ฐานะและสถานภาพของพระพิฆเนศ


ฐานะและสถานภาพของพระพิฆเนศ

พระคเณศเป็นเทพที่ศาสนิกชนและผู้คนทั่ว ๆไปต่างเคารพนับถือพระองค์ว่าเป็นเทพที่สำคัญ จะอำนวยพรประสิทธิ์ประสาทผลในด้านต่างๆแทบจะทุกด้าน ผู้เลื่อมใสมีตั้งแต่ชนชั้นล่างสุดจนถึงชนชั้นปกครองพอจะสรุปถึงฐานะของพระคเณศในด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้

๑. พระคเณศในฐานะเทพขจัดอุปสรรค ในสมัยก่อนพ่อค้าต่าง ๆ เวลามาเพื่อติดต่อค้าขายในแถบคาบสมุทรอินโดจีน จะพกพาพระคเณศติดตัวมาบูชาเพื่อคุ้มครองป้องกันภัยและช่วยอำนวยความสำเร็จในการเดินทาง 

๒. พระคเณศในฐานะเทพบริวาร ในฐานะที่พระคเณศเป็นพระโอรสของพระศิวะมหาเทพและพระอุมามหาเทวี ท่านจึงได้ฐานะเป็นเทพบริวารให้กับมหาเทพทั้งสอง จึงมีการนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ที่กองพลทหารบกที่ ๑ รักษาพระองค์

๓. พระคเณศในฐานะเทพผู้ปกป้องคุ้มครองเด็ก พระคเณศในฐานะนี้เราจะพบเห็นได้จากภาพวาดหรือปฏิมากรรมของพระคเณศในวัยที่ยังเป็นเด็ก ขณะเป็นพระโอรสของพระนางอุมามหาเทวี 

๔. พระคเณศในฐานะเทพแห่งศิลปวิทยาการ ทรงเป็นเทพแห่งฉลาดรอบรู้และเป็นเทพแห่งศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ซึ่งภาพวาดหรือรูปเคารพของพระองค์จะมี ๒ พระกร ถือ คัมภีร์และงาหัก คติการเคารพบูชาพระคเณศในฐานะเทพแห่งศิลปวิทยาการของไทยเริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และปรากฏฐานะนี้ที่เด่นชัด ในสมัยรัชการที่ ๖ ทรงกำหนดให้ใช้รูปพระคเณศเป็นตราเครื่องหมายสัญลักษณ์ของวรรณคดีสโมสร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ก็ได้กำหนดให้ใช้รูปของพระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมศิลปากร

๕. พระคเณศในฐานะบรมครูช้าง ในสมัยก่อนการทำศึกสงคราม ช้างเป็นสัตว์ที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากในการทำศึก การทำกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับช้างเป็นเรื่องสำคัญถึงขนาดกลายเป็นศาสตร์ที่สำคัญแขนงหนึ่งมีชื่อว่าคชศาสตร์” ดังนั้นเมื่อมีกิจกรรมเกี่ยวกับทางคชศาสตร์เกิดขึ้น ก็ย่อมจะต้องมีการบูชาพระคเณศด้วย

๖. พระคเณศในฐานะที่เป็นทวารบาล เป็นคติที่พบได้ทางภาคเหนือของไทย เรามักพบเห็นพระคเณศประดิษฐานอยู่บริเวณหน้าประตูทางเข้าวัดในพุทธศาสนา ซึ่งคล้ายกับคตินิยมในธิเบตและพม่า เช่นที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ และวัดท่าสะต๋อย ที่มีรูปพระคเณศอยู่บริเวณทางเข้าในฐานะพระทวารบาล และคติการสร้างรูปพระคเณศไว้ที่บริเวณทางเข้าวัดทางภาคเหนือนั้น จะเน้นหนักไปในเรื่องที่ยกองค์พระคเณศให้เป็นทวารบาลคอยคุ้มครองสัตบุรุษผู้ไปทำบุญหรือปฏิบัติศาสนกิจ

๗. พระคเณศในฐานะบรมครูหรือเทพทางศิลปะการแสดง ปัจจุบันนี้ศิลปการแสดงต่าง ๆ โดยเฉพาะวงดาราดาราภาพยนตร์และดาราทีวีจะนับถือพระคเณศว่าเป็นบรมครูทางการแสดงของพวกเขา ซึ่งจะไปเหมือนกับคตินิยมในการบูชาพระคเณศในฐานะบรมครูทางนาฏกรรมของบรรดานาฏศิลป์ทั้งหลาย

๘. พระคเณศในเครื่องรางของขลัง ในราวพุทธศตวรรษที่ ๘ ชึ่งเป็นช่วงที่พ่อค้าวานิชและนักบวชในศาสนาฮินดูเดินทางออกจากประเทศอินเดียมาสู่แหลมอินโดจีน และมักจะพกพาเครื่องรางที่เป็นรูปพระคเณศองค์เล็ก ๆ ติดตัวมาติดต่อค้าขายและเผยแผ่ศาสนาในแหลมอินโดจีน ดังหลักฐานที่ปรากฏจากการขุดค้นพบเครื่องรางรูปพระคเณศองค์เล็ก ๆ ในบริเวณอ่าวบ้านดอน จ .สุราษฏร์ธานี ความหมายของส่วนต่าง ๆ ของพระพิฆเนศ พระคเณศ ทรงมีรูปร่างเดียวโดยทรงมีพระเศียรเป็นช้าง มีพระกรรณกว้างใหญ่ มีงวงยาว แต่ทรงมีร่างกายเป็นมนุษย์ มี ๔, ๖ หรือ ๘ กรแล้วแต่พระภาคที่จะเสด็จมา รูปร่างของพระองค์แสดงถึงสิ่งเป็นมงคลดีเยี่ยม ซึ่งทรงสั่งสอนถึงความดีและความสำเร็จ พระคเณศทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้และปัญญายิ่งใหญ่ แต่ละส่วนของท่านให้ความหมายในเชิงปรัชญาได้ดังนี้ พระเศียร - ทรงใช้เศียรอันใหญ่ที่เต็มด้วยปัญญาความรู้ เป็นที่รวมแห่งปัญญาทั้งหมด พระกรรณ - ทรงใช้รับฟังคำสวดจากพระคัมภีร์และความรู้ในรูปอย่างอื่น ๆ อันเป็นสิ่งแรกแห่งการศึกษา งวง เราได้นำเอาความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการเลือกเฟ้นระหว่างทวิลักษณะ ความผิด-ถูก ความดี-ความชั่ว อันมีงวงช้างที่ยาวและใหญ่ใช้ชั่งน้ำหนักต่อการกระทำหรือการค้นหาสิ่งที่ดีงามต่างๆ อันปัญญานั้นเกิดขึ้นเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาของชีวิตให้หลุดพ้นจากอุปสรรค และพบกับความสำเร็จสมดั่งความมุ่งหมาย งา - งาข้างเดียวโดยอีกข้างหักนั้น เพื่อแสดงให้รู้ว่าจะต้องอยู่ในเหตุระหว่างความดี-ความชั่ว ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ดีถึงความแตกต่างกัน ดั่งเช่น ความเย็น-ความร้อน การเคารพ-การดูหมิ่นเหยียดหยาม ความซื่อสัตย์-ความคดโกง หนู - แสดงถึงความปรารถนาของมนุษย์ บ่วงบาศก์ - ทรงถือโดยทรงลากจูงคนทั้งหลายให้เดินตามรอยพระบาทของพระองค์ ขวาน - เป็นอาวุธทรงใช้ปกป้องความชั่วร้ายและคอยขับไล่อุปสรรคทั้งหลายที่มาก่อกวนต่อบริวารของพระองค์ ขนมโมทกะ - ข้าวสุกผสมน้ำตาลปั้นเป็นลูก เพื่อประทานให้เราเป็นรางวัลต่อการที่เราปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระองค์ ท่าประทานพร - หมายถึงความยิ่งใหญ่แห่งความผาสุกและความสำเร็จให้กับสาวกของพระองค์

คำสำคัญ (Tags): #พระวิฆเนศวร
หมายเลขบันทึก: 203248เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2008 01:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท