โค้ชส้ม Citrus
Miss. ปรีดิ์ฤทัย โค้ชส้ม ตั้งจิตญาณพัฒน์

พลิกความคิด เปลี่ยนวิถี ด้วย Journey to the New Land


ได้รับการโน้มน้าวให้ทดลองเครื่องมือ และวิธีการใหม่ๆ โดยที่ยังไม่รู้ว่าคืออะไร ทำแล้วผลจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ แม้จะเสียเวลาก็ยอม มันคงต้องได้อะไรกลับมาบ้างล่ะ

        ผ่านมา สองเดือนกว่าแล้วกับการทำโครงการวัฒนธรรมองค์กรร่วมกับบริษัทที่ปรึกษา ในระยะแรกการทำ work shop เพื่อค้นหาสาระและรูปแบบการเสนอวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสม สามารถตอบโจทย์ธุรกิจในอนาคต ตามวิสัยทัศน์ขององค์กร ใช้เวลาประชุมกันเกือบทุกวัน บัดนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ตรงใจทีมงาน เป็นธรรมดาที่ไม่มีทางที่จะถูกใจทุกคนในทีมงานได้ ยิ่งตอนที่นำผลงานของพวกเราที่เป็นฉบับร่างไปทำการทดสอบกับตัวแทนพนักงานทุกระดับ ยิ่งทำให้ทีมงานได้ข้อมูลสะท้อนกลับมามากมาย แหละนี่คือที่มาที่ไม่ได้บทสรุปสักที

       

      ที่ปรึกษาและทีมงานหารือกันว่า เรามาเปลี่ยนโจทย์กระโดดข้ามไประยะสอง คือเรื่อง การนำวัฒนธรรมองค์กรไปใช้ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ควรมีขั้นตอนเป็นอย่างไรบ้าง เผื่อว่าจะสามารถกลับมาสรุปผลลัพธ์ของโครงการระยะที่หนึ่งได้ จำได้ว่าตอนที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอแนวทางนี้  เขาไม่เรียกทีมงานทั้งหมดมา แต่จะหารือเฉพาะกลุ่มที่เป็นเสาหลัก ให้ยอมรับการทดลองทำวิธีนี้ก่อน เมื่อทีมนี้ยอมรับจึงไปขยายต่อ ผู้ใหญ่บางท่านบอกว่า อึดอัดกับการต้องทดลองทำในสิ่งที่ไม่รู้ว่าคืออะไรกันแน่ กลัวว่าจะเสียเวลาไปเปล่าๆ อีก 2 วันกับการทดลองใช้เครื่องมือใหม่ แต่สำหรับเราแล้วรู้สึกว่า มันเหมือนกับการผจญภัย ที่ทำให้เราอยากรู้ อยากเห็น ว่ามันเป็นอะไรกันแน่ Journey to New Land

        แหละแล้ว วันที่ทีมงานต้องกลับมาเจอกันเพื่อทดลองทำ workshop เรียนรู้กระบวนการ รวมทั้งเครื่องมือ ที่ต้องการใช้เพื่อทำ Transformational Change  ก็เริ่มขึ้น ด้วยการแนะนำ ให้พวกเรารู้จักคำว่า Journey to New Land : A Road Map for Transformational Change แค่ได้ยินชื่อก็งง คุณอำนวยที่มาช่วยดำเนินการนำกิจกรรมไม่ได้อธิบายอะไรมาก มาถึงก็ทักทาย และบอกว่าขณะนี้ทีมงานเดินทางกันมาถึงขั้นตอนไหนแล้ว แล้วเรากำลังจะไปไหน ทำอะไรต่อไป   จากนั้นก็ฉายหนังการ์ตูนให้ดูแบ่งเป็น 2 ช่วง ความยาวหนังประมาณ 15 นาที แต่ต้องหยุดเมื่อฉายไป 5 นาที เพื่อให้กลุ่มย่อยถกกันว่าจับพฤติกรรมอะไรจากตัวละครได้บ้าง

        เรื่องราวในการ์ตูน พูดถึงอณาจักรหนึ่งที่กำลังได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมภายนอกจนเกิดภัยแล้ง ทะเลทรายขยายขนาด มีสัตว์หลายประเภทอาศัยอยู่ในอณาจักรนี้ (Old Land)  นกอินทรีเป็นจ้าวเวหาตัวเอกของเรื่อง มองเห็นอนาคตว่าขืนอยู่ที่นี่ต่อไป สัตว์ป่าน้อยใหญ่ต้องตายกันหมด จึงชักชวนเพื่อนๆ ที่พอจะคุยกันรู้เรื่องตั้งทีมงานขึ้นมาช่วยกันทำงานเพื่อ อพยพไปสู่แผ่นดินใหม่ แต่ทว่าหนทางที่จะไปสู่แผ่นดินใหม่นั้น ต้องข้ามเขา หาทางเชื่อมแม่น้ำเพื่อให้สัตว์น้ำสามารถอพยพไปได้ และยังต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วย การ์ตูนเรื่องนี้ถูกจริตพวกเราอีกอย่าง ตอนหมู่สัตว์ประชุมเพื่อหาข้อสรุปวิธีแก้ปัญหา ใช้หลักการหนึ่งของ dialog ด้วย คือไม่ด่วนตัดสิน ให้ห้อยแขวนสมมติฐานไว้ก่อน รอฟังให้ครบแล้วกลุ่มจะได้ทางออกที่ดี

***************************************************************

       

      ช่วงบ่ายวันแรก กิจกรรมเน้นให้เราคิดถึงอนาคตที่ต้องทำ ปัจจุบันมีอะไรดี อะไรเป็นอุปสรรค และอีกหลายเรื่องที่เชื่อมโยงเข้ากับแผนที่ ที่อยู่ในการ์ตูน เมื่อจบกิจกรรมวันแรก ทุกคนก็ดูอึ้งกันไป ไม่รู้เหมือนกันว่าแต่ละคนเข้าใจเรื่องราวของกิจกรรมมากน้อยแค่ไหน ตอนคุณอำนวยให้พวกเราสะท้อนความคิดเห็น สำหรับเราแล้วยังมองไม่ออกว่าจะนำเครื่องมือนี้ไปใช้จริงอย่างไร เรียกว่างงๆ มากๆ  แต่เห็นคนอื่นเขาเงียบกัน เดาใจไม่ได้ แต่แอบได้ยินหลังเลิก มีพี่บางท่านบอกว่า ยังไม่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวของการ์ตูน ที่แบ่งตัวละครออกเป็น 4 ประเภทตามปฏิกิริยาที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง  กับการใช้กิจกรรมเรียนรู้แผนที่ที่จะไปสู่แผ่นดินใหม่ได้  พอได้ยินดังนั้นก็เห็นด้วยว่า  ตัวเราก็เป็นเช่นพี่ท่านนั้นเหมือนกัน ตอนใกล้จะแยกย้ายกลับ คุณอำนวยบอกว่าวันรุ่งขึ้นจะฉายการ์ตูนให้ดูอีกรอบ สำหรับคนที่ไม่ได้มาในช่วงเช้า  และแจกหนังสือให้ทุกคนเอากลับไปอ่าน เรื่องในหนังสือละเอียดกว่าในหนัง

***************************************************************

        วันที่สอง ตั้งใจว่าจะต้องมาดูหนังอีกรอบหนึ่งเพื่อตามเก็บรายละเอียด เมื่อคืนอ่านหนังสือไปได้ไม่กี่หน้า แต่ก็ทำให้เข้าใจเรื่องมากขึ้น พอดูหนังรอบนี้ พยายามเก็บประเด็นที่เป็นขั้นตอนการดำเนินเรื่องราว ซึ่งมีทั้งหมด 8 ขั้นตอนของการทำ Transformational Change พอดูจบคุณอำนวยให้พวกเรานั่งคุยกันเป็นกลุ่มย่อย อธิบายความเชื่อมโยงของตัวละครในเรื่อง กับ แผนที่ของ New Land กับแผนภูมิแสดงขั้นตอนทั้ง 8  จากกิจกรรมนี้เองเราจึงเริ่มเชื่อมโยงความสัมพันธ์และเข้าใจเครื่องมือ วิธีการมากขึ้น แต่ทว่า...จะนำไปใช้ยังไง ก็ยังไม่กระจ่างแจ้งอยู่ดี

        ในตอนบ่าย พวกเราได้ทดลองตั้งโจทย์ที่จะนำเครื่องมือนี้มาปรับใช้ในองค์กรเพื่อการเปลี่ยนแปลง เราต้องคิดถึง 8 ขั้นตอนเปรียบเทียบกับหนังการ์ตูนที่เราดู

        โดยเริ่มตั้งแต่หาผู้ที่สามารถนำการเปลี่ยนแปลงให้พบ (บางทีอาจไม่ใช่ผู้นำในระดับสูงเสมอไป) แล้วหาโอกาสคุยกันเพื่อทำความเข้าใจ ปรับคลื่นความคิดอ่านให้เห็นภาพเป้าหมายตรงกัน จากนั้นก็เริ่มสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบว่าแนวคิดของพนักงานเกี่ยวกับเรื่องที่เราจะเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นแบบไหนกันบ้าง ต่อจากนั้นเริ่มหาแนวร่วมมาเป็นทีมงาน คนที่เลือกมาเป็นทีมงาน ต้องดูว่ามีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนตัวเองก่อนไปเปลี่ยนคนอื่น และต้องมีความสามารถในการโน้มน้าว ชักจูงคนอื่นได้ด้วย เมื่อรวบรวมพรรคพวกได้แล้วจึงเริ่มกำหนดแผนงานร่วมกัน ในขณะเดียวกันต้องไม่ละทิ้งกลุ่มที่เป็นแนวต้าน ควรหาวิธีโน้มน้าวให้เข้ามาเป็นพวกให้ได้

อีกเทคนิคหนึ่งคือ ต้องหาช่องทางการสื่อสารแบบไม่เป็นทางการ (grapevine) และใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น เพราะบางครั้งการสื่อสารแบบการเรียกประชุมไม่สามารถชักจูง โน้มน้าวได้อย่างทั่วถึง

        จากการทำ workshop 2 วันนี้ ทำให้ตัวเองยิ่งเชื่อมั่นว่า การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เราต้องเชื่อมั่น ไว้วางใจตัวเอง และคนที่มานำพาเราให้เรียนรู้ด้วย และไม่ควรใจร้อนเร่งด่วนที่จะหาคำตอบ ถ้าเราปล่อยให้การเรียนรู้เป็นไปตามธรรมชาติบ้าง คำตอบจะค่อยๆ คลี่คลายเปิดเผยออกมาให้เราเห็นในที่สุด ขอให้เราตั้งใจที่จะเรียนรู้ และใส่ใจในทุกๆ บทเรียน ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวรายละเอียดได้อย่างครบถ้วนและต้องนำไปทดลองใช้เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อยอดอย่างลึกซึ้ง

 

          

หมายเลขบันทึก: 201909เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2008 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หลายคนทำเหมือนพ่อแม่ที่อยากเห็นหน้าลูกในท้องคลอดออกมา ไว ไว ลูกจะหน้าตาเหมือนใคร อาการครบ 32 หรือไม่ ลูกจะฉลาดไหม ความอยากรู้ อยากเห็น กลายเป็นความกังวลใจ เป็นเรื่องธรรมชาติ

บางคนลูกยังไม่ทันคลอด ก็เตรียมหาโรงเรียน เตรียมรองรับอนาคตของลูกแล้ว คิดไกลเกินไปหรือป่าวคะพี่ ใจเย็นก่อนดีกว่า

กลับมาอ่านบันทึกนี้อีกครั้ง หลังจากเขียนไว้นานหลายเดือนแล้ว project ที่ทำก็คืบหน้าไปพอสมควร ทำให้ไม่มีเวลานั่งใคร่ครวญ ล้างท่อส่งความคิดเท่าไรนัก จำได้ว่าระหว่างทำ project อยู่นั้น บริษัทที่ปรึกษามาเล่าให้ฟังว่า เข้ามาอ่านบันทึกนี้ ตอนที่ได้ยินตกใจมาก ไม่คิดว่า เจ้าของเรื่อง และคนที่มาช่วยเป็น facilitator ของโครงการนี้จะได้มาอ่าน ที่ดีใจไปกว่านั้น เมื่อสัปดาห์ก่อน มีเพื่อนต่างธุรกิจมาบอกอีกว่า Facilitator ท่านนี้มาคัดลอกบันทึก เพื่อไปใช้สอนเรื่อง Journey to New Land ให้กับคนในธุรกิจของเขา

ตอนแรกที่ได้ยิน ไม่ค่อยพอใจนักที่มีคนมาคัดไป โดยไม่บอกเราก่อน

แต่ตอนหลัง คิดว่า ก็ดีเหมือนกันนะ มีคนเห็นประโยชน์ แล้วเอาไปใช้ต่อในกลุ่มคนเครือฯ เดียวกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท