เลือกภาพประกอบเรื่องอย่างไรได้ผล


ศิลปินย่อมไม่วาดมังกรทั้งตัว ถ้าแบบไทยๆก็อย่ารักพี่เสียดายน้อง

การใช้ภาพประกอบ Illustration

 

การจัดภาพประกอบ

     ภาพประกอบเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ เพราะภาพประกอบช่วยให้สื่อสิ่งพิมพ์มีความน่าอ่านมากขึ้นและดึงดูดความสนใจได้  วัตถุประสงค์ในการใช้ภาพประกอบคือ

 

   1. ดึงดูดความสนใจ  ตามธรรมชาติของมนุษย์จะชอบดูสิ่งสวยงามมีชีวิตชีวา   ภาพประกอบมีส่วนช่วยเร้าความสนใจ  สื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่มีภาพประกอบจะไม่ดึงดูดความสนใจ  การเลือกภาพต้องพิถีพิถันเพราะนอกจากจะต้องสวยงามแล้ว ภาพที่ดีนั้นจะสื่อความหมายของเนื้อหาด้วย แต่จุดประสงค์หลัก  คือดึงดูดสายตาของผู้อ่านแล้วนำไปสู่เนื้อหา

  2. ประกอบเรื่อง  เพื่อให้ความกระจ่างในเนื้อหาหรือเรื่องราวที่ต้องทำความเข้าใจโดยใช้ภาพประกอบ เช่น แผนที่ กลไกเครื่องจักรกลต่าง ๆ ภาพกราฟแสดงสถิติ ซึ่งภาษาเขียนไม่สามารถบรรยายให้เห็นภาพได้ดีพอ

  3. อธิบายเรื่อง  ภาพประกอบบางภาพบอกเรื่องราวของเหตุการณ์ได้ทั้งหมด โดยมีคำอธิบายเพียงเล็กน้อย  คำบรรยายอาจกลายเป็นเพียงส่วนประกอบ เช่น นิตยสารการตกแต่งบ้าน  โปสเตอร์ภาพยนตร์ต่าง ๆ

4.  แสดงความต่อเนื่องของเรื่องราว เป็นภาพที่ต้องการให้ผู้อ่านได้รับรสสัมผัสที่แสดงออก เช่น  ความเคลื่อนไหวของบุคคลสำคัญ เหตุการณ์สะเทือนใจ  ในบางกรณีอาจจะเป็นภาพการ์ตูนก็ได้ เพราะภาพเหล่านี้สามารถสื่อความหมายได้มากว่าการบรรยาย

5. ช่วยในการจัดหน้า  ทำให้หน้าในหนังสือพิมพ์แต่ละหน้ามีจุดสนใจ  มีชีวิตชีวา และดึงดูดความสนใจสู่เนื้อหาใกล้เคียงได้มาก  จะสังเกตได้อีกว่าสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่มีภาพประกอบจะไม่ชวนให้หยิบขึ้นมาอ่านเลย ในบางโอกาสนักออกแบบอาจจะออกแบบตัวอักษรโดยนำมาจัดวางเข้าเป็นชื่อเรื่อง เนื้อเรื่อง   ให้มีความสวยงามลงตัว   ก็สามารถทดแทนภาพประกอบได้เช่นกัน

 

ภาพประกอบ How to use it?

 

1. หลักการใช้ภาพประกอบ

       ภาพที่เหมาะสมในการนำมาใช้มากที่สุดคือ  ภาพที่ตรงกับเรื่องและสามารถอธิบายเนื้อเรื่อง

2.  การใช้ภาพตัดตก (Bleed)  คือภาพที่ล้ำออกมาจากกรอบหน้าและขยายเลยไปจนสุดแผ่นกระดาษ ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้สึกไม่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบและเกิดความรู้สึกต่อเนื่องกับหน้าที่อยู่ถัดไป

3. ขนาดของภาพ  ขนาดของภาพที่ใช้ในสื่อสิ่งพิมพ์เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพราะถ้าพิจารณาจากหลักทั่วไปแล้ว  สิ่งใดที่มีขนาดใหญ่จะดูว่ามีความสำคัญมากกว่าสิ่งที่มีขนาดเล็กกว่า  ซึ่งในการออกแบบก็ต้องใช้หลักเกณฑ์นี้ในการพิจารณาด้วยเช่นกัน

 

    การกำหนดขนาดของภาพอาจมีผลต่อการออกแบบดังนี้

-          การใช้ภาพที่มีขนาดใหญ่เกินไปโดยไม่จำเป็นอาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดีหากภาพนั้นไม่มีความสำคัญ

-          ต้องพิจารณาว่าภาพที่ใช้มีความสัมพันธ์กับข้อความเนื้อหามากน้อยเพียงใด

 

4. การบังภาพ  [Cropping ] ในบางกรณีภาพถ่ายที่ได้มาเป็นภาพที่ถ่ายในระยะไกลเกินไป

ทำให้ครอบคลุมส่วนอื่นๆ ที่ไม่ต้องการติดมาด้วย  ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปิดหรือบังส่วนที่ไม่ต้องการออกไปแล้วนำภาพนั้นมาใช้เฉพาะส่วนที่ต้องการเท่านั้น

5.  การคัดเลือกภาพ  การคัดเลือกภาพเพื่อใช้ประกอบการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์นั้นจะต้องคิดอยู่เสมอว่างานที่เรากำลังทำอยู่นั้นคือ  การเลือกใช้ภาพเพื่อทำธุรกิจ   ไม่ใช่พิจารณาว่าภาพนั้นมีศิลปะหรือมีความสวยงามในแง่ของภาพถ่ายมากน้อยเพียงใด  ควรเลือกภาพที่มีความหมายตรงกับเนื้อหาและเสริมเนื้อหามากที่สุด 

6.   การทำให้ภาพหน้าสนใจขึ้นโดยการจัดเรียงภาพ  การใช้ภาพเดี่ยวในบางกรณีอาจดูไม่น่าสนใจ

หากใช้ภาพที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องมาจัดเรียงลำดับกันขึ้น  จะทำให้กลุ่มภาพนั้นดูสะดุดตา  และน่าสนใจยิ่งขึ้น

7.  การจัดภาพขนาดเล็กให้รวมกันเป็นกลุ่ม  การใช้ภาพขนาดเล็กสอดแทรกอยู่ในเนื้อหาข้อความทั่วไปอาจไม่เป็นที่สนใจเท่าที่ควร  จึงอาจพิจารณาจัดให้ภาพเหล่านั้นอยู่รวมกันเป็นกลุ่มในรูปทรงที่น่าสนใจ

8.  การเร้าความสนใจในการทำภาพอาจทำให้มีความต่อเนื่อง   บ่อยครั้งการใช้ภาพเพียงภาพเดียวไม่สามารถอธิบายเรื่องราวได้ทั้งหมด  ไม่ว่าภาพที่ใช้จะเป็นภาพที่ดีเพียงใดก็ตาม  จึงจำเป็นต้องใช้ภาพหลายภาพ มาเรียงไว้ในลักษณะคล้ายกับการจัดลำดับเป็นระยะ ๆ  แต่ไม่ต่อเนื่องบนหน้าเดียวกัน  เป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้น และพัฒนาความคิดของผู้อ่านขึ้นเป็นลำดับ  ซึ่งในการพิจารณาใช้ภาพมาสร้างความคิดให้เกิดขึ้นเป็นลำดับนี้จะต้องพิจารณาให้ดี และต้องอธิบายเหตุผลของการใช้ภาพแต่ละภาพได้เสมอว่า ทำไมจึงใช้ภาพนั้น ๆ ต้องแน่ใจว่ามีความสอดคล้อง

และสร้างเสริมความเข้าใจในเนื้อหาได้มากขึ้น และที่สำคัญต้องไม่ใช้ภาพมากเกินไป  ควรใช้ภาพน้อยที่สุด 

9. ทำให้ส่วนสำคัญมองภาพเป็นที่น่าสนใจ   ภาพทั้งภาพเมื่อมองดูรวมทั้งภาพอย่างผิวเผินแล้วอาจมองไม่เห็นความเด่น  หรือความสำคัญของภาพนั้น อาจเป็นเพราะมีองค์ประกอบอื่นปะปนอยู่ด้วยหรือส่วนประกอบอื่นมีความเด่นมากกว่า ซึ่งในกรณีเช่นนี้  ผู้ออกแบบจะต้องมองให้ออกว่าในภาพนั้น ๆ มีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหามากที่สุดและหากเห็นว่าส่วนที่เกี่ยวข้องนั้นไม่มีความเด่นพอที่จะเรียกความสนใจได้ก็จะต้องหาทางให้ภาพนั้นดูเด่นออกมา โดยใช้วิธีตัดเอาส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออกแล้วเหลือเฉพาะส่วนที่สำคัญไว้ หรือทำให้ส่วนที่ไม่ต้องการซีดจางหรือพร่ามัวไปโยการใช้เทคนิคของการทำฟีล์ม หรือ ขบวนการทาง Photoshop บางครั้งขบวนการให้สีเฉพาะส่วนที่ต้องการเน้นต่างกับส่วนอื่นก็เป็นการเน้นที่ได้ผลเช่นกัน

 

 การคัดเลือกภาพ

         ภาพประกอบที่นำมาใช้ประกอบเนื้อเรื่องในสื่อแบบต่างๆ นอกจากจะต้องคำนึงถึงเนื้อหาแล้วยังต้องคำนึงถึงคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับการผลิตด้วย  เพราะภาพนั้นอาจจะต้องผ่านการผลิตหลายขั้นตอน  ซึ่งบางงานกว่าจะสำเร็จ อาจจะทำให้ภาพที่ปรากฏบนสื่อนั้นด้อยคุณภาพลงไปได้ไม่มากก็น้อย  ดังนั้นจึงควรพิจารณาเลือกรูปภาพที่มีคุณภาพเพียงพอ โดยพิจารณาจาก

 

องค์ประกอบดังนี้

 

 1. ความคมชัด  แสดงรายละเอียดได้หมด  ภาพต้นฉบับที่จะคัดเลือกต้องมีความคมชัดพอจะทำให้ภาพประกอบเรื่องมีคุณค่าจากการสื่อความหมายและมีความสวยงาม    

2. ความเข้มของสีและสิ่งที่ปรากฏในภาพ  (Subject)  เด่นชัด  เช่น ภาพขาวดำคงมีความกระจ่าง

ของแสงเงาให้ชัดเจน   เพื่อการผ่านกระบวนการ พิมพ์แล้วภาพจะยังคงความชัดอยู่

3. ขนาดของภาพ ภาพที่ใช้ควรเป็นภาพที่มีขนาดใหญ่   ถ้าใช้ภาพขนาดเล็กนำมาขยาย  ภาพจะจางขาดความชัดเจน  แต่ถ้าเป็นภาพขนาดใหญ่นำมาย่อให้เล็กลงไป   จะให้รายละเอียดที่คมชัดกว่าเมื่อผลิตออกมา

4. ความมันเงา  ภาพที่เป็นเงามันมักจะมีคุณสมบัติดี เมื่อผ่านขั้นตอนการพิมพ์   ส่วนภาพที่มีผิวด้านเมื่อพิมพ์ไปแล้วจะขาดความคมชัดในรายละเอียดบางอย่าง

 

กฎเบื้องต้นของการจัดภาพ

1. ภาพใกล้ควรอยู่ใกล้ ๆ ผู้อ่าน เช่นด้านล่างของหน้า   ภาพไกลควรอยู่ไกลออกไป  เช่น ด้านบนของหน้า

2. ภาพที่จัดควรมีความลึก (Depth)  ความกว้าง (wide) และมีมิติที่เข้ากันได้ เพื่อจัดภาพเกินกว่า 2  ภาพในหน้าเดียวกัน

3. ภาพมีลักษณะใกล้เคียงกัน  เมื่อจัดในหน้าเดียวกันอาจทำให้ไม่มีสิ่งที่น่าสนใจ ควรจัดให้มีภาพที่เด่นเพียงภาพเดียว

4. การจัดภาพในหน้าเดียวให้เกิดการเคลื่อนไหว (Movement) มีชีวิตชีวา (lively) ภาพที่มีลักษณะแข็งตรึงแน่น  หรือสิ่งของ   เป็นภาพที่จัดให้เกิดชีวิตชีวาได้ยากกว่าการจัดภาพของคน และสัตว์

 

        

คำสำคัญ (Tags): #rnm
หมายเลขบันทึก: 202622เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2008 08:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท