สภาการพยาบาล : หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง (๒)


น่าจะมีการวิเคราะห์หลักสูตรที่มีอยู่แล้ว

ตอนที่

ก่อนพักรับประทานอาหารกลางวัน ผศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์ ได้นำเสนอ โครงสร้างหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง เกณฑ์การบริหารจัดการ ฯลฯ มีรายชื่อหลักสูตรที่ได้รับการรับรองเป็นหลักสูตรกลางของสภาการพยาบาล รวมทั้งหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางทุกสาขาที่ได้รับการรับรอง โครงสร้าง ขอบเขตและสมรรถนะการปฏิบัติการพยาบาลเฉพาะทาง

หลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง เป็นหลักสูตรระยะสั้น ๔ เดือน และยังมีหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางอนุสาขา ๘ สัปดาห์ ปัจจุบันรวมๆ แล้วมีมากถึง ๙๘ หลักสูตร (แต่บางหลักสูตรอาจไม่เปิด/หยุดรับผู้เข้าอบรม)

ภาคบ่ายมีการอภิปรายเรื่องภาคีในการจัดเตรียมพยาบาลเฉพาะทางที่สอดคล้องกับความต้องการ สุขภาพของประชาชน และเรื่องขีดความสามารถและผลลัพธ์ที่คาดหวังของพยาบาลเฉพาะทาง แต่ดิฉันติดภารกิจอื่น (อ่านที่นี่) จึงไม่ได้อยู่ฟัง

วันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๑
ช่วงเช้าเป็นการประชุมกลุ่มย่อย ๑๐ กว่ากลุ่มตามหลักสูตร ดิฉันเลือกเข้ากลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ปรากฏว่ามีสมาชิกจำนวนมาก แถมมีหลักสูตรเวชปฏิบัติฯ เวชปฏิบัติทางตา กลุ่มผู้สูงอายุ มารวมอยู่ด้วย เราจึงตกลงกันเองให้แยกกลุ่มเวชปฏิบัติฯ และกลุ่มผู้สูงอายุ ออกไปเป็นกลุ่มต่างหาก เหลือแต่กลุ่มที่พอจะเรียกว่าเป็นกลุ่มเกี่ยวกับผู้ป่วยเรื้อรังได้

แนวคำถามที่ผู้จัดให้มาไม่ได้แจกจ่ายให้ผู้เข้าประชุมด้วย มีแต่ของผู้รับผิดชอบดำเนินรายการ เราจึงขอให้สำเนาแจกทุกคน คำถามที่ให้มามี ๕ ข้อ (เหมือนข้อสอบ) คือ
๑. ควรมีหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาใดเพิ่มเติมบ้าง เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการด้านสุขภาพของประเทศ
๒. ระบุสมรรถนะที่จำเป็นของพยาบาลเฉพาะทางสาขานั้นๆ
๓. ลักษณะเนื้อหาวิชาควรเป็นอย่างไร (วิชาแกน วิชาเฉพาะทาง ควรมีเนื้อหาอะไรบ้าง)
๔. การบริหารจัดการหลักสูตรเป็นอย่างไร (ภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ โครงสร้างการจัดการเรียนการสอน การออกแบบหลักสูตร)
๕. ระบบการรับรองและประกันคุณภาพ ควรเป็นอย่างไร

ความที่คนในกลุ่มมาจากหลากหลายหลักสูตร มีทั้งอาจารย์และฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มมีขนาดใหญ่ ต้องเสียเวลาอธิบายแต่ละเรื่องให้เข้าใจตรงกันอยู่นาน บางคนเสนอเชิงหลักการ บางคนลงรายละเอียด ฯลฯ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเข้าใจไม่ตรงกัน บางคนคิดว่าให้คุยเรื่องหลักสูตรโรคเรื้อรังรวมๆ บางคนคิดว่าคุยหลักสูตรเฉพาะโรค เช่น เบาหวาน ผลงานของกลุ่มเราที่ดิฉันประเมินเองจึงไม่ค่อยดีนัก เรียกว่าใช้เวลาตลอดช่วงเช้าแต่ได้ผลงานน้อย

ช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอผลงานกลุ่มย่อย ใช้เวลายาวนานตั้งแต่ ๑๓ น.กว่าไปจนถึง ๑๕.๕๐ น. ดิฉันจดประเด็นที่น่าสนใจจากกลุ่มต่างๆ เอาไว้ เผื่อจะนำไปใช้ต่อได้ เช่น การฝึกปฏิบัติในที่ทำงานของตนเอง มีปัญหาว่าผู้เข้าอบรมไม่ได้ฝึกจริงจัง ได้แต่ทำงานเดิม จัดเวลาการอบรมอย่างไรไม่ให้กระทบต่อการขึ้นเงินเดือน ถ้าไม่ผ่านการสอบคัดเลือก คนที่มาอบรมจะไม่ค่อยตั้งใจ การทดสอบสมรรถนะผู้ผ่านการอบรม เป็นต้น

ผศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์ เป็นผู้สรุปประเด็นจากการนำเสนอในเรื่องโครงสร้างหลักสูตร สมรรถนะ รายวิชา ใครควรเป็นผู้สอนรายวิชาทฤษฎี รายวิชาปฏิบัติ คุณสมบัติผู้เข้าอบรม ฯลฯ มีผู้เข้าประชุมให้ความเห็นว่าบางหลักสูตรให้ทำมากไปหรือเปล่า เช่น การอ่านผล CT, MRI

ฟังๆ ดูแล้ว ดิฉันถามตัวเองว่าเนื้อหาที่เรียนหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง ต่างจาก ป.ตรี และ ป.โท ตรงไหน รู้สึกว่าเราอาจจะคาดหวังสมรรถนะผู้ผ่านการอบรมสูง และเพื่อให้สามารถถ่ายโอนวิชาที่เรียนเข้าสู่หลักสูตร ป.โท ได้ จึงต้องเรียน ๑๕-๑๖ สัปดาห์ น่าจะมีการวิเคราะห์หลักสูตรที่มีอยู่แล้วว่าสอนอะไร อย่างไร การจัดการเป็นอย่างไร อะไรที่ดี อะไรที่เป็นปัญหา

มีผู้เกี่ยวข้องมาถามดิฉันว่าเรื่องเบาหวาน จัดเป็นหลักสูตรเฉพาะทาง ๔ เดือนได้หรือไม่  ดิฉันว่าถ้าจะทำก็คงทำได้ แต่ควรทำหรือจำเป็นต้องทำหรือเปล่า ที่อยากฝากให้คิดคือต้องไม่ลืมว่าพยาบาลไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง ยังมีบุคลากรสาขาอื่น รวมทั้งผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน ที่ทำงานร่วมกับเรา

สุดท้ายนายกสภาการพยาบาล เป็นผู้ทบทวนข้อมูลความต้องการบุคลากรที่กล่าวไปแล้วเมื่อวานและกล่าวปิดการประชุม

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 211646เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2008 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 22:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท