มหกรรม KM เบาหวาน ครั้งที่ ๒ : หนังสือ OM


OM จึงเป็นกระบวนการที่ทำให้คนทำงานทุกคนมีส่วนร่วม และทุกขั้นตอนของ OM เชื่อมโยงเกี่ยวพันกันทั้งสิ้นซึ่งเมื่อลองวางแผนตามแบบ OM จะทำให้มองเห็นภาพใหญ่ เป็นกระบวนการที่ทำให้เราคิดเชิงระบบ

สืบเนื่องจากบันทึก ก่อนหน้านี้

       บันทึกนี้จะขอเล่าการทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล OM จากการนำเสนอของ อ.ประพนธ์ ใน มหกรรม KM เบาหวาน ครั้งที่ ๒ นะคะ

       คงต้องเล่าที่มาที่ไปก่อนนะคะ...  สคส. ศึกษาและเรียนรู้แผนที่ผลลัพธ์หรือ Outcome Mapping (OM) ประมาณต้นปี ๕๐ โดยผู้ที่ทำให้ สคส. รู้จัก OM ก็คือ สสส. (เรื่องราวเกี่ยวกับ OM นั้น อ.วิจารณ์ และ อ.ประพนธ์ ได้เขียนบันทึกไว้ใน gotoknow เป็นระยะๆ) .... ทั้งศึกษา  เรียนรู้  และประยุกต์ OM จากต้นฉบับเพื่อให้เหมาะสม เข้าใจง่าย ตามสไตล์ สคส.  จากที่ อ.ประพนธ์ ใช้ OM ไปนำเสนอหลายเวทีว่านี่คือ Strategic KM  และทีมงาน สคส. เองก็ได้จัดกระบวนการ OM ให้กับหน่วยงานต่างๆ เสมอมา.. เราทำไป  เรียนรู้ไป.. จน สคส. มีคำศัพท์ OM ใหม่ๆ  กระบวนการเรียนรู้ OM แบบใหม่ๆ ที่เข้าใจง่ายโดยไม่ใช้การบรรยาย.. จากการที่ สสส. และ สคส. นำเสนอ OM มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ได้ยิน ได้ฟัง OM ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเรียนรู้ OM จากต้นฉบับเลย หรือเรียนรู้จากสำนักต่างๆ หรือแม้แต่เรียนรู้จาก สคส. เอง สนใจสอบถามมาไม่ขาดสายว่า เมื่อไหร่ สคส. จะทำหนังสือ OM ออกมาเสียที .... จากเสียงเรียกร้องมามากมายผนวกกับ สคส. เองก็มีประสบการณ์ที่มากพอทำให้ อ.ประพนธ์ ทนเสียงเรียกร้องไม่ไหว จึงให้ดิฉันรวบรวมเนื้อหาและตัวอย่าง OM มาให้ได้มากที่สุด (เพราะปกติดิฉันจะเป็นทีมถอดบทเรียน OM ที่กำลังทำให้ สสส. อยู่แล้ว) และตั้งใจว่าจะเก็บเนื้อหารายละเอียด OM จากการสัมมนาเชิงอบรมใน มหกรรม KM เบาหวานเป็นจุดสุดท้าย  ซึ่งตั้งใจกันไว้ว่าจะเป็นจุดที่จะเก็บรายละเอียดเนื้อหา คำถาม และตัวอย่าง ได้มากที่สุดเพียงพอที่ อ.ประพนธ์ จะนำมาเขียนให้อ่านง่าย เข้าใจง่ายตามสไตล์ของ อ.ประพนธ์

         ที่มาที่ไปก็ได้กล่าวไปแล้ว คราวนี้จะขอเล่ากระบวนการ OM ที่ อ.ประพนธ์ ใช้ใน มหกรรม KM เบาหวานนะคะ... 

         กระบวนการที่ใช้เนื่องจาก อ.ประพนธ์ มีหลักคิดว่า OM บรรยายอย่างเดียวยังไงก็ไม่เข้าใจแน่ๆ แต่ผู้เข้าร่วมมีเป็นร้อยจะทำอย่างไรให้ได้ลงมือปฏิบัติได้ทุกคน ประกอบกับพี่เลี้ยง OM เองก็มีจำกัดเพราะเท่าที่หาได้ก็มีเพียง ๖ คนเท่านั้น  ดังนั้น อ.ประพนธ์ และ ทีมงาน สคส. จึงวางแผนไว้ว่าจะแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็นกลุ่มโดยใช้ ๙ หัวข้อที่เราคิดว่าน่าจะเป็นความสนใจของผู้เข้าร่วมในการเรียนรู้ OM  แล้วให้แต่ละกลุ่มค่อยๆ ทำไปทีละขั้นตอนของการวางแผนแบบ OM โดยจะมีพี่เลี้ยง ๖ คนคอยอธิบายและให้คำแนะนำประจำกลุ่ม  ในขณะที่ อ.ประพนธ์ จะคอยอธิบายและแนะนำเป็นหลักบนเวที 

         ๙ หัวข้อที่ให้ผู้เข้าร่วมเลือกก็คือ ๑.โภชนาการเชิงรุก,  ๒. คนไทยไร้พุง,  ๓. ตำบลสุขภาวะ,  ๔. แพทย์ประจำบ้าน,  ๕. เมืองไทยแข็งแรง,  ๖. บริการด้วยใจ.. ไม่ใช่หน้าที่,  ๗. เครือข่าย PCU คุณภาพ,  ๘. Humanized Health Care   และ  ๙. Happy Hospital

         ตอนเตรียมงานทีมงานคิดกันว่าจำนวนผู้เข้าร่วมอาจเลือกหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งมากน้อยไม่เท่ากัน ซึ่งพี่เลี้ยงก็คงต้องจัดอีกครั้งในวันงาน   

         หลังจากได้หัวข้อทั้ง ๙ แล้ว ทีมงาน สคส. ต้องออกแบบวิธีการว่าจะทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าผู้เข้าร่วมสนใจหัวข้อไหน ตอนแรกเราก็คิดไว้หลากหลาย เช่น ให้พี่เลี้ยงคอยสังเกตใน handout ที่จะให้ผู้เข้าร่วมกรอกดีมั๊ยซึ่งพี่เลี้ยงคงต้องทำงานหนักหน่อยและผู้เข้าร่วมบางคนอาจไม่เขียนก็ได้  หรือ  ให้ผู้เข้าร่วมมาลงชื่อในกระดาษตามหัวข้อที่สนใจ ๙ หัวข้อดีมั๊ย.. แต่อาจวุ่นวายเพราะจำนวนคนมากอาจมายืนออกันทำให้เสียเวลาก็ได้  หรือ  ให้ผู้เข้าร่วมเขียนลงในกระดาษแผ่นเล็กๆ แล้วมาหย่อนลงกล่องดี.. แต่ถ้าผู้เข้าร่วมไม่มาหย่อนหล่ะ พี่เลี้ยงก็อาจจะวุ่นวายในตอนนั้นก็ได้นะ ฯลฯ   แล้วเราก็สรุปได้ว่าวิธีที่น่าจะสะดวกทั้งผู้เข้าร่วม, พี่เลี้ยง และความคาดเคลื่อนน้อยที่สุด คือทำแผ่น checklist ให้ผู้เข้าร่วมติ๊กเป็นแถวๆ น่าจะดีที่สุด

        ที่กล่าวมานี้คือการเตรียมการของทีม สคส. ... อืมม์เกือบลืมเล่าอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเตรียมตัวทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล OM นั้น จริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไรมากก็แค่ขอ PowerPoint อ.ประพนธ์ ไว้ก่อน เตรียมตัว เตรียมใจ ทำตัวเองให้มีสมาธิมากที่สุดในวันงานก็พอแล้วและไม่ต้องกังวลมาก

 

         เมื่อถึงวันงานคือวันที่ ๓ ก.ย.๕๑ กระบวนการซึ่งแบ่งออกเป็นช่วงเช้าและบ่ายดังนี้คะ

         ช่วงเช้า

         เริ่มด้วย อ.ประพนธ์ ให้ผู้เข้าร่วมบอกความคาดหวัง แล้วเกริ่นนำที่มาที่ไปของ KM ของ สคส. ที่ผ่านมา  จากนั้นนำเข้าสู่การวางแผนแบบ OM เริ่มด้วยการเขียนวิสัยทัศน์ ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนเลือกหัวข้อจาก ๙ หัวข้อข้างต้น มาเขียนวิสัยทัศน์ของตนเองลงไปใน handout (ทำรายบุคคล)  ต่อด้วยให้แต่ละคนเขียนพันธกิจ, ภาคีเครือข่าย (แบ่งกลุ่ม Direct Partners และ Stratgy Partners), Outcome Challenges (OC)  โดยแต่ละขั้นตอน อ.ประพนธ์ จะอธิบายและยกตัวอย่างก่อนทุกครั้ง (ตัวอย่างที่ใช้คือ การเขียนแผน OM ของแผนงานเด็กไทยไม่กินหวาน)    เมื่อผู้เข้าร่วมแต่ละคนทำถึงขั้น OC แล้ว อ.ประพนธ์ จะอธิบายขั้นตอนที่เหลือทั้งหมดโดยผู้เข้าร่วมยังไม่ต้องลงมือทำเพราะขั้นตอนเหล่านี้ต้องอาศัยการร่วมกันคิดหลายๆ คนในช่วงบ่าย นั่นก็คือขั้นตอนของ Progress Markers (PM), Strategy Map (SM) และ Organizational Pracitces

          ช่วงบ่าย

         ให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนนั่งรวมกลุ่มกันตามหัวข้อที่เลือกเขียนวิสัยทัศน์ พันธกิจ ในช่วงเช้า  โดยให้ร่วมกันคิดและเขียน วิสัยทัศน์, พันธกิจ, ภาคีเครือข่าย, OC, PM, SM และ OP  จากนั้นให้แต่ละกลุ่มนำเสนอแผน OM ของกลุ่มตนเอง  จากนั้น อ.ประพนธ์ สรุปความเชื่อมโยงของแต่ละขั้นตอนซึ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมดไม่ได้แบ่งแยกเป็นส่วนๆ, เปรียบเทียบการเขียนแผนแบบทั่วไปกับการเขียนแผนแบบ OM   และสรุปให้เห็นว่าหลังจากที่ สคส. รู้จัก OM ทำให้กระบวนการ KM ของ สคส. สมบูรณ์ขึ้นซึ่งเรียกว่า Total KM ที่แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนคือ ๑. Strategic KM เป็นส่วนหัวปลา  ๒. Human KM เป็นส่วนตัวปลาคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  และ ๓. Digital KM คือส่วนหางปลาที่จะมีพลังมากถ้าใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย... และกิจกรรมสุดท้ายคือ ให้ผู้เข้าร่วม AAR

         ดิฉันขอสรุปให้เห็นภาพรวมว่าจากกระบวนการในช่วงเช้าจะเห็นว่าเป็นกระบวนการที่เริ่มด้วยการให้แต่ละคนเขียน เป็นการเขียนความคิด ความฝัน ความต้องการของตนเอง  ในขณะที่ช่วงบ่ายเป็นการร่วมกันเขียนโดยเริ่มใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย  ทั้งนี้ถ้ามองตลอดช่วงเช้าถึงบ่ายแล้วมองในส่วนการเขียนวิสัยทัศน์และพันธกิจเป็นกระบวนการเขียนวิสัยทัศน์และพันธกิจร่วมเพราะเป็นการรวมวิสัยทัศน์ย่อยๆ ของแต่ละคนมารวมกันเป็นวิสัยทัศน์ใหญ่ของกลุ่ม   และกระบวนการในขั้นตอน OM ทั้งหมดไม่สามารถคิดเพียงคนเดียวได้ต้องอาศัยการร่วมกันคิดร่วมกันทำ  ดังนั้น OM จึงเป็นกระบวนการที่ทำให้คนทำงานทุกคนมีส่วนร่วม และทุกขั้นตอนของ OM เชื่อมโยงเกี่ยวพันกันทั้งสิ้นซึ่งเมื่อลองวางแผนตามแบบ OM จะทำให้มองเห็นภาพใหญ่ เป็นกระบวนการที่ทำให้เราคิดเชิงระบบ

             สิ่งที่ได้เรียนรู้ในการเก็บข้อมูลในครั้งนี้คือ เมื่อเปรียบเทียบจากสมัยแรกๆ ที่มาอยู่ที่ สคส. ดิฉันไม่เคยมั่นใจมีความกังวลในการเขียน ในการจดบันทึก จับประเด็นไม่เก่งและคิดว่าตัวเองสมาธิในการฟังไม่ดี  แต่จากการได้ฝึกบ่อยๆ   จนมาถึงวันนี้มาเปิดดูสิ่งที่ตัวเองบันทึกสดๆ ที่ได้จากวันงานทำให้รู้สึกแปลกใจตัวเองเหมือนกันว่า เราทำได้ยังไงเนี้ย  สมาธิดีขึ้น  จับประเด็นได้ดีขึ้น และรู้สึกสบายๆ ไม่กังวลอะไรเลย... ทำให้เรียนรู้ว่า อะไรที่ทำบ่อยๆ แม้อาจมีคนชมแต่ตัวเราเองก็ยังคิดว่าตัวเองทำไม่ดี  แต่พอนานเข้าและถึงสักวันหนึ่งตัวเราเองนี้แหละที่รู้ว่า เรามีทักษะอะไรที่เพิ่มมากขึ้นจากเดิม.. จากที่ตนเองเคยคิดว่าคงทำไม่ได้

หมายเหตุ... สำหรับเนื้อหา รายละเอียดต่างๆ ที่ อ.ประพนธ์ อธิบายในการสัมมนาครั้งนี้ ดิฉันคงไม่ไหวที่เขียนทั้งหมดผ่านทาง บล๊อก ได้   แต่ทุกท่านสามารถติดตามอ่านได้ในหนังสือ OM ที่ อ.ประพนธ์ กำลังเขียนนะคะ.... คงออกมาให้เห็นในไม่ช้านี้

URAImAN

 

หมายเลขบันทึก: 206911เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2008 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 15:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • หายไปนานมากๆๆ
  • ตอนไปงานตลาดนัดกรมอนามัยที่อุบลฯ
  • มีหลายทีมทำเรื่องนี้ครับ
  •  ๒. คนไทยไร้พุง,
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท