การสื่อข่าวที่ไหวรู้ต่อความขัดแย้ง (2)


สังคมไม่ได้คาดหวังว่าผู้สื่อข่าวต้องเข้ามาเป็นผู้ลดความขัดแย้ง แต่เขาหวังให้สื่อนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน (มากเท่าที่จะหาได้) และไม่ลำเอียงเข้าข้างใคร (รู้เท่าทันอคติในใจในฐานะปุถุชนของตน) ซึ่งเราเชื่อว่าการสื่อข่าวที่ดีเช่นนี้ช่วยทำให้ความขัดแย้งลดลง

เมื่อสังคมถูกคุกคามจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้ง วิชาชีพผู้สื่อข่าวก็เผชิญกับความยากลำบาก ในการปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น เนื่องจากฝ่ายที่ขัดแย้งกันพยายามที่จะควบคุมสื่อ ข้อมูลข่าวสารจึงอาจเชื่อถือไม่ได้ หรืออาจถูกกลั่นกรองตัดตอนและเลือกนำเสนอ ประกอบกับมีประเด็นความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้สื่อข่าว แต่ทว่าในสภาวการณ์เช่นนี้การสื่อข่าวที่ดีและมีคุณภาพก็ยิ่งมีความจำเป็นมากที่สุดต่อสังคม

รอส โฮเวิร์ด เจ้าของหนังสือชื่อ Conflict Sensitive Journalism ได้ขึ้นต้นบทนำหนังสือของเขาได้ตรงกับสถานการณ์ ที่เกิดขึ้นบ้านเรา ณ เวลานี้เหลือเกิน ในเวลาที่สังคมไทยต้องการ การสื่อข่าวที่ดีและมีคุณภาพ มิใช่เพียงการสื่อข่าวที่ฉายภาพบางด้าน ที่สอดคล้อง และจะเอื้อประโยชน์กับความเชื่อและรสนิยมทางการเมืองของผู้มีส่วนตัดสินใจในกองบรรณาการข่าว หรือมิใช่เพียงการ นำเสนอแบบยุให้รำตำให้รั่ว โดยใช้สำนวนภาษาหรือถ้อยคำบรรยายบุคคล เหตุการณ์ และอารมณ์เช่นในแวดวงของภาพยนตร์ สงครามล้างโลก

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้ก็คือ สังคมไม่ได้คาดหวังว่าผู้สื่อข่าวต้องเข้ามาเป็นผู้ลดความขัดแย้ง แต่เขาหวังให้สื่อ นำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน (มากเท่าที่จะหาได้) และไม่ลำเอียงเข้าข้างใคร (รู้เท่าทันอคติในใจในฐานะปุถุชนของตน) ซึ่งเราเชื่อว่า การสื่อข่าวที่ดีเช่นนี้ช่วยทำให้ความขัดแย้งลดลง

สมควรอย่างยิ่งที่สังคมจะต้องได้รับการบริการที่ดีดังกล่าวจากผู้สื่อข่าว เช่นเดียวกับการสมควรได้รับการบริการที่ดีจากโรงพยาบาล โรงเรียน หรือโรงพัก เพราะต่างก็ถูกกำหนดบทบาทหน้าที่ที่พึงจะปฏิบัติต่อสังคม เพื่อให้สังคมซึ่งเปรียบเสมือนร่างกายสามารถดำรงอยู่ ได้อย่างมีสุขภาวะทางกาย จิตใจที่สมดุลและสันติ

เพื่อที่จะให้การบริการที่ดีเช่นนั้นแก่สังคมได้ ผู้สื่อข่าวจึงจำเป็นยิ่งที่จะต้องเป็นผู้มองเห็นสถานการณ์อย่างพินิจพิเคราะห์ มากกว่าผู้ที่เป็นตัวแสดงในสถานการณ์ เราไม่ได้ต้องการเจ้าของบริษัทผู้ผลิตสื่อมวลชน คอลัมนิสต์ หรือผู้ประกาศข่าว มาทำหน้าที่เป็น ผู้กำกับ ผู้แสดง หรือผู้จัดการในฉากแห่งสถานการณ์ความขัดแย้ง เช่นเดียวกับที่เราไม่ต้องการให้ผู้สื่อข่าวที่ยึดมั่นถือมั่นต่ออคติส่วนตนและ จงรักภักดีต่อผลประโยชน์ของผู้ครอบครององค์กรสื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อตอบสนองที่มาเช่นนั้นต่อสังคม

แน่นอนว่าไม่มีผู้สื่อข่าวคนใดสามารถเป็นกลางได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากผู้สื่อข่าวก็เป็นปุถุชนธรรมดาคนหนึ่งที่มีค่านิยม ความเชื่อ และศรัทธาเฉพาะของตนเอง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องมีมาตรฐานด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณในด้าน  ความถูกถ้วน เที่ยงธรรม และความรับผิดชอบของวิชาชีพผู้สื่อข่าว เพื่อที่จะขจัดหรืออย่างน้อยควบคุมไม่ให้ค่านิยมและอคติส่วนบุคคล เข้ามาเป็นส่วนผสมหลักในการรายงานข่าว ด้วยเหตุ (ตามหลักการ) เช่นนี้จึงเกิดสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติหรือสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

บทบาทที่สามารถเป็นทางออกสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวเพื่อนำไปสู่การสื่อข่าวที่มีคุณภาพ นั้น นอกจากบทบาท พื้นฐานในการเป็นช่องทางการสื่อสาร การให้การศึกษา หรือการเชื่อมโยงวิเคราะห์เหตุการณ์ให้สังคมเข้าใจที่มาที่ไปได้มากยิ่งขึ้นแล้ว รอส โฮเวิร์ด ยังได้เสนอบทบาทอื่น ๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังเช่น บทบาทในการเป็นพื้นที่ระบายอารมณ์ความรู้สึก (ของกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง ในความขัดแย้งมิใช่ของตัวผู้สื่อข่าวเอง)  ซึ่งฝ่ายต่าง ๆ ในความขัดแย้งจำเป็นจะต้องมีช่องทางในการระบายความรู้สึกคับแค้น โศกเศร้า ความคิด ความเชื่อ การเปิดโอกาสให้มีพื้นที่ผ่านสื่อจะทำให้ช่วยลดการถกเถียงซึ่งหน้าหรือการต่อสู้บนท้องถนน

นอกจากนี้ การยึดเอาสันติภาพเป็นเป้าหมายในการทำงานของผู้สื่อข่าวนั้น ผู้สื่อข่าวจะต้องมีบทบาทในการกำหนด กรอบของการสื่อสารความขัดแย้งเสียใหม่ กล่าวคือจำเป็นต้องอธิบายและนำเสนอความขัดแย้งในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในประเด็นเดิม ๆ ของสถานการณ์ (แทนที่จะรายงานภาพการปะทะกันของกลุ่มตรงข้ามซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็นำเสนอปัญหาสุขภาพของผู้ชุมนุมและสิ่งแวดล้อมเป็นพิษของสถานที่ชุมนุม เพื่อให้เห็นปัญหาร้ายแรงอีกด้าน อันเป็นตัวกระตุ้น ให้เกิดการเร่งแก้ไขความขัดแย้ง)

บทบาทในการเป็นผู้รักษาหน้าและสร้างความเห็นชอบร่วมกัน ยังเป็นอีกบทบาทที่มีความจำเป็นในการรายงานข่าวสถานการณ์ ความขัดแย้ง สื่อต้องช่วยเป็นบันไดให้แต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งก้าวลงมาโดยไม่ถูกกระทืบซ้ำ (แม้บทตอบแทนในเชิงกฎหมายและ เชิงศีลธรรมก็ยังคงต้องดำเนินไป แต่ต้องด้วยองค์กรอื่นที่ไม่ใช่สื่อมวลชน) เพราะนั่นหมายถึงว่าผู้สื่อข่าวได้ทำหน้าที่ในฐานะมนุษยชาติ และได้ปฏิบัติต่อฝ่ายความขัดแย้งแต่ละฝ่ายอย่างมนุษยชาติเช่นเดียวกัน

อีกแง่มุมที่สำคัญของการสื่อข่าวที่ไหวรู้ต่อความขัดแย้ง หรือ Conflict Sensitive Journalism ก็คือ ความพยายามของผู้สื่อข่าว ที่จะให้ข้อมูลในด้านที่จะพยายามลดความขัดแย้งลง นั่นหมายถึงว่าผู้สื่อข่าวมิได้เป็นแค่ผู้เฝ้ามองเหตุการณ์แล้วรายงานที่เกิดขึ้น ให้สังคมทราบเท่านั้น แต่ผู้สื่อข่าวที่ไหวรู้ต่อความขัดแย้งและมีสันติภาพเป็นเป้าหมายในการทำงานยังจะต้องเรียนรู้และศึกษาที่จะ วิเคราะห์ความขัดแย้ง และค้นหาความจริง ความคิดเห็น และมุมมองใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง รายงานความเคลื่อนไหว ของบุคคลที่พยายามจะแก้ไขความขัดแย้ง สังเกตการณ์ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และรายงานว่าความขัดแย้งที่คล้ายคลึงกันนี้ที่ผ่านมา มีการแก้ปัญหากันอย่างไร

รอส โฮเวิร์ด ให้ความสรุปในตอนหนึ่งของหนังสือว่า ผู้สื่อข่าวที่ไหวรู้ต่อความขัดแย้งและมีเป้าหมายเพื่อสันติภาพจะ รายงานข่าวโดยให้ความสนใจกับการค้นหาทางออก และที่สำคัญผู้สื่อข่าวประเภทนี้จะเลือกใช้ถ้อยคำในการรายงานข่าวอย่างระมัดระวัง

ในสภาวการณ์ความขัดแย้งที่นำไปสู่ความรุนแรงในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ภาคใต้ หรือเหตุการณ์กลางเมืองหลวง หรือเหตุการณ์ความรุนแรงอื่น ๆ ล้วนจำเป็นต้องมีสื่อที่ ไหวรู้ต่อความขัดแย้ง เพื่อช่วยนำพาสภาวการณ์ความขัดแย้งไปสู่ การคลี่คลาย และไม่ตกเป็นต้นตอหลักของความรุนแรงเสียเองเช่นที่เป็นอยู่


หมายเลขบันทึก: 205725เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2008 17:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 11:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • ตามมาดู
  • นึกว่าอาจารย์อยู่เมืองไทยเสียอีก
  • ตอนนี้อยู่ที่เมืองอะไรของออสเตรเลียครับ
  • ข่าวบ้านเรา
  • อยากให้มีการเสนอแบบเป็นกลาง
  • ไม่เข้าข้างฝ่ายใด
  • ทำอย่างไรดีครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์ขจิต ขอบคุณที่ตามมาดูอย่างสม่ำเสมอค่ะ ตอนนี้เรียนอยู่ University of Queensland เมืองบริสเบนค่ะ

ติดตามอ่านข่าวและการปฏิบัติงานของสื่อบ้านเราบางค่ายบางองค์กรก็เศร้าค่ะ เพราะได้กลายพันธุ์เป็นสื่อของกลุ่มบุคคลไปแล้วโดยสมบูรณ์ หาใช่ "สื่อมวลชน" อีกต่อไปแล้วค่ะ

  • เคยไปที่ U นี่ครับ
  • ไม่ได้ไปนานมากๆๆ
  • University of Queensland เมืองบริสเบน
  • รออ่านอีกครับ

ประเทศไทยเรามีลักษณะไม่แคร์อยู่แล้วนี่ครับว่ามาตรฐานสากลคืออะไร อะไรๆก็มาแนว ความยุติธรรมแบบไทยๆไปหมด ซึ่งอะไรที่เปนแบบไทยๆเนี่ย มักมีความหมายตรงข้ามกับสากล หรือนานาชาติได้แทบทุกเร่อง

ถ้ามีสื่อจ้าวไหนทำอย่างที่นายโฮเวิร์ดว่ามา ผมเชื่อว่าจะมีหลายคนจะไปมอบดอกไม้ให้เลยล่ะ แต่คงโดนก้อนอิฐจากสื่อเครือกู้ชาติ และสื่อเครือแอนตี้พธม. แน่ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท