใดอยู่นิ่งกับที่ ไม่ว่าวันเวลาหรือจิตใจคน" คำกล่าวของนักปราชญ์กล่าวไว้เช่นนี้  ทำให้ลุงมิตร  ฤทธิเดช  ต้องยอมรับกับสภาพของความเปลี่ยนแปลงเมื่อเริ่มมีถนนหมายเลข 4006 จากอำเภอหลังสวนทอดยาวผ่านพะโต๊ะไปจนถึงตำบลราชกรูด ของจังหวัดระนองเมื่อปี พ.ศ. 2512  ดังนั้นชาวบ้านที่เคยพึ่งพาสายน้ำอันเชี่ยวกรากของแม่น้ำหลังสวนในการสัญจรไปมาจึงเริ่มเปลี่ยนมาใช้ถนนที่สะดวกและรวดเร็วกว่าแทน และในปีนั้นเองที่ลุงมิตรซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านได้ริเริ่มสร้างโรงเรียนของหมู่บ้านขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนชื่อบ้านกะแยเป็นบ้านเขาตะเภาทอง 

 ต้นกล้าต้นที่  3  เปิดลิ้นชักรื้ออดีต

 ท้องฟ้ายามเช้าปกคลุมด้วยหมอกสีขาวโพลนกว้างสุดลูกหูลูกตา หยาดน้ำค้างใสยังค้างคาเกี่ยวเกาะบนใบไม้รอรับแสงอรุณที่แหวกลำแสงผ่านทะเลหมอกลงมาเย้าหยอกเล่น จนเกิดประกายระยิบระยับประดุจแสงสีจากเพชรเม็ดงาม  อากาศอุ่นชื้นขึ้นคละเคล้าสายลมที่พัดโชยมาอย่างเอื่อยอ่อน  สมชาย  สอนสุวรรณ สมาชิก อบต.ทอดสายตามองผืนฟ้าที่เริ่มเปลี่ยนสีจากหม่นมัวเป็นเจิดจ้าด้วยแสงแรกของอาทิตย์อุทัย

เขากำลังนึกย้อนไปถึงอดีตที่เก็บพับเข้าลิ้นชักไปแล้วของหมู่บ้านเขาตะเภาทอง  อดีตที่สมควรดึงลิ้นชักออกมาวางเรียงให้คนรุ่นหลังได้รื้อค้นและทำความรู้จัก  น่าเสียดายนักที่เขาเก็บอดีตย้อนหลังได้แค่ปี พ.ศ. 2480 เท่านั้น  ทั้งๆ ที่เขาอยากเก็บอดีตให้มากกว่านี้  เพราะอดีตคือบทเรียนที่มีค่าของปัจจุบัน  อดีตเป็นความภาคภูมิใจของคนรุ่นหลัง  อดีตเป็นประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าของชาวบ้านในยุคต่อๆ มา

สมชายพยายามดึงลิ้นชักแห่งอดีตออกมาอีก ในใจคาดหวังว่าอาจจะมีอะไรหลงเหลือเป็นความทรงจำย้อนไปกว่าปี พ.ศ. 2480 บ้าง แม้สักนิดก็ยังดี  แต่อนิจจา...ไม่มีบรรพบุรุษหรือใครสักคนบันทึกอะไรเป็นมรดกไว้ให้เป็นความทรงจำอีกแล้ว แม้ความทรงจำที่รื้อจากลิ้นชักมาได้ก็มิได้สมบูรณ์เต็มร้อยเท่าไรนัก

สมชายวางลิ้นชักรื้ออดีตออกวางเรียง เขาพบเอกสารที่น่าสนใจดังนี้

นายอำเภอพะโต๊ะ ปี พ.ศ. 2480 คือ

  • 1. ท่านขุนแสง แสงฉวี
  • 2. นายเขียน สิงห์ขโรทัย

ส่วนกำนันเท่าที่เขาจำได้คือ

1.  ท่านหัวเมืองใย  ใยภักดี   ประมาณ พ.ศ. 2480

2.  นายซุ่น (ไม่ทราบนามสกุล)

3.  นายต้วน  ใยภักดี            ประมาณ พ.ศ. 2516   

4.  นายสมยศ  พันธ์แก้ว        พ.ศ. 2516 - 2538

รายชื่อผู้ใหญ่บ้านเท่าที่สามารถสืบค้นได้มีดังนี้

1.  นายออด  มาณะเดช         ประมาณปี พ.ศ. 2480 - 2487

2.  นายเนื่อง  โภคพัฒน์         พ.ศ. 2487 - 2489

3.  นายศึก  กลัดเกิด             พ.ศ. 2489 - 2494

4.  นายเติม  แพทอง             พ.ศ. 2494 - 2497

5.  นายมิตร  ฤทธิเดช           พ.ศ. 2497 - 2535

6.  นายวิโรจน์  สุวรรโณ         พ.ศ. 2535 - 2545

7.  นายสมหมาย  สังข์สิงห์      พ.ศ. 2545 - ปัจจุบัน         

ลิ้นชักตัวปัจจุบันที่สมชายดึงออกมา ปรากฏชื่อคณะกรรมการหมู่บ้านดังนี้

1.  นายสมหมาย  สังข์สิงห์      ผู้ใหญ่บ้าน

2.  นายสุชล  สุขนิรันดร์          ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

3.  นายประเสริฐ  ชูฝ่ายคลอง    ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

4.  นายวีระพงษ์  คชเศษ         ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน

5.  นายสมชาย  สอนสุวรรณ     สมาชิก อบต.

6.  นายสมชาย  สนิทแสง         สมาชิก อบต.

และยังมีคณะกรรมการศูนย์ประสานงานเครือข่ายชุมชน  มีหน้าที่ประสานงานระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนให้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในชุมชน จำนวน 7 คน ได้แก่

1.  นายวิโรจน์  สุวรรโณ                   ประธาน

2.  นายสมหมาย  สังข์สิงห์       รองประธาน

3.  นายสมชาย  สอนสุวรรณ     เลขานุการ

4.  นายสุจิน  ยอดอุดม            กรรมการ

5.  นายจักรพงษ์  หอมเนียม     กรรมการ

6.  นายคะนึง  เพื่อนจันทร์       กรรมการ

7.  นายสมชาย  สนิทแสง         กรรมการ

         

ลิ้นชักแห่งอดีตทำให้คนในปัจจุบันได้เรียนรู้ในสิ่งเหล่านี้

                   รู้จักตัวของเราเอง

                   รู้จักคนรอบข้างตัวเรา

                   รู้จักประเทศของเรา

                   รู้จักโลกของเรา

                   รู้ว่าเราจะไปกับโลกได้อย่างไร

                   รู้ว่าเราจะให้อะไรแก่โลกบ้าง

                   และ...รู้ว่าโลกจะให้อะไรแก่เราบ้าง

 

ต้นกล้าต้นที่  4  อาณาเขตที่เราเป็นเจ้าของ

 ลำแสงสีหมากสุกทาทาบท้องฟ้ายามสนธยากำลังลับลาเหลี่ยมเขาฟากตะวันตก นกกาตัวน้อยโบยบินจากลาด้วยความอาลัยเพื่อเข้าสู่รังนอนบนปลายไม้ใหญ่ หลังจากเสร็จภารกิจประจำวันในการหาอาหารเพื่อปากท้องและครอบครัว

เสียงกระซิบแผ่วๆ ของต้นไม้มากกว่าสิบคนโอบยังทักทายผืนป่าใหญ่ที่ฉ่ำน้ำ  เสียงเรียกเบาๆ ของเขาใหญ่ยังสะท้อนไปยังหุบห้วยอันอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำ  และเสียงแสดงความเป็นมิตรของสายลมและแสงแดดยังอบอุ่นยาวนานนับกว่าร้อยๆ ปี   

เพราะความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเขาตะเภาทอง ทำให้มีผู้คนอพยพเข้ามาหักร้างถางพงเพื่อปลูกสร้างบ้านเรือนและสร้างสวนกาแฟอย่างไม่ขาดสาย  เด็กหลายคนเกิดและเติบโตที่นี่  เมื่อถึงวัยที่จะได้รับการศึกษา โรงเรียนที่ใกล้ที่สุดก็อยู่ไกลเกินกว่าที่จะเสียเวลาเดินทางไปถึง  ลุงมิตร  ฤทธิเดช  จึงได้ร่วมมือกับชาวบ้านสร้างโรงเรียนบ้านเขาตะเภาทองขึ้น  โดยลงทุนไปซื้อกระเบื้องยาวแบบลอนคู่เพื่อมามุงหลังคาจากจังหวัดชุมพร ซึ่งอยู่ไกลกว่าร้อยกิโลเมตร  แล้วบรรทุกกระเบื้องใส่รถกระบะไปตามถนนเพชรเกษมซึ่งผ่านทางจังหวัดระนองวกมาเข้ากิ่งอำเภอพะโต๊ะ  จากนั้นนำกระเบื้องลงเรือล่องมาตามแม่น้ำหลังสวนมาขึ้นที่หน้าท่าแล้วจึงบรรทุกหลังช้างมาจนถึงหมู่บ้าน  แม้จะยากลำบากเพียงใดแต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านทุกคนทำให้อาคารเรียนหลังแรกก่อกำเนิดขึ้น

ปัญหาสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นต่อมา คือลูกหลานของชาวบ้านที่จะมาเรียนมีไม่ถึง 25 คน ตามเกณฑ์การเปิดโรงเรียน  จะทำอย่างไรดีในเมื่อโรงเรียนก็สร้างแล้ว จะปล่อยให้ทิ้งร้างไปก็น่าเสียดายนัก  ดังนั้นชาวบ้านทุกคนจำต้องช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหาด้วยการไปหยิบยืมนักเรียนจากโรงเรียนวัดถ้ำเขาเงินและโรงเรียนวัดหาดสำราญของอำเภอหลังสวน ให้ย้ายมาเป็นนักเรียนของโรงเรียนบ้านเขาตะเภาทองเป็นการชั่วคราวเพื่อให้มีจำนวนครบ 25 คนตามเกณฑ์

ต่อมาศึกษาธิการจังหวัดชุมพร  ศึกษาธิการและปลัดกิ่งอำเภอพะโต๊ะมาตรวจโรงเรียน  และพบว่ามีนักเรียนครบตามเกณฑ์ที่เปิดโรงเรียน  จึงอนุมัติให้เปิดโรงเรียนบ้านเขาตะเภาทองขึ้น  โดยมีครูวิรัช  แก้วกลั่น เป็นครูใหญ่คนแรก  เมื่อโรงเรียนเปิดทำการสอนได้แล้วจึงส่งคืนนักเรียนที่ยืมมาจากโรงเรียนวัดถ้ำเขาเงินและโรงเรียนวัดหาดสำราญ  ปัจจุบันโรงเรียนบ้านเขาตะเภาทองยังอยู่และมีนักเรียนมากกว่าหนึ่งร้อยคน

เมื่อโรงเรียนมีอาณาเขตที่แน่นอนแล้ว  จึงมีการจัดสรรอาณาเขตของป่าสงวนแห่งชาติไว้เพื่อให้เป็นป่าต้นน้ำและเป็นป่าที่สร้างความชุ่มชื้นให้แก่หมู่บ้าน  โดยมีการตกลงร่วมกันว่าจะไม่ตัดไม้ทำลายป่าหรือแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติ  ซึ่งต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ชาวบ้านเป็นใบจองที่ดิน  ในตอนแรกๆ นั้นมีครัวเรือนที่ได้รับเอกสารสิทธิ์ประมาณ 25 - 30 ครัวเรือน  

ปี พ.ศ. 2520 บริษัทไม้อัดไทย จำกัด ได้รับสัมปทานการทำไม้ในเขตอำเภอพะโต๊ะ จึงได้มาตั้งสำนักงานที่บ้านเขาตะเภาทอง และได้ตัดไม้บริเวณหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 14 เป็นเวลานาน  ในการตัดไม้นั้นบริษัทจะต้องตัดถนนเพื่อไปชักลากไม้ที่ตัดแล้วออกมาสู่ถนนใหญ่ จึงเป็นโอกาสดีของชาวบ้านที่มารับจ้างทำไม้ รวมทั้งได้เข้าไปจับจองแผ้วถางป่าเพื่อยึดที่ดินไว้ในครอบครอง จนกระทั่งปีพ.ศ. 2529  กรมป่าไม้ได้เปิดป่า  องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) จึงเข้ามาตัดไม้ก่อนที่จะให้ชาวบ้านเข้าไปทำมาหากิน  ประกอบกับขณะนั้นกาแฟมีราคาสูงและข้าวเปลือกราคาตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านแถบภาคอิสานเดินทางมารับจ้างเก็บกาแฟแล้วซื้อที่ดินจากชาวบ้านที่ครอบครองอยู่ก่อนในราคาถูกคือไร่ละประมาณ 100 - 200 บาท ซึ่งดั้งเดิมชาวบ้านที่ครอบครองอยู่มีอาชีพทำไม้ซุง หาของป่า และล่าสัตว์

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของบ้านเขาตะเภาทองเป็นภูเขาสลับซับซ้อน มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำหลังสวน  ในหมู่บ้านมีถนนลูกรังเป็นสายหลักหนึ่งสาย คือ ถนนสายตะเภาทอง-คลองพร  และมีซอยเล็กๆ 6 ซอย ชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยและทำการเกษตรประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่  โดยที่พื้นที่บ้านเขาตะเภาทอง หมู่ 1 มีทั้งหมด 12,000 ไร่  เป็นพื้นที่ทำการเกษตร 4,200 ไร่  แบ่งเป็นปลูกปาล์มน้ำมัน 880 ไร่ ทำสวนยางพารา 630 ไร่ ทำสวนกาแฟ 1,200 ไร่  เป็นสวนผลไม้และอื่นๆ 1,490 ไร่  มีครัวเรือนทั้งหมด 182 ครัวเรือน  จำนวนราษฎร 646 คน แยกเป็นชาย 341 คน และเป็นหญิง 305 คน  มีโรงเรียน 1 แห่ง สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ น้ำตกเหวม่วง น้ำตกเหวพร้าว ทะเลหมอก เดินทัวร์ป่าชมธรรมชาติและดอกบัวผุด ส่วนประเพณีวัฒนธรรมจะมีหลากหลายผสมผสานกันทุกภาค คือ งานบุญเดือนสิบ งานสงกรานต์บุญบ้องไฟ งานสอยกระทง และงานวันขึ้นปีใหม่  

ลำแสงสีหมากสุกลับลาจากท้องฟ้าฟากตะวันตกนานแล้ว เสียงนกกาที่เคยได้ยินกลับกลายเป็นเสียงจักจั่นเรไรที่คล้ายกับเสียงทักทายในยามราตรี  ภูเขาสูงยังคงยีนทะมึนหยอกเย้าสายลมยามดึกอย่างเป็นมิตร เสียงกระซิบแผ่วๆ ของต้นไม้มากกว่าสิบคนโอบยังคงทักทายผืนป่าใหญ่ที่ฉ่ำน้ำ  เสียงเรียกเบาๆ ของเขาใหญ่ยังคงสะท้อนไปยังหุบห้วยอันอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำ  และเสียงแสดงความเป็นมิตรของสายลมและแสงจันทร์ยังคงอบอุ่นยาวนานอย่างไม่มีวันสิ้นสุด  นี่คือธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของบ้านเขาตะเภาทอง  

ต้นกล้าต้นที่  5  กลุ่มออมทรัพย์  จุดเริ่มของการพัฒนา

 "ชีวิตคือประสบการณ์ต่างๆ ที่รวมเข้าไว้ด้วยกัน

แต่ละประสบการณ์ช่วยให้เราเติบใหญ่ขึ้น

ความยากลำบากและความล้มเหลวที่เราต้องทน

ช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้า"

 บัดนี้ต้นกล้าแต่ละต้นแห่งบ้านเขาตะเภาทองเติบใหญ่จนแตกกิ่งก้านสาขามากมาย  ทุกต้นกล้าแกร่งพร้อมที่ก้าวเดินไปข้างหน้า เพื่อร่วมกันพัฒนาบ้านเขาตะเภาทองให้เป็นบ้านที่สงบสุขและเจริญก้าวหน้า  ซึ่งตรงกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2526 จึงจัดให้มีการอบรมตามโครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.)  และบ้านเขาตะเภาทองได้รับงบประมาณในการจัดสร้างอาคารเอนกประสงค์ 1 หลัง  

ด้วยผืนดินที่อุดมสมบูรณ์และความขยันอดทนของชาวบ้าน  ทำให้ทุกครอบครัวมีผลกำไรจากการขายผลผลิตที่ลงทุนลงแรงลงไป พัฒนาการอำเภอซึ่งเห็นความสำคัญของการออมจึงส่งเสริมให้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นในหมู่บ้าน ปลายปี พ.ศ. 2527 นายมิตร  ฤทธิเดช ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น จึงนัดคณะกรรมการหมู่บ้านมาประชุมพร้อมกันเพื่อจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  โดยให้สมาชิกออมเงินเป็นหุ้น  หุ้นละ 20 บาท  ปรากฏว่าสมาชิกในหมู่บ้านให้ความสนใจมากจึงสามารถดำเนินกิจกรรมออมทรัพย์ได้ประมาณ 2  ปี ก็ต้องยกเลิกไปเพราะไม่สามารถบริหารจัดการได้  ด้วยสาเหตุหลัก คือ

1.  คณะกรรมการขาดความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการ

          2.  คณะกรรมการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้

          3.  ไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจน

          4.  สมาชิกไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าที่ควร

          จนกระทั่งปี พ.ศ. 2535  นายมิตร  ฤทธิเดช ได้ครบเกษียณอายุ  จึงจัดการให้เลือกผู้ใหญ่บ้านคนใหม่  นายวิโรจน์  สุวรรณโณ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน  และต่อมา  ผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ได้รื้อฟื้นกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาอีกครั้ง โดยในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2537 ได้นัดประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์บ้านเขาตะเภาทองขึ้น  แต่ได้รับการคัดค้านจากผู้เคยเป็นสมาชิกในครั้งก่อน

           แต่ผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ก็ไม่ละความพยายาม  จนในที่สุดวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ได้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเขาตะเภาทองได้เป็นผลสำเร็จ จากการนำข้อผิดพลาดในครั้งก่อนมาแก้ไข  สมาชิกในครั้งแรกมี 44 ราย  ซึ่งมาจากคณะกรรมการหมู่บ้านในฝ่ายต่างๆ  มีเงินออม 3,210 บาท  มีการดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบหลายครั้ง  แต่อุปสรรคที่สำคัญคือสมาชิกมุ่งหวังจะกู้เงินเพียงอย่างเดียว  ทำให้ไม่มีเงินพอสำหรับให้กู้  ดังนั้น นายอนันต์  จุ้ยนคร  พัฒนากรประจำตำบลต้องเข้ามาดูแลให้คำแนะนำ  ทำให้การดำเนินงานของกลุ่มผ่านไปด้วยดี

          ในปี พ.ศ. 2540 ทางราชการมีการประกวดกลุ่มออมทรัพย์ขึ้น  ปรากฏว่ากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านเขาตะเภาทองได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับจังหวัด รางวัลที่ได้รับคือ งบประมาณในการสร้างศูนย์สาธิตการตลาดและเงินหมุนเวียน จำนวน 400,000 บาท  (เป็นเงินสร้างอาคารจำนวน 300,000 บาท และเป็นเงินทุนหมุนเวียน 100,000 บาท)  แต่ในขณะนั้นทางหมู่บ้านไม่มีพื้นที่ในการจัดสร้างอาคารดังกล่าวจึงได้ขอซื้อที่ดินของ นางจำเนียร  นาทอง ซึ่งเป็นพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ (น.ส.3)  จำนวน 50,000 บาท  โดยใช้เงินกำไรของกลุ่มออมทรัพย์จัดซื้อ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542  และได้จัดสร้างศูนย์สาธิตการตลาดขึ้นและร้านค้าของชุมชน  ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกเข้ามาถือหุ้น ราคาหุ้นละ 500 บาท มีผู้ถือหุ้นในขณะนั้น 205 หุ้น  เป็นเงิน 102,500 บาท รวมกับเงินหมุนเวียนจากรางวัลที่ได้รับ ทำให้มีเงินหมุนเวียนจำนวน 202,500 บาท  และมีการแก้ไขกฎระเบียบ 2 ครั้ง เพื่อแก้ข้อผิดพลาดจากการบริหารที่พอสรุปได้ว่า

          1.  คณะกรรมการไม่มีความรับผิดชอบ   

          2.  ผู้ขายขาดความซื่อสัตย์ ไม่โปร่งใส

          3.  กฎระเบียบไม่รัดกุมและชัดเจนพอ

          4.  ฝ่ายตรวจสอบไม่เข้มแข็ง  ยังมีความเกรงใจอยู่

          ปัจจุบันศูนย์สาธิตการตลาดสามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้ชาวบ้านในชุมชนได้หลายคน  รวมทั้งมีสวัสดิการต่างๆ ให้อย่างพอเพียง

          ในปี พ.ศ. 2547 กลุ่มออมทรัพย์มีกำไรจึงได้ซื้อที่ดินของนางประนอม  เพ็ชรทอง ซึ่งอยู่ติดกับศูนย์สาธิตการตลาด จำนวน 1 แปลง ราคา 150,000 บาท โดยจัดการซื้อขายในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2547  พอดีกับได้รับงบประมาณจากอำเภอเพื่อจัดสร้างร้านค้าชุมชนอีก 1 หลัง ด้วยเหตุนี้กลุ่มออมทรัพย์จึงซื้อที่ดินของนางพร้อม  จินาคม อีก 1 แปลง ในราคา 40,000 บาท ซึ่งปัจจุบันได้ทำเป็นอาคารผลิตน้ำดื่ม 

"ความผิดพลาด คือ บทเรียนอันมีค่าที่ไม่ต้องให้ครูคนใดมาสอน"

ทางกลุ่มไม่เคยลืมบทเรียนบทนี้  บทที่กลุ่มออมทรัพย์ต้องปิดประตูตายไปหลายปี เมื่อได้โอกาสได้เปิดประตูอีกครั้ง ความผิดพลาดครั้งก่อนต้องไม่ย้อนกลับมาสร้างความเจ็บปวดให้อีก  ด้วยเหตุนี้กลุ่มออมทรัพย์จึงได้ส่งคณะกรรมการไปศึกษาดูงานการดำเนินงานจากที่ต่างๆ เพื่อให้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาบริหารงานของกลุ่มให้ประสบผลสำเร็จ ผลจากการวางแผนอย่างรอบคอบทำให้ชาวบ้านยิ้มหน้าใสทั่วทุกใบหน้า เพราะการดำเนินงานของกลุ่มขยายวงกว้างอย่างมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ แม้ช้างสักสิบเชือกก็มิอาจหยุดพวกเขาไว้ได้

 

ต้นกล้าต้นที่  6    สหกรณ์การเกษตร จุดต่อยอดของการพัฒนา

 

          "ไม้ต่างปล้อง พี่น้องต่างใจ"

เชื่อว่าสำนวนนี้หลายคนคงเคยได้ยิน เพราะบ่งบอกให้รู้ว่าสิ่งที่ก่อกำเนิดมาด้วยกันยังมีบางสิ่งบางอย่างที่แตกต่างกันออกไป  แล้วชาวบ้านของบ้านเขาตะเภาทองเล่า  พวกเขามากัน 17 จังหวัด แทบทุกภูมิภาคของประเทศที่มีวัฒนธรรมประเพณี คติธรรมความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิดที่ได้รับการหล่อหลอมมาจากต่างครอบครัวและต่างสภาพแวดล้อม จะให้พวกเขาเห็นพ้องต้องกันแบบใครว่าอย่างไรก็ว่าตามกันได้อย่างไร  แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแม้จะเป็นไม้ต่างปล้อง พี่น้องต่า

คำสำคัญ (Tags): #social chumphon
หมายเลขบันทึก: 212441เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2008 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 20:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณมากนะคะสำหรับข้อมูลดีดี พอดีอาจารย์ให้ทำรายงานเกี่ยวกับประวัติของหมู่บ้านตนเองอ่ะค่ะ ทำให้หนูรู้จักหมู่บ้านของตัวเองมากยิ่งขึ้นค่ะ และถ่ายทอดออกมาได้ดีด้วยทำให้อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นธรรมชาติดี

คุณทวีวัตร

          ข้อความข้างล่างนี้  เป็นประวัติเมืองพะโต๊ะและขอแก้ไขชื่อ นายต้วน  ใยภักดี  เป็น นายต่วน  ใยภักดี

           เมืองพะโต๊ะ เป็นเมืองโบราณในอาณาจักรศรีวิชัย มีหลักฐานปรากฏในจดหมายเหตุของชาวจูเกาะ พ.ศ.1766 และในพงศาวดารจีนราชวงศ์สุง พ.ศ.1503- 1822 ในชื่อเมืองปะตา มีสินค้าสำคัญได้แก่ หวาย ยางกิโนแดง ไม้ดำหอม หมาก และมะพร้าว
     พ.ศ.2399 พระยาจรูญราชโภคากร(คอซิมเต็ก ณ ระนอง)เจ้าเมืองหลังสวนยกฐานะบ้านพะโต๊ะเป็นหัวเมืองใย มีขุนภักดีราษฎร์(ใย ภักดี)เป็นเจ้าเมือง มีหน้าที่เก็บภาษีอากร คุมคดีแพ่งและอาญา ดูแลทุกข์สุขของประชาชน
     พ.ศ.2422 ได้มีการจัดทำเหมืองแร่ดีบุกขึ้นที่บ้านปากทรง ทำให้บ้านดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากในสมัยนั้น และในปี 2460 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ยกท้องที่เมืองพะโต๊ะขึ้นเป็นอำเภอ ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457   ขึ้นกับจังหวัดหลังสวน โดยมีหลวงแพ่ง ศุภการ เป็นนายอำเภอคนแรก 
     พ.ศ.2476 เกิดกบฎบวรเดช สิบเอก ม.จ.บัณฑิต เสนีย์วงศ์ กับพวกรวม 4 คนได้หลบหนีมาอยู่ในพื้นที่พะโต๊ะ และก่อคดีอาญายิงพวกเดียวกันตาย จึงหลบหนีเข้าป่าเปลี่ยนชื่อเป็น เสือวิไล มีอิทธิพลอยู่ประมาณ 6 ปีเศษจึงถูกยิงเสียชีวิต
      พ.ศ.2480 เกิดโรคไข้น้ำระบาด ชาวพะโต๊ะได้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก พวกที่เหลืออยู่ได้พากันอพยพออกไปอยู่ที่อื่น จนเหลือประชากรน้อย ในที่สุด
พ.ศ. 2485 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอพะโต๊ะ ขึ้นการปกครองกับอำเภอหลังสวนแทน
      ในปี 2506 ได้มีการก่อสร้างถนนสายราชกรูด-หลังสวน ผ่านกิ่งอำเภอพะโต๊ะ และ พ.ศ.2510 ได้มีการก่อสร้างโรงจักรไฟฟ้าขึ้นเป็นครั้งแรก ทำให้กิ่งอำเภอพะโต๊ะเริ่มมีไฟฟ้าใช้ระหว่างเวลา 18.00-24.00 น.
      พ.ศ.2522 กิ่งอำเภอพะโต๊ะตกอยู่ในเขตแทรกซึมของ ผกค.ได้มีการนำกำลังเข้าโจมตี และเผา สภ.กิ่ง อ.พะโต๊ะถึง 2 ครั้งคือเมือ่วันที่ 22 ก.ค.2523 และวันที่ 4 เม.ย.2524 และในปีถัดมา 2525 ผู้คนจากทุกสารทิศได้เริ่มทะยอยหลั่งไหลเข้ามาจับจองผืนป่า ปลูกสวนผลไม้  ตั้งรกรากทำมาหากิน ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนทำให้อาชีพการทำสวนผลไม้ กลายเป็นอาชีพหลักของคนพะโต๊ะไปในที่สุด
       วันที่ 19 มิ.ย.2534 กระทรวงมหาดไทยจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอพะโต๊ะอีกครั้งหนึ่ง ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอน 107 หน้า 29 มีฐานะเป็นอำเภอชั้น 4 โดยมีว่าที่ ร.ต.ชยันต์ นาคเพชร เป็นนายอำเภอคนแรก
        ในปี 2536 นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล นายอำเภอได้ริเริ่มจัดงานเทศกาลล่องแพขึ้นเป็นครั้งแรก  โดยในปี 2541 เทศกาลดังกล่าวได้รับการบรรจุไว้ในปฏิทินการท่องเที่ยว ของ ท.ท.ท. และได้กลายเป็นเทศกาลสำคัญของอำเภอพะโต๊ะมาจนถึงปัจจุบัน 
        ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 สมัยนายอำนวย จงแจ่มใส เป็นนายอำเภอได้ย้ายที่ตั้งมาอยู่ ณ ที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ ริมถนนสายราชกรูด-หลังสวน เป็นศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินมาจนถึงปัจจุบัน 
        คำว่า พะโต๊ะ มีที่มาจากคำว่า ปะตะ เป็นภาษาบาลี แปลว่า ตก หรือ เหว ทั้งนี้สืบเนื่องจากภูมิประเทศทั้งอำเภอกว่า 6 แสนไร่ เป็นภูเขาสูง และป่าดิบชื้นขนาดใหญ่ มีน้ำตกมากมายหลายแห่ง อีกที่มาหนึ่งให้ความหมายว่า พะโต๊ะ มาจากชื่อเรียก ปากคลองโต๊ะ ซึ่งเป็นคลองที่ไหลมาจากภูเขาโต๊ะลงสู่แม่น้ำหลังสวน แต่ภาษาถิ่นเรียกสั้นเป็น ปากโต๊ะ และปักโต๊ะ และกลายเป็น พะโต๊ะ ในที่สุด
        


                                                        หลาน  นายต่วน ใยภักดี

เป็นเรื่องราวที่ดีมาก ทำให้ชุมชนเห็นคุณค่าของคนในชุมชน และมองประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

ขอให้ยั่งยืนตลอดไปนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท