ทนงชี้เงินบาท "ระดับ 40" เหมาะเศรษฐกิจ


ทนงชี้เงินบาท "ระดับ 40" เหมาะเศรษฐกิจ
       คลังเตรียมหารือ ธปท. สงสัย "ค่าเงินแข็งเกินจริง" "ปรีดิยาธร" รับวันที่ 20 มีนาคม แทรกแซงค่าเงิน ส่วนวานนี้อ่อนจากดอลลาร์แข็ง
"ทนง" ชี้ค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจไทยควรอยู่ 39.50-40.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปัจจุบันกลับแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เตรียมหารือแบงก์ชาติถึงสาเหตุที่แท้จริง สงสัยเม็ดเงินลงทุนต่างชาติยังไหลเข้าท่ามกลางปัญหาความไม่สงบทางการเมือง "ปรีดิยาธร" รับเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 20 มีนาคม     ที่ผ่านมา แต่สำหรับค่าเงินบาทวานนี้ ปล่อยเป็นตามปัจจัยพื้นฐาน
ดร.ทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ถึงสถานการณ์เงินทุนไหลเข้าออก  ซึ่งตนเห็นว่า ขณะนี้เงินทุนยังคงไหลเข้ามาในประเทศ แม้จะมีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น   ขณะที่เม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ก็ได้เข้ามาหมดแล้ว ในช่วงก่อนหน้านี้ และได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่แข็งค่าต่อเนื่อง   ทั้งนี้ ตนเห็นว่า ระดับค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจไทยควรอยู่ที่ 39.50-40.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  ขณะที่ระดับเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐที่แท้จริงในปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ   "ตามหลักการแล้วเงินบาทควรอ่อนค่าลง แต่ปัจจุบันบาทกลับแข็งค่าขึ้น จึงจะหารือกับแบงก์ชาติในข้อเท็จจริงว่า เพราะอะไร เบื้องต้น   

มีข้อสังเกตว่า น่าจะเกิดจากเงินลงทุนของต่างชาติที่ไหลเข้ามาก่อนหน้านี้ จะยังไม่ไหลออกไป     ขณะเดียวกัน ก็ยังมีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้ามาต่อเนื่อง ก็จะหารือให้ชัดเจนในเรื่องนี้"
มีรายงานข่าวระบุว่าค่าเงินบาทเย็นวานนี้อ่อนลง 0.5%ปรับจาก 38.63 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 38.83 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งตลาดค่าเงินในเอเชียเชื่อว่า ธปท.เข้าแทรกแซง ตั้งแต่ช่วงบ่ายวานนี้
นอกจากนั้นเงินบาทยังถูกกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบเยนหลังจากที่ นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจจะขยายตัวต่อไปในอัตราที่รวดเร็วแม้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยชะลอตัวลงก็ตาม
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า ได้เข้าไปดูแลค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยเป็นการเข้าดูแลเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ หลังจากที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ส่วนค่าเงินบาทวานนี้ (21 มี.ค.)   มีการขึ้นลงตามพื้นฐานปกติไม่ได้มีการเข้าไปดูแลเป็นการแข็งค่าตามธรรมชาติ
ด้าน ดร.อัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่าค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 20 มีนาคม นั้นแข็งค่าขึ้นเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้รับผลมาจากเศรษฐกิจของสหรัฐ ออกมาไม่ดีมากนัก ทำให้ตลาดคาดว่าอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะหยุดปรับขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้ แต่หลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ออกมาส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยต่อก็ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในเช้าวานนี้ ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงด้วย ส่วนการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ยังคงมีเข้ามาในประเทศไทย    อย่างต่อเนื่องนั้น   ดร.อัจนา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยใดที่จะทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศ โดยนักลงทุน ในตลาดหลักทรัพย์นั้นอาจจะรอความมั่นใจก่อนที่จะลงทุนแต่สำหรับผู้ลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) นั้น ไม่น่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ชะลอการลงทุนลง
ดร.ทนง กล่าวว่า เขาประเมินถึงสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินด้วยว่า น่าจะอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่อง สังเกตจากการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนหลังจากที่สถาบันการเงินมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ก็ได้มีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง   ขณะเดียวกัน ยังมีการเปลี่ยนแปลงช่องทางการลงทุน เช่น หันไปลงทุนในกองทุนรวม ลงทุนในหลักทรัพย์ เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนรู้จักช่องทางการลงทุนมากขึ้น   นอกจากนี้ ยังประเมินว่า การชะลอขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า จะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาในประเทศมากขึ้น   "การที่ดอกเบี้ยสหรัฐไม่ปรับขึ้นในระยะ 1-2 เดือนนี้ อาจทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐปรับค่าอ่อนลง และทำให้มีเม็ดเงินลงทุนเกิดการเคลื่อนไหว หนึ่งในประเทศที่น่าจะมีการไหลเข้าของเงินลงทุน คือ ประเทศไทย" ดร.ทนง กล่าวและว่า   สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ได้ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ไม่น่าจะปรับขึ้นถึง 8%  ในปีนี้ จากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวอยู่ในระดับประมาณ 7% ต่อปี เนื่องจากสภาพคล่องที่ทรงตัวในระดับสูงหรือประมาณ 7-8 แสนล้านบาท   "อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงที่ใกล้มีเสถียรภาพ ข้อสังเกต คือ อัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐที่จะไม่ปรับขึ้นมากนัก และทำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศไม่ปรับขึ้นตามไปด้วย ทำให้คิดว่า ทั้งปีดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ไม่น่าจะเกิน 8%" ดร.ทนง กล่าว และประเมินถึงอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ว่า   ไม่น่าจะขยายตัวเกินกว่าระดับ 4% โดยธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์จะดูแลอัตราเงินเฟ้อไม่ให้เกินระดับดังกล่าว
นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันนี้ ว่า ค่าเงินบาท  เปิดตลาดที่ระดับ 38.75-38.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นไปตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินภูมิภาค    หลังจากที่ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลง โดยผลจากปัญหาทางการเมืองนั้นไม่ทำให้ค่าเงินบาทในวันนี้เคลื่อนไหวมากนัก ในช่วงเย็นค่าเงินบาท ปิดตลาดที่ 38.82-38.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ    อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้นเป็นผลจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้ามาดูแลเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนจนเกินไป ไม่ได้เป็นการเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงทิศทางของค่าเงิน โดยคาดว่าค่าเงินบาทในระยะนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ 38.65-39.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองเป็นหลัก
กรุงเทพธุรกิจ  22  มีนาคม  2549
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 20283เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2006 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท