ประวัติการจัดการศึกษาจริยศึกษา


ธรรมศึกษา

ประวัติการจัดจริยศึกษาในระบบโรงเรียนของไทย

            โรงสอนหรือโรงเรียนที่เริ่มจัดขึ้นในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นโรงเรียนสอนภาษาและศิลปวิทยาการต่าง ๆ มิได้มีวิชาที่ว่าด้วยศีลธรรม จรรยา หรือการฝึกหัดอบรมสั่งสอนทางคุณธรรมและจริยธรรม เพราะถือว่า เด็กหรือผู้เรียนได้รับการศึกษาด้านนี้ในการศึกษาตามปกติวิสัยอยู่แล้ว เมื่อมีการจัดการศึกษาเป็นระบบในสมัยรัชกาลที่ 5 ในโรงเรียน มีการสอนเฉพาะหนังสือไทย ภาษาอังกฤษ และศิลปวิทยาการต่าง ๆ เพราะผู้เรียนยังได้รับการศึกษาด้านคุณธรรมและ

จริยธรรมจากสังคมตามปกติวิสัย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ยังไม่ห่างวัดหรือสถาบันทางศาสนา โรงเรียนสำหรับทวยราษฎร์ในตอนแรกก็ตั้งอยู่ในวัด ให้วัดตั้ง วัดจัดการ พระเป็นครูสอน เมื่อเด็กสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนแล้วก็ยังนิยมบวชเรียนก่อนจึงลาสิกขาออกไปประกอบอาชีพ และครองเรือนต่อไป

        หลักสูตรเกี่ยวกับจริยศึกษาในโรงเรียนเริ่มมีครั้งแรกตามโครงการศึกษา พ.ศ. 2445 คือ

                วิชาสำหรับสอบไล่ในประโยค 1 (ประถมศึกษา) ได้แก่ อ่าน เขียน ลายมือ ไวยากรณ์  คำถาม คำตอบ เลข บัญชี แปลศัพท์และอธิบายข้อปัญหาสุภาษิต อธิบายปัญหาธรรมะและคฤหัสถ์ศีลแต่ภายหลังยกเลิกคฤหัสถ์ศีลเสีย เพราะหัวข้อไปเกี่ยวกับศีลของพระ มักจะเป็นทางเข้าใจผิด ต่อมาได้ตั้งต้นสอนใหม่อีก เมื่อได้พิมพ์แบบเรียนเบญจศีลเบญจธรรมแล้ว

        ใน พ.ศ. 2449 ได้มีการประชุมเทศาภิบาลฝ่ายราชการในหน้าที่กระทรวงธรรมการ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทรงชี้แจงให้ที่ประชุมทราบตอนหนึ่งว่า

        “… แบบเรียนที่จะใช้สอนทั่วทุกวัด สำหรับวิชาชั้นต้นนั้น ในเวลานี้ควรให้มีแต่เพียง 4 เล่ม ก่อน คือ แบบหัดอ่าน 1, แบบเรียนเลข 1, แบบเรียนวิทยา 1 และ แบบเรียนจรรยา 1 …… ในมณฑลที่ราษฎรนับถือศาสนาต่าง ๆ กัน เช่น มณฑลปัตตานี เป็นต้น ให้ถือว่า วัดไม่ว่าวัดในศาสนาใดก็เป็นอย่างเดียวกันทั้งสิ้น เมื่อใครจะสมัครเรียนวัดไหน ก็ให้เรียนวัดนั้น….

        วิชาที่สอบไล่ในประโยค 2 (มัธยมศึกษา) ได้แก่ อ่าน เขียน ลายมือ ไวยากรณ์ แต่ง เลข บัญชี ศัพท์ ภูมิศาสตร์ คัดอังกฤษอธิบายหัวข้อธรรมะและสนทนาโต้ตอบเกี่ยวกับกิริยาวาจาหลักสูตร ดังกล่าวนี้ได้มีการสอบไล่ความรู้นักเรียนเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2451

        โรงเรียนสำหรับทวยราษฎร์ที่จัดขึ้นครั้งแรกทั่วพระราชอาณาจักร เป็นการพัฒนามาจากโรงเรียนวัด ยังคงมีพระภิกษุเป็นผู้สอน การดำเนินการจัดและควบคุมส่งเสริมการศึกษาของเจ้าหน้าที่ธรรมการหรือศึกษาธิการเป็นการเข้าไปดำเนินการร่วมกับวัด ตั้งแต่ พ.ศ. 2451 เป็นต้นมา มีนักเรียนสตรีเข้าเรียนด้วย ตอนแรก ๆ มีปัญหาเรื่องเด็กหญิงไปเรียนวิชากับพระ แต่ต่อมาเริ่มมีโรงเรียนสตรีแยกต่างหากจากโรงเรียนชาย หลักสูตรจริยศึกษาสำหรับสตรีตามแผนการศึกษา พ.ศ.2450 กำหนดวิชาจรรยาให้สอนตามความต้องการของสตรีทั้งในหลักสูตรมูล หลักสูตรประถมและหลักสูตรมัธยมศึกษา

        ใน พ.ศ. 2454 รัชกาลที่ 6 ได้ทรงจัดตั้งกองลูกเสือขึ้น การลูกเสือนี้จัดในโรงเรียนครูเป็นผู้ฝึกหัดอบรม การปลูกฝังคุณธรรมให้ฝังมั่นในสันดาลเด็ก จะได้สำเร็จได้ด้วยการอบรมให้เด็กได้ทำลงไปจริง ๆนับเป็นการเริ่มจัดให้มีกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ส่งเสริมจริยธรรมให้แก่นักเรียนในโรงเรียนครั้งแรก

        โครงการศึกษา พุทธศักราช 2456 แบ่งการศึกษาทั้งปวงออกเป็น 2 ประเภท คือ สามัญศึกษาและวิสามัญศึกษา

        สามัญศึกษา ได้แก่ การศึกษาเล่าเรียนความรู้ใด ๆ อันเป็นความรู้สามัญซึ่งทุกคนควรจะรู้จักตัวอย่างเช่น วิชาหนังสือ คิดเลข จรรยา คือ สอนกิริยา วาจา ใจ ให้ประพฤติที่ดี ละเว้นที่ชั่ว เป็นต้น และในโครงการศึกษาฉบับนี้ได้กล่าวถึงภาคศึกษาบังคับว่า ได้แก่ ความรู้ทั้งฝ่ายสามัญและวิสามัญศึกษา ซึ่งสมควรจะให้ราษฎรมีความรู้เป็นพื้นไว้ทุกคนพอให้รู้ผิดชอบชั่วดี รู้วิชากลาง ๆ ไว้สำหรับให้พอแก่ที่จะต้องใช้อยู่ทุกวัน รู้จักทางที่จะรักษาตัวทั้งส่วนชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สมบัติและชื่อเสียงให้พอครองตนเป็นพลเมืองดีได้คนหนึ่ง

        โครงการศึกษา พ.ศ. 2464 มุ่งหมายปลูกฝังประชาชนให้เริ่มสนใจศึกษา เพื่อไปประกอบอาชีพมากขึ้น แบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สามัญศึกษาและวิสามัญศึกษา ในสามัญศึกษาได้จัดให้มีหลักสูตรการสอนวิชาจรรยา คือ ฝึกหัดกิริยา วาจา ใจ ให้ประพฤติที่ดี เว้นที่ชั่ว เช่นเดียวกับหลักสูตรตามโครงการศึกษาพุทธศักราช 2456

        หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 รัฐบาลของคณะราษฎร์ได้ประกาศหลัก 6 ประการ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งมีหลักการศึกษาเป็นหลักที่ 6 มีข้อความว่าในหลักการศึกษารัฐบาลนี้มีความสามารถอย่างยิ่งที่จะให้การศึกษาแก่พลเมืองทั่วไปอย่างเต็มที่ให้ได้รับการศึกษาอบรมในระบบการปกครองตามแบบรัฐธรรมนูญ ให้ได้รับการศึกษาทางธรรมชาติทางการงานและทางการสมาคม ฝึกฝนให้รอบรู้ มีปัญญา ความคิด รู้จักค้นคว้าหาเหตุผลโดยตนเองมีจรรยาประกอบด้วยกำลังกาย กำลังใจเป็นอันดี กับทั้งไม่ให้ละทิ้งเสียซึ่งจริยศึกษาแห่งชาติขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีของไทย มุ่งประสงค์ให้ผู้ที่ได้รับการศึกษาแล้ว สามารถประกอบอาชีพมีอนามัยและศีลธรรมอันดีงาม

        แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2475 ได้ประกาศความมุ่งหมายของการศึกษาแห่งชาติไว้ ตอนหนึ่งว่า เพื่อความสมบูรณ์แห่งพสกนิกรสยาม ท่านให้จัดการศึกษาทั้ง 3 ส่วนล้วนพอเหมาะกัน คือ

                    1. จริยศึกษา (อบรมให้มีศีลธรรมอันดีงาม)

                    2. พุทธิศึกษา (ให้มีปัญญารอบความรู้)

                    3. พลศึกษา (ฝึกหัดให้เป็นผู้มีร่างกายสมบูรณ์)

        หลักสูตรการศึกษา การเรียน การสอนและการสอบไล่ชั้นต่าง ๆ ตามแผนการศึกษานี้มีวิชาจรรยาที่เป็นเนื้อหาของคุณธรรมทางหลักพระพุทธศาสนา ในโรงเรียนต่าง ๆ มีการสวดมนต์ไหว้พระตอนเช้าก่อนเริ่มเรียน ตอนเย็นก่อนเลิกเรียนและในวันสุดสัปดาห์เป็นประจำ

        แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2479 กำหนดความมุ่งหมายทั่วไปของการศึกษาไว้ 3 ข้อ ดังนี้

                1. รัฐมีความมุ่งหมายที่จะให้พลเมืองทุกคนได้รับการศึกษา เพื่อจะได้ทำหน้าที่พลเมืองตามระบบรัฐธรรมนูญโดยเต็มที่ และเพื่อทุกคนจะได้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและตนเองตามหน้าที่

                2. เพื่อให้ได้ประโยชน์ตามหน้าที่ กุลบุตรกุลธิดาพึงได้รับการศึกษาทั้งสองสถานคือ สามัญศึกษาและอาชีวศึกษา

                3. เพื่อความบริบูรณ์แห่งการศึกษาทั้งสองสถานนั้น ให้จัดการศึกษาทั้ง 3 ส่วนคือ

ก. พุทธิศึกษา ให้มีปัญญาความรู้

ข. จริยศึกษา ให้มีศีลธรรมอันดี

ค. พลศึกษา ให้มีร่างกายสมบูรณ์

        วิชาจรรยาที่มีการสอนอยู่ในหลักสูตรประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม มีชั่วโมงสอน 2-3 ชั่วโมง/สัปดาห์ และมีการสอบไล่ตามประมวลการศึกษาพิเศษ ภาค 2 ระเบียบการสอบความรู้นักเรียนตามหลักสูตรสามัญ พ.ศ. 2480 ประกาศเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2482 วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม

ชั้นประถมปีที่ 1,2 ให้ 20 คะแนนในจำนวนคะแนนสอบไล่ทั้งหมด 400 คะแนน

ชั้นประถมปีที่ 3,4 ให้ 30 คะแนนในจำนวนคะแนนสอบไล่ทั้งหมด 500 คะแนน

ชั้นมัธยมปีที่ 1,2,3 ให้ 20 คะแนนในจำนวนคะแนนสอบไล่ทั้งหมด 800 คะแนน

ชั้นมัธยมปีที่ 4,5,6 ให้ 30 คะแนนในจำนวนคะแนนสอบไล่ทั้งหมด 1000 คะแนน

        แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2494 ได้กำหนดความมุ่งหมายของการศึกษาไว้บางตอน ดังนี้

                1. รัฐมีความมุ่งหมายให้พลเมืองได้รับการศึกษาพอเหมาะแก่อัตภาพ เพื่อทุกคนจะได้เป็นพลเมืองดี มีร่างกายแข็งแรงและอนามัยสมบูรณ์ มีความรู้ ความสามารถที่จะประกอบอาชีพและมีจิตใจเป็นนักประชาธิปไตย

                2. เพื่อการเป็นพลเมืองดี กุลบุตรกุลธิดาพึงได้รับการศึกษาอยู่ในโรงเรียนจนอายุย่างเข้าปีที่ 15 เป็นอย่างน้อย

                3. …………………………….. ฯลฯ ………………………………………

                4. ในการจัดการศึกษานั้น ท่านให้จัดการศึกษาทั้ง 4 ส่วนล้วนพอเหมาะกัน คือ

จริยศึกษา ให้มีวัฒนธรรมดีงาม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตน

พลศึกษา ให้มีร่างกายแข็งแรงและอนามัยสมบูรณ์ กับทั้งมีน้ำใจเป็นนักกีฬา

พุทธิศึกษา ให้มีปัญญา ความรู้ ความสามารถ ใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการงานโดยทั่วไป

หัตถศึกษา ให้มีความเคยชินและความขยันหมั่นเพียรในการใช้มือปฏิบัติงาน เพื่อเป็นรากฐานการประกอบอาชีพ

หลักสูตรการศึกษาตามแผนการศึกษาชาติแห่งฉบับนี้

ชั้นประถมปีที่ 1-4 สอนวิชาหน้าที่พลเมือง 1 ชั่วโมง ศีลธรรม 1 ชั่วโมง ใน 1 สัปดาห์ ซึ่งมีเวลาเรียนทั้งหมด 28 ชั่วโมง

ชั้นมัธยมปีที่ 1-6 สอนวิชาหน้าที่พลเมือง 1 ชั่วโมง ศีลธรรม 1 ชั่วโมง ใน 1 สัปดาห์ ซึ่งมีเวลาเรียนทั้งหมด 30 ชั่วโมง

        แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2503 กำหนดความมุ่งหมายการศึกษาของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ศึกษาไว้ ดังนี้

                1. รัฐมีความมุ่งหมายให้พลเมืองทุกคนได้รับการศึกษาตามแก่อัตภาพ เพื่อเป็นพลเมืองดี มีศีลธรรมและวัฒนธรรม มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ มีสุขภาพสมบูรณ์ มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย มีความรู้ ความสามารถที่จะประกอบอาชีพและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ

                2. …………………………….. ฯลฯ ……………………………………….

               4. ในการจัดการศึกษานั้น ให้จัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการของสังคมและบุคคลโดยให้สอดคล้องกับแผนเศรษฐกิจและแผนการปกครองของประเทศ เช่น จัดให้มี

จริยศึกษา ให้มีศีลธรรมและวัฒนธรรม มีหิริโอตัปปะ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตัว

พลศึกษา ให้มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งทางกายและทางจิตใจกับให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา

พุทธิศึกษา ให้มีความรู้วิชาการ ปัญญาเพื่อการดำรงชีวิตโดยทั่วไป

หัตถศึกษา ให้มีกิจนิสัยและความขยันหมั่นเพียรในการใช้มือปฏิบัติงานเพื่อเป็นรากฐานของการประกอบสัมมาอาชีพ

        หลักสูตรการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ รวมวิชาต่าง ๆ เป็นหมวดวิชา   วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมรวมอยู่ในหมวดวิชาสังคมศึกษา ทั้งในระดับประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-4) ประถมศึกษาตอนปลาย (ป.5-7) มัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ศ. 1-3) และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.ศ.4-5 หรือ6)ซึ่งในหมวดวิชาสังคมนี้ มีรายการสอนทั้งศีลธรรม หน้าที่พลเมือง ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์ อื่น ๆ รวมกัน โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงในชั้นประถมศึกษามาตั้งแต่ พ.ศ. 2498 จนหมดทุกชั้น

ในปีการศึกษา 2507 การไหว้พระสวดมนต์ทั้งก่อนเรียน หลังเรียน และสุดสัปดาห์ถูกละเลยไปมาก

        แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2520 กำหนดความมุ่งหมายของการศึกษาไว้ ดังนี้

                1. ให้มีความเคารพในสิทธิและหน้าที่ของตนเองและของผู้อื่น มีระเบียบวินัยมีความเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ศาสนาและหลักธรรม

                2.ให้มีความเข้าใจและกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ ตามวิถีทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

               3. ให้มีความรับผิดชอบต่อชาติ ต่อท้องถิ่น ต่อครอบครัว และต่อตนเอง

              4.ให้มีความสำนึกในการเป็นคนไทยร่วมกัน และการเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ชาติ มีความรักชาติ ตระหนักในความมั่นคงปลอดภัยของชาติ และมีส่วนร่วมในการป้องกันประเทศ

                5. ให้มีความยึดมั่นและผดุงความเสมอภาค ความสุจริตและความยุติธรรม

                6. ให้มีบุคลิกภาพที่ดี มีสุขภาพและอนามัยสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ

                7. ให้มีความขยันมั่นเพียร มีความสามารถในการประกอบอาชีพ และการจับจ่ายใช้สอยอย่างประหยัดตลอดจนความร่วมมือกันประกอบกิจการและธุรกิจต่าง ๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย

                8.ให้มีความสามารถในการติดต่อ ทำความเข้าใจและร่วมมือซึ่งกันและกัน รู้จักการแสวงหาความจริง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักแก้ปัญหาและข้อขัดแย้งด้วยสติปัญญาและโดยสันติวิธี

                9. ให้มีความรู้ความเข้าใจและเห็นคุณค่าในวิทยาการ ศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรของประเทศ

        หลักสูตรแต่ละระดับการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ได้มีการแบ่งเป็นกลุ่มวิชา และมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับจริยศึกษาเป็นลักษณะรายวิชาอย่างหนึ่ง และมีการจัดกิจกรรมและการฝึกหัดอบรมนอกห้องเรียนอีกส่วนหนึ่ง.

 

คำสำคัญ (Tags): #ป.บัณฑิต รุ่น 3
หมายเลขบันทึก: 212214เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท