ถอดบทเรียน “การลดละเลิกเหล้าเบียร์ในงานประเพณี”


การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เห็นดวงดาวเจิดจรัสอยู่หลายดวง แม้บางดวงยังไม่เบ่งบานอย่างเต็มที่ แต่ก็เห็นไฟที่ลุกโชนอยู่ข้างในใจของคนทำงาน ที่พยายามช่วยกันปลุกปั้นดาวดวงน้อยให้สุกสกาวบนพร่างฟ้าได้

       การดื่มสุราถือว่าเป็นการผิดศีลข้อที่ ๕ ซึ่งได้กำหนดมาเนิ่นนานแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งพุทธกาล แต่เวลาล่วงเลยมากว่าสองพันปี สังคมมนุษย์ก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามพ้น เหล้าเบียร์ แถมนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นมาก ตลาดการแข่งขันรุนแรง ทั้งเหล้าเบียร์ไทย เทศ และภูมิปัญญาชาวบ้าน (เหล้าเสรี) แน่นอนตลาดการค้าไม่ได้หนีไปไหน ก็คนในชุมชนนั่นแหละ

งานประเพณี เทศกาลต่างๆ ที่สืบทอดกันมาแต่ตั้งเดิม ที่เป็นการแสดงออกถึงการเคารพ ศรัทธา ความเชื่อ ของมนุษย์ต่อบรรพบุรุษ สายน้ำ ผืนป่า แผ่นดิน และการอยู่ร่วมกัน แสดงให้เห็นถึงความเจริญงอกงามของสังคมที่เคารพ เกื้อกูลกันและกัน เช่น งานแข่งเรือ, ทานสลากภัตร, งานวัด, งานบุญ, งานศพ, งานบวช ฯลฯ แต่วันนี้งานประเพณีเหล่านี้กลายเป็นตลาดของสินค้าน้ำเมา ที่แฝงมากับวัฒนธรรมชุมชน จนเกือบจะกลายเป็นเพณีของน้ำเมาไป

 

 

น่าน โดยเครือข่ายของคนน่านและภาคีเครือข่าย หลากหลายภาคส่วน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนในการที่จะลดเหล้าเบียร์ในงานประเพณีอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ต้องต่อสู้กับความคิด ต่อสู้กับนายทุนน้ำเมา และอีกสารพัด เพื่อที่จะช่วยกันรณรงค์การลดละเลิกเหล้าเบียร์ในงานประเพณี โดยเริ่มจาก งานประเพณีแข่งเรือ อันเป็นประเพณีเก่าแก่ของคนเมืองน่าน ก่อนหน้านี้ได้กลายเป็นลานโปรโมตสินค้าน้ำเมาไปแล้ว เพราะเดินไปจุดไหนของเมืองและสนามแข่งเรือ ก็มีแต่ป้ายโฆษณาน้ำเมา และการขายตรงแบบลด แลก แจก แถม แต่ด้วยความร่วมมือของเครือข่ายสร้างสุขและหลายๆ ฝ่าย ได้ช่วยกันจัดเวทีประชาคม สร้างความตระหนัก และผลกระทบที่เกิดขึ้น และได้เริ่มจากเรือแข่ง ชุมชนเล็กๆ ที่เริ่มแหวกวงล้อมของทุนน้ำเมา โดยปฏิเสธการรับทุนจากบริษัทน้ำเมา จัดกิจกรรม เรือแข่งปลอดน้ำเมา

ในขณะที่ชุมชนต่างๆ ในระดับพื้นที่ก็ได้จัดเวทีประชาคม จัดกิจกรรมรณรงค์ลดละเลิกเหล้าเบียร์ในชุมชน เกิดมาตรการทางสังคมในระดับชุมชน ตำบล และอำเภอ อย่างหลากหลาย มีการกำหนดเขตปลอดเหล้าเบียร์ ช่วงเวลาในการขาย การดื่ม จนเกิดชุมชนต้นแบบในการลดละเลิกเหล้าเบียร์ในหลายพื้นที่ กลายเป็นกระแสที่สอดรับและผลักดันให้เกิดนโยบายสาธารณะในการลดเหล้าเบียร์ในงานประเพณีในระดับจังหวัด

จากจุดประกายเล็กๆ ของคนเล็กๆ แต่หัวใจยิ่งใหญ่ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มหันมาสนใจเรื่องนี้ยังจริงจัง มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถอดบทเรียนในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด หลายครั้งหลายครา และมีการเสนอนโยบายเรื่อง เรือแข่งปลอดน้ำเมา ไปยังองค์กรที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด จนกระทั่งปี ๒๕๕๐ จึงเริ่มเห็นผล จังหวัดน่าน และเทศบาลเมืองน่าน ได้กำหนดจัด เรือแข่งปลอดน้ำเมา เป็นปีแรก จริงๆ จะบอกว่าปลอดไปเลยก็ใช่ที่ แต่เป็นการปลอดโฆษณาน้ำเมา และมีการรณรงค์ลดการดื่มในกลุ่มกองเชียร์ คนดู และฝีพายอย่างจริงจัง ผลของการจัดงานได้เสียงตอบรับจากประชาชนคนเมืองน่านเป็นอันมาก ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน (นายสมพงษ์  อนุยุทธพงศ์) ได้ประกาศจัดงานกาแฟและของดีจังหวัดน่าน ในปี ๒๕๕๐ เป็น งานประเพณีปลอดน้ำเมา และประกาศเป็นวาระของจังหวัดในการที่จะรณรงค์ลดเหล้าเบียร์ในงานประเพณีต่างๆ และได้จัดสรรงบประมาณให้แต่อำเภอได้ดำเนินการจัดกระบวนการประชาคมในร่วมกันกำหนดแนวทางการลดเหล้าเบียร์ในงานประเพณี

กระบวนการถอดบทเรียน การลดละเลิกเหล้าเบียร์ในงานประเพณี โดยความร่วมมือของจังหวัดน่าน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน และเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพคนน่าน จึงได้ดำเนินการขึ้นในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๑ ณ โรงแรมเทวราช อ.เมือง จ.น่าน โดยมีเครือข่ายองค์กรภาคีทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรท้องถิ่น และภาคประชาชน เข้าร่วมถอดบทเรียนร่วมกัน

กระบวนการถอดบทเรียน

๑. การเปิดเวทีการเรียนรู้ โดย นายสุรเดช  สุวรรณปากแพรก รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ที่ได้ให้ข้อคิดและกำลังใจคนทำงาน

๒. การบอกเล่าสถานการณ์การดื่มเหล้าเบียร์ผลกระทบ และพรบ.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดย ผู้จัดการองค์กรงดเหล้า สสส.

๓. การถอดบทเรียนการทำงาน

๔. การนำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของแต่ละอำเภอ

๕. สรุปบทเรียนการเรียนรู้

 

ประเด็นการถอดบทเรียน

๑. ในพื้นที่อำเภอของเราได้กำหนดงานประเพณีหรือกิจกรรมใดที่ต้องลดเหล้าบ้าง

๒. ถกคิดร่วมกัน แล้วให้ร่วมกันให้ดาวในแต่ละประเพณีหรือกิจกรรม (ตั้งแต่ ๑ ถึง ๕) ด้วยเหตุผลเพราะอะไร ?

๓. กิจกรรมสำคัญที่ดำเนินการ (เอาเฉพาะหัวข้อกิจกรรม ไม่ต้องลงรายละเอียด)

๔. ถกคิดร่วมกัน แล้วให้ดาวในแต่ละกิจกรรม (ตั้งแต่ ๑ ถึง ๕) ด้วยเหตุผลเพราะอะไร ?

๕. ร่วมกันวิเคราะห์กิจกรรมที่เราทำว่ามีจุดแข็ง-จุดอ่อนเป็นอย่างไร ?

๖. ร่วมกันถกคิดว่า เราจะทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร ?” (ข้อเสนอสำหรับการทำงานต่อในพื้นที่, ข้อเสนอสำหรับคณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด)

 

บทเรียนการลดละเลิกเหล้าเบียร์ในงานประเพณี

จากการถอดบทเรียนร่วมกัน ทำให้พบว่าเครือข่ายอำเภอที่ประสบความสำเร็จในการลดละเลิกเหล้าเบียร์ในงานประเพณี และประเมินตนเองได้ระดับ ๕ ดาว นั้นมีปัจจัยเงื่อนไขที่สอดคล้องกันหลายประการ ดังนี้

๑. เป้าหมาย พบว่า ในอำเภอที่ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานนั้น มีการร่วมกันกำหนดเป้าหมายในลดละเลิกเหล้าเบียร์ในงานประเพณีไว้อย่างชัดเจนว่า จะลดละเลิกในงานประเพณีใด สถานที่ใด เวลาใด และเป้าหมายนั้นได้ถูกนำไปสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนในระดับชุมชน ตำบล และอำเภอ ทำให้เกิดเป็นมติของประชาคมที่ต้องถือปฏิบัติร่วมกัน และส่วนใหญ่จะไม่ได้กำหนดเป้าหมายประเพณีไว้จำนวนมาก หากแต่เริ่มจากจำนวนไม่กี่ประเพณีหรือกิจกรรม แล้วค่อยๆ ขยายผลออกไป รวมทั้งเป้าหมายของพื้นที่ในการดำเนินการด้วย ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เริ่มจากพื้นที่ใหญ่ แต่จะเริ่มจากพื้นที่เล็กๆ แล้วค่อยขยาย

๒. องค์กรขับเคลื่อน พบว่า มีความสำคัญมากในการขับเคลื่อน เพราะจะเป็นกลไกการประสาน สนับสนุน และผลักดันให้เกิดกระบวนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย การมีองค์กรขับเคลื่อนที่ชัดเจน มีความเข้มแข็ง และมีส่วนร่วมจากหลากหลายฝ่าย จึงเป็นจุดแข็งที่สำคัญที่ทำให้เกิดความร่วมมือในชุมชน และพบว่าองค์กรที่ขับเคลื่อนส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรที่มีตัวตนจริงอยู่ก่อนแล้ว เช่น สภาวัฒนธรรมอำเภอ, ชมรมอสม., ชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น และพบว่าทุกองค์กรจะมีองค์กรสาธารณสุขเป็นกลไกสนับสนุนที่สำคัญ ความเข้มแข็งขององค์กรเหล่านี้จึงบ่งบอกถึงความเชื่อมสัมพันธ์กับองค์กรสาธารณสุขในระดับพื้นที่ด้วย

๓. กระบวนการขับเคลื่อน พบว่า กระบวนการขับเคลื่อนส่วนใหญ่เริ่มจากการจัดเวทีชาวบ้าน เวทีประชาคม ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ข้อมูล ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากเหล้าเบียร์ และนำไปสู่การกำหนดแนวทางการลดละเลิกเหล้าเบียร์ร่วมกัน เวทีประชาคมจึงเป็นทั้งเวทีความคิด กำหนดแนวทาง การกำหนดมาตรการทางสังคม การสร้างความเข้าใจร่วมกัน การติดตามประเมินผลงานร่วมกัน ที่สำคัญการขับเคลื่อนจะเน้นกระบวนการเชิงรุกและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

๔. มาตรการทางสังคม พบว่า พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จจะมีการกำหนดมาตรการทางสังคมร่วมกันที่ชัดเจน เช่น กำหนดเขตปลอดการดื่มการขาย, กำหนดเวลาให้ดื่มให้ขาย, กำหนดวันที่ปลอดการดื่มการขาย เป็นต้น และมาตรการเหล่านี้เป็นที่ยอมรับและรับรู้ของคนในชุมชน แม้มาตรการทางสังคมเหล่านี้จะไม่ได้ใช้อย่างจริงจัง แต่ก็เป็นการป้องปรามและกำหนดให้เกิดการปฏิบัติตามมติของประชาคม

๕. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พบว่า พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จจะมีกระบวนการจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสรุปงาน การสรุปบทเรียน การวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค การศึกษาดูงานพื้นที่อื่นๆ ทำให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆ หลากหลาย อย่างต่อเนื่อง

๖. การสร้างแรงจูงใจ พบว่า มีการสร้างแรงจูงใจยกย่องคนดี พื้นที่ตัวอย่าง ให้เป็นคนต้นแบบ ร้านค้าต้นแบบ พื้นที่ต้นแบบ รวมทั้งการให้ใบประกาศคนทำดี เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา, ร้านค้าปลอดเหล้าเบียร์ เป็นต้น การสร้างแรงจูงใจนี้เป็นแรงกระตุ้นให้คนที่กล้าทำ กล้าเลิก กล้าเปลี่ยนแปลง ได้มีกำลังใจการทำงานต่อไป

๗. กลไกการตรวจสอบ พบว่า พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จจะมีกลไกการตรวจสอบผลการดำเนินงานตามแนวทางและมาตรการทางสังคมที่กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง เช่น คณะกรรมการเฝ้าระวังในชุมชน, กรรมการตรวจสอบ, อสม.น้อย เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบนี้จะต้องเป็นผู้ที่เป็นกลาง เที่ยงตรง และประเมินอย่างตรงไปตรงมา และการตรวจสอบนี้มิได้เป็นการจับผิด หากแต่นำเอาปัญหาเหล่านี้มาสู่กระบวนการประชาคมเพื่อแก้ไขต่อ

สุดท้ายของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เห็นดวงดาวเจิดจรัสอยู่หลายดวง แม้บางดวงยังไม่เบ่งบานอย่างเต็มที่ แต่ก็เห็นไฟที่ลุกโชนอยู่ข้างในใจของคนทำงาน ที่พยายามช่วยกันปลุกปั้นดาวดวงน้อยให้สุกสกาวบนพร่างฟ้าได้

เรายังต้องช่วยกันต่อไปครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 204156เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2008 10:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะพ่อน้องซอมพอ

เรื่องราวน่าสนใจค่ะ ขออนุญาติปริ๊นมาศึกษานะคะ

เพราะคิดว่าจะทำตำบลปลอดเหล้าเบียร์ในงานเทศกาล

ตอนนี้มีมาตรการไม่ให้ขายเหล้าเบียร์ในงานบุญแล้ว

(พอดี โชคดีที่ได้กำนันใหม่ที่ไม่กินเหล้า)

ด้วยความยินดี หากจะเป็นประโยชน์บ้าง

ขอบคุณที่ได้สรุปบทเรียนที่เป็นประโยชน์ พี่น้องเครือข่ายคนทำดี น่าจะนำไปพิจราณาใช้ในพื้นที่ได้ ขอนำไปเป็นบทเรียนด้วย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท