การสอนศีลธรรมโดยตรงให้กับเด็ก


มีการศึกษากรณีที่เด็กถูกทิ้งจะโดยบังเอิญหรือตั้งใจให้อยู่ในป่า เติบโตขึ้นมาพร้อมกับฝูงสัตว์นั้นพบว่า เด็กนั้นไม่สามารถที่จะพัฒนาความเป็นมนุษย์ขึ้นมาได้เลย ในทางตรงกันข้าม เด็กจะมีลักษณะนิสัยที่ป่าเถื่อนและประพฤติตนเหมือนสัตว์มากขึ้น

                   ท่านพุทธทาสภิกขุได้กล่าวไว้ว่า การศึกษาอนุบาลถ้าไม่มีเรื่องการอบรมจิตใจก็ไม่ผิดอะไรกับการเลี้ยงลิง

เซอร์ จอห์น เอคเคิลส์ แพทย์ทางระบบประสาทเจ้าของรางวัลโนเบลได้กล่าวไว้ว่า "การเรียนรู้ทางศีลธรรมเปรียบได้กับการเรียนรู้ทางภาษาวิวัฒนาการทางชีวภาพได้ทำให้มนุษย์มีสมองที่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ทางภาษา และสมองมนุษย์ก็ได้มีวิวัฒนาการให้พร้อมที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับคุณธรรมด้วย การสอนศีลธรรมให้กับเด็กมักถูกเยาะเย้ยว่า เป็นการยัดเยียดหรือล้างสมองเด็ก แต่ทำไมเราไม่กล่าวเช่นนี้ เมื่อเราสอนภาษาให้กับเด็ก ผมถือว่าการไม่สอนภาษาให้กับเด็กเป็นอาชญกรรมที่กระทำกับเด็ก ทำให้เด็กมีความบกพร่อง ขาดเครื่องมือที่สำคัญในการดำรงชีวิต ในทำนองเดียวกัน การไม่สอนศีลธรรมให้กับเด็กตั้งแต่เยาว์วัยก็เป็นการทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พิการ ขาดคุณค่าความเป็นมนุษย์"
สอนว่าสิ่งใดถูกหรือผิด

ปัจจุบันนี้นะครับ ผมว่าเด็กของเราไม่รู้จักเลือกว่า สิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ไม่ทราบว่าขนมนี้ควรซื้อหรือไม่ ของเล่นชนิดนี้ดีหรือไม่ ควรดูภาพยนตร์บางเรื่องหรือไม่ ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นเพราะพ่อแม่เองก็ไม่รู้หรือรู้ก็ไม่เอาใจใส่ในการสอน การสอนเรื่องคุณค่า ค่านิยมของการดำเนินชีวิตว่า เรื่องใดถูกหรือผิดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก พ่อแม่ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นการยัดเยียดทางศีลธรรม หรือทำให้เด็กเก็บกดครับ เด็กจำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังในคุณค่าที่ถูกต้อง ใช่ไหมครับ อะไรบ้างล่ะ ก็เช่น ความรัก ความประพฤติชอบ ความสงบ ความจริง การไม่เบียดเบียน ฯลฯ ถ้าอยากจะรู้ว่าใครเป็นคนมีการศึกษา มีวัฒนธรรมหรือไม่ เราไม่ต้องดูจากปริญญาหรือชาติตระกูล ให้ดูว่าคนนั้น คิดก่อนจะมีการกระทำหรือไม่ คิดถึงผลที่จะเกิด จากการกระทำว่าจะเป็นเช่นไร กระทบใครหรือไม่ คนที่ก่อปัญหามักจะเกิดจากการมิได้คิดก่อนทำ เช่น โกรธก็แสดงออกทันที อยากได้อะไรก็จะเอาให้ได้ทันที มีการทดลองพบว่า เด็กที่รู้จักรอคอย รู้จักคิดก่อนทำ จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ และมีความสุขมากกว่า พ่อแม่ควรฝึกหัดให้ลูกรู้จักคิดก่อนทำและรอคอยครับ มิใช่คอยรีบหาของให้ ตามใจลูกมากจนลูกคอยไม่เป็น เล่านิทานดี ๆ ให้ดูทีวีน้อย ๆ ท่านมหาคานธี ท่าน เล่าว่า ท่านเปลี่ยนชีวิตเพราะนิทานสองเรื่อง คือ เรื่องของกษัตริย์หริจันทร์ผู้ยึดมั่นอยู่ในความจริง และเรื่องของเด็กกตัญญู นิทานมีพลังมากมายในการเปลี่ยนแปลงเด็ก พ่อแม่ควรหาเวลาเล่านิทานดี ๆ ให้ลูกฟังบ่อย ๆ การที่พ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟังมีประโยชน์หลายอย่าง คือ พ่อแม่ได้ใช้เวลากับลูกอย่างมีค่า ทำให้เด็กมีสมาธิเพราะเด็กจะตั้งใจฟังอย่างมาก ก่อนเล่าพ่อแม่ต้องเลือกสรรหานิทานที่ปลูกฝังคุณธรรม พ่อแม่เองก็ได้ประโยชน์จากนิทานสอนใจ ครอบครัวก็มีความสุขด้วยกัน เรื่องดูทีวีน้อยๆ นี้ก็สำคัญ ปัจจุบัน ทั้งเด็กและพ่อแม่ติดทีวีมาก ทันที่ที่กลับถึงบ้านหลายคนเปิดทีวีดูก่อน เด็กหลายคนมีทีวีแทนพี่เลี้ยง ดูทีวีกันวันละหลายชั่วโมง อันนี้อันตรายมาก เราคงไม่ปล่อยให้คนแปลกหน้ามาเลี้ยงลูกวันละหลายชั่วโมง มาสอนอะไรก็ไม่ทราบ แต่เรากลับปล่อยให้ทีวีซึ่งเป็นคนแปลกหน้าดี ๆ นี่เองมาสอนลูกของเราครับ
ผลเสียจากการดูทีวีมาก

ก. ทำให้ก้าวร้าว เด็กเลียนแบบความก้าวร้าว เรียนแบบวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง เห็นความก้าวร้าวจนเคยชินจนคิดว่าเป็นธรรมดา

ข. ได้รับคุณค่าที่ไม่ถูกต้อง ทีวีมักมีโฆษณามอมเมาชวนเชื่อให้ซื้อ ให้อยากบริโภค เด็กดูเสร็จก็คิดว่าขนมหรือของนั้นดีต้องอยากได้ พ่อแม่พูดสอนก็ไม่ฟัง เพราะทีวีมีวิธีการสื่อที่น่าเชื่อถือ น่าติดตาม ฟังบ่อย ๆ เข้าก็ฝังแน่นอยู่ในจิตใต้สำนึก ยากแก่การลบล้าง

ค. ทำให้ฉลาดน้อยลง มีการศึกษาพบว่า เด็กที่ดูทีวีมาก สมองทำงานแค่ระดับตื้น ๆ (Responding level) คือแค่เห็นแล้วเทียบกับความจำเก่า เพราะว่าทีวีอธิบายจัดภาพให้เสร็จ เด็กอาจะดูเหมือนฉลาด พูดเก่ง แต่โดยมากมักจะพูดจากความจำระดับตื้น ๆ แต่ถ้าพ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟัง เด็กต้องใช้จินตนาการสูงมากในการนึกภาพตาม ตอนนี้สมองได้มีโอกาสทำงานระดับลึก (reflecting lever) ต่างจากนิทานที่ทีวีเล่าให้ฟัง ทีวีจะทำให้เสร็จหมด ในที่สุดเด็กจะกลายเป็นคนคิดไม่ลึก จับจด สมาธิไม่ดี พ่อแม่มักบอกว่าเวลาดูทีวีสมาธิดี แต่พอให้ทำอย่างอื่นสมาธิกลับสั้น ครับ งงไหม
แทรกคุณธรรมเมื่อมีโอกาส

เมื่อมีโอกาส พ่อแม่ควรพยายามแทรกคุณธรรมในการพูดคุยหรือการสอนครับ เช่น สอนเรื่องต้นไม้กับเด็ก อย่าหยุดที่แค่ต้นไม้ ควรชี้ให้ลูกเห็นด้วยว่า "ดูต้นไม้ซิลูก มันให้ร่มเงากับทุกคน ไม่ว่าคนที่พักใต้ต้นไม้จะเป็นคน รวย จน ดี หรือไม่ดี มันไม่แบ่งแยก ชีวิตของเราก็เช่นกัน ควรเป็นเหมือนต้นไม้ที่ใต้ร่มเงากับทุกคน เราควรช่วยเหลือทุกคนที่มาขอความช่วยเหลือจากเรา" หรือสอนเรื่องภูเขา เราอาจแทรกคุณธรรมของความอดทนลงไปได้ "ลูกดูภูเขาซิลูก ไม่ว่าฝนตก แดดจะแรง พายุจะพัดถล่ม ภูเขาก็ตั้งตรง แข็งแรงเป็นสง่า จิตใจของเราก็ควรเป็นเสมือนดั่งภูเขา ใครจะว่าใครจะชม ใครจะทำดีหรือไม่ดีกับเรา เราก็ไม่ควรหวั่นไหว เราควรทำจิตใจให้แข็งแกร่งเหมือนภูเขา"

มีแม่ลูกคู่หนึ่งซึ่งยากจนมาก แม่จะแบกลูกไว้บนบ่าพาลูกไปรับจ้างทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ตั้งแต่เล็กลูกชอบหยิบฉวยขโมยของในตลาด แม่ก็จะดีอกดีใจชมว่าลูกเก่งสามารถเอาตัวรอดได้แน่ เมื่อโตขึ้นนิสัยลักเล็กขโมยน้อยก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จนเริ่มจี้ปล้น มีจิตใจโหดเหี้ยมมากขึ้น ครั้งหนึ่งเขาไปปล้นร้านทองแล้วฆ่าเจ้าของร้านตาย ต่อมาถูกตำรวจจับได้ส่งฟ้องศาล ศาลตัดสินประหารชีวิตก่อนถูกประหารเขาขอพบแม่สักครั้งหนึ่ง ผู้คุมและตำรวจต่างพากันแปลกใจว่าเจ้าโจรอำมหิตคนนี้ยังมีความกตัญญูด้วย เมื่อเขาพบหน้าแม่สิ่งแรกที่เขาทำคือ ตรงเข้าไปตบหน้าแม่พร้อมกับกล่าวว่า "เป็นเพราะแม่แท้ ๆ ผมจึงถูกประหารชีวิต เมื่อตอนผมเป็นเด็ก ผมขโมยหยิบของคนอื่นแม่ก็ชมว่าเก่ง แล้ววันนี้ผมเป็นอย่างไร"

 

             ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์สามารถติดต่อกันได้ เราจะสามารถสังเกตเห็นได้ว่า เมื่อเราอยู่ใกล้คนที่ซึมเศร้า เราก็จะซึมเศร้าตามไปด้วย ถ้าเราอยู่ใกล้คนที่สนุกสนานเราก็จะสนุกสนานตามไป ในทำนองเดียวกัน ถ้าเราอยู่ใกล้บุคคลที่ความสงบในจิตใจ เราก็จะมีความสงบในจิตใจไปด้วย ในทางจิตวิทยา เราเชื่อว่ามีการถ่ายทอดทางการสื่อสารระหว่างมนุษย์โดยไม่ต้องใช้คำพูด สิ่งนั้นอาจจะเรียกว่าการถ่ายทอดโดยผ่านจิตไร้สำนึก การถ่ายทอดด้วยภาษากาย การถ่ายทอดโดยแรงบันดาลใจ การถ่ายทอดโดยตัวอย่าง เด็กจะเรียนจากสิ่งที่เราเป็นมากกว่าสิ่งที่เราพูดหรือพร่ำสอนนะครับพี่น้อง

หมายเลขบันทึก: 203497เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2008 07:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ค่ะ   เห็นด้วยกับการปลูกฝังคุณธรรม ตั้งแต่เด็กๆ

               เพราะ  คุณธรรม  ทำให้เกิดความสุข  สงบค่ะ

                              

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท