กระบวนการประชาธิปไตย: ดัชนีชี้วัดประชาธิปไตยในปี 2550-2551(1)


มีประชาชนจำนวนน้อยมากที่เห็นว่า “สิทธิทางการเมือง” อันเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย และเห็นว่า “ความรุนแรงทางการเมือง” เป็นปัญหาที่มีความสำคัญเป็นอันดับสอง รองจากปัญหาการทุจริต

บทที่ 2

กระบวนการประชาธิปไตย

 

บทนำ: วิกฤติการณ์ของประชาธิปไตยในประเทศไทยในปี 2549-2551

ก่อนการรัฐประหารในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 การเมืองการปกครองไทยในประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารงานแบบเบ็ดเสร็จ ของรัฐบาลพลตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่มาจากประชาชนในเขตชนบท แม้ว่านายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จะได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องบุคลิกภาพ การทำงาน ผลประโยชน์ทับซ้อนซึ่งเกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัวที่มีมูลค่ามหาศาล ข่าวลือเกี่ยวกับการทุจริต การปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และการนำคนสนิทจำนวนมากเข้ามาดำรงตำแหน่งสาธารณะ ทำให้เกิดความตึงเครียดและความไม่แน่นอนในกลุ่มข้าราชการและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเหล่านี้ทั้งหมดได้กลายเป็นสถานการณ์ที่ทหารอ้างว่าเป็นความจำเป็นในการปฏิวัติ

อันที่จริง ความตึงเครียดทางการเมืองได้ก่อตัวมาตั้งแต่เดือนมกราคมในปีเดียวกัน เมื่อธุรกิจครอบครัวของนายกรัฐมนตรี ทักษิณขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์เปอเรชันให้กับเตมาเส็ก โฮล์ดิ้งส์ ซึ่งบริษัทลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ได้รับการวิจารณ์ว่าเป็นการนำสัมปทานของชาติไปขายให้บริษัทที่มีผู้ถือหุ้นหลักเป็นรัฐบาลต่างประเทศ และโดยไม่ได้เสียภาษีนำมาสู่ขบวนการต่อต้านรัฐบาลในเขตกรุงเทพและเมืองใหญ่ทั่วประเทศในชื่อ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รัฐบาลได้ยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 และแม้ผลการเลือกตั้งจะปรากฎว่าพรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงกลับคืนมาอย่างท่วมท้นอีกครั้ง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ถูกมองว่าไม่ชอบธรรมและไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม จากการเร่งรัดให้มีการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว และการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นคนที่มีเครือข่ายเดียวกับทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ยังได้รับการคว่ำบาตรจากพรรคฝ่ายค้านหลักคือพรรคประชาธิปัตย์ อีกด้วย

แม้ภายหลังจากการเลือกตั้ง สภาวะการเมืองไทยก็ยังไม่สงบเงียบ นายกรัฐมนตรี ทักษิณจึงให้คำมั่นสัญญาว่าจะเว้นวรรคทางการเมืองโดยไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังจำเป็นจะต้องรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกว่าการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่จะแล้วเสร็จ โดยในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2549 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ได้ลาออกจากราชการ และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทน

อย่างไรก็ตามการเว้นวรรคทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตรยังไม่สามารถทำให้วิกฤติการณ์ทางการเมืองสงบลงได้ ในที่สุดคณะทหารเข้าควบคุมประเทศและประกาศกฎอัยการศึกในบริเวณจังหวัดสำคัญเกือบครึ่งประเทศรวมเป็นระยะเวลาราวหนึ่งปี ควบคุมกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองต่าง ๆ  การยุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหลักของนายกรัฐมนตรีทักษิณ และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวน 111 คน เป็นระยะเวลา 5 ปี ต่อมาการจำกัดกิจกรรมของพรรคการเมืองต่างๆ ถูกยกเลิกในเดือนมิถุนายน  เพื่อให้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคม และให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ผลการเลือกตั้งก็คือพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีสมาชิกส่วนใหญ่มาจากพรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งมากที่สุดและตั้งรัฐบาลผสมได้สำเร็จในเดือนมกราคม ปีถัดมา

อนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้รับการลงประชามติในเดือนสิงหาคมมีข้อจำกัดหลายประการ ที่ทำให้มีการวิจารณ์ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาน้อยกว่ารัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2540 โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลดบทบาทของสมาชิกนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง ลดจำนวนวุฒิสมาชิกจาก 200 คนเหลือ 150 คน โดย 76 คนมาจากการเลือกตั้งและ 74 คนมาจากการแต่งตั้ง ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ที่สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วุฒิสมาชิกได้รับการแต่งตั้งมาจากคณะกรรมาธิการ 7 คนประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาศาลดีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย สำหรับสมาชิกรัฐสภาประกอบไปด้วยระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบสัดส่วนเพื่อที่จะสร้างความเท่าเทียมกันของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มาจากภาคต่าง ๆ (ซึ่งนัยหนึ่งคือการลดความสำคัญของภาคอิสานและภาคเหนือ ซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคไทยรักไทย) อย่างไรก็ดีมีบทบัญญัติบางประการที่สนับสนุนประชาธิปไตยมากขึ้น เช่นการบัญญัติสมัยในการเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ให้มากไปกว่าสองสมัย และลดจำนวนสมาชิกสภาที่จะเสนออภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีจาก 2 ใน 5 เหลือ 1 ในห้า และคณะรัฐมนตรีจาก 1 ใน 4 เหลือ 1 ใน 6 แทนราษฎรมากกว่าภาคอื่น ๆ และเป็นฐานเสียงหลักของพรรคไทยรักไทย)

แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จเมื่อต้นปี พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าวิกฤติการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยยังไม่จบสิ้นลง ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช นำไปสู่ความขัดแย้งในเรื่องอื่นๆ   จากการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าภายหลังการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนเห็นว่าปัญหาทางการเมืองที่ประเทศไทยกำลังประสบในปัจจุบันนั้น มีปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาที่สำคัญลำดับที่หนึ่งและปัญหาที่สำคัญลำดับที่สองได้แก่การใช้ความรุนแรงทางการเมือง ส่วนลำดับที่สามได้แก่ความแตกแยก ซึ่งหากพิจารณาต้นตอของวิกฤติการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ พบว่ามีสาเหตุจากปัญหาการทุจริต อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ทหารเข้ามาแทรกแซงกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศ และสิ่งที่น่าสนใจในการวิจัยดังกล่าวอีกประการหนึ่งคือ มีประชาชนจำนวนน้อยมากที่เห็นว่า สิทธิทางการเมือง อันเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย และเห็นว่า ความรุนแรงทางการเมืองเป็นปัญหาที่มีความสำคัญเป็นอันดับสอง รองจากปัญหาการทุจริต จึงเป็นคำถามเบื้องต้นสำหรับการพิจารณาต่อไปว่า การที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า สิทธิทางการเมืองไม่ได้เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทยนั้น เป็นเพราะกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยค่อนข้างถูกต้องสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว หรือเป็นเพราะกลุ่มตัวอย่างเห็นว่าปัญหาอื่นมีความสำคัญมากกว่า หรืออาจจะเป็นเพราะกระบวนการประชาธิปไตยโดยเฉพาะสิทธิทางการเมือง ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญต่อประเทศไทยในความเห็นของกลุ่มตัวอย่าง

ตารางที่ 1 ความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองที่สำคัญที่สุดที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน

 

ปัญหา

สำคัญที่สุด

(1971 คน)

สำคัญรองลงมา

(1974 คน)

ค่าเฉลี่ย

รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร

8.79

4.57

6.68

ขาดการรับฟังความเห็น

5.78

8.24

7.01

รัฐบาลภายใต้การควบคุมของนายทุน

4.67

6.58

5.63

ความไม่มีเสถียรภาพการเมือง

12.31

14.47

13.39

การทุจริต

22.21

20.05

21.13

ความรุนแรงทางการเมือง

18.49

20.40

19.45

สิทธิทางการเมือง

1.81

2.51

2.16

ความแตกแยก

20.85

16.63

18.74

 

ที่มา: สถาบันพระปกเกล้า (2550)

หมายเลขบันทึก: 204022เขียนเมื่อ 28 สิงหาคม 2008 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 13:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับอาจารย์ ลูกเต๋า

มาอ่านและลงชื่อไว้..ครับ ..พี่

สวัสดีค่ะอ.

สงสัยจังเลยค่ะว่า ... กระบวนการ ทาง กฎหมายครานี้คงใช้การไม่ได้ผล หรือไร? คะ

... เพราะ ความถูกต้องทางกฎหมาย อาจไม่ถูกต้องทางศีลธรรม และ

กระนั้น ยังส่งผลเสียหาย ต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ซะแล้ว ...

.... เห็นทีว่า ทางออก ทางเดินแห่งประชาธิปไตย คงยังอีกยาวไกล

ตราบเท่าที่การนำใช้กฎหมาย ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อย่างที่ควรจะเป็น ...

.... ทฤษฎีที่ศึกษากันไปมากมาย จะมีความหมาย ? หากล้มเหลวในเชิงปฏิบัติ ?  ....

... อ. คิดว่า ภายหลังผ่านพ้นช่วงนี้แล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร  ...  เรายังจะพอมีความหวัง ? หรือยังไงก็ต้องกลับมาสู่วังวนเดิมๆ ?

- - ขอบคุณนะคะ สำหรับบันทึกความเห็น ปชช. นี้ แต่ยังมองทางแก้ไม่ออก ? ... ดีคะ - -

สวัสดีครับอาจารย์,

ขออนุญาติแสดงความคิดเห็นหน่อยนะครับ ด้วยความที่ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ชอบเรื่องพวกนี้ ผมจึงมีแนวคิดของผมอยู่เอง แต่อาจจะเป็นการพูดอะไรไม่เข้าท่าออกไปได้นะครับ ต้องขอโทษด้วยครับ

ตรงคำถามท้ายสุดของอาจารย์ที่ทิ้งไว้เกี่ยวกับ "สิทธิทางการเมือง" น่าสนใจมากครับ .... ผมเคยนั่งคิดเรื่องนี้มาบ้างเหมือนกัน .... ส่วนตัวผมเห็นว่า น่าจะมีสาเหตุมาจาก

"เพราะกระบวนการประชาธิปไตยโดยเฉพาะสิทธิทางการเมือง ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญต่อประเทศไทยในความเห็นของกลุ่มตัวอย่าง"

และจริงๆคือมาจากข้อก่อนหน้านี้ด้วยส่วนหนึ่ง (ที่บอกว่า ประชาชนมองว่าอย่างอื่นสำคัญกว่า)

 

ผมมองว่าประชาชนไทยมักจะถนัดในการมองอะไรที่เป็น "ตัวเลข" มากกว่าการมองในสิ่งที่เป็น "นามธรรม" (เช่นคำว่า สิทธิ) การคอรัปชันของนักการเมือง สามารถคำนวณตัวเลขที่ชัดเจนออกมาได้ ว่ามีปริมาณประมาณขนาดไหน สามารถเอามาพาดหัวข่าวเป็นเรื่องเป็นราวได้

ในทางตรงกันข้ามคำว่า "สิทธิ" นั้นไม่สามารถประมาณตัวเลขออกมาได้ สมมติว่ามีการละเมิดสิทธิทางการเมืองขึ้น ค่าเสียหายของการละเมิดสิทธิในส่วนนั้น ก็ไม่สามารถคำนวณออกมาให้เห็นได้

ส่วนตัวผมรู้สึกได้ว่า การรณรงค์ป้องกันการละเมิดสิทธิ มักจะทำได้ยากกว่าการรณรงค์ให้ประชาชนเกลียดนักการเมืองที่คอรัปชัน นะครับ

 

อยากฟังความเห็นของอาจารย์บ้างครับ :-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท