Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

จาก พ.ศ.๒๕๔๘ ถึง พ.ศ.๒๕๕๑ : รัฐไทยปฏิบัติต่อคนชายขอบอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ICCPR หรือไม่ ? : วัตถุประสงค์ของการเขียน


งานเขียนเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของคนชายขอบภายใต้ ICCPR เพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการประมวลและเขียนร่างรายงานประเทศตามคำสั่งคณะกรรมการส่งเสริมการอนุวัติตาม ICCPR ที่ ๑ / ๒๕๕๑ กระทรวงยุติธรรม

๑.               รายงานฉบับนี้เป็นผลของการสำรวจสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของคนชายขอบในประเทศไทย เพื่อเสนอสหประชาชาติ

 

ผู้เขียนได้เขียนรายงานฉบับนี้เพื่อนำเสนอผลการตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทางพลเมือง (แพ่ง) และการเมืองในประเทศไทย เนื่องจากผู้เขียนได้รับการมอบหมายจากกระทรวงยุติธรรมให้ทำหน้าที่ที่ปรึกษา[1]ในการทำรายงานประเทศ (Country Report) เกี่ยวกับการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ICCPR)[2] ซึ่งหน้าที่ที่ปรึกษาที่ได้รับการมอบหมายนี้ ก็คือ การแสวงหาองค์ความรู้ด้านข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติขององค์กรต่างๆ บนแผ่นดินไทยที่เกี่ยวกับ ICCPR  

 

๒.                  แม้รายงานนี้จะเป็น  State Report แต่ผู้ทำรายงานก็มีมุมมองแบบรอบด้าน เป็นกลาง ตรงไปตรงมา

 

ขอให้ตระหนักว่า รายงานประเทศซึ่งประเทศไทยได้จัดทำเป็นฉบับแรกจะมุ่งแสดงถึงโครงสร้างและขอบเขตของกฎหมายและนโยบายที่องค์กรของรัฐไทยใช้ในการปฏิบัติตาม ICCPR  โดยไม่มีการนำเสนอภาพจริงของการกระทำขององค์กรต่างๆ ภายใต้กติกานี้มากนัก แต่สำหรับการทำรายงานประเทศฉบับที่ ๒ ของประเทศไทย กระทรวงยุติธรรมเห็นชอบตามคณะที่ปรึกษา ที่จะเสนอรายงานประเทศฉบับนี้ในลักษณะที่เป็น “รายงานของประเทศไทยในความหมายที่แท้จริง” กล่าวคือ เป็นการนำเสนอการกระทำของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับ ICCPR ไม่ว่าจะเป็นการกระทำขององค์กรของรัฐ หรือองค์กรของเอกชน และจะเป็นการนำเสนออย่างรอบด้าน ทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี แต่อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอสิ่งที่ดีนั้น ก็ต้องมีข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายในการจรรโลงข้อดีที่เกิดขึ้นนั้นให้มีลักษณะที่ยั่งยืนและพัฒนาต่อไปได้ ในขณะที่การนำเสนอสิ่งที่ไม่ดีนั้น ก็จะต้องมีลักษณะที่ตรงไปตรงมาและสร้างสรรค์ ซึ่งการบันทึกถึงการละเมิดหรือการเข้าไม่ถึงสิทธิมนุษยชนทางพลเมือง (แพ่ง) และการเมืองนี้ ย่อมจะต้องบันทึกถึงความพยายามของทุกฝ่ายที่จะจัดการ เยียวยา ตลอดถึงแก้ไขสถานการณ์อันเป็นลบนี้ ดังนั้น ในปีแรกของการทำรายงานประเทศฉบับนี้ จึงต้องเริ่มต้นจากการรวบรวมข้อเท็จจริงว่า “จาก พ.ศ.๒๕๔๘ ถึง พ.ศ.๒๕๕๑ : รัฐไทยปฏิบัติต่ออย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ICCPR หรือไม่ ? และเมื่อผู้เขียนบทความรับผิดชอบที่จะแสวงหาความรู้เกี่ยวกับคนชายขอบ โจทย์ของการแสวงหา ก็คือ จาก พ.ศ.๒๕๔๘ ถึง พ.ศ.๒๕๕๑ : รัฐไทยปฏิบัติต่อคนชายขอบอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ICCPR หรือไม่ ?



[1] คณะที่ปรึกษาประกอบด้วย (๑) นางจิราพร บุนนาค ทำหน้าที่หัวหน้าคณะที่ปรึกษา (๒) นางอังคณา นีลไพจิตร (๓) อาจารย์ศรีประภา เพชรมีศรี และ (๔) ร.ศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ซึ่งแนวคิดและการทำงานเป็นไปภายใต้โครงการจัดทำร่างรายงานประเทศ ตามพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ฉบับที่ ๒ ซึ่งทำขึ้นระหว่างคณะที่ปรึกษา และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

[2] ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีกติกานี้ โดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๙ โดยมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งประเทศไทยไม่มีการตั้งข้อสงวนในการเข้าเป็นภาคีกติกานี้ แต่ได้ทำถ้อยแถลงตีความไว้ ๔ ประเด็น กล่าวคือ (๑) เรื่องสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองในข้อบทที่ ๒ วรรค ๑ (๒) เรื่องการห้ามประหารชีวิตผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปีในข้อบทที่ ๖ วรรค ๕ (๓) การนำตัวผู้ต้องหาเข้าสู่การพิจารณาคดีโดยพลันในข้อบทที่ ๙ วรรค ๓ และ (๔) การห้ามโฆษณาชวนเชื่อเพื่อทำสงครามในข้อ ๒๐ วรรค ๑

หมายเลขบันทึก: 204227เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2008 16:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท