ประวัติผลงานวิจัยของผม


ปีนี้มีบทความ 5 เรื่องแล้ว มี impact factor รวมกันประมาณ 12 ครับ

ในตอนนี้ ผมจะเล่าเกี่ยวกับประวัติการวิจัยและผลงานวิจัยของตัวเองให้ฟังครับ มีรูปทางสถิติให้ดูด้วยครับ

ผมเริ่มเรียน ป.เอก เมื่อปลายปี 1995 เริ่มตีพิมพ์ผลงานวิจัยครั้งแรกปี 1998 ตอนนั้น อาจารย์ที่ปรึกษา Prof.Graeme Ackland เป็นคนเขียนให้ครับ ต่อมาอยากลองเขียนเองสักเรื่อง เพราะสมัยเรียน ป.ตรี มีอาจารย์หลายท่านเปรยให้ฟังว่าเขียนบทความวิจัยเพื่อลงวารสารระดับนานาชาตินั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก ผมก็กลัว แต่ตัดสินใจร่างขึ้นมาหนึ่งเรื่อง (ภาษาอังกฤษ) จากนั้นส่งให้ Graeme ดู ซึ่งท่านได้เพิ่มเติม แก้ไขบางส่วน และได้สอนรวมทั้งให้ข้อคิดหลายอย่าง อย่างเช่น ภาษาเราโอเค แต่ฝรั่งเขาไม่ใช้กัน (แป่วๆๆๆ) สอง การเขียนบทความให้น่าสนใจ ต้องทำเหมือนการเล่าเรื่องหนึ่งเรื่อง (story telling) ฯลฯ อย่างไรก็ตาม บทความนั้นได้รับการตีพิมพ์โดยมีการแก้ไขเพียงเล็กน้อยในปี 1999 ตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนหนึ่ง เพราะเราเขียนบทความเอง 80-90% และสามารถทะลุผ่านกำแพงอะไรบางอย่างได้ ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น 

ปี 1999 เป็นปีที่เรียนจบ ป.เอก ผมได้ทำงานต่อเนื่องจากวิทยานิพนธ์ และได้ผลการวิจัยมากมาย ซึ่ง Graeme รู้สึกชอบใจมาก จึงเขียนบทความให้อีกฉบับหนึ่ง ตีพิมพ์ปี 2000 ในปีนี้เองที่ผมได้ทำงานที่ จุฬาฯ พบว่า มีปัญหาเรื่องการปรับตัวหลายอย่าง หลักๆ คือการเปลี่ยนผ่านจากเด็ก (มองโลกสดใส) มาสู่ความเป็นผู้ใหญ่ (อยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง) ก็ปรับตัวไม่ค่อยได้ รวมทั้ง ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีทุนวิจัย ฯลฯ ผลงานจึงหายไปหนึ่งปี

ปี 2001-2002 ได้ทำงานกับ Prof.David Ruffolo รวมทั้งได้เงินวิจัยก้นถุงจาก จุฬาฯ จึงได้บทความออกมาอีก 2 ฉบับ โดยเฉพาะงานที่ทำกับ Dave เป็นงานที่ปราณีตมากเพราะ Dave เป็นคนละเอียดรอบคอบ งานนี้จึง ฮิต (Hit) ไม่เลิก มีการอ้างอิงรวมกว่า 40 ครั้งแล้ว แม้ในปัจจุบัน (2008) ก็ยังได้รับการอ้างอิงอย่างมากและต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผมได้ใช้ผลงานวิจัยในช่วงนี้เพื่อขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ครับ

ยุคต่อมานี้เป็นยุคทองของผู้ที่ทำวิจัย เพราะมีแหล่งทุนวิจัยมากมายเกิดขึ้นมา บางแหล่งเติบโต บางแหล่งเข้มแข็ง มีพัฒนาการไปพร้อมๆ กับสังคมวิจัยของประเทศไทย เรามีแหล่งทุนของสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รูปแบบก็หลากหลาย ทั้งที่ให้ทุนนักวิจัย อาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา และทุนหลังปริญญาเอก ฯลฯ อีกทั้งสาขาก็หลากหลาย ทั้งวิชาพื้นฐาน สาขาประยุกต์ สหสาขา บูรณาการ ตอบโจทย์อุตสาหกรรม ตอบโจทย์ประเทศชาติ สารพัด ความฝันที่ประเทศไทยจะมีระบบเศรษฐกิจที่มีฐานขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สร้างสมขึ้นในประเทศคงอยู่ไม่ไกลครับ

การวิจัยของผมจึงได้อานิสงค์ไปด้วย ในช่วงนี้ (2003-2006) ผมได้ทุนจาก มูลนิธิโทเร และ สกว. โดยมี ศ.ดร.วิรุฬห์ สายคณิต เป็นพี่เลี้ยง เรื่องคุณูปการของพี่เลี้ยงท่านนี้นั้นยิ่งใหญ่มาก อาจต้องเขียนอีกตอนต่างหากครับ การที่ได้ทุนวิจัย เหมือนได้น้ำมันหล่อลื่นครับ และยังปรับปรุงคุณภาพชีวิตด้วย ทำให้ในระยะนี้ได้บทความเพิ่มขึ้นมาอีก 3 เรื่อง ในช่วงท้ายๆ นั้นมีความร่วมมือกับ ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว (เคมี จุฬาฯ) โดยมีบทความร่วมกัน 1 ฉบับ และ Prof.Rajeev Ahuja จาก Uppsala university, Sweden ได้เชิญชวนให้ไปทำงานวิจัยที่ สวีเดน เป็นครั้งคราว และได้เขียนขอทุน VR-SIDA จากรัฐบาลสวีเดนร่วมกันด้วย อนาคตดูเหมือนจะสดใส ผมใช้ผลงานในระยะนี้ (ประกอบกับ proceedings และบทความในประเทศจำนวนหนึ่ง) เพื่อขอตำแหน่งรองศาสตราจารย์ครับ

ในช่วงที่ทุกอย่างกำลังจะดี อยู่ดีๆ ผมก็รู้สึกหมดไฟครับ ช่วงปี 2006-2007 เป็นช่วงที่เลวร้ายช่วงหนึ่งสำหรับการวิจัยของผม หลายๆ เรื่องประกอบกัน เรื่องที่กระทบกระเทือนจิตใจที่สุดคือ คุณแม่จากไปด้วยอายุไม่มาก เพราะว่าแม่เป็นพระในดวงใจ เป็นที่พึ่งยามท้อแท้ เป็นกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีแม่ก็เหมือนขาดหลักชัยในชีวิต (ตอนเขียนนี่นั่งน้ำตาไหลอยู่นะครับ)

เรื่องจิปาถะอื่นๆ ก็มีบ้าง อย่างเช่น มีทุนมากและมาจากหลายแหล่ง (สกว. วช. VR-SIDA) ก็จริง แต่ลูกศิษย์จบหมดแล้ว ขาดลูกมืออย่างรุนแรง สองคือ เขียนบทความไม่ต่ำกว่า 5 เรื่อง แต่ถูกปฏิเสธทั้งหมด แม้ว่านำคำวิจารณ์มาใช้แก้ไขแล้ว ส่งไปใหม่ก็ยังถูกปฏิเสธอยู่ดี รวมๆ แล้วถูกปฏิเสธไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง มือตกจริงๆ สามคือ เพิ่งรู้มาว่าเพื่อนร่วมสาขาบางท่านมีบทความมากถึงปีละเกือบ 10-20 เรื่อง แถมยังลงพิมพ์ในวารสารชั้นดีด้วย ไม่รู้ว่าทำได้อย่างไร เราทำได้ปีละเรื่องก็แทบขาดใจ มันช่างแตกต่างกันเหลือเกิน สุดท้ายคือ การขอตำแหน่งศาสตราจารย์ มีคนบอกว่าใช้บทความมากถึง 40 เรื่อง ถ้าเราทำได้แค่ปีละเรื่อง ก็แปลว่าอีก 40 ปีค่อยมาคิดกันใหม่

เมื่อปรึกษาเพื่อนๆ เรื่องความรู้สึกหมดไฟนี้ บางคนโทษว่าผมทำงานบริหารมากไป (เริ่มจากรองหัวหน้าภาค ผู้ช่วยคณบดี รองผู้อำนวยการ ที่ปรึกษา ฯลฯ) แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่ เพราะผมมีการจัดสรรเวลาที่ค่อนข้างดี และใช้สมองแยกกัน ที่สำคัญ ผมคิดว่าการทำสิ่งที่แตกต่างออกไป เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดี เติมเต็มสิ่งที่เรายังขาดได้ นอกจากนี้ ทีมงานก็มีส่วนด้วย เพราะเราเล่นกันเป็นทีม และทีมของผมก็รู้หน้าที่ รู้บริบทของตัวเอง งานจึงดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่ใช้แรงมาก ไม่ต้องเหนื่อยมาก

วันที่ขำๆ วันหนึ่งก็คือ ไปเปิดหนังสืออ่าน มีคำคมบอกว่า "ถ้าทางสะดวก แปลว่าเป็นขาลง" (ถ้าทางลำบาก แปลว่าเป็นขาขึ้นไงครับ) อ่านแล้วอึ้งและค่อนข้างได้คิดนะครับ เขามีคำขยายความด้วยว่า ถ้านึกถึงลงเขา จะลงได้ง่าย แต่ถ้าจะปีนเขา ยิ่งเขาสูงชัน ก็จะปีนได้ยาก เราอยู่ที่จุดต่ำสุด เพื่อให้ตัวเรารู้ว่ายังมีจุดสูงกว่าครับ นึกถึงชีวิต มันอาจจะเป็นแบบนั้นด้วยก็ได้ครับ

มีคำพูดติดปากเสมอว่า "พรุ่งนี้ก็เช้า" ครับ แสงสว่างจะกลับมาเยือนเสมอ

ปีนี้ (2008) ผมมีบทความตีพิมพ์แล้ว 5 เรื่อง แต่ละเรื่องได้ลงในวารสารชั้นดี มีค่า impact factor รวมกันแล้วประมาณ 12 ครับ นอกจากนี้ ยังมีที่เขียนเสร็จและส่งให้วารสารพิจารณาแล้วอีกหนึ่งเรื่อง และเขียนอยู่อีก 2 เรื่อง เคล็ดลับก็ไม่มีอะไรมากครับ ไม่ได้เก่งขึ้น ไม่ได้ฉลาดขึ้น แต่เติบโตแผ่กิ่งก้านสาขา ส่วนหนึ่งเพราะลูกศิษย์ก้นกุฏิกลับเข้ามาสายงานวิจัยและเริ่มผลิตผลงาน อย่างที่สองคือ เรามีหัวข้อวิจัยหลากหลายและมีเครือข่ายวิจัย เวลางานออกมาพร้อมๆ กัน ก็เลยดูเหมือนผลผลิตมากครับ

สรุปด้วยรูปนะครับ (ซึ่งยังไม่ update เท่าไหร่ เพราะปี 2008 ยังเป็น 4 เรื่องอยู่เลย) รูปแรกคือจำนวนบทความนานาชาติที่อยู่ในฐาน ISI ในแต่ละปี มีทั้งหมด 13 เรื่องตามรูป (14 เรื่อง ณ ปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมี proceedings อีก 4-5 เรื่อง และ บทความในประเทศอีก 4-5 เรื่อง ที่ไม่อยู่ในฐานข้อมูลครับ) และรูปที่สองคือปริมาณการอ้างอิงครับ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันมีคนอ้างอิงงานวิจัยของผมแล้ว 127 ครั้งครับ อย่างนี้ ไม่ใช่งานขึ้นหิ้ง ขี้ฝุ่นเกาะแน่นอนครับ

หมายเหตุ รูปเหล่านี้มาจากฐานข้อมูล ISI : http://isiknowledge.com/

หมายเลขบันทึก: 207063เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2008 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สู้ สู้ ครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท