BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

การเขียนชื่อพระครูสัญญาบัตรและพระราชาคณะ


การเขียนชื่อพระครูสัญญาบัตรและพระราชาคณะ

๒-๓ วันก่อน พระเถระผู้คุ้นเคยแวะมาเยี่ยม เรื่องหนึ่งที่คุยกันก็คือการเขียนหรือพิมพ์ชื่อพระครูสัญญาบัตรและพระราชาคณะไม่ถูกต้อง ผู้เขียนคิดว่าเรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญ จึงนำมาเล่าไว้ที่นี้... อันที่จริง เรื่องนี้เขียนครั้งหนึ่งแล้ว แต่มีประเด็นปลีกย่อยเรื่องสมณศักดิ์เกินไป ดังนั้น สำหรับผู้สนใจเพิ่มเติมเรื่องสมณศักดิ์ก็ คลิกอ่านที่นี้ . . . ในบันทึกนี้จะเล่าเฉพาะประเด็นการเขียนชื่อเท่านั้น

พระครู นั้นมีหลายระดับ เฉพาะพระครูสัญญาบัตรเท่านั้นจึงจะเป็นชื่อพระราชทาน ส่วนพระราชาคณะ (หรือที่เรียกกันว่า ท่านเจ้าคุณ) ทุกระดับชั้นจะเป็นชื่อพระราชทาน ดังนั้น การเขียนชื่อจะต้องเขียนติดกัน ห้ามเว้นวรรค เพราะเจอเสมอที่มักจะเขียนเว้นวรรค (เฉพาะอย่างยิ่งในใบฏีกากรรมการผ้าป่า) โดยสำคัญผิดว่า ข้างหน้านั้นเป็นชื่อ ข้างหลังเป็นนามสกุลเหมือนชาวบ้านทั่วไป...

ในกรณีที่เป็นพระครูสัญญาบัตร เช่น...

  • พระครูปทีบโชติการ           ห้ามเว้นวรรคว่า      พระครูประทีบ   โชติการ
  • พระครูวิกรมคณานุยุต    ห้ามเว้นวรรคว่า      พระครูวิกรม      คณานุยุต
  • พระครูพิทิกษ์นิมพเขต        ห้ามเว้นวรรคว่า      พระครูพิทักษ์    นิมพเขต

เพราะถ้าเขียนเว้นวรรคก็อาจทำให้สำคัญผิดว่าเป็น พระครูชั้นประทวน ไปได้ กล่าวคือ พระครูชั้นประทวนนี้ จะมีเพียงคำว่า พระครู นำหน้าชื่อเดิม ดังเช่นก่อนบวชชื่อ สมชาย ซึ่งเรียกกันว่า นายสมชาย และพอมาบวชก็จะเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเป็น พระสมชาย .... ต่อมาถ้าพระสมชายได้รับการยกเป็นพระครูชั้นประทวนก็จะเขียนว่า พระครูสมชาย ...

ส่วนนามสกุลนั้น โดยทั่วไปตามธรรมเนียมในวัดจะใช้ฉายามากกว่านามสกุล ดังเช่นพระสมชาย มีฉายาว่า อนุตฺตโร ก็จะเขียนว่า พระสมชาย อนุตฺตโร ....

แต่ระเบียบนอกวัด บางครั้งยังต้องใช้นามสกุล ดังเช่นพระสมชาย มีนามสกุลว่า ประทีปธรรม ก็จะเขียนได้ว่า พระสมชาย ประทีปธรรม นั่นคือ

  • เขียนแบบใช้ฉายาจะเป็น พระสมชาย อนุตฺตโร
  • เขียนแบบใช้นามสกุลจะเป็น พระสมชาย ประทีปธรรม

ต่อมาถ้าพระสมชายได้รับการยกเป็นพระครูชั้นประทวน ก็อาจเขียนใหม่ได้ว่า

  • เขียนแบบใช้ฉายาจะเป็น พระครูสมชาย อนุตฺตโร
  • เขียนแบบใช้นามสกุลจะเป็น พระครูสมชาย ประทีปธรรม

และต่อมา ถ้าพระครูสมชายได้รับการยกเป็นพระครูสัญญาบัตร ก็จะมีชื่อพระราชทานใหม่มา สมมุติว่าชื่อว่า พระครูสุวิมลธรรมคุณ ก็ให้เขียนติดกัน... ห้าม เขียนเว้นวรรคว่า พระครูสุวิมล  ธรรมคุณ เพราะจะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นพระครูชั้นประทวน (มิใช่ชื่อพระครูสุวิมล นามสกุลธรรมคุณ แต่เป็นชื่อพระราชทานว่า พระครูสุวิมลธรรมคุณ)

จะเห็นได้ว่า ถ้าเขียนชื่อพระครูสัญญาบัตรโดยเว้นวรรคเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นนามสกุล จะทำให้มีผู้เข้าใจผิดว่าท่านเป็นเพียงพระครูชั้นประทวน มิใช่ชั้นสัญญาบัตร... กรณีนี้ บางครั้งก็มีการหยอกล้อ ทำให้เจ้าของชื่อที่ถูกเขียนผิดๆ เกิดความขวยเขิน ทั้งผู้ที่เขียนหรือพิมพ์ผิดไปก็บ่งบอกว่าเป็นผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์...

 

ในกรณีที่เป็น พระราชาคณะ (หรือท่านเจ้าคุณ) ก็เป็นชื่อพระราชทาน ต้องเขียนติดกันเหมือนชื่อพระครูสัญญาบัตร เช่น

  • พระศรีสุวรรณรังษี   ห้ามเว้นวรรคว่า     พระศรี      สุวรรณรังษี
  • พระอมรเมธาจารย์   ห้ามเว้นวรรคว่า     พระอมร    เมธาจารย์
  • พระธรรมรัตนากร     ห้ามเว้นวรรคว่า    พระธรรม      รัตนากร

เพราะถ้าเขียนเว้นวรรค จะกลายเป็นว่าเจ้าของชื่อเป็นเพียงพระบวชใหม่หรือพระธรรมดาเท่านั้น ดังเช่น พระศรีสุวรรณรังษี เป็นชื่อพระราชทานของท่าน (มิใช่ท่านชื่อว่า ศรี นามสกุลว่า สุวรรณรังษี) ...


นอกประเด็นนิดหน่อย บางท่านอาจรู้สึกว่าเรื่องยศช้าง-ขุนนางพระ ยุ่งยากจริงๆ ทำไมไม่เลิกให้หมดเรื่องราวไป...ผู้เขียนก็ฟังมานานแล้วว่า เค้าเคยมีประชุมว่าจะยกเลิกตั้งแต่ผู้เขียนไม่เกิดโน้นแหละ แต่ก็ยุ่งยากขึ้นไปอีกว่า ถ้ายกเลิกเรื่องนี้แล้ว จะเอาอะไรมาแทน เพราะในสังคมหมู่มากต้องมีสิ่งเหล่านี้เป็นธรรมดาเพื่อเป็นการหมายรู้บางอย่าง ดังเช่นข้าราชการ เมื่อก่อนก็มียศพระราชทานเป็นท่านขุนหรือคุณหลวง... พอเลิกเจ้าขุนมูลนาย ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบข้าราชการชั้นตรีชั้นโท ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นระบบซีห้าซีหก และฟังว่าตอนนี้ก็กำลังจะพัฒนาไปเป็นระบบแท่ง...

นั่นก็คือ สิ่งหนึ่งต้องมาแทนสิ่งหนึ่ง สรุปว่าเป็นเรื่องธรรมดา สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องเขียนก็ควรเขียนให้ถูกต้องตามระเบียบธรรมเนียมนิยม... 

หมายเลขบันทึก: 211947เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2008 07:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มีเรื่องสงสัยอยู่เรื่องหนึ่งครับ ขอนมัสการถามพระอาจารย์ครับ

กระผมได้อ่านบัญชีเลื่อนตั้งพระครูสัญญาบัตร พ.ศ.2550 ปรากฏมีชื่อพระเถระที่ได้รับการตั้งพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนาม "พระครูสิริญาณวิมล"รายละเอียดดังนี้ครับ

บัญชีรายนามพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ ฯ

ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนใต้

จัดพิธี ณ วัดพัฒนาราม อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๕๑ เวลา ๑๓.๓๐ น.

๔๔. พระครูปลัด ยรรยง ธ. วัดน้ำขาวนอก/จะนะ/สงขลา ” พระครูสิริญาณวิมล ”

ครั้งแรกก็ไม่สงสัยอะไรครับ พอดีกระผมไปราชการ ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติที่วัดเบญจบพิตร มีพระเถระท่านหนึ่งชี้ให้ดู ก็นึกออกครับ ว่าราชทินนามนี้เหมือนกับอาจารย์ "พระครูสิริญาณวิมล"(พระมหาอุดม มหาวิริโย)ที่พักสงฆ์เกาะบกครับ ก็สงสัยว่าทำไมมีราชทินนามเหมือนกันครับ

กราบนมัสการครับ

P pakorn

 

เคยทราบเรื่องนี้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจนัก...

อาจารย์ต้องไปถามเจ้าหน้าที่หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง... เพราะหลวงพี่ไม่รู้เรื่องนี้...

ตามความเห็นส่วนตัว ชื่อเหมือนกันเป็นเรื่องธรรมดา แม้ว่าจะไม่ตั้งใจแต่ความผิดพลาดหรือพลั้งเผลอก็มี...

หรือบางครั้งอาจมีอักษรผิดกันนิดหน่อยก็ได้ ซึ่งเคยอ่านวิจารณ์เรื่องทำนองนี้นานแล้วว่าตำแหน่งพระราชาคณะที่...

  • พระศาสนโสภณ
  • พระศาสนโศภณ
  • พระสาสนโสภณ
  • พระสาสนโศภณ

บางครั้งมีสองชื่อสองรูปในยุคสมัยเดียวกัน....

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท