ผู้บริหารสถานศึกษากับการพัฒนาจริยศึกษา


ธรรมศึกษา

 

       ผู้บริหารสถานศึกษาได้แก่ หัวหน้าสถานศึกษา หรือ ครูใหญ่ อาจารย์ ผู้อำนวยการ และรวมไปถึงผู้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย หรือรองของตำแหน่งดังกล่าวในสถานศึกษา และหมายรวมถึงครูอาจารย์ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าต่าง ๆ รองลงไปจากหัวหน้าสถานศึกษา หรือผู้ช่วยหรือรอง เช่น หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าคณะวิชา ฯลฯ ด้วยผู้บริหารทุกระดับเป็นผู้มีความสำคัญต่อการจัดและพัฒนาจริยศึกษาในสถานศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้บริหารเป็นทั้งผู้นำ ผู้กำหนดแนวทางและผู้ปฏิบัติในการฝึกหัดอบรมสั่งสอน และปลูกฝังนักเรียน นักศึกษา และบุคคลอื่น ๆ ในสถานศึกษาให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม และถ้าเป็นผู้มีความมุ่งมั่นประสงค์จะพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของนักเรียน และประชาชนด้วยแล้วการพัฒนาจริยศึกษาในสถาบันการศึกษาจะเป็นเรื่องง่าย

 คุณธรรมและจริยธรรมของผู้บริหาร

ตามที่กำหนดไว้สำหรับอบรมสั่งสอนนักเรียนนักศึกษาครบทุกข้อ ดังนี้

1. การมีความละอายในการทำความชั่ว ทำความสุจริตทั้งปวง (หิริ) และความเกรงกลัวหรือสะดุ้งกลัวต่อความชั่ว (โอตัปปะ) ซึ่งเป็นคุณธรรมที่ช่วยให้โลกมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่เดือดร้อนสับสนวุ่นวาย (ธรรมคุ้มครองโลก หรือ ธรรมโลกบาล)

2. การมีความอดทน รู้จักอดกลั้นต่อความยากลำบากของงาน ต่ออุปสรรคทั้งหลาย ตลอดทั้งความเข้าใจผิด และความไม่สุจริตใจต่าง ๆ ที่คนอื่นมีต่อตน (ขันติ) และมีความสงบเสงี่ยม ความอ่อนน้อมถ่อมตน (โสรัจจะ) ( ธรรม ทำให้งาม)

3. มีสติสัมปชัญญะเต็มเปี่ยมอยู่ตลอดเวลา รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนสม่ำเสมอ ไม่มีการลืมตัว หรือละเลยต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของตน (เป็นการยึดมั่นในธรรมที่มีอุปการะมากหรือธรรมที่เกื้อกูลในกิจ หรือในการทำความดีทุกอย่าง)

4. รู้จักอุปการะ คือ ทำคุณประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น นึกถึงประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้งพร้อมที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่คนอื่น ในงานในหน้าที่ และความรับผิดชอบของตน ไม่ถืออคติหรือความลำเอียงใด ๆ ในการปฏิบัติตนต่อผู้ร่วมงานต่อศิษย์ หรือนักเรียนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะมีความรักใคร่ชอบพอกัน ไม่ชอบ ไม่พอใจ มีความรู้หรือเขลา หรือมีอามิสสินจ้าง หรือเกรงกลัวภัยต่าง ๆ อย่างใด

5. มีคุณธรรมประจำตน ในการที่จะทำงานในหน้าที่ของตนให้สำเร็จ (อิทธิบาท) 4 ประการ คือ มีความพอใจและเอาใจใส่การงานในหน้าที่ของตน (ฉันทะ) มีความพากเพียรในการประกอบการงานในหน้าที่ (วิริยะ) เอาใจฝักใฝ่ในการงานไม่ทอดทิ้ง (จิตตะ) และหมั่นตริตรองพิจารณาหาเหตุผลและวิธีการที่จะทำให้การงานเจริญก้าวหน้า อยู่เสมอ (วิมังสา)

6. มีคุณสมบัติอันประเสริฐ (พรหมวิหาร) 4 ประการ คือ มีความเมตตา ปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข มีความกรุณาสงสาร คิดหาทางให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์ มีมุทิตาปราบปลื้มในความสำเร็จ ความก้าวหน้าของบุคคลอื่น และมีอุเบกขา ความวางเฉย เห็นอกเห็นใจแก่ผู้ที่ได้รับความทุกข์

7. มีคุณธรรมที่เป็นเครื่องผูกน้ำใจผู้อื่น และบุคคลทั่วไป (สังคหวัตถุ) 4 ประการอยู่เป็นประจำ คือ ให้ปันสิ่งของแก่บุคคลที่ควรให้ปัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ตามสมควรแก่กรณี (ทาน) มีวาจาอ่อนหวาน สุภาพเรียบร้อย (ปิยวาจา) ประพฤติตนเป็นคุณประโยชน์ (อัตถจริยา) และเป็นคนไม่ถือตัว ไม่ถือยศศักดิ์ เข้ากันได้กับผู้ร่วมงานทุกคน ตามความเหมาะสมกับฐานะหน้าที่ของตน (สมานัตตตา)

8. หมั่นศึกษาหาความรู้รอบตัว ให้มีความรอบรู้ เพื่อเป็นผู้ที่ทันต่อเหตุการณ์ บุคคลและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหน้าที่การงาน (พาหุสัจจะ)

9. ประพฤติตนให้ห่างจากอบายมุข หรือทางแห่งความเสื่อมต่าง ๆ ไม่กระทำตนเป็นคนเบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น ผู้ร่วมงาน หรือนักเรียนนักศึกษา มีความจริงใจต่อผู้ร่วมงานทุกคน ไม่เป็นคนที่มีเล่ห์ หรือเชื่อถือไม่ได้

หน้าที่สำคัญของผู้บริหาร คือ การเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาผู้อื่น หัวหน้าสถานศึกษาจะต้องสร้างหน้าที่ปกครองบังคับบัญชา ครูอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา เจ้าหน้าที่ คนงานภารโรง ในสถานศึกษา ลดลั่นลงไป หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าหมวดวิชา หัวหน้าคณะวิชา หรือหัวหน้าภาควิชา ก็ต้องทำหน้าที่ปกครองบังคับบัญชา ครูอาจารย์ เจ้าหน้าที่ในส่วนของตน หลักการในการปกครองบังคับบัญชาที่เป็นการจูงใจโน้มนำให้ผู้ใต้บังคับบัญชา นักเรียน เคารพทำตาม หรือร่วมงานอย่างมีประสิทธิภาพ มี 3 วิธี และผู้ปกครองบังคับบัญชาจะต้องเลือกใช้ให้หมาะกับผู้อยู่ในปกครองให้ถูกต้องถูกโอกาสด้วย คือ

1. นิคคหวิธี คือ ปกครองด้วยวิธีคู่ขนาบ บังคับบัญชา แบบรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี

2. ปัคคหวิธี คือ ปกครองด้วยการยกย่องส่งเสริมให้ทำความดี ให้กำลังใจในการปฏิบัติงาน หรือศึกษาเล่าเรียน ใครทำดีอะไร ทำอะไรสำเร็จเป็นพิเศษ ก็ยกย่องชมเชยให้ปรากฏ

3. ทิฏฐานุคติวิธี คือ ปกครองโดยการทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ดี สอนให้คนอื่นทำอะไรอย่างไร ตนเองต้องปฏิบัติตามนั้นด้วย

ในสังคมไทยปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการสถานศึกษา หรือหน่วยงานย่อย แค่ไหนอย่างไร ผู้บริหารมักถูกมองในแง่อคติ ในการปกครองบังคับบัญชา เช่น ในการแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงขึ้น การพิจารณาความดีความชอบ การไว้เนื้อเชื่อใจให้ทำงานที่สำคัญ ๆ มักจะกล่าวหาว่าผู้บริหารมักจะถือเอาประโยชน์และอามิสเป็นที่ตั้ง เช่น มีคำพังเพยว่า สืบสายโลหิต (เห็นแก่ญาติมิตร) เป็นศิษย์ข้างเคียง(เห็นแก่บุคคลที่เป็นนักเรียน ลูกศิษย์ของตนมาก่อน) นำเสบียงส่งหลังบ้าน (เห็นแก่อามิส ของขวัญ ของกำนัล) กราบกรานสอพลอ (เห็นแก่การสอพลอ ยกย่อง เชิดชูตน) ล่อไข่แดง (เห็นแก่ที่ผู้ใต้ปกครองหาของที่ตนอยากได้มาปรนเปรอ) แรงวิชา (เห็นแต่คนที่แสดงตนว่ามีปริญญา มีความรู้สูง) ถลามาเอง(เป็นโชคชะตาของผู้ได้รับ เพราะผู้ปกครองบังคับบัญชาไม่อยากให้ผู้อื่นได้เพราะอคติต่าง ๆ จึงมีโคต้าเหลือมายังตนที่ไม่เคยมีอะไรให้นายชอบ) ซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องหลีกเลี่ยงอคติดังกล่าวนี้ได้อย่างสิ้นเชิงการพัฒนาจริยศึกษาจึงจะได้ผล ไม่มีใครขัดขวาง มีแต่จะให้ความร่วมมือ

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ป.บัณฑิต รุ่น 3
หมายเลขบันทึก: 212235เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 14:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท