ฉบับที่ ๖ อุปสงค์อุปทาน


อุปสงค์อุปทาน

ฉบับที่ ๖

กานต์วลี ที่รักเสมอ

            ในที่สุดผมก็ต้องยอมรับความจริงว่า ชีวิตของผมขาดกานต์ไม่ได้  ผมไม่สามารถสลัดปัดภาพแห่งความหลังของสองเราได้

 

สิ่งที่ขมขื่นที่สุดในความเศร้าสลดของเราในวันนี้

คือความทรงจำถึงความปราโมทย์เมื่อวันวานของเรา

The  bitterest thing  in  our today’s sorrow

Is  the  memory  of  our  yesterday’s joy.

ผมรู้ว่าเราต่างมีความต้องการในรักซึ่งกันและกัน

กานต์วลี  มนุษย์ทุกคนในสังคมล้วนมีความต้องการด้วยกันทั้งสิ้น อย่างระดับพื้นฐานคือ ความต้องการที่จะบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ ดังนั้น การตอบสนองก็เกิดขึ้นเพื่อตอบความต้องการนั้น ความต้องการซื้อ ของผู้บริโภค เรียกว่า อุปสงค์ (Demand) ส่วนความต้องการที่จะนำสินค้าออกมาจำหน่ายของผู้ผลิต เราเรียกว่า อุปทาน (Supply)

            ส่วนความต้องการที่ผมมีต่อกานต์ เรียกว่า ไฟรัก (burning  love) ซึ่งคอยติดตามเผาผลาญจิตใจของผมให้เฝ้าคิดถึงกานต์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันคงเป็นไปตามกฎของความรักที่ว่า

 

เมื่อความรักเข้ามาสัมผัส  ทุกคนก็กลายเป็นกวี

At the Touch  of  love , everyone  become a  poet.

                                                                                                Plato ( ca. ๔๒๗-๓๔๗ B.C.)

 

            ทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมมีกฎเกณฑ์ของตัวเองอยู่  อย่างเช่น “ ถ้าราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ความต้องการที่จะซื้อสินค้าและบริการนั้นจะลดลง แต่ถ้าราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ นั้น ลดลง ความต้องการที่จะซื้อก็มากขึ้น ” หรือสรุปสั้น ๆ ได้ว่า ปริมาณการซื้อสินค้าและบริการจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้ามกับราคาของสินค้า  นี่คือ “ กฎของอุปสงค์  ( Law  of  Demand)

 

  (กราฟ ขออภัยลงไม่เป็น ขึ้นไม่ได้)


ในส่วนของอุปทาน ก็มี “ กฎของอุปทาน (Law  of  Supply) ” ที่ว่า “ ถ้าราคาสินค้าและบริการชนิดใดเพิ่มขึ้น  ผู้ผลิตหรือผู้ขายจะนำเอาสินค้าชนิดนั้นออกมาขายเพิ่มขึ้น  แต่ถ้าราคาสินค้านั้นลดลง ผู้ผลิตหรือผู้ขายจะนำสินค้านั้นออกมาขายน้อยลง ” หรือสรุปได้ว่า ปริมาณของสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกับราคา

 

 

   (กราฟ ขออภัยลงไม่เป็น ขึ้นไม่ได้)

 

กานต์วลี  ทุกสิ่งทุกอย่างมีกฎและมีเกณฑ์

กฎเกณฑ์แห่งความรัก ( Law Of Love ) ของคุณเป็นอย่างไรหรือ ความรักของคุณ เพิ่มขึ้นมากไหม  ( Supply  Of Love )        เมื่อรู้ว่าผมมีความต้องการโหยหาในความรักจากคุณมากเพียงใด ( Demand Of Love )

 

กานต์วลี ไม่ว่าความต้องการซื้อ ( Demand ) หรือ ความต้องการขาย ( Supply )  ต่างสามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ซึ่งคงไม่ต่างอะไรกับความรักของสองเรา  แต่กานต์ทราบไหมว่า หากว่าความต้องการของทั้งสองฝ่าย มีความต้องการที่เหมือนกัน ก็จะเข้าสู่จุดพอใจสูงสุด  ซึ่งทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียกว่า “จุดดุลยภาพ” หรือจุดที่พอใจสูงสุดของความต้องการซื้อและความต้องการขาย ซึ่งเป็นจุดที่มีการซื้อขายสินค้าและบริการนั้นเอง

 

E

    (กราฟ ขออภัยลงไม่เป็น ขึ้นไม่ได้)


กานต์วลีครับ  ถึงแม้ว่ามีกฎเกณฑ์ของสิ่งต่างๆ ควบคุมอยู่ แต่ก็ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปได้  อะไรหรือที่ทำให้ความรักของกานต์เปลี่ยนแปลง คงไม่ต่างกับอุปสงค์และอุปทาน

 

            สิ่งที่ทำให้ความต้องการซื้อ ( เส้นอุปสงค์ ) เปลี่ยนแปลง มีหลายปัจจัย เช่น  รายได้ , การโฆษณา , รสนิยม , ประชากรที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง , อายุและเพศ ,การเปลี่ยนไปตามฤดูกาล , การคาดคะเนสินค้าในอนาคต , การออม ฯลฯ เป็นต้น กานต์ดูที่ภาพสิ กานต์อาจจะเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น

 

    (กราฟ ขออภัยลงไม่เป็น ขึ้นไม่ได้)


จากภาพกราฟ ยกตัวอย่าง หากผู้บริโภคมีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้ายังคงเท่าเดิม ผู้บริโภคก็มีความสามารถในการซื้อสินค้าในปริมาณที่มากขึ้น จาก ปริมาณ OQ เป็น OQ1  นั่นก็หมายความว่า ความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในสินค้าชนิดนั้นเพิ่มขึ้น และหากมองจากกราฟ เราก็จะพบว่า เส้นอุปสงค์ ( D ) เมื่อเพิ่มขึ้นจะเคลื่อนที่ไปในทางขวา ( D1 ) และถ้าหากความต้องการซื้อหรือ Demand ลดลง เส้นอุปสงค์ก็จะเคลื่อนที่ไปทางซ้าย

 

กานต์คงจะถาม  แล้วอะไรบ้างล่ะ ที่ทำให้ความต้องการขาย (เส้นอุปทาน) เปลี่ยนแปลง ก็มี อาทิ การเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการที่เป็นปัจจัยในการผลิต , ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี , การแข่งขันของผู้ผลิต , การคาดคะเนล่วงหน้าของผู้ผลิต , การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้อุปทานเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้  กานต์คงจะไม่เข้าใจอีกเช่นกัน หากไม่ได้ดูภาพกราฟ

P1

 

   (กราฟ ขออภัยลงไม่เป็น ขึ้นไม่ได้)

             

หากน้ำมัน ซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการราคาเพิ่มขึ้น จะเกิดอะไรขึ้นหรือกานต์กับความต้องการขายของผู้ผลิต  ใช่สิเมื่อปัจจัยในการผลิตสูงขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และจะทำให้ราคาสินค้าและบริการต้องปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย  จาก OP  เป็น OP1 ในขณะที่ทำการเสนอขายในประมาณเท่าเดิม คือ OQ เส้นอุปทานจะเคลื่อนที่ไปทางซ้าย ซึ่งก็หมายความว่า ความต้องการเสนอขายลดลง

            แล้วอะไรล่ะ  เป็นสาเหตุให้ความรักของกานต์ลดน้อยถอยลง  ในขณะที่ความรักของผมกลับเพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น  กานต์ควรจะมีคำตอบให้ผมด้วยเช่นกัน และได้โปรดเข้าใจเถิดว่า

 

การได้รับความรักอย่างลึกซึ้งจากใครคนหนึ่งเป็นสิ่งที่ให้พละกำลังแก่คุณ

ทว่า การรักใครคนหนึ่งอย่างลึกซึ้ง ให้ความกล้าหาญแก่คุณ.

Being  deeply  loved  by someone  gives  you strength ,

While  loving  someone  deeply  gives  you  courage.

 

            ด้วยความรักอย่างลึกซึ้ง  ผมจึงมีความกล้าหาญที่จะบอกกับกานต์ว่า มาอยู่เคียงข้างผมเถิด  กานต์วลี

 

                                                                                                เฝ้ารอคุณเสมอมา

                                                                                                อภิษฐา

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 212417เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2008 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท