จุ้ม
นาย วิรัตน์ จุ้ม เกษสุริยงค์

การจัดทำแผนกลยุทธ์


ข้อมูลการทำแผนกลยุทธ์

ความหมายของแผนกลยุทธ์
                                การวางแผนงบประมาณเริ่มจากการวางแผนกลยุทธ์  เพื่อกำหนดทิศทางที่องค์กรต้องการไปให้ถึง  และกำหนดกลยุทธ์เพื่อไปให้ถึงจุดหมายที่ต้องการ  งบประมาณที่ได้รับจะใช้จ่าย
ไปตามกลยุทธ์ที่กำหนดไว้  โดยมุ่งเน้นให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์จากการวางแผนการจัดสรรงบประมาณขององค์กร  โดยพิจารณาจากผลลัพธ์และผลผลิต  ซึ่งบ่งบอกทรัพยากรที่ใช้ในการจัดทำกรอบงบประมาณระยะปานกลาง (MTEF)  ตลอดจนการตรวจสอบ  ติดตามกำกับ  การบริหารจัดการ  เพื่อให้เกิดผลงาน  คือผลผลิต  และผลลัพธ์ตามที่ได้กำหนดไว้  ดังนั้น  แผนกลยุทธ์จึงเป็นแผนที่กำหนดทิศทางในการดำเนินงานขององค์กร  สำหรับความหมายของแผนกลยุทธ์ได้มีผู้นำเสนอในแง่มุมต่าง ๆ  ไว้ดังนี้
                                “ แผนกลยุทธ์  เป็นข้อความเกี่ยวกับภารกิจทิศทางในอนาคต  เป้าหมาย  การทำงานระยะสั้นและระยะยาว  ตลอดจนกลยุทธ์ในการทำงาน ”
ศิริวรรณ  เสรีรัตน์  และคณะ  (2540.  หน้า  5  อ้างอิงจาก  การวางแผนงบประมาณ
แบบมุ่งเน้นผลงาน,  2545.  หน้า  33) 
                                “ การวางแผนกลยุทธ์เป็นกระบวนการวางแผนที่คิดค้นทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อให้
องค์กรอยู่รอดสามารถดำรงอยู่ได้ในขณะมีสภาวะวิกฤตหรือคิดค้นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและนำไปสู่ภาพลักษณ์ใหม่ (วิสัยทัศน์)  ที่โดดเด่นหรือดีที่สุด ”
เอกสารชุดฝึกอบรมการวางแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน  สำนักงานคณะกรรมการการ
ประถมศึกษาแห่งชาติ  (2543.  อ้างอิงจาก  การวางแผนงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน,  2545.  หน้า  33) 
                                “ การวางแผนกลยุทธ์  เป็นกระบวนการตัดสินใจในปัจจุบัน  อย่างมีระบบที่จะมีผลกระทบต่อองค์กรในอนาคต  ดังนั้น  แผนกลยุทธ์จึงไม่ใช่เรื่องของการตัดสินใจที่จะทำให้อนาคตแต่เป็นการตัดสินใจในปัจจุบันที่ส่งผลถึงอนาคต ”
ทศพร  ศิริสัมพันธ์  (2544.  หน้า  10  อ้างอิงจาก  การวางแผนงบประมาณ
แบบมุ่งเน้นผลงาน,  2545.  หน้า  33) 
                                “  การวางแผนกลยุทธ์  เป็นแนวทางการบริหารธุรกิจเชิลกลยุทธ์ที่เป็นระบบและมีขั้นตอนและเป็นการวางแผนทั้งในเชิงรุกและเชิงรับไปในตัว  เป็นการวางแผนแบบมีทิศทางแต่ก็มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ ”
สมชาย  ภคภาสน์วิวัฒน์  (2544.  หน้า  22  อ้างอิงจาก  การวางแผนงบประมาณ
แบบมุ่งเน้นผลงาน,  2545.  หน้า  33)   
“ การวางแผนกลยุทธ์  เป็นการวางแผนที่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ของผู้นำในการที่จะ
เข้าถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในที่จะกระทบกับธุรกิจ  เป็นการวางแผนในลักษณะที่เป็นทั้งการแก้ไขและต้องป้องปราบปัญหาและรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งระยะสั้น  ระยะกลาง  และระยะยาว ”
สมชาย  ภคภาสน์วิวัฒน์  (2544.  หน้า  5  อ้างอิงจาก  การวางแผนงบประมาณ
แบบมุ่งเน้นผลงาน,  2545.  หน้า  33)    
“ แผนกลยุทธ์  เป็นแผนชี้แนะยุทธวิธีทางปฏิบัติเฉพาะที่มีการจัดลำดับความสำคัญ
เป็นแผนที่สามารถดำเนินการได้อย่างสอดรับกับสภาพแวดล้อมเป็นแผนที่ยกร่างจากกระบวนการที่มี
ส่วนร่วมและระดมสมองขององค์กร ”
อุทิศ  ขาวเธียร  (2544.  เอกสารประกอบการบรรยายการวางแผนกลยุทธ์  อ้างอิงจาก 
การวางแผนงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน,  2545.  หน้า  34)    
                                “  แผนกลยุทธ์  เป็นข้อความที่บ่งบอกถึงภารกิจขององค์กร  ทิศทางในอนาคตผลงานของกลุ่มเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวรวมทั้งข้อตกลงร่วมกันของผู้บริหารเกี่ยวกับทิศทางที่ควรเป็นไป  มีการระบุสิ่งที่จะไปให้ถึงและกระบวนการที่สำคัญต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจนกับคนในองค์กร ”
ทอมสัน  สติกแลนด์  (1996.  หน้า  20  อ้างอิงจาก  การวางแผนงบประมาณ
แบบมุ่งเน้นผลงาน,  2545.  หน้า  34)    
                                จากแนวทัศนะที่ได้มีผู้เสนอไว้ข้างต้น  พบว่าการวางแผนกลยุทธ์เป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องการให้เกิด  ซึ่งการที่เกิดขึ้นได้นั้นต้องใช้กระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในเป็นฐานสำคัญ  ซึ่งต้องทำอย่างมีระบบมีกระบวนการทำงานที่ชัดเจนและที่สำคัญแผนกลยุทธ์จำเป็นต้องเกิดขึ้น  จากทุกฝ่ายในองค์กรและผู้มีส่วนได้เสีย  แผนกลยุทธ์มีองค์ประกอบในด้านภารกิจ  ทิศทาง  กลุ่มเป้าหมายและแนวทางในการดำเนินงานที่ชัดเจน  ดังนั้นสามารถสรุปความหมายของการวางแผนกลยุทธ์  ได้ดังนี้
                                “  แผนกลยุทธ์  เป็นการตัดสินใจวางแผนอย่างมีระบบ  มีทิศทางมีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน  มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม  เพื่อให้องค์กรสามารถดำรงอยู่ได้ในอนาคต
โดยอาศัยการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของทุกฝ่าย ”
1.2  ความสำคัญของการวางแผนกลยุทธ์
                                องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์  (2550,  เว็บไซด์)  ได้กล่าวถึงความสำคัญของการวางแผนกลยุทธ์  ดังนี้ 
(1) การวางแผนกลยุทธ์เป็นรูปแบบการวางแผนที่ช่วยให้หน่วยงานพัฒนาตนเองได้
ทันกับสภาพการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม เพราะการวางแผนกลยุทธ์ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิเคราะห์บริบทและสภาพแวดล้อมภายนอกหน่วยงานเป็นประเด็นสำคัญ
(2) การวางแผนกลยุทธ์ เป็นรูปแบบการวางแผนที่ช่วยให้หน่วยงานภาครัฐในทุก
ระดับ มีความเป็นตัวเองมากขึ้น รับผิดชอบต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของตนเองมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะการวางแผนกลยุทธ์เป็นการวางแผนขององค์การ โดยองค์การและเพื่อองค์การไม่ใช่เป็นการวางแผนที่ต้องกระทำตามที่หน่วยเหนือสั่งการ
(3) การวางแผนกลยุทธ์ เป็นรูปแบบการวางแผนที่สอดรับกับการกระจายอำนาจ ซึ่ง
เป็นกระแสหลักในการบริหารภาครัฐในปัจจุบัน และสอดคล้องกับที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ได้เตรียมออกระเบียบกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐทุกระดับมีการจัดทำแผน
กลยุทธ์ใช้เป็นเครื่องมือ ในการพัฒนางานสู่มิติใหม่ของการปฏิรูประบบราชการ
(4) การวางแผนกลยุทธ์ เป็นเงื่อนไขหนึ่งของการจัดทำระบบงบประมาณแบบ
มุ่งเน้นผลงาน (Performance Base Budgeting) ซึ่งสำนักงบประมาณกำหนดให้ส่วนราชการและหน่วยงานในสังกัด จัดทำก่อนที่จะกระจายอำนาจด้านงบประมาณโดยการจัดสรรงบประมาณเป็นเงินก้อนลงไปให้หน่วยงาน
(5)  การวางแผนกลยุทธ์ เป็นการวางแผนที่ให้ความสำคัญต่อการกำหนด “กลยุทธ์”
ที่ได้มาจากการคิดวิเคราะห์แบบใหม่ ๆ ที่ไม่ผูกติดอยู่กับปัญหาเก่าในอดีตไม่เอาข้อจำกัดทางด้านทรัพยากร และงบประมาณมาเป็นข้ออ้าง ดังนั้น การวางแผนกลยุทธ์จึงเป็นการวางแผนแบบท้าทายความสามารถ เป็นรูปแบบการวางแผนที่ช่วยให้เกิดการริเริ่มสร้างสรรค์ทางเลือกใหม่ ได้ด้วยตนเอง จึงเป็นการวางแผนพัฒนาที่ยั่งยืน
1.3  โครงสร้างของแผนกลยุทธ์
                                องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์  (2550,  เว็บไซด์)  ได้กล่าวถึงโครงสร้างของการวางแผนกลยุทธ์  ดังนี้ 
(1)  การวิเคราะห์ภารกิจหรือพันธกิจ (Mission Analysis)
(2)    การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในอนาคต (Environmental Analysis)
(3)    การวิเคราะห์องค์การ (SWOT หรือ Situation Analysis)
(4)    การกำหนดวิสัยทัศน์ (Vision)
(5)    การค้นหาอุปสรรคและปัญหาในการดำเนินงาน (Obstacles)
(6)    การกำหนดกลยุทธ์ (Strategy Decision)
(7)    การกำหนดนโยบาย (Policy Decision)
(8)    การกำหนดกิจกรรม (Activity) สำคัญตามกลยุทธ์และนโยบาย
(9)    การจัดทำเป็นแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning)
1.4  การวิเคราะห์ สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กร (SWOT)
                                องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์  (2550,  เว็บไซด์)  ได้กล่าวว่า  การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกองค์กรทางการศึกษา เป็นการศึกษาแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น โดยแนวโน้มการพัฒนาการศึกษาขององค์กรทางการศึกษาต้องมีความเป็นไปได้ในการพัฒนาตามเงื่อนไขข้อจำกัดและองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการจัดการศึกษา ซึ่งได้แก่ นโยบายในการจัดการศึกษาของหน่วยงานต้นสังกัด รูปแบบการบริหารงานขององค์กรทางการศึกษา และปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น  การศึกษาความต้องการของชุมชน เป็นการสำรวจความต้องการขององค์กรชุมชนที่องค์กรทางการศึกษาตั้งอยู่
ความต้องการของผู้ปกครองนักเรียนและความต้องการของชาวบ้านในชุมชน  สรุปมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน  การวิเคราะห์สภาพขององค์กรทางการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาการศึกษา จะต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ด้วย เรียกว่า SWOT Analysis ซึ่งได้แก่
(1) Strengths - จุดแข็งหรือข้อได้เปรียบ
(2)  Weaknesses - จุดอ่อนหรือข้อเสียเปรียบ
(3)  Opportunities - โอกาสที่จะดำเนินการได้
(4)  Threats - อุปสรรค หรือปัจจัยที่คุกคามการดำเนินงานขององค์การ
การวิเคราะห์ SWOT อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นการทำ Situation Analysis
เป็นการวิเคราะห์สภาพองค์การ หรือหน่วยงานในปัจจุบัน เพื่อค้นหาจุดแข็ง จุดเด่น จุดด้อย หรือสิ่งที่อาจเป็นปัญหาสำคัญในการดำเนินงานสู่สภาพที่ต้องการในอนาคต การวิเคราะห์สภาพการณ์
(Situation Analysis) วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน เพื่อให้รู้ตนเอง (รู้เรา) รู้จักสภาพแวดล้อม (รู้เขา) ชัดเจน และวิเคราะห์โอกาส-อุปสรรค เพื่อประโยชน์ในการกำหนดวิสัยทัศน์ หรือเลือกกลยุทธ์ระดับองค์กรที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการทำ Strategic Decision การทำ Strategic Decision เป็นการตัดสินใจเลือกกลยุทธ์หรือวิธีดำเนินงานที่สำคัญ ที่เป็นหลักในการปฏิบัติไปสู่สภาพที่ต้องการในอนาคตขององค์การ เพื่อการบรรลุ Vision หรือสภาพในอนาคตตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการเลือกโดยคำนึงถึงสภาพในอนาคต โดยคำนึงถึงจุดที่ต้องการ โดยรู้สถานการณ์ เห็นถึงโอกาสและรู้จุดดี จุดเด่นตลอดจนจุดอ่อนในการดำเนินงานไปสู่จุดหมายที่ต้องการขององค์การในอนาคต เป็นการค้นหากลยุทธ์โดยหลักการ มองกว้าง เห็นไกล รอบคอบ ตามหลักการกำหนดกลยุทธ์ในแบบต่าง ๆ เช่น กลยุทธ์ที่มุ่งหา S สูง – O สูง, S สูง – T ต่ำ, W ต่ำ – O สูง และ W ต่ำ – T ต่ำ กลยุทธ์เชิงรุก กลยุทธ์เพื่อความเจริญก้าวหน้า (Growth Strategy) กลยุทธ์แบบคงที่ (Stability Strategy) กลยุทธ์แบบตัดทอนป้องกัน (Retrenchment and Defense Strategy) กลยุทธ์การตั้งราคา-การขาย กลยุทธ์การแข่งขัน กลยุทธ์การเป็นผู้นำ กลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์และบริการ กลยุทธ์การจำกัดขอบเขตปฏิบัติการ เป็นต้น
1.5  ความหมายของวิสัยทัศน์
                                องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์  (2550,  เว็บไซด์)  ได้กล่าวไว้ว่า 
วิสัยทัศน์ (Vision) คือ ภาพในอนาคตขององค์กรที่ผู้นำและสมาชิกทุกคนร่วมกันวาดฝันหรือจินตนาการขึ้น โดยมีพื้นฐานอยู่บนความเป็นจริงในปัจจุบัน เชื่อมโยงวัตถุประสงค์ ภารกิจ ค่านิยม และความเชื่อเข้าด้วยกัน พรรณนาให้เห็นทิศทางขององค์กรอย่างชัดเจน มีพลังท้าทาย ทะเยอทะยาน และมีความเป็นไปได้ เน้นถึงความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ หรือดีที่สุดให้กับลูกค้าและสังคม
วิสัยทัศน์จะเกี่ยวกับการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดทิศทางธุรกิจ เป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดทางธุรกิจ”
โดยเหตุผลที่องค์กรต้องมีวิสัยทัศน์  ได้แก่
(1) วิสัยทัศน์สร้างพลังให้กับองค์กร การจะทำให้องค์กรมีการรวมพลังมุ่งไปใน
ทิศทางเดี่ยวกันได้ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ภาวะผู้นำที่จะนำคนทั้งองค์กรได้ และวิสัยทัศน์ของหน่วยงานหรือองค์กร
(2) วิสัยทัศน์ทำให้ได้เปรียบในแข่งขัน ในโลกของการแข่งขันผู้นำที่มีวิสัยทัศน์
ได้เปรียบเสมอ เพราะสามารถคะเนเหตุการณ์ในอนาคตได้ และวิสัยทัศน์ทำให้เกิดความทะเยอทะยานหาญกล้าที่จะเป็นหนึ่ง
(3)  วิสัยทัศน์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
1.6  กระบวนการสร้างวิสัยทัศน์
                                องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์  (2550,  เว็บไซด์)  ได้กล่าวถึงกระบวนการสร้างวิสัยทัศน์  ดังนี้
(1)  การระบุวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน
ขั้นที่หนึ่ง ประชุมคณะทำงานออกแบบสร้างวิสัยทัศน์ให้แต่ละคนระบุ
เหตุการณ์ หรือการตัดสินใจในอดีต 4-8 อย่างที่เคยขึ้นกับองค์กร
ขั้นที่สอง ให้สมาชิกแต่ละคนเขียนวัตถุประสงค์ของเขาในการทำงานให้กับ
องค์กร โดยให้แสดงออกจากส่วนลึกของจิตใจและเพิ่มความหมายให้กับงานที่ทำ การเขียนวัตถุประสงค์อาจนำด้วยคำถาม
ขั้นที่สาม เป็นกิจกรรมกลุ่ม ให้จินตนาการว่าในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า
เมื่อวันนั้นมาถึงองค์กร ควรจะประสบความสำเร็จในด้านใด มีชื่อเสียงด้านใด บรรลุวัตถุประสงค์ข้อใดบ้าง หรือยังบกพร่องด้านใดบ้าง
ขั้นที่สี่ กลุ่มอธิบายว่า ลักษณะขององค์กรที่คาดหวังเป็นอย่างไร และ
สะท้อนให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ขององค์กรเพียงใด
ขั้นที่ห้า นำข้อคิดที่ได้ทั้งหมดมารวมเข้าเป็นข้อความที่ระบุวัตถุประสงค์
ขั้นที่หก พิจารณาว่าจะวัดหรือประเมินวัตถุประสงค์นั้นได้อย่างไร
(2)  การระบุภารกิจให้ชัดเจน (Mission)
เป็นการพิจารณาว่าองค์กรของท่านควรจะทำอะไรที่พิเศษหรือยิ่งใหญ่ให้
สังคม เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันแล้ว พบว่าภารกิจองค์กรของท่านควรแตกต่างจากองค์กรเหล่านั้นอย่างไร ให้เขียนภารกิจลงไปให้ชัดเจน
(3)  การวิเคราะห์องค์กร
เนื่องจากวิสัยทัศน์ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์
จุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร เพื่อดูความเป็นไปได้ และดูว่าอะไรทำให้องค์กรของเราแตกต่างจากองค์กรอื่นในวงการเกี่ยวกัน อะไรคือสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังจากเรา ขณะเดียวกันก็ให้วิเคราะห์
สิ่งแวดล้อมขององค์กรด้วย
(4)  การสร้างวิสัยทัศน์
              ย้อนกลับไปดูวัตถุประสงค์ (Purpose) และภารกิจ (Mission) ที่เขียนไว้แล้ว
นำมากำหนดเป็นวิสัยทัศน์พิจารณาความเป็นไปได้จากการวิเคราะห์องค์กร แล้วปรับแก้ไขอีกครั้ง จากนั้นทดสอบประสิทธิผลของวิสัยทัศน์ที่เขียนโดยตอบคำถามให้ได้ว่าวิสัยทัศน์นั้นเป็นที่เข้าใจของคนในองค์กร หรือวงการเดียวกันนี้หรือไม่ เราได้ดูความเป็นไปได้ของวิสัยทัศน์แล้วหรือยัง เป็นที่ชัดเจนหรือไม่ว่าเมื่อบรรลุตามวิสัยทัศน์แล้วจะเกิดผลอะไรขึ้นกับองค์กร
1.7  ความหมายของพันธกิจ (Mission)
                                องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์  (2550,  เว็บไซด์)  ได้กล่าวไว้ว่า
พันธกิจ (Mission) คือจุดมุ่งหมายพื้นฐานซึ่งแสดงเหตุผลหรืออธิบายว่าทำไมองค์กรจึงถือกำเนิดขึ้นมาหรือดำรงอยู่”  เป็นหลักการที่ใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจ กำหนดเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และยุทธศาสตร์
                                การวิเคราะห์ภารกิจหรือพันธกิจขององค์กร (Mission Aanlysis) เพื่อตรวจสอบว่า งานหลักขององค์กรที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ยังมีความเป็นอยู่หรือไม่ พันธกิจใดควรยกเลิกเพราะเหตุใด พันธกิจใดควรดำรงอยู่เพราะเหตุใด และพันธกิจใดควรปรับเปลี่ยนใหม่หรือเพิ่มขึ้นใหม่ เพราะเหตุใด บุคลากรในองค์กรต้องตระหนักว่าภาระกิจใดคือภารกิจหลัก ภารกิจรอง ซึ่งบางหน่วยงานหลงบทบาทหน้าที่ ไปทำภารกิจรองแทน ภารกิจหลักก็จะทำให้องค์กรนั้นมีปัญหาในการดำเนินงานได้
1.8  ความหมายของเป้าประสงค์
องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์  (2550,  เว็บไซด์)  ได้กล่าวไว้ว่า
“เป้าประสงค์ คือ สภาพความสำเร็จของการดำเนินงานในขั้นตอนสุดท้ายของแต่ละยุทธศาสตร์”
การคัดเลือกหรือกำหนดเป้าประสงค์ขององค์กรนั้น มักจะทำโดยการประชุม
พิจารณากันในคณะกรรมการวางแผน ซึ่งส่วนมากมักจะดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
(1)  การร่วมพิจารณาถึงปัจจัยทางกลยุทธ์ทั้งหลาย ที่จะมีผลกระทบเกี่ยวข้องและ
สัมพันธ์กับการพิจารณาเป้าประสงค์ระยะยาว ทั้งนี้โดยพยายามคัดเลือกจัดลำดับปัจจัยทางกลยุทธ์ที่มีความสำคัญมากเป็นพิเศษจำนวนหนึ่ง โดยพิจารณาจากปัจจัยที่มีความสำคัญมากเป็นพิเศษ และสำคัญรองลงมาเป็นลำดับ
(2)    พิจารณาลึกลงไปในแต่ละปัจจัยทางกลยุทธ์ เพื่อให้เห็นชัดว่าปัจจัยกลยุทธ์อันใด
ที่จะสามารถส่งผลกระทบหรือส่งผลต่อองค์กร ให้สามารถเคลื่อนตัวเข้าไปสู่จุดมุ่งหมายและสนับสนุนต่อกลยุทธ์ที่กำหนดไว้ ผลกระทบหรือผลสำเร็จต่าง ๆ เหล่านี้ ควรจะต้องมีลักษณะขอบเขตกว้าง และมองเห็นได้ค่อนข้างชัด
(3)  พิจารณาคัดเลือกและลงมติเห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับเป้าประสงค์ระยะยาวที่ต้อง
กำหนดขึ้น ทั้งนี้วิธีการอาจกระทำโดยการเขียนลงไปในแบบฟอร์ม ซึ่งอาจมีข้อความว่า “เพื่อให้ได้ผล (หรือบรรลุผล) ในผลสำเร็จ ภายในปี พ.ศ….”  
โดยองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์  (2550,  เว็บไซด์)  ได้กล่าวไว้ว่า
คุณลักษณะของเป้าประสงค์ที่ดี  ต้องมีคุณสมบัติ  ดังนี้
1. การต้องสามารถวัดได้หรือตรวจนับได้ ความหมายก็คือ เป้าประสงค์จะต้องเป็น
สิ่งที่เมื่อมีการปฏิบัติหรือทำไปแล้ว ท่านหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายสามารถวัดหรือตรวจสอบได้
2.       การพิจารณาถึงความเป็นไปได้หรือโอกาสที่จะทำให้สำเร็จผลได้ ทั้งนี้ก็คือ
การต้องพยายามหลีกเลี่ยงมิให้เป้าประสงค์กลายเป็นสิ่งที่สุดเอื้อม หรือเป็นไปไม่ได้นั่นเอง การพิจารณาจึงต้องดูให้เห็นชัดว่า ความพยายามหรือการทุ่มเทที่สำคัญมีอะไรบ้าง หรือการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย ความสำคัญมาก ๆ ในการทำให้บรรลุเป้าประสงค์ได้นั้นมีอะไรบ้าง และสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นมีโอกาสจะเป็นไปได้เพียงใด
3. การต้องมีความคล่องตัวหรือปรับตัวได้ ความจำเป็นในข้อนี้ก็เพราะสาเหตุสืบ
เนื่องจากเหตุผลที่ว่า ในการกำหนดเป้าประสงค์นั้นมีปัจจัยหลายประการที่มีความไม่แน่นอน โดยอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้น เป้าประสงค์ที่กำหนดไว้จึงต้องมีความคล่องตัวพอที่จะสามารถปรับตามทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งต้องสอดคล้องเข้ากันได้กับโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น
                                4. การต้องให้ความสอดคล้องเข้ากันได้กับแผนงานอื่น ๆ นั่นคือ การพิจารณาว่า
เป้าประสงค์ที่กำหนดไว้นั้นจะมีส่วนช่วยนำให้ท่านเข้าไปสู่ฐานะที่ตั้ง ตามที่ได้มีการระบุหรือกำหนดเอาไว้ในขณะกำหนดจุดมุ่งหมาย การวิเคราะห์ทางกลยุทธ์ และกลยุทธ์ที่ได้จัดทำไว้แล้วหรือเปล่า
1.9  ระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน  หรือ  PBB  (Performance – Based  Budgeting) 
ระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน  หรือ  PBB  (Performance – Based 
Budgeting)  เป็นระบบงบประมาณที่แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างทรัพยากรที่ใช้กับผลงานที่เกิดขึ้นว่ามีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร  คุ้มค่ามากน้อยเพียงไร  เป็นระบบการทำงานที่ผสมผสานระหว่างการวางแผน  การจัดทำงบประมาณ  การตรวจสอบติดตามทบทวนผลงาน  ซึ่งหัวใจของระบบงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน  เป็นการเชื่อมโยงทรัพยากรต่าง ๆ ที่ใช้และผลงานที่เกิดขึ้นโดยมีระบบการประเมินทบทวนตรวจสอบผลงานที่เป็นระบบเป็นรูปธรรมและที่สำคัญหน่วยงานต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา  ซึ่งหมายถึงผลลัพธ์  (Outcomes)  เป็นผลงานผลกระทบที่มีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม  (ลูกค้าเป้าหมาย)  จากการได้ใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการ  (ผลผลิต)  ที่เกิดจากการดำเนินงานโดยหน่วยงานของรัฐ  และผลผลิต  (Outputs)  คือสิ่งของ  หรือบริการที่เป็นรูปธรรมหรือรับรู้ได้  ที่จัดทำหรือผลิตโดยหน่วยงานของรัฐเพื่อให้บุคคลภายนอกได้ใช้ประโยชน์              
                                องค์ประกอบหลักของการวางแผนงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน

แผนกลยุทธ์สถานศึกษา
       แผนงบประมาณระยะปานกลาง
   แผนปฏิบัติการ
       Rวิสัยทัศน์
       Rพันธกิจ
       Rเป้าประสงค์
       Rเป้าหมายผลผลิตหลัก
       Rกลยุทธ์สถานศึกษา
     Rประมาณการรายได้
   Rกรอบงบประมาณ
       รายจ่าย
   Rประมาณการรายจ่าย
                  Rแผนงาน
                   Rโครงการ
  Rเป้าหมายผลผลิตหลัก
Rแผนงาน
Rโครงการ
Rกิจกรรมดำเนินการ  
Rงบประมาณ        

คำสำคัญ (Tags): #ป.บัณฑิต 32550
หมายเลขบันทึก: 211988เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท