เรื่องเล่าจากคุณตา


การเรียนการสอนในอดีต

 

ครูไทยสมัยโบราณตอนที่ 2

 

เป็นเรื่องที่คุณตาเล่าถึง  วิธีการสอนศีลธรรม  คณิตศาสตร์  และการใช้จิตวิทยาของครูในการอบรมบ่มนิสัยศิษย์  ในการเล่าครูดาพิมพ์ตามสำนวนของคุณตาไม่ได้ปรับเปลี่ยน เพื่อให้ได้อ่าน  สำนวนภาษาของคนรุ่นเก่า      คุณตาเล่าต่อ

            .............สมัยนั้น  แม้แต่ศีลธรรมก็เข้มงวด  เมื่อเข้าห้องเรียน             จะกราบพระสามหน  คืออรหังสัมมาสัมพุทโธ  พุทธัง ภะวันตังอภิวาเทมิ  สามหน  สวาขาโตและสุปฏิปันโณ  ไม่มีเสาธง  เข้าศาลากราบพระสามหนแล้วก็ลงมือเรียนเลย 

             ส่วนเลขก็มีหารสั้น  หารยาว  บัญญัติไตรยาง  สมัยข้าพเจ้าเรียนมีถึง ม.๘ แต่จะเรียนอีกกี่ปีได้ปริญญาข้าพเจ้าจำไม่ได้ แต่ ม.๘  สมัยก่อนเก่งภาษาอังกฤษ  สามารถพูด  เขียนเก่ง  ถ้าไปเรียนเมืองนอกก็ไม่ต้องไปกวดวิชาภาษาอังกฤษอีก  สมัยก่อนมีโรงเรียนดัง  อัสสัมชัญ  เทพศิรินท์ดังมาก  มาแตร์เดออี  คนเข้าเรียนคือลูกเจ้าขุนมูลนายหรือลูกคนมีเงิน 

            พอเย็นลงครูจะให้นักเรียนท่องสูตรคูณให้ได้อย่างน้อย  แม่ ๑๒  ทำให้เราเก่งเลขคณิตในใจ  ครูจะถามให้คิดในใจว่า  ๑๒ x ๗ เป็นเท่าไร  ถ้าเราเก่งสูตรคูณเราจะตอบทันทีว่า    ๑๒ x = ๘๔  สมัยนี้มีเครื่องคิดเลขทำให้สมองคนเอาเวลาว่างไปคิดสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์เสียส่วนมาก

            สมัยนี้ครูสอนก็มาก  แต่สอนวิชาน้อย  อย่างม.๖  สมัยนี้ภาษาอังกฤษไม่กระดิกหู  ส่วนการสอนของคนไทยจนจบระดับปริญญาตรี  โท  ของไทยเก่งกว่าของฝรั่งแต่ไม่โก้ต้องปริญญานอกถึงจะโก้  ส่วนการสอนของคนไทยไม่น้อยหน้าฝรั่ง  ถ้าคนไทยไม่เก่งทำไมไปอยู่เมืองนอกโดยฝรั่งอ้าแขนรับแพทย์ไทย  ข้าพเจ้าก็ไม่เคยไปอยู่เมืองนอกแต่ประสบการณ์ของข้าพเจ้าจึงทราบได้

            เมื่อข้าพเจ้าเรียนสมัย  พ.ศ. ๒๔๘๐  ใครจบป. ๔ เป็นครูได้  เงินเดือนเพียง ๘ บาท  และจะมีการสอบเทอมกลาง  และเทอมปลายเลื่อนชั้นเมื่อสิ้นปี

            ส่วนศีลธรรมก็สอนให้เคารพครูอาจารย์  บิดามารดา  เมื่อพบผู้ใหญ่ให้ยกมือไหว้  การเรียนการสอนสมัยนั้น  นักเรียนกลัวครูยิ่งกว่าพ่อแม่เสียอีก  การปกครองนักเรียนสมัยนั้นเขาใช้อุบาย  เปรียบสมัยนี้เขาเรียกจิตวิทยา   ก็คือการเปรียบเทียบให้ฟังไม่ใช่กลัวครูด้วยไม้เรียวหรือไม้บรรทัดตีที่ฝ่ามือ  ข้าพเจ้าเคยโดนตีที่ฝ่ามือ

            พ่อแม่เมื่อให้กำเนิดบุตรธิดามาก็มีความรักใคร่บุตรธิดา  ห่วงใยในความทุกข์สุขเมื่อโตขึ้นมาก็ส่งเข้าโรงเรียนหาความรู้  เมื่อกลับจากโรงเรียนต้องเคารพบิดามารดา  ตอนเช้าก็เหมือนกัน  ก่อนจะมาโรงเรียนต้องทำความเคารพ  ส่วนครูอาจารย์เสมือนบิดามารดาคนที่สอง  เพราะครูผู้สอนให้วิชาความรู้แก่ศิษย์  สมัยนี้ไม่มีครูไม้เรียวแต่ก็มีสิทธิทำโทษได้ด้วยให้คาบไม้บรรทัดหรือไปยืนใต้เสาธง  เมื่อนักเรียนทำผิดมาก   ส่วนศิษย์จะฉลาดกว่าครูไม่ได้เพราะครูเรียนรู้มาสูงและเกิดก่อนศิษย์  ประสบการณ์ก็มากกว่า.....

            เป็นอย่างไรคะพอจะมองเห็นภาพห้องเรียนสมัยที่เรายังไม่เกิดได้ไหมคะครูดาว่าหลายเรื่องโดยเฉพาะการเน้นเรื่องคุณธรรม  จริยธรรม สมัยโบราณปลูกฝังได้ดีมาก ๆ ซึ่งคนเราหากจิตใจดีแล้ว  เรื่องอื่น ๆ  ก็จะดีตามไปหมดจริงไหมคะถ้าสนใจติดต่อตอนที่ 3 นะค่ะ 

 

หมายเลขบันทึก: 208740เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2008 06:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 02:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

วันนี้ผมเข้าบล็อกมาถึงลำพูน นครหริภุญไชย เลยนะครับ เนี่ย ยินดีที่ได้เข้ามาเยี่ยมแวะมาเยือนครับ

ห้องเรียนสมัยที่ผมยังไม่เกิด อือม์ ของผมมาช้ากว่าคุณพี่น่ะครับ 2531 แน่ะครับกว่าจะได้เข้าเรียน

  • มาตืดตามอ่านเรื่องของคุณดาค่ะ
  • เออหนอ สมัยนี้บางทีคนเราก็เอาเวลาว่างไปคิดเรื่องที่ไม่ค่อยมีประโยชน์อย่างที่คุณตาว่าจริงๆ ด้วย
  • ชอบสำนวนเขียนของคนรุ่นคุณตานะคะ  สุภาพและสละสลวยจังค่ะ
  • ครูดาเขียนอีกนะคะ

ครูสมัยก่อนท่านสอนได้ดีจริงแทบทุกเรื่องอย่างที่ครูดาว่า อดนึกถึงสมัยเป็นเด็กไม่ได้พ่อซื้อลูกคิดให้ยังประทับใจในการใช้ลูกคิดมาถึงทุกวันนี้เลย

สวัสดีคุณครูดา

เป็นจริงเช่นนั้นทุกประการ...จะขอเข้ามาติดตามตอนต่อไปอีกนะคะ

ครูดาครับ

ได้อ่านตอนสองยิ่งประทับใจ ท่านคุณตาเขียนได้ดีมาก ๆ

มองเห็นแนวการสอนครั้งกระโน้นเลยครับ

ขนาดครูเก่า ว่าเก่าแล้วเชียว...

ได้อ่านเรื่องคุณตาแล้ว ภูมิใจแทนครูดา ที่เป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

จะรออ่านตอนต่อไปครับ

ขอบคุณคนพลัดถิ่น คุณ dd L คุณไทเกอร์ปุ๊ คุณครูวรางค์ภรณ์

และคุณครูเก่าที่ติดตามอ่านเรื่องของคุณตา ขอบพระคุณครูเก่าที่ภูมิใจแทนครูดา ครูดาก็ภูมิใจมากที่เกิดเป็นลูกคุณตา และชื่นชมคุณพ่อของคุณไทเกอร์ปุ๊มากที่ท่านสอนการใช้ลูกคิดให้ลูกและนำมาใช้ได้ในยุคปัจจุบัน ภูมิปัญญาคนโบราณเยี่ยมจริง ๆ คะ

ครูดาให้คุณตาอ่านความคิดเห็นของทุก ๆ คน คุณตาดีใจมาก คุณตาฝากขอบใจทุกท่านที่ติดตามอ่านถ้าจบเรื่องนี้ คุณตาจะเล่าเรื่องการสร้างเขื่อนยันฮีให้ฟังอีก ซึ่งครูดาฟังกี่ครั้งก็ไม่เคยเบื่อเลย ติดตามต่อนะคะ ขอบคุณมาก ๆ ๆ ๆ

สวัสดีค่ะ

ขอขอบคุณที่มีเรื่องราว สาระดีมีประโยชน์

ได้แนวคิดเพื่อนำไปปฏิบัติและเกิดประโยชน์

ขอเป็นกำลังใจให้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท