ปฏิรูปอะไรกัน?


การมองงานด้านการศึกษาเสมือนหนึ่งว่าเป็นกระบวนการผลิตสินค้าในระบบอุตสาหกรรม ... ลงทุนมาก เหนื่อยมาก แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้อะไร

     เชื่อว่าทุกท่านที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษาของชาติ  ไม่ว่าจากฝ่ายการเมือง  ข้าราชการประจำ  และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  ทั้งจากภาครัฐและเอกชน  คงไม่มีใครปฏิเสธว่ามีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงมากเหลือเกินในบ้านเรา นโยบายด้านการศึกษาหลายอย่างถูกผลักดันเพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม  แน่นอนว่าทุกเรื่องจะมี หลักการ เหตุผลและความจำเป็นที่อ่านแล้วอาจเคลิ้มเอาได้ง่ายๆ  เหมือนอ่านนวนิยายแล้วจินตนาการตามไปก็ทำให้เกิดอารมณ์คล้อยตาม เบิกบาน  ยิ้ม  หัวเราะ ด้วยความสุขที่ปรุงแต่งขึ้นในใจได้ไม่ยาก  อ่านจบ เหลียวดูตัวเองตามสภาพที่เป็นจริงก็คงพบอะไรบางอย่างที่แตกต่างออกไป   เรียกว่าความคิดที่เลื่อนไหลไปในโลกแห่งจินตนาการนั้น  ไม่อาจมีสิ่งใดมาขวางกั้น  อะไรๆก็ดูจะง่ายไปหมด  ก็ความฝันนี่ครับ  ย่อมไม่มีปัญหา ทุกอย่างเป็นจริงได้เสมอ  อย่ารีบตื่นก็แล้วกัน


      บนเส้นทางของการปฏิรูปการศึกษาของชาติ  ได้มีการนำเสนอแนวคิดและทฤษฎีหลายอย่าง  ให้สถานศึกษา และครูอาจารย์นำไปปฏิบัติ  การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน  ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา  การวิจัยในชั้นเรียน  การสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้  การเพิ่มพูนทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ   การประกันคุณภาพการศึกษา  ฯลฯ  แต่ละเรื่องได้รับการเผยแพร่  ปลุกเร้า  กระตุ้นเตือนให้รีบทำ  และเกิดการแข่งขันกันทำ  ออกอาการว่าใครจะได้มาก  ได้เร็วกว่ากันก็มีอยู่  สิ้นเปลืองงบประมาณ  และเวลาไปแล้วแค่ไหน  เกิดความทุกข์ทรมานจนคนดี  คนเก่งผันชีวิตตนเองออกจากเส้นทางอาชีพที่เคยศรัทธาและมุ่งมั่น ไปแล้วเท่าไร ?  กล่าวโดยภาพรวม  ความผิดพลาดสำคัญที่ผ่านมาและควรได้ใช้เป็นบทเรียน    คือการมองงานด้านการศึกษาเสมือนหนึ่งว่าเป็นกระบวนการผลิตสินค้าในระบบอุตสาหกรรม  ทั้งๆที่มีธรรมชาติของงาน  และความประณีต  ละเอียดอ่อน  ความสลับซับซ้อนของปัจจัยอันเป็นส่วนประกอบของระบบ  แตกต่างกันมากเหลือเกิน 

      ถ้าเห็นคนในสังคมหนึ่งที่มีคุณลักษณะพื้นฐาน  และสภาพแวดล้อมต่างจากเรามากทำอะไรสำเร็จ  แล้วคิดจะนำวิธีการเหล่านั้นมาใช้บ้าง  โดยหวังผลอย่างเดียวกัน  หากไม่คิดให้รอบคอบถึงทุนเดิมที่แท้จริงที่เรามีอยู่  ย่อมมีความเสี่ยงเสมอ  จะได้แค่รูปแบบของเขามา   มองผิวเผินที่เปลือกนอก  ก็ดูจะคล้ายๆกัน  แต่มักจะปราศจากแก่นสารที่แท้จริงภายใน ลงทุนมาก  เหนื่อยมาก แล้วสุดท้ายก็ไม่ได้อะไร.

หมายเลขบันทึก: 20795เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2006 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ระบบบ้านเราผู้บริหารไม่ทำจริงครับ
  • เสียดายอาจารย์เก่งๆที่เข้าร่วมโครงการเกษียณก่อนกำหนด
  • เป็นบทเรียนราคาแพงของรัฐบาลที่ลอกการศึกษามาใช้ในบ้านเราโดยไม่ได้ดูบริบทของสังคมเท่าไร

เห็นด้วยกับคุณ Handy เป็นอย่างมากค่ะว่า สิ่งดีๆที่เราเห็นของบ้านเมืองอื่นนั้น เราต้องมองให้ลึกลงไปถึงว่า ทำไมเขาจึงทำแล้วได้ผลดี เราจะเอามาใช้อย่างไรจึงจะได้ผลบ้าง สภาพแวดล้อมและคุณสมบัติพื้นฐานของบ้านเรานั้นเป็นเอกลักษณ์ที่น่าภาคภูมิใจ เราควรใช้สิ่งที่เรามีอยู่เป็นตัวตั้ง เอาสิ่งดีๆเหล่านั้นมาดัดแปลง บูรณาการให้เข้ากับเอกลักษณ์ของสังคมเรา และแน่นอนที่ว่าวิธีการที่ใช้กับการพัฒนาระบบการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมนั้น ไม่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ระบบการศึกษาได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท