สันติประชาธรรม = ธรรมาธิปไตย + สังคมาธิปไตย


พลเมืองที่ active ที่มีธรรมประจำใจร่วมมือกันเป็นเครือข่ายแนวร่วมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทั้งหลาย เพื่อความไม่เบียดเบียน และเพื่อความสงบเย็น สำหรับผมแล้ว สิ่งนี้คือ "สันติประชาธรรม" ที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้เคยกล่าวไว้นานแล้ว

บทนำ

ข้อ เขียนนี้มุ่งหมายที่จะเน้นยำ้ความสำคัญของ "ธรรม" ที่ซ้อนอยู่ในงานของคุณหมอประเวศ วะสี เรื่อง "การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดี โอกาสอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทย" แม้คุณหมอจะได้เขียนไว้โดยนัย ในช่วงท้ายเกี่ยวกับการประสานกันของ "สังคมาธิปไตย" และ "ธรรมาธิปไตย" แต่ในช่วงต้นคุณหมอได้เขียนเน้น "สังคมาธิปไตย" เป็นสำคัญ การเน้นความสำคัญของ "ธรรม" ให้เด่นชัดหรือกระทั่ง มีความสำคัญกว่า "สังคม" จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจน และไม่คลาดเคลื่อนไปคิดว่า เพียงแค่มีประชาชนจำนวนมากอยู่ในมือแล้วนั่นคือความชอบธรรม การประสานรวมของคอนเซปทั้งสองนั้นนำไปสู่สิ่งที่อาจารย์ป๋วยเคยกล่าวไว้นาน แล้วคือ "สันติประชาธรรม"

เนื้อความ

ความ ขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้มีชัดในทุกระดับทางการเมืองจริงๆ ทั้งนอกสภา ในสภา กระทั่งในพรรคร่วมรัฐบาล และภายในพรรคพลังประชาชนเอง และดูเหมือนว่าความขัดแย้งเหล่านี้เป็นความขัดแย้งอันเนื่องมาจากว่า ความต้องการของแต่ละฝ่ายไม่ได้รับการตอบสนอง จึงดื้อแพ่ง และพยายามทุกวิถีทางเพื่อถ่วงกระบวนการที่ตนไม่ได้ประโยชน์ให้ช้าไว้ หรือเสียประโยชน์ หรือกระท่ังผลักดันให้อีกฝ่ายออกไป ลักษณะเวลาเด็กแย้งของเล่นกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนมาจากข่าววันนี้ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ http://manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000113820 ข่าวนี้ในเมเนเจอร์แสดงให้เห็นถึงปัญหาในการเมืองของเรามากเหลือเกิน ในข่าวนี้ระบุว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของเราล่มอีกแล้วเนื่องด้วยไม่ครบ องค์ประชุม ข่าววิเคราะห์ว่าการไม่ครบองค์ประชุมเนื่องมาจากความไม่พอใจของกลุ่มสส.ของ เนวินที่ไม่ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี ในขณะเดียวกัน ทางประชาธิปัตย์ก็เห็นว่าไม่ครบองค์ประชุมเนื่องจากมีการเลื่อนเวลาประชุม และบางส่วนไม่เห็นด้วยกับตัวกฎหมายที่จะมีการผ่านในวันนี้เกี่ยวกับ ปปง.

ข่าว นี้ทำให้นึกถึงบทความของคุณหมอประเวศ เช่นกัน (http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9510000112867) ว่าด้วยเรื่อง "การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ที่ดี โอกาสอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทย" บทความนี้คุณหมอเน้นความสำคัญของพลังทางสังคม หรือ สังคมาธิปไตย ในคำศัพท์ของคุณหมอ คำที่คุณหมอใส่ไว้โดดเด่นในบทความคือ "อำนาจสังคมยุติความชั่วร้ายทั้งปวง"  และ "สังคมคือผู้กำกับความถูกต้อง" โดยยกตัวอย่างของการร่วมือกัน "ในทางที่ดี" ของชุมชนต่างๆ รวมถึงตัวอย่างจากมิติอื่นๆในสังคมด้วย

ผม คิดว่าประโยคและตัวอย่างดังกล่าวค่อนข้างจะเป็นตัวอย่างในแง่เดียว คือแง่ดีของพลังทางสังคม เพราะจริงๆแล้วมันมีปัญหาและข้อขัดแย้งหลายอย่างในเรื่องนี้ ประการแรกคือ ใครกันที่เรานิยามว่าสังคม? ถ้าบอกว่าเป็นกลุ่มคน เป็นประชาชน ก็ต้องถามต่อว่าเป็นประชาชนกลุ่มไหน พันธมิตร หรือสส.ในสภา ใช่ประชาชนหรือไม่? สังคมเป็นคำที่กว้างมาก แต่ในที่นี้จะใช้ในนิยามที่ว่าเป็นกลุ่มคนที่มากในระดับที่สามารถใช้ความ เป็นต้องการของพวกเขาเป็นตัวแทนของความต้องการของคนในชุมชน หรือ พื้นที่นั้นๆได้ (นิยามนี้สรุปเอาความจากตัวอย่างที่คุณหมอประเวศยกขึ้นมา)

แต่เราสามารถแน่ใจได้หรือไม่ว่า ความต้องการของ "สังคม" ในนิยามความหมายหลวมๆข้างต้นนั้นจะไม่เป็นความช่ั่วร้ายเสียเอง จะทำลายความถูกต้องนั้นๆเสียเอง? ในชุมชนที่อยู่เหนือลุ่มน้ำปะเหลียนขึ้นไปเหนือ อ.สิเกา ในช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งชุมชนเห็นประโยชน์ระยะสั้นของการตัดไม้ชายเลนเพื่อทำถ่าน และทำนากุ้ง คำถามก็คือ ความต้องการนี้ถูกหรือผิด ดีหรือชั่วร้าย คำถามนี้ตอบยากหากใช้คำศัพท์ทางคุณธรรมมาพูดถึง แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดตามเหตุและผลของการกระทำดังกล่าวก้คือ เป็นการกระทำที่เบียดเบียนธรรมชาติ และในท้ายที่สุดผลร้ายนั้นก็กลับคือสู่ชุมชนเอง คือประสบปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติแทน ธรรมชาติ ปู ปลา หอย ที่เคยมีก็หายไป

ตัวอย่างนี้คล้ายกับเรื่อง สส.ในข่าวข้างต้นในแง่ที่ว่า ความต้องการและการกระทำของเขานั้นก่อให้เกิดการเบียดเบียนคนอื่น หรือสิ่งอื่นๆ ในแง่สส.คือ ทำให้การประชุมสภาฯดำเนินไปไม่ได้ เรื่องราวต่างๆที่จำเป็นต้องใช้กฎหมายฉบับนั้นๆไมสามารถเดินไปได้ ในแง่ของชุมชุนก็คือดังที่กล่าวไปแล้ว

เหตุการณ์ในชุมชนดำเนินไปใน ทางเบียดเบียน คนกลุ่มหนึ่งในชุมชน ผนวกกับการกระตุ้นขององค์กรพัฒนาเอกชน เกิดความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของป่าชายเลน จึงได้สมัครใจร่วมมือกันริเริ่มกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ ผลักดันให้เกิดกิจกรรมขยายกระบวนการเรียนรู้และกิจกรรมการอนุรักษ์ไปสู่ทั้ง ชุมชนจนสามารถฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมาได้

ฉะนั้น ผมคิดว่า มีเพียงพลังสังคมนั้นไม่พอ ต้องมีคุณธรรมกำกับด้วย และ "คุณธรรม" นั้นควรเป็นหลักสำคัญที่สุดด้วย มิใช่ความต้องการทางสังคม คำว่า คุณธรรมในที่นี้ จะขอใช้ในนิยามว่า เป็นธรรมที่นำไปสู่ความไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และนำไปสู่ความสงบสันติ (เป็นนิยามของคำว่า "ความดี" ที่พระอาจารย์จากวัดปัญญานันทาราม ได้กรุณานิยามไว้)

ต้องเป็น ธรรมาธิปไตย นำ สังคมาธิปไตย

หมายความ ว่า จะเป็นแบบพวกมากลากไปอย่างเดียวไม่ได้ เป้าหมายที่จะไปต้องเป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียนและเพื่อความสงบด้วย ในกระบวนการต้องประกอบด้วยกระบวนการเรียนรู้ "เพื่อให้เข้าใจในธรรมชาติ เหตุและผลของการกระทำต่างๆ และแนวทางที่ควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคม" เป็นสำคัญ ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีใครเป็นผู้หยั่งรู้ฟ้าดิน เราต่างมีข้อมูลจำกัด มีความสามารถทางสมองจำกัด และไม่สามารถทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำ การเปิดใจให้กว้าง รับฟังความคิดเห็นที่เป้าหมายในธรรมเหมือนกันด้วย ศัพท์ทางพระท่านใช้คำว่า อนุรัักษ์สัจจะ (อ้างจากหนังสือ พุทธธรรม ของ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

พลเมืองที่ active ที่มีธรรมประจำใจร่วมมือกันเป็นเครือข่ายแนวร่วมเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทั้งหลาย เพื่อความไม่เบียดเบียน และเพื่อความสงบเย็น สำหรับผมแล้ว สิ่งนี้คือ "สันติประชาธรรม" ที่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้เคยกล่าวไว้นานแล้ว

สรุป

ผม เห็นด้วยกับอาจารย์ป๋วย ว่า "สันติประชาธรรม" เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการเมืองและการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ดี การทำให้ได้มาซึ่ง "สันติประชาธรรม" นั้นยังคงเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้นำมาปฏิบัติจริง หรือกระท่ัง หาความรู้สนับสนุนเพื่อการพัฒนาไปสู่แนวปฏิบัติ ก็ยังมีไม่มากนัก

การ พัฒนาองค์ความรู้ ว่าด้วย "สันติประชาธรรม" เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งโดยความร่วมมือกันของหลายๆศาสตร์ เช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา ปรัชญา ฯลฯ ศึกษาทั้งในเชิงการอธิบายปรากฎการณ์ และในเชิงของข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

หมายเลขบันทึก: 211528เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2008 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"มีเพียงพลังสังคมนั้นไม่พอ ต้องมีคุณธรรมกำกับด้วย และ "คุณธรรม" นั้นควรเป็นหลักสำคัญที่สุดด้วย"

ใช่เลยค่ะ...

เศรษฐศาสตร์จากตะวันตกมีเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนภายใต้ "องค์ประกอบของความชอบ" หรือ "ความพอใจ"ที่เป็นอยู่ ไม่ได้สร้างเครื่องมือที่ปรับเปลี่ยน "องค์ประกอบของความชอบ" (องค์ประกอบใน utility function)

การเข้าถึงธรรมะที่แท้ แรงบันดาลใจ ประสบการณ์ จะเปลี่ยนองค์ประกอบของความชอบ

ศาสตร์ใดบ้างที่สอนกันในสถาบันการศึกษาแล้วช่วยเข้าถึงคุณธรรม เป้าหมายทางเศรษฐศาสตร์ที่มองสังคมเป็นตัวตั้งนั้นก็ดีมาก แต่ความลึกซึ้งยังไม่เพียงพอที่จะตั้งคำถามเอากับ "ความชอบ"ของสังคมไทย

หวังว่าอาจารย์คงสบายดีนะคะ ฝากสวัสดีน้องฝ้ายด้วยค่ะ

สนับสนุน คุณธรรมและจริยธรรมด้วย อีกคน ขอให้ประเทศไทยสงบสุข

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท