พรบ.สภาองค์กรชุมชน จังหวะก้าว (อีกครั้ง) ของชุมชนท้องถิ่น


สภาองค์กรชุมชน

พรบ.สภาองค์กรชุมชน  จังหวะก้าว (อีกครั้ง) ของชุมชนท้องถิ่น

            ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวันนี้ผู้คนในสังคม   ทั้งสังคมเมืองและสังคมบ้านนอกคอกนา   กำลังโหยหาวิถีชีวิตที่สงบ  เรียบง่าย  เอื้ออาทร  รักกัน เป็นห่วงกัน  แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี

ถ้าลองมองย้อนกลับไป  ในสมัยที่ความเจริญ (ในความหมายของสังคม) ยังเข้าไม่ถึงชุมชนมากนัก  กลับปรากฏว่า  สังคมนั้น  ๆ มีความสุขอย่างล้นเหลือ   มีความรักเป็นห่วงเป็นใยกันและกัน   ซึ่งองค์ประกอบหนึ่งในชุมชนเหล่านั้นก็คือ     มีเวทีการพูดคุยกันเป็นประจำสม่ำเสมอนั่นเอง 

ต่อมาเมื่อประเทศมีการพัฒนาที่มากขึ้น  กลับปรากฏว่าผู้คนสังคมต่างคนต่างอยู่  การพูดการคุย  การปรึกษาหารือกันแบบสมัยก่อน ๆ   ได้ลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ

ทำนองเดียวกัน   หน่วยงานต่าง ๆ  มีลักษณะของการทำงาน    ที่ต่างคนต่างทำ  ของใครของมัน  ขาดการเชื่อมโยงการทำงาน   งานต่าง ๆ จึงมีประสิทธิภาพน้อยลงไปเรื่อย ๆ  ที่สำคัญผู้คนในชุมชนมักถูกนำเข้าสู่สังกัดของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ว่า

เกิดอะไรขึ้นกับสังคม !!!

ท่ามกลางความสับสนของผู้คนในสังคม   ยังมีพื้นที่ในชุมชนเล็ก ๆ ที่มีความเข้มแข็งชุมชน  มีความแข็งแรงทางความคิด  ได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนโดยเน้นการมีส่วนร่วม  ทุกภาคส่วนได้ช่วยกันทำ  จนชุมชนได้รับการยอมรับ  เป็นแบบอย่างที่ดี

มองลึกลงไปในชุมชนเหล่านั้น  เราจะพบว่าชุมชนเหล่านี้     มีการรวมตัวพูดคุยกันเป็นประจำสม่ำเสมอ    มีการเคารพความคิดเห็นของกันและกัน  มีการเชื่อมโยงการทำงานที่ช่วยกันคิดช่วยกันทำ เน้นการมีส่วนร่วม   ที่เป็นพลังของชุมชนที่แท้จริง

ปัจจุบัน   มีพื้นที่เหล่านี้อยู่ทั่วประเทศ  และกำลังขยายการทำงานในลักษณะที่ว่านี้   ผ่าน พรบ.สภาองค์กรชุมชน     โดยมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างความเข้มแข้งให้กับชุมชนทั่วประเทศให้ได้โดยเร็ว

เนื้อหาสาระของ  พรบ.ฉบับนี้    มุ่งหวังที่จะให้มีวงสนทนาพูดคุย ในงานสาธารณะ     กลับมาสู่ชุมชนอีกครั้ง    ในหลาย ๆ มาตรา   เน้นในเรื่องของการปรึกษาหารือกันเป็นสำคัญ  โดยให้มีผู้เข้าร่วมจากทุกส่วนของชุมชนนั้น      ที่เรียกกันว่าเป็นผู้แทนกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในชุมชนนั่นเอง

การพูดคุย  การสนทนาปรึกษาหารือ    อาจจะเริ่มกันที่ในระดับของกลุ่มก่อนก็ได้  เมื่อคุยกันแล้วอาจจะยกระดับการพูดคุย    สู่เวทีหมู่บ้าน    และสู่เวทีในระดับตำบลตามลำดับ

 ขณะนี้มีพื้นที่ต่าง ๆ ในภาคตะวันออก กรุงเทพและปริมนฑล  ได้ดำเนินการจดแจ้งการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนไปแล้วมากกว่า  ๑๕๐  ตำบล     มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งการดำเนินงานนี้  ได้รับการสนับสนุนจากขบวนองค์กรชุมชนในพื้นที่อย่างจริงจัง

วันนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่า  จังหวะก้าวของชุมชนครั้งนี้   จะไปถึงฝันหรือไม่  จะเหมือนกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ผ่านมาหรือเปล่า  หรือเป็นเพียงเครื่องเล่นชิ้นใหม่ของชุมชน

  กำลังรอการพิสูจน์จากทุกท่าน   ชุมชนฐานราก  ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ในครั้งนี้

 

 

รายงานพิเศษ  ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๑

ชาติชาย  เหลืองเจริญ

มหาวิทยาลัยบ้านนอก  

 

หมายเลขบันทึก: 204460เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2008 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ

  • เมื่อเช้าก็ได้ฟังเรื่องราวของชุมชนบ้านจำรุงจากวิทยุ น่าทึ่งมากๆค่ะ
  • อยากทำกับแถวบ้านบ้างไม่รู้จะเริ่มอย่างไร
  • ขอบคุณค่ะ

หากจะกรุณาสรุปสาระของสภาฯนี้มาให้ทราบก็จะดียิ่งครับ ขอบคุณครับ

ตอนนี้บ้านจำรุงมีเว็บไซต์แล้วนะครับ มีเรื่องราวดีๆ มากมายทั้งเรื่องเล่าชุมชน ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง มหาวิทยาลัยชีวิต คลิปวีดีโอชุมชนต่างๆ

http://sites.google.com/site/banjumrung

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท