R2R : ยกระดับความรู้สู่การตีพิมพ์ : ๑. ต่อยอดความรู้


 

          R2R ไม่ถือการตีพิมพ์เป็นเป้าหมายหลัก    ตัวเป้าหมายหลักคือการพัฒนางานและการเรียนรู้ของผู้ปฏิบัติ   การตีพิมพ์เป็นผลพลอยได้   แต่คนโลภอย่างผมอยากได้ผลพลอยได้เยอะๆ ด้วย


          วันที่ ๒๓ ส.ค. ๕๑ หมอพิเชฐ บัญญัติ เอาของฝากมาให้ ถือมาไกลจากจังหวัดตากโน่น   คงเพราะนานๆ เจอกันที   จึงเอามาให้เยอะหน่อย ถึง ๕ ชิ้น   ของฝากนี้คือการบ้านครับ   ให้ช่วยคิด ว่ามีแนวทางยกระดับคุณภาพของผลงานวิจัยตามที่หมอพิเชฐและทีมงานได้ดำเนินการ เก็บข้อมูล และเขียนรายงานตีพิมพ์ไปแล้วในวารสารวิชาการสาธารณสุข อย่างไรบ้าง


          พอกลับมาถึงบ้านผมเอาออกมาดู เห็นมีถึง ๕ ชิ้น   ผมตกใจนิดหน่อยว่าหมอพิเชฐให้การบ้านมากจัง    แต่พอตั้งสติได้ก็นึกขอบคุณ ที่หมอพิเชฐเอาวัตถุดิบสำหรับเขียน บล็อก ใน series R2R มาให้


          แต่ต้องออกตัวก่อนว่าการให้ความเห็นนี้คงไม่ค่อยวิชาการเข้มข้น   เพราะผมทิ้งวิชาการไปตั้ง ๑๕ ปีแล้ว    ไม่คมเพราะสนิมเขรอะหมดแล้ว   เพื่อให้ไม่เป็นการวิพากษ์เชิงวิชาการ แต่เป็นการช่วยกันหาทางพัฒนาวิชาการจาก R2R ผมจึงสวมวิญญาณ KM   ลปรร. โดยใช้วิธี AAR


          บทความแรกที่ผมเอามาพิจารณาคือเรื่อง  พิเชฐ บัญญัติ และสุภาภรณ์ บัญญัติ. การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลบ้านตาก : จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ. วารสารวิชาการสาธารณสุข ๒๕๕๐; ๑๖ : ๔๔๔ – ๔๕๕.

          เมื่อพิเคราะห์พิจารณาอย่างมีสมาธิ ผมก็มองเห็นโอกาสทันที    ว่าบรรณาธิการวารสาร กองบรรณาธิการ และ reviewer ของวารสารวิชาการที่รับตีพิมพ์บทความ R2R จะมีส่วนช่วยยกระดับการเรียนรู้และคุณภาพของบทความได้อย่างมากมาย   โดยผู้เกี่ยวข้องต้องสวมวิญญาณ (Mental Model) เรียนรู้   เน้นการเรียนรู้สำหรับเป็นฐานความรู้ ความสามารถของตนเอง    ไม่สวมวิญญาณหวังผลงานแบบเอาง่ายเข้าว่า    ไม่ต้องการเสียเวลาเรียน แค่มีผลงานไปเลื่อนตำแหน่งก็พอ 

  
          แทนที่จะได้ข้อเสนอต่อหมอพิเชฐ ผมกลับได้ข้อเสนอต่อ ดร. แต้ม และ อ. หมอเชิดชัย ว่าวิธีส่งเสริม R2R น่าจะมีหลายขั้นตอน    และขั้นตอนท้ายๆ น่าจะได้แก่การร่วมมือกับวารสารวิชาการที่รับตีพิมพ์ผลงาน R2R ว่าวารสารจะมีบทบาทยกระดับคุณภาพทาง วิชาการของผลงาน R2R ได้อย่างไร   วารสารจะตีพิมพ์ผลงาน R2R แบบมีคุณภาพ   ทำให้วารสารเองก็ได้ชื่อว่า มีคุณภาพ ได้อย่างไร    ดังนั้นการสัมมนา บก., กอง บก. และ reviewer ของวารสารน่าจะ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ สวรส. พิจารณาดำเนินการ    โดยต้องคิดวางแผนให้ละเอียด 


          ผมมองการตีพิมพ์เป็นการต่อยอดความรู้   เมื่อเห็นชื่อเรื่อง “การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลบ้านตาก …”    ผมก็ถามตัวเองว่าถ้าผมเป็นผู้เขียนเรื่องทำนองนี้ ผมจะค้นเรื่องทำนองนี้มาอภิปรายเปรียบเทียบเพื่อต่อยอดความรู้อย่างไร    ผมพลิกไปดูที่ รายการเอกสารอ้างอิงเพื่อหาว่ามีการอ้างถึงรายงานการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลอื่นบ้างไหม   พบว่าไม่มี ซึ่งก็ตีความได้ ๒ อย่าง คือไม่เคยมีคนเขียนรายานเรื่องราวของการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลใดๆ ในประเทศไทย ไว้ในวารสารวิชาการเลย    หรืออาจเป็นเพราะผู้เขียนไม่ได้ค้นเอามาศึกษาเปรียบเทียบ


          ผมมองว่าการที่บทความตีพิมพ์ขาดการค้นเรื่องที่มีการตีพิมพ์ไว้แล้ว เอามาต่อยอดความรู้นี้เป็นจุดอ่อนที่สุดอย่างหนึ่งของวงวิชาการไทย   วารสารวิชาการที่ไม่เอาใจใส่เรื่องนี้เป็นวารสารวิชาการที่ด้อยคุณภาพในสายตาของผม


          สมัยที่ผมทำงานวิชาการ และอ่านวารสารวิชาการนานาชาติอย่างเอาเป็นเอาตาย (คือเมื่อ ๑๕ ปีที่แล้วย้อนหลัง) นั้น    ผมสนุกกับการ “อ่านวารสารย้อนหลัง” เพื่อสร้างความรู้ที่หนักแน่น รู้ที่มาที่ไปของเรื่องนั้น   ทำให้เราเข้าใจพัฒนาการและช่องโหว่ของความรู้   เป็นโอกาสในการสร้างความรู้ขึ้นอุดช่องโหว่นั้น   หรือสร้างความรู้ใหม่หนีจาก mental model เดิมๆ (ซึ่งผมไม่เก่งถึงขนาดนั้น)


          การ “อ่านวารสารย้อนหลัง” หมายถึงการอ่านรายชื่อ reference จากเรื่องที่เราอ่าน  แล้วไปค้นวารสารใน reference มาอ่านด้วยตัวของเราเอง   ตีความเอง ไม่ใช่เชื่อตามการตีความของผู้เขียนที่เอามาอ้างอิง   การอ่านวารสารแบบนี้สนุกและประเทืองปัญญามากสำหรับผม   ผมยังนึกเสียดายชีวิตนักวิชาการแบบนั้นอยู่จนทุกวันนี้  


          วารสารวิชาการนานาชาติชั้นดี จะให้คุณค่าแบบนี้มาก   แต่วารสารวิชาการบ้านเราขาดมิตินี้ตลอดมา    ผมจึงคิดว่า โครงการ R2R ประเทศไทยน่าจะเป็นผู้สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการของวารสารวิชาการด้านการต่อยอดความรู้ในบ้านเราได้   ยิ่งมี TCI แล้วยิ่งมีโอกาสทำงานนี้ได้ง่ายขึ้น  

          ผมคิดว่าผมได้ตอบคำถามของหมอพิเชฐ ที่บอกผมว่า “ขอให้ช่วยแนะนำให้พัฒนาคุณภาพของผลงานวิจัยตีพิมพ์” ด้วยนะครับ 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๔ ส.ค. ๕๑

                                          
        

หมายเลขบันทึก: 203798เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2008 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 20:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ

นี่คือคำตอบที่ผมต้องการครับ ยอมรับว่าจุดอ่อนนี้เป็นสิ่งที่ผมกับทีมต้องพัฒนา ปัญหาประการหนึ่งคือการค้นคว้าเอกสารวิจัยย้อนหลังของเมืองไทยยังทำได้จำกัดมาก หากมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รวบรวมขุมทรัพย์งานวิจัยเหล่านี้ให้สามารถเข้าถึงง่าย ค้นคว้าง่าย จะช่วยให้ผู้เขียนนำมาอ่านและต่อยอดการทำงานวิจัยต่อไปได้ครับ

ประการที่สอง งานวิจัยของไทยที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพเองก็มีไม่มาก

งานวิจัยชิ้นนี้เขียนและตีพิมพ์ก่อนที่ผมจะไปเรียนเบลเยียม แนวความคิดเรื่องการทบทวนวรรณกรรมของผมเองตอนนั้นก็ค่อนข้างคับแคบมาก แต่พอได้ไปเรียนที่เบลเยียมเห็นการทำงานวิชาการของอาจารย์ที่โน่นแล้ว ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการทบทวนวรรณกรรมเพื่อมาBack upและต่อยอดงานวิจัยได้ชัดเจนมาก

วารสารวิชาการสาธารณสุข มีกองบรรณาธิการที่ช่วยปรับแก้ไขอย่างกัลยาณมิตรทำให้ผมและคณะได้เรียนรู้วิธีการเขียนงานวิจัยได้ดีมาก ดีกว่าอ่านตำราการวิจัย เป็นLearning by doing ทีดีมาก

ขอบพระคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท