พุทธศาสนากับไสยศาสตร์


เงินหรือวัตถุมิใช่สิ่งที่เป็นเกณฑ์วัดว่าเป็นความดี

 

                พระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้นในชมพูทวีป และได้เผยแผ่เข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยเราปัจจุบัน เมื่อหลังพุทธปรินิพพาน ประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ ปี  และได้เจริญรุ่งเรืองในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบันนี้ ด้วยคนไทยเคยนับถือผีสางและศาสนาพราหมณ์มาก่อน เมื่อรับเอาพุทธศาสนามาปฏิบัติ  ก็ไม่อาจละทิ้งความเชื่อดั้งเดิมได้  ความเชื่อแบบพุทธศาสนาจึงปะปนกับความเชื่อดั้งเดิม อันได้แก่ความเชื่อแบบไสยศาสตร์  ซึ่งมีหลักการตรงข้ามกับพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องในหลักการของพระพุทธศาสนา เพื่อการนำมาเป็นที่พึ่งอย่างถูกต้อง

 กฎแห่งกรรม : เกณฑ์ตัดสินความดี

พุทธศาสนาเป็นหลักคำสอนที่มุ่งเน้นให้แก้ปัญหาจากการกระทำด้วยตัวเอง  ความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์นั้น  ล้วนมีสาเหตุมาจากการกระทำทั้งสิ้น (กรรม)  ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ มนุษย์ทุกคนย่อมเป็นไปตามอำนาจของกรรมคือการกระทำทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ผู้ทำกรรมอย่างไร ก็ได้รับผลอย่างนั้น  ดังคำกล่าวที่ว่า ทำดีได้ดี  ทำชั่วได้ชั่วผู้ที่ไม่เข้าใจมักจะถามว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป  คำถามหรือคำพูดอย่างนี้  เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจในหลักคำสอน เช่นเคยมีคนตั้งคำถามว่า คนที่ฉ้อโกง คอรัปชั่น ประกอบอาชีพอย่างทุจริต กลับทำไมร่ำรวย  มีเงินมีทอง  แต่บางคนขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์สุจริต  แต่ทำไมยากยากจน  ทุกข์ยากลำบาก  นี่แสดงว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วได้ดีสิ ใช่หรือไม่ ?”  คำตอบที่ถูกต้องคือ ไม่ใช่เพราะเงินหรือวัตถุ มิใช่สิ่งที่เป็นเกณฑ์วัดว่าเป็น ความดีในทางพุทธศาสนา  คนมักจะตัดสินว่า คนทำชั่วแล้วรวย  ถือเอาความรวยนั้นว่าเป็นความดี  ที่แท้แล้วเงินหรือความร่ำรวยหาเป็นความดีไม่  ความดีหรือความชั่วต้องตัดสินกันที่การกระทำที่มีเจตนา  หากการกระทำมีเจตนาดี ก็ถือว่าเป็นความดี  หากมีเจตนาไม่ดี  ก็ถือเป็นความชั่ว  แล้วผลของความดีความชั่วก็เกิดขึ้นที่ใจก่อน  คนที่ซื่อสัตว์สุจริต ประกอบอาชีพที่ดีงาม  แม้จะไม่ร่ำรวยเงินทอง  แต่ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนดี  จิตใจของเขาก็มีความสุข ส่วนคนที่ประกอบอาชีพด้วยการทุจริตคดโกง  เบียดเบียนผู้อื่น  แม้จำร่ำรวยไปด้วยเงินทองลาภยศ  แต่อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นคนชั่วอยู่  ลาภยศเงินทองเหล่านั้นไม่สามารถลบล้างความชั่วนั้นได้  และในขณะเดียวกันจิตใจของเขาก็จะหาความสุขไม่ได้  เพราะสิ่งที่ได้มานั้นไม่ถูกต้อง  นึกถึงที่มาเมื่อใด จิตใจก็ไม่สบายเมื่อนั้น ดังนั้น ทั้งความดีและความชั่ว ทั้งความสุขและความชั่ว ล้วนเกิดจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น

 พึ่งตนเอง กับพึ่งไสยศาสตร์

เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้วก็จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง  ด้วยการกระทำด้วยตัวเอง พึ่งตนเอง  ไม่หวังรอพึ่งสิ่งอื่น  โดยเฉพาะในสังคมไทย แม้เราจะมีพระพุทธศาสนาก็ตาม ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยยังหันเหไปพึ่งสิ่งอื่นที่ไม่ถูกต้องตามหลักของพุทธศาสนา กลายเป็นความงมงาย  เช่นฝากความหวังไว้กับอำนาจลึกลับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  มีการอ้อนวอน บนบานศาลกล่าวให้ตัวเองเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จนลืมพึ่งตัวเอง  เอาแต่อ้อนวอน  เชื่อเรื่องงมงายในเรื่องนอกเหนือจากกฎแห่งกรรม  เช่นอยากมีเงินมีทอง มีฐานะดี ก็จะไปไหว้เจ้าที่เจ้าทาง  บนบานกับเทวรูป กับพระพุทธรูป ว่าขอให้ได้ถูกเลขถูกหวย  จะได้ร่ำรวยเสียที  แทนที่จะใช้หลักธรรมในการสร้างเงินสร้างทอง เช่นมีความขยันหมั่นเพียร ประหยัดอดออม คบหาแต่คนที่ดี ไม่คบคนชั่วอันจะพาให้ทรัพย์สินล่มจม และบริโภคใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นตามฐานะ  เป็นต้น  บางคนอยากสอบได้ หรืออยากเลื่อนขั้นและอื่นๆ ก็จะฝากความหวังไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อำนาจลึกลับ รอการดลบันดาลจากอำนาจเหล่านั้น  หากเขาไม่มุ่งมั่นทำด้วยตัวเอง ก็ไม่อาจจะบรรลุเป้าหมายนั้นๆ ได้  นักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ขยันเรียน ไม่เอาใจใส่การเรียน แม้จะบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วประเทศก็ไม่สามารถจะสอบได้  หากไม่สร้างกรรมขึ้นเอง

 คนดีพระคุ้มครอง

แม้พระพุทธรูปซึ่งเป็นรูปเปรียบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน  กลับถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือของไสยศาสตร์  ให้เป็นสื่อแห่งความลึกลับ มืดมน  ซึ่งตรงกันข้ามกับลักษณะของพระพุทธเจ้าอย่างสิ้นเชิง คนสมัยก่อนมีความศรัทธาอย่างมาก  พระพุทธรูปแต่ละองค์ได้สร้างขึ้นอย่างประณีตงดงาม เกิดจากแรงศรัทธาอย่างแท้จริง  ไม่ได้สร้างเพื่อเป็นสินค้า หรือเครื่องมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่สร้างขึ้นเพื่อเป็นปูชนียวัตถุ คือเป็นวัตถุที่ควรบูชา มิใช่สร้างเพื่อเป็นวัตถุมงคลเช่นปัจจุบัน  ความหมายของมงคลที่ใช้กับพระเครื่อง  ก็ไม่เหมือนกับคำว่า มงคลในพระพุทธศาสนา เพราะมงคลในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธองค์ตรัสไว้นั้น จะต้องเกิดจากการกระทำความดี  มิใช่เกิดเพราะอำนาจของพระเครื่อง  และมิใช่เป็นมงคลเพื่อป้องกันศาตราอาวุธ หรือมิใช่มงคลเพื่อแสวงหาโชคลาภเงินทอง แต่อย่างใด  การห้อยพระที่กาย เพื่อเป็นสื่อถึงใจว่าเรามีเรามีพระอยู่กับตัว เพื่อเตือนสติให้รอดพ้นจากความชั่วได้  อย่างนี้เรียกว่า พระคุ้มครอง  แต่ถ้าห้อยพระแล้วยังทำความชั่วอยู่  ทำตัวเป็นนักเลงอันธพาล แม้จะห้อยพระเป็นล้าน ๆองค์ ก็ไม่มีพระองค์ไหนมาคุ้มครอง  เพราะพระคือพระธรรมจะคุ้มครองคนที่มีธรรมะ เป็นคนดีเท่านั้น

 

คำสำคัญ (Tags): #รู้ ตื่น เบิกบาน
หมายเลขบันทึก: 210014เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2008 19:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ตามมาดู
  • หายไปนานเลยเนอะ
  • เข้าใจว่างานยุ่งๆๆ

ขอบคุณครับอาจารย์ที่แวะมาเยี่ยมเยียนพอดีช่วงนี้สอบเสร็จแล้วละครับ

เจริญพร โยมขมิ้นเหลือง

คนดีหรือคนเลวไม่ได้อยู่ที่หน้าตา ฐานะ

แต่อยู่ที่การกระทำ

 

เจริญพร

กราบนมัสการครับท่านอาจารย์พระปลัด

ครับจริงหน้าตาไม่ได้บ่งบอกถึงฐานะ แ่ต่การกระทำบ่งบอกมากที่สุดขอบคุณมากครับ

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้บูชาพระพุทธรูปหรือห้อยพระเครื่อง แต่สอนธรรมชาติ การพึ่งตนเอง ความไม่ประมาทด้วยการมีสติอยู่กับตัว หลักศีลธรรมเพียง 5 ข้อ ซึ่งเหมือนหลักครอบจักรวาลให้คนประพฤติดี ผมทึ่งในคำสอนของท่านจริงๆ ถ้าคนเรารักษาศีล5ได้ครบ ก็จะเกิดแต่ความสงบสุขจริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท