ผลผลิตการศึกษาที่ล้มเหลว : เมื่อเด็กเชื่อว่าการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติ


"พวกเรารักสมัครค่ะ" น้องๆ ม.5 จากโรงเรียนมัธยมชั้นนำแห่งหนึ่งใน กทม. ชูสองนิ้ว บอกกับเรา พร้อมสำทับว่า ไม่น่าจะมีใครดีกว่ารัฐบาล เพราะมาจากการเลือกตั้ง ขณะที่เพื่อนเธอรีบยืนยันเสริมว่า "รัฐบาลไหนๆ ก็คอรัปชั่น ทุจริตกันทั้งนั้น แล้วพันธมิตรจะเอาอะไรกับรัฐบาลนี้นักหนา"

ผมอ่านรายงานของคุณสุพินดา มหาไชย (คมชัดลึก, 2551) แล้วเศร้าใจมาก  เพราะประโยคเด่นที่ได้จากรายงานฉบับนี้คือ  "พวกเรารักสมัครค่ะ" น้องๆ ม.5 จากโรงเรียนมัธยมชั้นนำแห่งหนึ่งใน กทม. ชูสองนิ้ว บอกกับเรา พร้อมสำทับว่า ไม่น่าจะมีใครดีกว่ารัฐบาล เพราะมาจากการเลือกตั้ง ขณะที่เพื่อนเธอรีบยืนยันเสริมว่า "รัฐบาลไหนๆ ก็คอรัปชั่น ทุจริตกันทั้งนั้น แล้วพันธมิตรจะเอาอะไรกับรัฐบาลนี้นักหนา"

ผมไม่ได้อยู่พันธมิตร หรือเข้าข้างรัฐบาล  ไม่ได้รังเกียจคุณสมัครซักเท่าไหร่   สิ่งที่ผมติดใจก็คือ

 "รัฐบาลไหนๆ ก็คอรัปชั่น ทุจริตกันทั้งนั้น แล้วพันธมิตรจะเอาอะไรกับรัฐบาลนี้นักหนา"

นั่นหมายความว่า เด็ก ๆ เชื่อว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติธรรมดา   ยิ่งอ่านข้อมูลของ
ศ.ดร.ไพฑูรย์  สินลารัตน์ ที่ว่า

"ที่น่าเป็นห่วงคือ การศึกษาที่สอนให้เด็กไม่รู้จักแยกแยะถูกผิด คิดถึงแต่ตัวเอง เด็กถึงยอมจำนนต่อความไม่ถูกต้องได้ ยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตได้ แต่กลับรับไม่ได้กับคนที่ทำให้พวกเขาเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ทั้งสิ้น"

และ รศ.ปิยกุล เลาวัณย์ศิริ ตรงประเด็นที่ท่านห่วงคือ

"ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ อนาคตของชาติเหล่านี้ ยอมรับการทุจริตเป็นเรื่องปกติ ซึ่ง รศ.ปิยกุล บอกว่า ตรงนี้นักการเมืองควรจะได้คิดไว้ว่า นักการเมืองได้ทำให้เด็กเกิดความสิ้นหวัง จนยอมรับการทุจริตเป็นเรื่องปกติ "

สะท้อนความล้มเหลวของระบบการศึกษา ซึ่งเกิดจากการเมืองอย่างแรง
ถ้าใครจะว่าอย่างไร  ผมก็ไม่โต้ตอบทั้งนั้น

เพราะเวลามันพิสูจน์แล้ว

 

รายละเอียดจากหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

http://www.komchadluek.net/2008/09/08/x_edu_e001_219616.php?news_id=219616

โธ่ ! เด็กไทย "รักสมัคร"ไม่รังเกียจรัฐบาลทุจริต !ผลผลิตการศึกษาที่ล้มเหลว
 
 ขณะที่พิราบขาวจำนวนมากโผบินเข้าสมทบม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่รัฐบาลนอมินี จะมีใครแปลกใจไหมถ้ารุ่นน้องของพวกเขาจำนวนหนึ่งกลับเลือกตรงข้าม

เด็กๆ ยืนยันว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งควรบริหารต่อไป ตามกับคำพูดนายกรัฐมนตรีกรอกหูคนไทยทุกวัน ผ่านสื่อโทรทัศน์ เด็กๆ ไม่รังเกียจรัฐบาลทุจริต แต่เบื่อหน่ายหากทำให้พวกเขาเดือดร้อน โดยไม่สนใจว่ามีที่มาอย่างไร

 "พวกเรารักสมัครค่ะ" น้องๆ ม.5 จากโรงเรียนมัธยมชั้นนำแห่งหนึ่งใน กทม. ชูสองนิ้ว บอกกับเรา พร้อมสำทับว่า ไม่น่าจะมีใครดีกว่ารัฐบาล เพราะมาจากการเลือกตั้ง ขณะที่เพื่อนเธอรีบยืนยันเสริมว่า "รัฐบาลไหนๆ ก็คอรัปชั่น ทุจริตกันทั้งนั้น แล้วพันธมิตรจะเอาอะไรกับรัฐบาลนี้นักหนา"

 นั่นเป็นความคิดเห็นของวัยใสกลุ่มหนึ่งที่เลือกข้างแล้ว บนพื้นฐานการชี้นำของข้อมูลข่าวสาร ที่หลั่งไหลออกจากโทรทัศน์ สื่อหลักที่พวกเขาเสพอยู่ทุกวัน ซึ่งมักจะปรากฏแต่ภาพและเสียงของนายกรัฐมนตรี วนเวียนให้ข่าวข้างเดียว ประกาศความชอบธรรมในการยื้อเก้าอี้ต่อ โดยอ้างเหตุผลหนึ่งเดียว คือ "เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย"

 ทว่า เมื่อโยนคำถามลงลึกว่า วัยใสเหล่านี้ได้รับรู้ข้อกล่าวหาของรัฐบาลบ้างหรือไม่ อย่างเช่นกรณีเขาพระวิหารนั้น พวกเขายอมรับว่า ไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะไม่ได้ติดตามมาตั้งแต่ต้น

 วัยคอซอง ม.1 จากโรงเรียนชั้นนำอีกแห่ง บอกเราว่า อยากให้เกิดความสงบเร็วๆ เพราะสงสารเพื่อนๆ ในโรงเรียนใกล้สมรภูมิหลักต้องหยุดเรียนทั้งที่ใกล้สอบ ไหนจะต้องผจญกับการจราจรติดขัด

 "ไม่อยากให้รัฐบาลลาออก ไม่อยากให้ยุบพรรค ยุบสภา ไม่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น ในสถานการณ์บ้านเมืองอย่างนี้ อยากให้รัฐบาลอยู่ช่วยกันก่อน"

 วัยใสยังช่วยกันเสนอทางออกว่า อยากให้ทุกฝ่ายถอยคนละก้าว ไม่อยากให้ประท้วง "มันน่าเบื่อ วุ่นวาย โตๆ กันแล้ว น่าจะมีความคิด น่าจะมาคุยกัน เพราะถ้าความวุ่ยวายดำเนินต่อไป รัฐประหารอาจกลับมาอีก ซึ่งพวกเราไม่ต้องการรัฐประหาร" นักเรียนรายหนึ่งพูดเสียงสูงส่งท้ายด้วยว่า "พันธมิตรอยากได้ใครเป็นนายกฯ ก็บอกมาเลย ทุกอย่างมันจะได้จบ แต่ตอนนี้สมัครดีที่สุด ถ้าประชาธิปัตย์อยากมาเป็นรัฐบาล ก็ต้องทำผลงานให้เห็นก่อน"

  เสียงสะท้อนสวนกระแสจากวัยใส ถ้าพิจารณาจากเหตุผลว่าพวกเขาส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลจากสื่อโทรทัศน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระบอกเสียงของรัฐ ก็พอทำความเข้าใจได้

 รศ.ปิยกุล เลาวัณย์ศิริ อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อธิบายว่า จริงๆ แล้ว เด็กมัธยมไม่สนใจการเมือง สนใจแต่เรื่องใกล้ตัว ต่อเมื่อการเมืองส่งผลกระทบต่อชีวิต ถึงเริ่มสนใจการเมือง แต่เป็นแค่ปลายทาง มีแต่ข่าวโต้กันระหว่างรัฐบาลและพันธมิตร เด็กไม่มีโอกาสได้รับรู้สาเหตุการมาชุมนุมของพันธมิตร เด็กจึงรู้สึกติดลบกับพันธมิตร ในฐานะที่ก่อความวุ่นวาย ไม่ทันคิดว่าสาเหตุที่พันธมิตรมาชุมนุมนั้น ได้รับการแก้ไขหรือยัง

 รศ.ปิยกุล กล่าวต่อว่า ผลวิจัยชัดเจนว่า เด็กส่วนใหญ่ไม่สนใจข่าวสาร เวลาดูโทรทัศน์ หรือเข้าอินเทอร์เน็ต เป้าหมายเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก ขณะที่ระบบการศึกษา ก็ไม่สอนให้เด็กคิด วิเคราะห์จากข้อมูลข่าวสารที่ได้ยินมา เด็กจะเชื่อตามที่เห็นและได้ยิน และตามธรรมชาติมนุษย์จะรักษาประโยชน์ตัวเอง เมื่อเด็กต้องหยุดเรียน รถติดไปโรงเรียนลำบาก เขาจึงตัดสินใจเข้าข้างรัฐบาล

 ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ อนาคตของชาติเหล่านี้ ยอมรับการทุจริตเป็นเรื่องปกติ ซึ่ง รศ.ปิยกุล บอกว่า ตรงนี้นักการเมืองควรจะได้คิดไว้ว่า นักการเมืองได้ทำให้เด็กเกิดความสิ้นหวัง จนยอมรับการทุจริตเป็นเรื่องปกติ

 การศึกษา ตกเป็นจำเลยอของเรื่องนี้ด้วย ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ยืนยันว่า แม้รัฐบาลหรือนายกฯ จะออกโทรทัศน์ถี่ยิบเพื่ออ้างความชอบธรรมในการบริหารประเทศ แต่ไม่ยากเกินไปที่เด็กจะแยกแยะถูกผิดได้ ถ้าเด็กถูกสอนให้รู้จักคิด แต่เด็กกลับแยกแยะไม่ได้ นั่นแสดงให้เห็นว่า การศึกษาของเราล้มเหลว หนำซ้ำในโรงเรียนยังมีวัฒนธรรมเชิงอำนาจ เด็กต้องเชื่อผู้ใหญ่

 "น่าเป็นห่วง เพราะจะทำให้คนไทยเชื่อตามที่ได้ยิน ไม่คิด วิเคราะห์ไปไกลจากที่ได้ยินได้ฟังมาได้ ยิ่งถ้าสังคมมีการให้ข้อมูลด้านเดียวแล้ว ยิ่งอันตรายมากขึ้น และนั่นคือจุดกำเนิดของ นปก." ศ.ดร.ไพฑูรย์แจกแจง

 ที่น่าเป็นห่วงคือ การศึกษาที่สอนให้เด็กไม่รู้จักแยกแยะถูกผิด คิดถึงแต่ตัวเอง เด็กถึงยอมจำนนต่อความไม่ถูกต้องได้ ยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตได้ แต่กลับรับไม่ได้กับคนที่ทำให้พวกเขาเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ ทั้งสิ้น

 "ระบบการศึกษาจะมีอยู่ 4 ระบบ คือ ระบบที่เน้นทางอุดมคติ เน้นทางปัญญา เน้นเพื่อชุมชน และเน้นการนำไปปฏิบัติจริง ได้โดยไม่ต้องสงสัยว่าสิ่งที่นำไปปฏิบัตินั้น ดีหรือไม่ดี ซึ่งการศึกษาของบ้านเราอยู่ในระบบที่ 4 เป็นการศึกษาที่มีเป้าหมายถ่ายทอดความรู้เพื่อให้คนนำไปปฏิบัติ ไปประกอบอาชีพได้ แต่ไม่ได้เน้นถึงความดี ความงาม ความดี คุณค่าและปรัชญาต่างๆ เพราะฉะนั้น เด็กไทยจึงมองเรื่องใกล้ตัวเป็นหลัก เช่น กรณีที่เด็กออกมาเรียกร้องป้องผลประโยชน์คะแนนโอเน็ต แอดมิชชั่นส์ที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้มันสะท้อนว่า การจัดการศึกษาของเราล้มเหลว เป็นอุทาหรณ์ให้คนในวงการศึกษา ได้คิดว่า ถึงเวลาที่จะต้องทบทวนการจัดการศึกษาหรือยัง" ศ.ดร.ไพฑูรย์ ชี้แนะ

 ทว่าไม่ใช่เด็กทุกคนที่คิดเช่นนั้น ประธานนักเรียนโรงเรียนชื่อดังอีกแห่งให้บทสรุปว่า แม้เขาจะไม่เห็นด้วยต่อการกระทำบางอย่างของพันธมิตร แต่ผู้นำประเทศควรเสียสละเพื่อส่วนรวม อีกทั้งรัฐบาลหมดความชอบธรรมบริหารประเทศ หลังจาก กกต.ตัดสินส่งสำนวนยุบพรรคพลังประชาชนให้ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งที่ทุจริต เต็มไปด้วยการซื้อสิทธิขายเสียง

 คงจะเป็นเรื่องดีถ้าเด็กทุกคนเข้าใจความหมายที่แท้จริงของประชาธิปไตยมากกว่านายกรัฐมนตรีซึ่งคิดว่า แค่มาจากการเลือกตั้งก็เป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมตลอดกาล กระนั้นการที่เด็กไม่รู้จักคิด วิเคราะห์ยังไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับการที่เด็กไม่รู้จักแยกแยะถูกผิด เห็นความเลวเป็นเรื่องปกติ ถ้าเยาวชนชาชินกับความไม่ถูกต้องเช่นนี้แล้ว อนาคตของชาติย่อมมืดมนไปตามความมืดบอดของพวกเขาด้วย...


 0 สุพินดา ณ มหาไชย 0 รายงาน
คมชัดลึก     วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

หมายเลขบันทึก: 206855เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2008 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 พฤษภาคม 2012 10:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาให้กำลังใจครับ........ชยพร แอคะรัจน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท