การประยุกต์รูปแบบการคิดสู่การสอนภาษาไทยแบบนาฬิกาทราย


รูปแบบการคิดของ เจมส์ บาลังกา 12 รูปแบบ เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง (BBL : Brain Based Learning)

ผมได้นำรูปแบบการคิดแบบนี้จากอินเทอร์เน็ตกระจายให้ครูเพื่อประยุกต์ในการออกแบบการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  โดยใช้ชื่อว่า  การสอนภาษาไทยแบบนาฬิกาทราย  โดยใช้รูปแบบการคิดของเจมส์ บาลังกา  และทฤษฎีจากการศึกษาดังนี้

. พฤติกรรมการเรียนรู้ด้านภาษาของมนุษย์ จะรับภาษาเข้าไปทีละเล็กละน้อย  โดยใช้กิจกรรมสร้างเสริมพัฒนารอบด้าน  เมื่อสมองรับและบันทึกความเข้าใจภาษาได้มากๆ  ก็จะทำให้เกิดความพร้อมในการพูด สามารถพูดได้ด้วยความสบายใจ และมั่นใจ  กิจกรรมการสอนแบบนาฬิกาทราย ให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องที่สนใจ  โดยแสดงบทบาทสมมติในการสัมภาษณ์แหล่งข้อมูล  ไปสัมภาษณ์แหล่งข้อมูล  รายงานผลการศึกษา  และเรียนจากหนังสือที่ผู้สอนสร้างขึ้น  ขั้นตอนเน้นการฟัง  และการพูด

.  การเรียนรู้แบบสร้างความรู้  เป็นการเรียนแบบเน้นกระบวนการหาความรู้  ซึ่งเริ่มจากกิจกรรมให้นักเรียนวางแผนเก็บข้อมูลจากเรื่องที่ต้องการเรียนรู้  จัดหมวดหมู่ข้อมูล  การประเมินคุณค่าของข้อมูล  การนำข้อมูลไปใช้  เป็นต้น

.  รูปแบบความคิด  (Think Tank)  ผู้สอนได้นำรูปแบบความคิดแบบ เส้นลำดับ  (The Spectrum)

จากแนวคิดดังกล่าว  นำมาเป็นหลักการสอนแบบนาฬิกาทราย ได้ดังนี้

.  นักเรียนเรียนรู้จากเรื่องที่นักเรียนมีประสบการณ์อยู่แล้ว  และได้เพิ่มเติมประสบการณ์ใหม่  นำเรื่องที่มีความหมายสำหรับเด็ก เช่น เรื่องในท้องถิ่นที่นักเรียนพบเห็นในชีวิตประจำวันมาเรียน กระตุ้นให้สมองรับและสะสมความเข้าใจภาษาแบบซึมเข้าไปทีละน้อย  โดยผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย

.  การสอนแบบนาฬิกาทรายมุ่งสอนความเข้าใจในเรื่อง และแสดงออกโดยการพูดเป็นอันดับแรก  ส่วนการอ่าน และเขียน  จะสอนอันดับต่อไป จะไม่ครบ ๔ ทักษะพร้อมกัน

 .   รูปแบบความคิดที่นำมาใช้สอน คือ ความคิดแบบเส้นลำดับ  (Spectrum) ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นลำดับขั้นของเหตุการณ์  ฝึกทักษะการคิดลำดับเหตุการณ์  และสรุปความคิดรวบยอดของเรื่องได้  แผนการสอนแบบนาฬิกาทรายนี้ใช้กิจกรรมสร้างหนังสือสามตอน  คือ
เริ่มเรื่อง
(Begin)  กลางเรื่อง (Middle) และจบเรื่อง (Ending) หลังจากเรียนบริบทของเรื่องอย่างละเอียด

. การป้อนข้อมูลทางภาษาใช้เวลาป้อนข้อมูลเข้าไปในสมองแบบซึมเข้าไปทีละน้อยอย่างเพียงพอ ก่อนที่จะพูดในเรื่องที่เรียนได้ และเมื่อนักเรียนพูดและเข้าใจเรื่องที่ดีแล้ว จึงสอนอ่าน และเขียนต่อไป

.  วิธีสอนแบบนาฬิกาทราย แบ่งออกเป็น  ๔ ระยะคือ ระยะที่ ๑  เริ่มจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงที่นักเรียนมีประสบการณ์  และนักเรียนค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม  ระยะที่ ๒  โครงสร้างการคิด  นักเรียนร่วมกันจัดข้อมูลให้มีความหมาย  โดยสรุปเรื่องเป็น ๓ ตอน  ระยะที่ ๓  โครงสร้างค่านิยม ร่วมกันประเมิน และโครงสร้างการกระทำ  และลงมือปฏิบัติจริง โดยนำเรื่องที่สรุปไว้ มาทำเป็นโครงเรื่อง  และนำโครงเรื่องมาจัดทำเป็นหนังสือของตนเอง  และระยะที่ ๔  เสริมหลักภาษา ซึ่งนำคำ และประโยคจากหนังสือของตนเองมาเรียนสู่เนื้อหาใหม่

.  ทัศนคติที่ดี และการเสริมแรงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการเรียนรู้ภาษา  โดยเฉพาะทัศนคติที่ดีต่อภาษาไทย จะเป็นพื้นฐานในการเรียนตลอดชีวิตของเด็ก และความมั่นคงในการพัฒนาภาษา

ลักษณะรูปแบบของวิธีการสอนแบบนาฬิกาทราย

หลักการ ๖ ประการดังกล่าว  สามารถออกแบบการเรียนรู้มี ๕ ขั้นตอน โดยตั้งชื่อให้คล้องจองกันเพื่อสะดวกแก่การจดจำ และสื่อความหมายในตัวด้วย  ได้แก่  เรียนรู้จากประสบการณ์เดิม  เพิ่มเติมประสบการณ์ใหม่  สรุปใจความย่อ  ขยายต่อเป็นหนังสือเสริม  และเติมเต็มทักษะภาษา

.  เรียนรู้จากประสบการณ์เติม

การสอนภาษาไทยขั้นเรียนรู้จากประสบการณ์เดิม เป็นการสำรวจความ
สนใจของนักเรียนว่าต้องการเรียนรู้ในเรื่องใด  หรือกระตุ้นให้นักเรียนสนใจในเรื่องที่จะเรียน

จุดประสงค์

เพื่อให้เด็กรับความเข้าใจภาษา ปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อภาษาไทย

วิธีสอน

ใช้วิธีสอนแบบธรรมชาติ  โดยครูชวนนักเรียนสนทนา  ใช้น้ำเสียงปกติ  พูดกระตุ้นให้นักเรียนได้เล่าเรื่องที่กำลังสนทนา ซักถามกระตุ้นให้นักเรียนอยากรู้เพิ่มเติม โดยให้นักเรียนช่วยกันคิดวิธีหาความรู้เพิ่มเติม แสดงบทบาทสมมติในการไปซักถามแหล่งความรู้อื่น

.  เพิ่มเติมประสบการณ์เติมใหม่

การสอนภาษาไทยขั้นเพิ่มเติมจากประสบการณ์ใหม่ เป็นขั้นให้ความรู้ใหม่แก่นักเรียน นักเรียนต้องไปค้นคว้าหาความรู้ โดยถามผู้รู้ แล้วมารายงานโดยเล่าเรื่องที่ค้นคว้ามาได้ หรือบอกขั้นตอนการปฏิบัติ และปฏิบัติได้ (ในกรณีเป็นเรื่อง วิธีการ)

จุดประสงค์

เพื่อให้เด็กสะสมความเข้าใจภาษาต่อไป  เพื่อให้มโนทัศน์ของคำกว้างขวางขึ้น

วิธีสอน

ถ้าเป็นเรื่องทั่วไปใช้วิธีการสนทนาเรื่องที่นักเรียนไปหาความรู้เพิ่มเติม  นักเรียนออกมารายงานปากเปล่า   นักเรียนและครูสรุปเรื่องร่วมกัน  ถ้าเป็นเรื่องวิธีการ  ให้นักเรียนเล่าเรื่องที่ไปค้นคว้ามา  สรุปขั้นตอนการปฏิบัติร่วมกัน  และปฏิบัติ

.  สรุปใจความย่อ

การสอนภาษาไทยขั้นสรุปใจความย่อ เป็นการสรุปเรื่องที่ศึกษาโดยใช้ภาพ และบรรยายสั้นๆ ให้เหลือเพียง ๓ ตอน คือ ตอนเริ่มเรื่อง  กลางเรื่อง  และจบเรื่อง

จุดประสงค์

เพื่อให้นักเรียนสามารถจับใจความสำคัญของเรื่องที่เรียนได้

วิธีสอน

ใช้วิธีนักเรียนและครูสนทนาถึงตอนเริ่มเรื่อง  กลางเรื่อง  และจบเรื่อง ควรวาดภาพอย่างไร  บรรยายภาพอย่างไร  เมื่อนักเรียนสามารถสรุปเรื่องได้แล้วนักเรียนจัดทำเป็นหนังสือ ๓ ตอน คือตอนเริ่มเรื่อง  กลางเรื่อง  และจบเรื่อง

.  ขยายต่อเป็นหนังสือเสริม

การสอนภาษาไทยขั้นขยายต่อเป็นหนังสือเสริม เป็นการนำเรื่องที่
นักเรียนสรุปมาขยายเรื่องให้ละเอียดขึ้นโดยใช้ประสบการณ์ของตนเอง  เมื่อขยายครบทั้ง ๓ ตอน แล้วนักเรียนก็รวบรวมเป็นหนังสือของนักเรียน

จุดประสงค์

เพื่อให้เด็กสามารถใช้จินตนาการต่อเติมเรื่อง หรือสร้างเรื่องเองได้

วิธีสอน

ใช้วิธีให้นักเรียนนำเรื่องที่สรุปไว้ ในแต่ละตอนมาจัดทำโครงเรื่อง  และนำโครงเรื่องไปให้รายละเอียดมากขึ้น  โดยใช้ประสบการณ์ของนักเรียนเอง  เมื่อขยายเรื่องครบทุกตอนแล้วนำมาจัดทำเป็นหนังสือของนักเรียน

การสอนภาษาไทยแบบนาฬิกาทรายนี้เป็นวิธีสอบแบบเด็กเป็นศูนย์กลาง หรือมุ่งให้เด็กคิด และแสดงออกตามแบบของตน  บทบาทของครู คือ เป็นผู้คอยกระตุ้นให้เด็กคิด และพูดให้มากที่สุด

.  เติมเต็มทักษะภาษา

การสอนภาษาไทยขั้นเติมเต็มทักษะภาษา  เป็นการนำหนังสือของ
นักเรียนมาฝึกอ่าน  เข้าใจความหมายของคำ  การนำคำไปใช้  การโยงคำที่อ่านได้ไปสู่คำใหม่ และเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ทางภาษา  

จุดประสงค์

เพื่อสอนอ่านและเขียนเบื้องต้น โดยให้รู้จักอ่านแบบแจกลูก  รู้จักพยัญชนะ  สระ  ตัวสะกด  เขียนเรื่องสั้นๆ ง่ายๆ ได้

วิธีสอน

ใช้วิธีเกม  เพลง กิจกรรมต่างๆ  เพื่อให้นักเรียนเข้าในหลักเกณฑ์ทางภาษา โดยใช้ ขั้นตอนดังต่อไปนี้ คือ  จำเป็นคำๆ  โยงคำที่จำได้ไปสู่คำใหม่  เรียนการผสมอักษร  วิเคราะห์โครงสร้างของคำ  เขียนคำ  เขียนเป็นประโยค  และเขียนเป็นเรื่อง

ที่มา: จากอินเทอร์เน็ต เว็บไหนจำไม่ได้ง่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 202145เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2008 06:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 06:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาอ่าน

        สิ่งดีๆ

                   Good morning :)

                              Have a nice day!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท