ข้อแกร่งแรงใจในการรังสรรค์วิทยานิพนธ์


บทสุนทรพจน์ในงานแสดงความยินดีรางวัล NIDA Thesis Award 2008 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

กราบเรียนท่าน ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ ท่านคณะบดี คณะศิลปศาสตร์ ท่านผู้ช่วยอธิการบดี วิทยาเขตราชบุรี เหล่าคณาจารย์ที่เคารพยิ่ง ทั้งจากคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี จากคณะศิลปศาสตร์ และจากศูนย์วิจัยบริการเพื่อสังคมและชุมชน และน้องพี่โปรแกรมทักษะการจัดการทรัพยากรฐานชุมชน (ซี.อาร์.เอ็ม.) ที่รักทุกท่าน

 

ในเบื้องต้น กระผมขอกล่าวคำว่า “ขอบคุณมาก” นะครับ สำหรับโอกาสทางการศึกษาที่โครงการโปรแกรมทักษะการจัดการทรัพยากรฐานชุมชนมอบให้ มันทำให้น้ำหนักตัว และริ้วรอยก่อนวัยบนใบหน้าของผม เพิ่มมากขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่นั่นหาใช่สาระสำคัญไม่ เพราะการที่ทุกท่านสละเวลาให้กับกิจกรรมพิเศษในวันนี้นั้น ย่อมสร้างความท้าทาย และผะอืดผะอมใจแก่กระผมเป็นอย่างยิ่ง เพราะหลังจากที่ทราบแน่นอนแล้วว่าตนเองได้รับมอบหมายให้กล่าวบรรยายเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่ทุกท่าน กลับทำให้กระผมต้องหันหลังให้กับแอลกอฮอล์ทุกชนิดในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา

แต่ถึงกระนั้นความพยายามหวนนึกถึงวินาทีแรก ที่ได้รับการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโปรแกรมทักษะการจัดการทรัพยากรฐานชุมชน จาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดารัตน์ ตรีเพชรกุล ก่อนที่จะตกลงใจเซ็นสัญญารับทุนดังกล่าวนี้ ก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่กระผมเล็งเห็น แน่นอนครับว่าการบรรยายของอาจารย์สุดารัตน์ในวันนั้น ได้มีส่วนช่วยให้การบรรยายของกระผมในวันนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะกระผมจำคำพูดของอาจารย์ท่านไม่ได้เลยแม้แต่คำเดียว จำได้เพียงคำพูดที่ภาวนากับตนเองว่า “สักวันผมจะทำให้อาจารย์ภูมิใจนะครับ”

ทั้งนี้ รูปแบบการนำเสนอประสบการณ์ของกระผม ได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยในช่วงแรกจะเป็นการกล่าวสุนทรพจน์เรื่อง “ข้อแกร่งแรงใจในการรังสรรค์วิทยานิพนธ์” จากนั้นจึงจะเปิดโอกาสให้ท่านผู้มีเกียรติทุกท่านได้สอบถามเพิ่มเติมครับ

จากข้อสุนทรพจน์ ที่ว่า “ข้อแกร่งแรงใจในการรังสรรค์วิทยานิพนธ์” นั้น ก่อนอื่นกระผมใคร่ขอขีดเส้นใต้ลงตรงที่คำว่า “ข้อแกร่งแรงใจ” ซึ่งเป็นคำสำคัญที่จะช่วยเผยให้เห็นถึงปริศนาว่ากระผมใช้วิธีการอะไร จนได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดวิทยานิพนธ์ระดับชาติ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งในประเด็นกระผมอยากโยงไปที่ “ทรัพยากรชีวภาพ” อันหนึ่งที่จะช่วยให้ทุกท่านซาบซึ้งกับคำว่า “ข้อแกร่งแรงใจ” ในสุนทรพจน์ฉบับนี้ได้อย่างดีเยี่ยม นั่นก็คือ“ต้นไผ่” ครับ

“ไผ่” มีชื่อสามัญว่า Bamboo เป็นไม้พุ่ม ไม่ผลัดใบ อยู่ในวงศ์หญ้า Poaceae และในวงศ์ย่อย Bambusoideae พบมากเขตร้อน ลักษณะการขึ้นจะเป็นกอ ลำต้นเป็นปล้องๆ โดยผลผลิตจากไผ่ที่สำคัญคือ หน่อไม้ ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของคนไทย นอกจากนี้ไม้ไผ่ยังมีคุณสมบัติพิเศษทั้งด้านความแข็งแรงและยืดหยุ่นที่เหนือกว่าวัสดุสังเคราะห์หลายชนิด จึงนิยมนำมาทำเครื่องมือเครื่องใช้หลายประเภท เช่น ม่านไม้ไผ่ ตะเกียบ นั่งร้านก่อสร้าง และบันได เป็นต้น นอกจากนี้ “ไผ่” มีความสำคัญในพุทธประวัติมาก เพราะเป็นพระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนาเรียก "เวฬุวนาราม" และชาวจีนเองก็นิยมนำไม้ไผ่มาทำเป็นก้านธูปเพื่อบูชาพระและเทพเจ้าเพราะเชื่อถือกันว่าเป็นต้นไม้ที่มีความเที่ยงตรงและยืดหยุ่น

ทั้งนี้ “ข้อไผ่” ที่คั่นอยู่ระหว่างปล้องแต่ละปล้องนั้น คือ เนื้อเยื่อที่ยึดโยงต้นไผ่ให้มั่นคงเป็นตรงเหยียดเสียดยอดขึ้นสู่ปลายฟ้า ในการนำไม่ไผ่มาใช้ประโยชน์ ชาวชุมชนก็จะเลี่ยงการโค่น “ลำไผ่” ที่จุด “ข้อแกร่ง” ของต้นไผ่ เพราะหากเงื้อมีดฟันลงที่จุดดังกล่าว จะเกิดแรงต้านที่เป็นอันตรายต่อกล้ามเนื้อมนุษย์มากกว่าการฟันฉับลงตรงจุดที่เป็นปล้องธรรมดา

หากทุกท่านลองจินตนากรถึงยามที่เราทาน “ข้าวหลาม” เราย่อมสนใจแต่เพียงไอหอมกรุ่นของข้าวนึ่งภายในปล้องข้าวหลาม เมื่อเราทานเสร็จแล้ว น้อยคนนักจะนึกขอบคุณขอบใจ “ข้อไผ่” ที่รองรับและยึดโยงปล้องข้าวหลามอันแสนโอชะไว้ด้วยกัน

ฉันใดก็ฉันนั้น การที่กระผมได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดวิทยานิพนธ์ระดับชาติ สาขาการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่จัดการประกวดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์นั้น เสมือนกับการที่ทุกคนเพ่งความตระหนักไปที่เนื้อข้าวนึ่งในปล้องข้างหลาม และกำลังจะมองข้าม “ข้อไผ่” ไปอย่างไม่ใยดี และในวันนี้จึงใคร่ขอเรียนเชิญทุกท่านพิจารณาด้วยใจที่ใคร่ครวญ กับ “ข้อแกร่งแรงใจในการรังสรรค์วิทยานิพนธ์” ของกระผมไปพร้อมกัน

การที่วิทยานิพนธ์ฉบับนี้สามารถเอาชนะใจคณาจารย์จาก สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ได้นั้น มาจากความความเมตตาของ ดร.นภาพร อติวานิชพงษ์ ประธานคณะกรรมการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ จากสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมาจากความทุ่มเทใจของอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ทั้ง 2 ท่าน คือ ดร.จุรีพร กาญจนการุณ และ ดร.ทศพร ทองเที่ยง รวมทั้งการสละอุทิศตนทางวิชาการของ ดร.ศศิธร สุวรรณเทพ และอาจารย์วาสนา มานิช ซึ่งเป็นคณะกรรมการสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ของกระผม

แน่นอนว่า ผู้ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้กระผมส่งวิทยานิพนธ์เข้าประกวด ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์นั้น คือ ดร.จุรีพร กาญจนการุณ ในตอนนั้น กระผมมีความขัดแย้งและไม่มั่นใจในงานเขียนของตนเอง จำได้ว่าเคยกล่าวตัดพ้อกับ ดร.จุรีพรไว้ว่า “วิทยานิพนธ์ของผมเหมือนอาจารย์จับมือผมเขียนเลยนะครับ” ในขณะที่อาจารย์ท่านกลับแย้งว่า “งานนี้เป็นงานของกอล์ฟเอง ครูเพียงขัดเกลางานให้ดูดีทุกบรรทัด ก็เท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม หลังสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ผ่านแล้ว กระผมยังต้องแก้เล่มซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยความรู้สึกเคืองแค้นทำให้จิตตกและจนใจโทษกล่าวอาจารย์ที่ปรึกษาไปมากมาย แต่รับรองได้ว่าความรู้สักเหล่านั้นหมดอายุแล้ว แต่กับความรู้สึกที่ว่างามเขียนเล่มนี้ไม่มีคุณภาพ ก็ยังคงวนเวียนมาทิ่มจิตแทงใจกระผมอยู่หลายเดือน ในท้ายที่สุดอาจารย์จุรีพรท่านก็ได้เรียกเข้าพบ แล้วกล่าวแนะนำกระผมว่า “งานนี้มีคุณภาพนะ และกอล์ฟทำได้เยี่ยมมาก อยากให้ลองส่งวิทยานิพนธ์เข้าประกวดที่ นิด้า ดูเผื่อจะได้อะไรติดไม้ติดมือกลับมานะ” รวมทั้งคำสนับสนุนของ ดร.จารุวรรณ ชมธนวัฒน์ ที่ท่านบังเอิญเดินผ่านไปผ่านมาแถวนั้น และได้กล่าวกับกระผมว่า “ส่งไปประกวดเลยค่ะ กอล์ฟ งานนี้เรามีแต่ได้กับได้นะค่ะ กอล์ฟไม่มีอะไรจะเสียแล้วนี่ค่ะ” แหละนี่เอง คือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดครับ

ทั้งนี้ ลักษณะการคัดเลือกวิทยานิพนธ์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ จะกำหนดวันปิดรับวิทยานิพนธ์ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 โดยผู้เข้าประกวดจะต้องถ่ายสำเนาวิทยานิพนธ์ไป 3 ฉบับ และเขียนบทความทางวิชาการอีก 1 ฉบับความยาว 15-20 หน้า เพื่อตีพิมพ์ในวารสารพัฒนบริหารศาสตร์ นอกจากนี้เอกสารทุกอย่างยังต้องส่งให้ในรูปของไฟล์อิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย ซึ่งกระผมส่งเอกสารทั้งหมดก่อนวันปิดรับสมัครเพียง 1 วัน

หลังจากนั้นในวันที่ 1 กันยายน 2551 ทางสำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ก็ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้ารอบในแต่ละสาขา ทั้งในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก ทั้งนี้รางวัลวิทยานิพนธ์ด้านพัฒนบริหารศาสตร์ทั้ง 7 สาขา ได้แก่ 1) สาขารัฐประศาสนศาสตร์ 2) สาขาบริหารธุรกิจ 3) สาขาพัฒนาการเศรษฐกิจ 4) สาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 5) สาขาสถิติประยุกต์และเทคโนโลยีการบริหาร 6) สาขาภาษาและการสื่อสาร และ 7) สาขาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และแน่นอนว่า กระผม นายโชคธำรงค์ จงจอหอ คือ 1 ใน 3 ผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศ ในสาขาพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ระดับปริญญาโท

ในห้วงเวลานั้น กระผมดีใจจนแทบสิ้นสติ รีบโทรศัพท์ไปเรียนให้อาจารย์จุรีพรทราบทันที ซึ่งอาจารย์ก็ยังคงให้กำลังใจด้วยความเรียบเฉยเช่นเคย

กระนั้นกระผมก็ยังคงวุ่นวายกับการหางานทำที่เชียงใหม่อยู่อีกหลายวัน และหากหลายท่านคงสงสัยว่าทำไมต้องเป็นที่เชียงใหม่ ความจริงก็คือ ณ สถานที่อันน่าอภิรมย์แห่งนั้น ยังมีบุคคลอันน่าอภิรักษ์พำนักอยู่ กระผมจึงต้องเหวี่ยงตนเองไปที่แห่งนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อได้งาน และเซ็นสัญญาจ้างงานเรียบร้อย กระผมจึงเดินกลับทางลงมาที่บางมด เพื่อขอคำปรึกษาจากท่านอาจารย์จุรีพร ในเรื่องการนำเสนองานแบบปากเปล่า ณ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ และอาจารย์ท่านก็ได้เมตตาพากระผมไปเลี้ยงโออิชิ ณ เซ็นทรัลพระราม 2 อาจารย์สอนอะไรไปมากมาย แต่เมื่อกลับมาถึงที่พักแล้ว กระผมกลับพบว่า กระผมก็ยังคงจำอะไรไม่ได้อีกเช่นเคยเพราะมัวแต่ละลานตากับอาหารญี่ปุ่นที่วางอยู่ตรงหน้า

กระนั้น เมื่อกล่าวถึงที่พักในช่วงเวลาอันสำคัญนี้ กระผมได้อาศัยใบบุญรุ่นน้องด้วยการแฝงกายพักพิงในบ้าน ซี.อาร์.เอ็ม. ซึ่งน้องรักทุกคนให้ความอนุเคราะห์แก่กระผมเป็นอย่างดี ทั้งน้องพรอนันต์ น้องประสารท น้องมุกดา และน้องดวงพร ทุกคนเป็นกันเอง และมีน้ำใจที่งดงามมาก

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 11 กันยายน 2551 ซึ่งเป็นวันนำเสนอผลงานแบบปากเปล่า อธิการบดีของ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ได้บรรยายในช่วงเช้า โดยกล่าวยกย่องว่า ผู้เข้าประกวดทุกคนจงภาคภูมิใจในการเข้าร่วมเวทีนำเสนอผลงานในครั้งนี้ เพราะเป็นเวทีสำคัญระดับชาติ มีคนส่งวิทยานิพนธ์เข้าประกวดมากมาย แต่คัดเลือกให้เหลือเพียง 33 เล่ม ทั้งในระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก และทางสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ยินดีสนับสนุนผู้ที่มีความสนใจศึกษาต่อ ณ สถาบันแห่งนี้ เพียงแต่ต้องเป็นผู้ที่เรียนดีและยอมทำงานหนักเท่านั้น เพื่อช่วยให้สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ บรรลุถึงความเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย” ในระดับแนวหน้าของโลกให้จงได้ ซึ่งประเด็นนี้เป็น “คำสำคัญ” ที่กระผมหวังใจจะจดจำไว้ใช้ช่วงชิงโอกาสในการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ณ สถาบันดังกล่าว ในอนาคต

หลังจากฟังบรรยายจาก ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ เรียบร้อยแล้ว ทางผู้จัดงานก็ได้แบ่งผู้เข้าประกวดออกไปตามห้องต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนครับห้องพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ จุดหมายปลายทางของผม

เมื่อถึงห้องเล็ก ๆ ดังกล่าว พบว่ามีพิธีกรดำเนินรายการรออยู่ และคณะกรรมการสอบการนำเสนอแบบปากเปล่าอีก 5 ท่าน ผมเป็นคนที่ 2 ของการนำเสนอ แต่ถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นคนแรก เพราะผู้นำเสนอคนแรก ซึ่เป็นเป็นศิษย์เก่าของสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ยังมาไม่ถึงห้องแข่งขัน

กระนั้น ผมจึงเริ่มต้นบรรยายวิทยานิพนธ์ของกระผมทันที แต่ในระหว่างที่รอให้คอมพิวเตอร์แสกนไวรัสในแฟลชไดร์นั้น กระผมจึงรีบกล่าวทักทายคณะกรรมการและกล่าวปูพื้นสาขาวิชาที่ตนเองสำเร็จการศึกษามา เพราะหากไม่ทำเช่นนั้นแล้ว เวลาจะถูกกลืนกินไปเรื่อย ๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งต่อกระผมเอง และต่อภาพรวมของงานประชุมวิชาการในวันนี้

ทั้งนี้ กระผมชี้แจงว่า “หลักสูตรที่กระผมเขียนวิทยานิพนธ์เพื่อขออนุมัติปริญญานั้น คือ สาขาวิชา “การจัดการทรัพยากรชีวภาพ” ซึ่งเป็นหลักสูตรเชิงสหวิทยาการ โดยผู้เข้าร่วมศึกษาในหลักสูตรนี้จะได้รับอนุมัติปริญาจาก 3 สาขาวิชาที่ต่างกัน คือ วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต  และตัวกระผมเอง จะได้รับวุฒิ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (การจัดการทรัพยากรชีวภาพ) ครับ… การจัดการศึกษาของเรามีความหลากหลาย เน้นการแก้ปัญหาชุมชนแบบองค์รวม”  พอพูดถึงตรงนี้ ผมก็เหลือบไปมองที่คอมพิวเตอร์ของนิด้า ซึ่งพบว่ามันสแกน “ไวรัส” เสร็จพอดี

จากนั้นผมก็เริ่มเข้าเรื่องวิทยานิพนธ์ของกระผมทันที กับหัวข้อ “แนวการพัฒนาสวนส้มบางมดให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” เมื่อบรรยายจบ ผู้ดำเนินรายการก็มิได้แจ้งว่ากระผมใช้เวลาเกินเลยไปหรือไม่ แต่ที่น่าสงสัยคือ คณะกรรมการคงต้องการรอผู้นำเสนอรายแรกให้เข้ามาลงทะเบียนเสียก่อน จึงให้กระผมพูดบรรยายได้อย่างอิสระ

เมื่อบรรยายจบ คณะกรรมการฝ่ายชายเริ่มถามคำถามแรกที่ว่า “ข้อจำกัดของการเก็บข้อมูล คืออะไรครับ” และคำตอบของกระผม คือ “ระยะเวลาและบริบทของพื้นที่ครับ เนื่องจากเราพบว่าย่านบางมดแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนเหนือที่มีสภาพเป็นเมืองสูง และส่วนใต้ ที่มีสภาพเป็นชุมชนเกษตรกรรมสูง ดังนั้นเราจึงออกแบบการเก็บข้อมูลด้วยการฝังตัวในชุมชนทั้ง 2 แห่ง อีกทั้งด้วยระยะเวลาเพียง 1 ปี กว่า ๆ ที่เข้า ๆ ออก ๆ ในชุมชน ทั้ง 2 ส่วน ก็ย่อมนำมาซึ่งข้อมูลที่แตกต่างกันอย่างจำกัดครับ”

เมื่อเว้นจังหวะหายใจได้สักพัก กระผมก็เริ่มขยายความต่อ “นอกจากนี้ ในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ตามกรอบแนวคิดที่เปรียบดั่งแว่นขยายที่ใช้ในการตีความข้อมูลนั้น กระผมยอมรับว่ามีอคติแฝงอยู่ในงานเขียนชิ้นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถือเป็นข้อพึงระวังในการนำผลการวิจัยไปใช้ครับ”

และคำถามถัดมาเป็นของ อาจารย์ฝ่ายหญิงท่านหนึ่ง คือ “ตามที่ผู้นำเสนอได้กล่าวอ้างว่า ใช้การตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้านั้น ได้มีวิธีการตรวจสอบอย่างไรบ้างค่ะ”

ในประเด็นนี้ กระผมอึ้งไปเล็กน้อย เนื่องจากอาจารย์ท่านนั้น ถามพรวดขึ้นมา และกระผมก็นึกย้อนหลังการตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้าได้อย่างลางเลือน  แต่กระผมก็รีบตอบไปว่า “วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ผ่านการอ่านโดยผู้นำชุมชน และนักพัฒนาที่เข้าไปคลุกคลีในย่านบางมดมากว่า 10 ปี ทำให้ข้อมูลได้รับการตรวจสอบในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ กระผมยังได้ใช้ลักษณะการวิเคราะห์ข้อมูลตามวันเวลาที่ผู้ให้ข้อมูลสำคัญกล่าวอ้าง แล้วนำมายืนยันกันว่าผู้ให้ข้อมูลได้ไล่เรียงวันเวลา และสถานที่อย่างถูกต้องตรงกันหรือไม่ แต่โดยหลักแล้วจะยึดข้อมูลจากการศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์ชุมชนเป็นหลักครับ… นอกจากนี้กระผมยังตระหนักถึงบทบาทของผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ที่ต่างฝ่ายต่างพูดอยู่ในฐานะและผลประโยชน์ของตน ดังนั้นข้อมูลที่ได้รับมาย่อมขัดแย้งกันเองบ้าง แต่อาศัยการสังเกตและมีส่วนร่วมในชุมชน ก็จะสามารถแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นอะไร ครับ…”

คำถามที่สาม เป็นของอาจารย์ฝ่ายชายอีกท่านหนึ่ง ท่านถามว่า “แนวการพัฒนาที่คุณเสนอนั้น คุณเขียนขึ้นในฐานะผู้รู้ใช่หรือไม่”กระผมรู้สึกว่า คำถามนี้ตอบยากมาก เพราะหากตอบพลาดไปว่า “ใช่ครับ กระผมเป็นผู้รู้ เพราะเข้าไปฝังตัวในชุมชนนานนับปี สัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากมาย แล้วอย่างนี้ ทำไมแนวการพัฒนาที่กระผมเสนอจะไม่น่าเชื่อถือละครับ” นี่ถ้าผมตอบไปอย่างนี้ คงอายเขาตายอย่างแน่แท้

ทว่า กระผมกลับตอบไปว่า “ผมไม่คิดว่าผมเป็นผู้รู้ครับ เพราะว่าข้อมูลที่เก็บมาก็กินเวลาเพียง 1 ปี เศษ ๆ เท่านั้น และความซับซ้อนของมนุษย์ก็ทำให้เราได้รับความจริงมาเพียงบางส่วนเสียด้วย คือ ผมคิดเพียงว่า ถ้าหากนักพัฒนา นักการเมือง หรือ นักวิจัย ต้องการพัฒนาพื้นที่ย่านบางมด กระผมก็จะแนะนำให้เขาอ่านงานของกระผม เพราะมันช่วยย่นระยะเวลาในการพัฒนาได้มาก เราเตรียมข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ ไว้ให้หมดแล้ว และเราก็นำเสนอในรูป แนวการพัฒนา ซึ่งมาจากทักษะพื้นฐานในการหาข้อมูลและเรียงร้อยเรื่องราวต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้น แนวการพัฒนาที่เขียนขึ้น จึงมิใช่การเขียนในฐานะผู้รู้ครับ”

คำถามถัดมาเป็นของอาจารย์ฝ่ายหญิงครับ อาจารย์ท่านนี้ถามว่า “ในการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก เป็นอย่างไร” กระผมตอบไปว่า “ลักษณะการเก็บข้อมูลของผมค่อนข้างแตกต่างจากการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกในงานวิจัยคุณภาพทั่วๆไป เพราะกระผมจะเน้นความเป็นกันเองกับชาวชุมชน โดยใช้การฝังตัวเข้าไปกินอยู่หลับนอนในบ้านของชาวชุมชน เข้าไปคลุกคลีในกิจกรรมของชุมชน ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ จะหลั่งไหลออกมาจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญเอง โดยที่เราไม่ต้องเอ่ยถามเสียด้วยซ้ำ ซึ่งกระผมค่อนข้างมีอคติต่อการบีบเค้นข้อมูลจากชาวชุมชนตรง ๆ เพราะเชื่อมั่นว่า การกระทำแบบนั้นจะทำให้เราได้ข้อมูลแบบฉาบฉวยครับ”

คำถามถัดมา เป็นคำถามของอาจารย์ฝ่ายชาย ท่านถามว่า วิทยานิพนธ์ของคุณเป็น “โฟกัสเซด รีเสริด หรือไม่” ผมฟังแล้วงงมาก ไม่รู้ว่าคำนี้ แปลว่าอะไรเสียด้วยซ้ำ ได้แต่เอ่ยถามไปตรง ๆ ว่า “อาจารย์ครับ คือ เนื่องจากกระผมความรู้น้อย อยากจะขอความรู้อาจารย์หน่อยครับว่า ‘โฟกัสเซด รีเสริด’ แปลว่า อะไรครับ” พอตอบคำถามด้วยการถามกลับจบ อาจารย์ท่านนั้นก็ยิ้มแก้มปริ เสมือนหนึ่งจะภูมิใจที่ได้เห็นว่าแก้วน้ำของกระผมนั้นยังสามารถใส่อะไรลงไปได้อีก และท่านกล่าวตอบว่า “โฟกัสเซด รีเสริด คือ งานวิจัยที่มีความลุ่มลึก มีคำถามวิจัยที่เฉพาะเจาะจง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสามารถอธิบายคำถามเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน”

ในขณะที่กระแสเสียงของอาจารย์ท่านนั้น เคลื่อนคล้อยไป ความคิดของกระผมก็ค่อย ๆ ผุดขึ้นมา จนสานทอก่อนร่างเป็นคำตอบในที่สุด นับว่าการถ่วงเวลาของกระผมในครั้งนี้ ได้ผลอยู่บ้างเหมือนกัน แล้วกระผมจึงตอบไปว่า “ครับ จากที่ฟังมา ผมมั่นใจว่าวิทยานิพนธ์ของกระผมเป็น ‘โฟกัสเซด รีเสริด’ แน่นอน เนื่องจากในช่วงแรกได้ตั้งคำถามวิจัยที่เฉพาะเจาะจงอยู่ 2 ประเด็น คือ บริบทและพัฒนาการของชุมชนเกษตรกรชาวสวนส้มบางมด เป็นอย่างไร และ แนวการพัฒนาสวนส้มบางมดให้เป็นแหล่งการเรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นอย่างไร แม้ว่าในภายหลังจะได้เพิ่มคำถามการวิจัยขึ้นมาอีก 1 ข้อ คือ นักท่องเที่ยวและพหุภาคสวนส้มบางมด มีความคิดเห็นต่อการท่องเที่ยวในย่านบางมด อย่างไร ซึ่งคำถามวิจัยข้อนี้เป็นความต้องการของชุมชนเกษตรกรชาวสวนส้มบางมดที่ขอร้องให้กระผมหาคำตอบให้เพื่อนำไปพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งลำพังคำถามการวิจัยทั้ง 3 ข้อนี้ ก็ยากที่คนอื่นจะเลียนแบบได้ ดังนั้นจึงน่าจะเข้าข่าย ‘โฟกัสเซด รีเสริด’ ครับ”

คำถามข้อสุดท้าย ของอาจารย์ผู้ชายท่านเดิม คือ “ทำไมในวิทยานิพนธ์ต้องใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาร่วมวิเคราะห์ข้อมูลด้วย ในเมื่อผู้วิจัยได้ทบทวนแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และ TERMS Model อยู่แล้ว” ผมคิดว่าคำถามนี้เป็นคำถามพิฆาตที่สุด เท่าที่เคยเจอมา เพราะถ้าตอบมั่ว ๆ อาจถูกตำหนิในฐานที่ไม่มีความจงรักภักดี และหากตอบแบบพึ่งพาสยบยอมมากเกินไป ย่อมถูกตำหนิได้ว่า ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง หยิบใช้ทฤษฎีในการพัฒนาสังคมแบบตามกระแส แต่ไม่ได้เข้าใจถึงแก่นแท้ ไม่ได้นำมาใช้ตามความจำเป็นที่แท้จริง นี่ละครับที่ผมงงว่า ทำไมผมถึงคิดวิพากษ์อะไรซับซ้อนได้ขนาดนี้

เมื่อผมเริ่มตั้งสติได้แล้ว ผมก็เริ่มตอบคำถามไปว่า “ที่เราเลือกใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาร่วมวิเคราะห์ข้อมูลนั้น เป็นเพราะว่า กลุ่มจัดตั้งในพื้นที่วิจัย คือ กลุ่มเกษตรพัฒนาสวนส้มบางมด ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม มีคำพูดมากมายที่สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดแบบพอเพียง เช่น หมู่บ้านจัดสรรมันโตขึ้นเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมก็โตขึ้นเรื่อย ๆ ผลิตเหล็ก หิน ปูน ทราย มันกินเข้าไปได้ไหม แล้วก็มาทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่รู้จักพอกันสักที อย่างนี้ถ้าเกิดวิกฤติจะเออะไรกินกันเข้าไป ถ้าขืนให้พื้นที่เกษตรกลายเป็นโรงาน กลายเป็นหมู่บ้านไปหมด สุดท้ายเมืองไทยจะซื้อข้าวจากที่ไหน ถ้าคนเรารู้จักพอเพียง รู้จักกำหนดพื้นที่เป็นโซน ๆ  สวนส้มบางมดก็คงจะอยู่ได้ ไม่ล่มสลายไปแบบนี้หรอก”

ครับ กับคำพูดที่จำได้บ้าง แต่งไปบ้าง แต่ก็รับรองว่าไม่หนีจากความรู้สึกของชาวชุมชนย่านบางมดแน่นอน ซึ่งกระผมก็ได้ชี้แจงต่อไปว่า “ดังกล่าวนั้น ท่านจะเห็นได้ว่า ชาวชุมชนได้ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเกราะคุ้มกันในการดำเนินกิจกรรมกลุ่ม ซึ่งแม้ว่าในช่วงแรกผู้วิจัยจะเห่อตามกระแสไปบ้าง แต่ในภายหลังกลับยิ่งค้นพบว่า ชุมชนมีการอ้างความชอบธรรมจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อต่อสู้กับการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยที่ไร้สมดุล อีกทั้งการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาวิเคราะห์ก็ยังเป็นเสมือนการเชิญชวนให้นักพัฒนาท่านอื่น ๆ มาสัมผัสกับวิถีชาวบ้านและดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาต่อยอดจากวิทยานิพนธ์ของกระผมครับ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเสร็จสิ้นการนำเสนอแล้ว กระผมยังคงต้องนั่งรอฟังผู้นำเสนออีก 2 ท่าน บรรยายให้จบ ท่านแรกเป็นศิษย์เก่าจาก นิด้า พูดเรื่อง “นโยบายสาธารณสุขกับการโฆษณายาที่เอาเปรียบสิทธิผู้บริโภค” และอีกท่านมาจาก คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำเสนอในเรื่อง “การสร้างสวัสดิการแบบบูรณาการในบ้างน้ำเกี๋ยน จังหวัดน่าน” เมื่อฟังทั้ง 2 ท่านบรรยายจบ กระผมก็พบได้ว่า กระผมเป็นเพียงคนเดียวที่นำเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์ ตามด้วยชื่อของตนเองและอาจารย์ที่ปรึกษาทั้ง 2 ท่าน ซึ่งนั่นเป็นมารยาททางวิชาการที่น่าห่วงใยเช่นกัน

มาถึงตรงนี้ ประสบการณ์ในการประกวดวิทยานิพนธ์ก็ได้ถูกขับขานไปเกือบหมดแล้ว หากย้อนมองกลับไปที่คำถามของบทสุนทรพจน์ที่ว่า “กระผมอาศัย ‘ข้อแกร่งแรงใจอะไร’ ในการเขียนวิทยานิพนธ์” คำตอบก็คือ ในวันเซ็นสัญญารับทุนโครงการโปรแกรมทักษะการจัดการทรัพยากรฐานชุมชนนั้น กระผมได้สัญญากับตนเองไว้ว่า “สักวันเราจะทำให้อาจารย์สุดารัตน์รู้ว่า การที่อาจารย์ให้ทุนและรับเราเข้ามาเรียนนั้น เป็นสิ่งที่ดีและน่าภาคภูมิใจมาก และอาจารย์ได้เลือกคนมาไม่ผิด”

อาศัยความรู้สึกแรกเริ่มตรงนั้น ทุกครั้งที่เผชิญกับปัญหา แม้อยากจะลาออกสักกี่ครั้ง ใจเราก็จะทบทวนไปที่ความศรัทธาแรกเริ่มที่มีต่อโปรแกรมทักษะการจัดการทรัพยากรฐานชุมชน ซึ่งทุกครั้งก็ยังคงประคับประคองตนเองจนสอบป้องกันวิทยานิพนธ์ผ่าน และได้รับรางวัลจากสถาบันภายนอกในวันนี้ครับ

กระผมใกล้จะพูดแล้วละครับ

ทั้งนี้ การจัดประสบการณ์ของ ดร.จุรีพร กาญจนการุณ มีส่วนช่วยอย่างมากต่อการพัฒนางานเขียนของกระผม อาจารย์สนับสนุนการให้เข้าร่วมทำงานในทีมวิจัยของ ศูนย์วิจัยบริการเพื่อสังคมและชุมชน สนับสนุนให้เรียนรู้จาก สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และส่งเสริมให้ลองช่วยทำงานวิจัยภาคสนาม เกี่ยวกับ “การศึกษาชุมชนการพนันในย่านบางมด” กับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย

นอกจากนี้ การส่งเสริมของ รองศาสตราจารย์บุษยา บุนนาค และอาจารย์ภาวิณี พัฒนจันทร์ ที่อนุญาตให้กระผมได้มีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลทางสังคม ร่วมกับเพื่อนนักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ทางวิทยาศาสตร์นั้น ก็มีส่วนช่วยให้กระผมได้มองเห็นข้อบกพร่องในวิทยานิพนธ์ของตนเอง และนำมาซึ่งการปรับรื้อ เติมเต็ม ให้วิทยานิพนธ์ของตนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อีกทั้งการศึกษาดูงานที่หลากหลาย อาทิ การต่อหุ่นยนต์เลโก้-โลโก้ การลงชุมชนที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ริเรืองรอง รัตรวิไลยสกุล การศึกษาดูงานที่จังหวัดบุรีรัมย์ กับ ดร.ศศิธร สุวรรณเทพ รวมทั้งการศึกษาดูงานที่ บ้านโป่งคำ ของ ดร.ทศพร ทองเที่ยง การร่วมกิจกรรมกับทางสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการผลักดันของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรพงษ์ ชูเดช การออกค่ายเรียนรู้คุณธรรมนำชีวิตพอเพียง กับ อาจารย์ชลารัตน์ ชัยสิทธิ์ การรับทุนโครงการวิจัยของอาจารย์วาสนา มานิช ซึ่งมีส่วนช่วยให้การเก็บข้อมูลเพื่อการเขียนวิทยานิพนธ์ให้ได้เป็นไปได้อย่างราบรื่น รวมทั้งการร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ป่าชายเลนที่ช่วยให้กระผมได้ตระหนักใจในปัญหาสิ่งแวดล้อม การศึกษาดูงานกับ สวทช. ไบโอเทค การร่วมประชุมทางวิชาการต่าง ๆ และกระบวนการเรียนรู้อื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งกระผมมิอาจกล่าวได้หมด



ความเห็น (2)

สวัสดีค่าคุณโชคธำรงค์ จงจอหอ ขอบคุณค่า ข้อเสนอแนะที่ว่านี่เป็นแนวคิดที่ล้ำลึก เกือบจะไปถึงกาลหลุดพ้นโน่นเลยเทียวนะเนี่ย ต้องพยายามพิจารณาบ่อยๆเสียละ จะได้เป็นอิสระ ว่างจากการยึดติดผูกพันบ้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท