หลักการบริหารหลักสูตร


ระบบบริหารจัดการหลักสูตรที่ดีจึงต้องเป็นระบบที่มีคุณธรรม

               การทำความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการบริหารหลักสูตรสถานศึกษาอย่างชัดเจนและถูกต้องถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ  โดยมีหลักและแนวคิดที่สำคัญ 9 ประการ ดังนี้

               1. การวางแผนงานหลักสูตร  ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านของการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ทุกโรงเรียนจะมีทั้งหลักสูตรใหม่และหลักสูตรเก่า  หลักสำคัญในการบริหารหลักสูตรคือจะต้องทำให้ผู้เรียนสูญเสียประโยชน์น้อยที่สุด เพราะฉะนั้นจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนหลักสูตรให้น้อยและสั้นที่สุด  ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนที่ดี ต้องจัดระบบให้ดี มีข้อมูลที่ชัดเจน และตระเตรียมทุกอย่างให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

               2. การจัดระบบข้อมูลโรงเรียน  นับเป็นพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งในการบริหารหลักสูตร ระบบข้อมูลโรงเรียนประกอบด้วยข้อมูลต่างๆ ดังนี้

                * หลักสูตร - ระบบการสร้างหลักสูตร การบริหารหลักสูตร และการประเมินผล
               * การบริหารจัดการ - มีข้อมูลด้านผู้เรียน ผู้สอน ว่ามีความพร้อมหรือไม่เพียงใด 
                * ระบบข้อมูล - ครูอาจารย์ นักเรียน บุคลากร ผู้รู้ในชุมชน อาชีพในพื้นที่
                * การวางแผนกลยุทธ์ 3-5 ปี - แสดงถึงวิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมาย และขั้นตอนการปฏิบัติงาน
                * ระบบงบประมาณ - การบริหารงบประมาณจะต้องมีความชัดเจนตรวจสอบได้ มุ่งผลงาน และเพื่อพัฒนาการศึกษาเป็นสำคัญ 

 * การพัฒนาการเรียนรู้ - สื่อและข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมการเรียนการสอน การประเมินผล การศึกษาอบรมของครู

 * ระบบช่วยเหลือ - มีข้อมูลผู้เรียนเป็นรายบุคคล จำแนกเด็กเก่ง เด็กปกติ และเด็กด้อยโอกาส เพื่อให้การสนับสนุนช่วยเหลืออย่างสอดคล้องกับความจำเป็นต้องการของเด็กแต่ละกลุ่ม
                * บริหารบุคคล - ข้อมูลเกี่ยวกับครูอาจารย์ ทั้งในด้านการศึกษา การอบรม การจัดหา บรรจุ และเลิกจ้าง เพื่อช่วยในการพัฒนาครูให้เหมาะสมสอดคล้องกับหลักสูตรใหม่

 * การประเมินภายใน - จัดเตรียมข้อมูลการพัฒนาหลักสูตร บุคลากร และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กและโรงเรียน

                3. เอกสารหลักสูตร จะต้องชี้แนวการสอนอย่างถูกต้อง ชัดเจน และทันสมัย เอกสารประกอบหลักสูตรและรายวิชาที่ละเอียดประณีต จะช่วยให้การบริหารหลักสูตรเป็นไปโดยง่าย สามารถติดตามการทำงานได้อย่างใกล้ชิดและเป็นขั้นเป็นตอน

               4. คณาจารย์มีคุณภาพ  เข้าใจหลักสูตรอย่างดี  เมื่อครูเป็นผู้เขียนหลักสูตรเองแล้ว ย่อมจะทำให้การศึกษาทำความเข้าใจหลักสูตรเป็นไปโดยง่าย สามารถปรับประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพที่เป็นจริงในห้องเรียนได้

               5. ผู้เรียนมีความพร้อมด้านความรู้พื้นฐานและคุณธรรม  ทั้งด้านวิชาการ คุณธรรม จริยธรรม  สถานศึกษาจะต้องจัดเตรียมระบบข้อมูลรายบุคคลของผู้เรียน โดยครูผู้สอนทุกคนมีส่วนร่วมพัฒนาผู้เรียนทุกๆ ด้าน

               6. มีทรัพยากรสนับสนุนที่ดีและเพียงพอ  การบริหารการศึกษาในอนาคตอันใกล้เป็นการกระจายอำนาจในหลายๆ ด้าน ท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรในการเรียนการสอน ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องงบประมาณ ทรัพยากรบุคคล แหล่งเรียนรู้ และสภาพแวดล้อมในการเรียนการสอน  การระดมทรัพยากรจะต้องกระทำอย่างหลากหลายและกว้างขวางขึ้น

               7. ระบบอาจารย์ที่ปรึกษาดีและมีประสิทธิภาพ  ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน จุดเน้นอีกเรื่องหนึ่งคือ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จะมีสอดแทรกอยู่เป็นระยะๆ ตลอดเวลา บทบาทในเรื่องนี้ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของครูคนใดคนหนึ่ง แต่ครูทุกคนจะมีบทบาทเป็นครูที่ปรึกษาหรือครูแนะแนวได้  โดยเฉพาะครูที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก

               8. มีบรรยากาศทางวิชาการที่เอื้อต่อการแสวงหาความรู้  ทุกจุดทุกมุมของโรงเรียนและชุมชนเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ ไม่ใช่จะต้องเรียนจากตำราอย่างเดียว หากครูเข้าใจก็จะสามารถดึงประสบการณ์ของผู้เรียนเข้ามาสู่กระบวนการเรียนรู้ได้ การสร้างบรรยากาศทางวิชาการเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องอาศัยความเอาใจใส่อย่างสูงจากผู้เกี่ยวข้อง เช่น การจัดแสดงนิทรรศการหรือข้อมูลข่าวสารต่างๆ ในโรงเรียน หากทำให้เป็นปัจจุบันและให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำ ก็จะเป็นกิจกรรมและแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ตัวเด็กได้อีกแหล่งหนึ่ง เช่น นำผลงานของเด็กที่ดีเด่นมาแสดง ทั้งด้านศิลปะ  หรือในโรงอาหาร ติดป้ายให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับโภชนาการ เป็นต้น

               9. มีระบบการติดตามและประเมินผล  คณะกรรมการบริหารหลักสูตรรายวิชาจะต้องมาพูดคุยกันในแต่ละภาคการศึกษา และทุกสิ้นปีการศึกษา คณะกรรมการบริหารหลักสูตรสถานศึกษาก็จะต้องจัดการประเมินผล ดูภาพรวม และเขียนรายงานออกมา เป็นการประเมินภายในไปในตัว เป็นการทำงานที่ผลการปฏิรูปการเรียนการสอนจะไปสู่ตัวผู้เรียนโดยตรง และควรเน้นการประเมินตามสภาพจริง
                ระบบบริหารจัดการหลักสูตรที่ดีจึงต้องเป็นระบบที่มีคุณธรรม อันเป็นคุณสมบัติที่ดีทางจิตใจมีความรับผิดชอบต่อการจัดการเรียนการสอนให้ดีที่สุด  เมื่อนำไปประพฤติปฏิบัติจริง ถือได้ว่ามีจริยธรรม มีการควบคุมกายวาจา อันเป็นศีลธรรมของผู้สอน ทำให้เกิดความชอบธรรมในการจัดการเรียนการสอน และทุกคนทุกฝ่ายจะต้องมีความสมานฉันท์ ช่วยกันทำงานเพื่อพัฒนาผู้เรียน เติมเต็มผู้เรียนในทุกๆ ด้าน เมื่อประกอบกับโรงเรียนมีโครงสร้างและทำงานอย่างมีคุณภาพ ก็จะทำให้โรงเรียนเป็นระบบที่มีปัญญาเป็นพื้นฐานสามารถเรียนรู้ และปรับตัวได้ต่อเนื่อง
 

 

อ้างอิง

การบริหารหลักสูตรสถานศึกษา[ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: http://www.newschool.in.   th/ArticleDetailUI.aspx?

                ArticleID=163

หมายเลขบันทึก: 204269เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2008 05:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท