เราๆ ท่านๆ คงจะสงสัยว่า เรื่อง IQ เด็กไทยในยุคอินเทอร์เน็ต คลิกไม่กี่ทีก็ได้ข้อมูลจากทั่วโลก(ทั้งดีและร้าย)ไปถึงไหนแล้ว วันนี้เรามีข่าวคืบหน้ามาเล่าต่อครับ...
พณฯ พินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ผลการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ซึ่งสมเด็จพระเทพฯ เสด็จเป็นองค์ประธานว่า สถานการณ์ไอโอดีนในประเทศไทยมีแนวโน้มจะแย่ลง
เด็กไทยขาดไอโอดีนมากขึ้นจาก 35 % ในปี 2543 เป็น 49 % ในปี 2547 ความครอบคลุมในการบริโภคเกลือไอโอดีนลดลงจาก 65 % ในปี 2543 เป็น 56 % ในปี 2547 ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดให้ความครอบคลุมในการบริโภคเกลือไอโอดีนอย่างต่ำ 90 %
อาจารย์ นพ.ปราชญ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถิติการใช้เกลือได้มาตรฐาน(เติมไอโอดีน)เป็นรายภาคว่า
ภาคเหนือมีการใช้เกลือไอโอดีนมากที่สุด 76% รองลงไปเป็นภาคใต้ 75 % ภาคกลาง 55 % ภาคอีสานเป็นภาคที่มีการใช้เกลือไอโอดีนน้อยที่สุด 24 %
การขาดไอโอดีนมีส่วนทำให้ IQ ของเด็กไทยต่ำกว่าชาติอื่นๆ ดังสถิติว่า เด็กตะวันออกไกลมีค่า 104 เด็กยุโรปและอเมริกาเหนือมีค่า 98 ส่วนเด็กไทยมี IQ ต่ำลงเรื่อยๆ จาก 91 ในปี 2540 เป็น 88 ในปี 2545
ผลการศึกษาของอาจารย์นิชรา เรืองดารกานนท์ในปี 2547 พบว่า เด็กไทยทั่วประเทศมีระดับ IQ เฉลี่ยรวมทั้งประเทศ 88 จุด ถ้าใช้วิธีคำนวณพิเศษ โดยถ่วงน้ำหนักประชากรจะได้ระดับ IQ เฉลี่ยทั้งประเทศ 91.1 จุด
เมื่อแบ่งเป็นรายภาคพบค่าเฉลี่ยดังต่อไปนี้ กรุงเทพฯ 94.6 จุด ภาคกลาง 88.8 จุด ภาคเหนือ 84.2 จุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 85.9 จุด ภาคใต้ 88.1 จุด
สรุปคือ เด็กไทยอายุ 6 ปีถึงเกือบ 13 ปีทุกภาคของประเทศไทยมีระดับ IQ ต่ำกว่า 100 ถ้วนหน้า ระดับ IQ เท่านี้ไม่มีทางแข่งขันกับนานาชาติได้เลย
อาจารย์ท่านสันนิษฐานว่า สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการขาดไอโอดีน สถิติจากการตรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะปี 2547 พบว่า คนไทยประมาณครึ่งหนึ่งขาดไอโอดีน (ที่ระดับ <100 มคก./ล.)
สถิติภาวะขาดไอโอดีน (ที่ระดับ <100 มคก./ล.) แยกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคเหนือ 50.1 % ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 58.0 % ภาคกลาง 51.7 % ภาคใต้ 29.4 % รวม 49.4 %
ภาคเหนือมีความครอบคลุมในการบริโภคเกลือไอโอดีนมากกว่าภาคอื่นๆ (76 %) แต่กลับมีภาวะขาดไอโอดีนมากกว่าภาคอื่นๆ (50.1 %)
เกลือที่ว่าได้มาตรฐานอาจจะเสื่อมสภาพไปในกระบวนการผลิต ขนส่ง หรือการเก็บรักษา นอกจากนั้นไอโอดีนจากเกลืออย่างเดียวอาจจะไม่พอ เรื่องนี้คงจะต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญท่านศึกษาค้นคว้ากันต่อไป
เรื่องนี้คงคล้ายข้อคิดจากจดหมายข่าวทางอีเมล์ของฮาร์วาร์ดที่กล่าวถึงเรื่องสุขภาพว่า “สุขภาพเป็นเรื่องที่ซับซ้อน (complex) การแก้ปัญหาที่ซับซ้อนมักจะแก้ด้วยวิธีการเดียว (simple) ไม่ได้”
เรื่องซับซ้อนส่วนใหญ่มักจะต้องแก้ไขด้วยมาตรการที่ซับซ้อน (complex) และใช้วิธีการหลายวิธี (multimodal) ผสมผสานกัน จึงจะแก้ไขปัญหาได้
ถึงตอนนี้คงจะต้องหาอาหารทะเล เช่น ปลาทะเล ฯลฯ มากินกันก่อนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้งจะได้ไม่เซ่อ ไม่เอ๋อจากการขาดไอโอดีน และสารอาหารอื่นๆ ไปพลางก่อน...
แหล่งข้อมูล:
- ขอขอบคุณ > (ข่าว) พระเทพฯ ทรงห่วงเด็กไทย “ไอคิว” ต่ำ: “พินิจ” ดันไอโอดีนเป็นวาระชาติ ส่งเสริมครัวไทยใช้เกลือมาตรฐาน. ไทยรัฐ. 23 มีนาคม 2549. หน้า 15.
- ขอขอบคุณ > อาจารย์แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร. เด็กจะฉลาดต้องไม่ขาดไอโอดีน. คลินิก. มีนาคม 2549 (ปี 22 ฉบับ 3). หน้า 273-276.
- ขอขอบคุณ > Zinc and prostate cancer. Harward Health E-newsletter. March 15, 2006. (source: Harward Men’s Health Watch. Vol.10 No.8 March 2006. www.health.harward.edu/men)
- นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง จัดทำ > ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๙ >