beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ที่มาของเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ "ทวิราช"


ท้อพระทัยว่าพระนามจะถูกติฉินนินทาไม่รู้จบสิ้น เหมือนสองกษัตริย์ผู้ไม่สามารถจะปกป้องกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ได้จากอริราชศัตรู

   หลังจากเขียนบันทึก  เรื่องเล่าจากประวัติศาสตร์ "ทวิราช" (ความแตกสามัคคีทำให้เสียกรุงฯ) ไปแล้ว  ได้ไปค้นหาคำว่า "ทวิราช" ใน google ไปพบบทความวิชาการ ในวิชาการ.คอม (www.vcharkarn.com) ผู้เขียนคือ เทาชมพู เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้พอดี จึงขอคัดลอกและดัดแปลงสำนวนเล็กน้อยมาเล่าสู่กันฟัง (อ่าน) ดังต่อไปนี้

    เมื่อ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประชวรหนัก ไม่เป็นอันเสวยหรือบรรทมหลายวันหลายคืนติดต่อกัน อันมีสาเหตุมาจาก ทรงเจ็บช้ำพระราชหฤทัยเรื่องฝรั่งเศสรังแกสยาม (เพราะเอาเรือรบมาจอดอยู่ในน่านน้ำไทย เล็งปืนใหญ่มายังพระบรมมหาราชวัง)   จึงทรงพระราชนิพนธ์บทกวีรำพึงถึงความกลัดกลุ้มทุกข์ร้อน อีกทั้งท้อพระทัยว่าพระนามจะถูกติฉินนินทาไม่รู้จบสิ้น เหมือนสองกษัตริย์ผู้ไม่สามารถจะปกป้องกรุงศรีอยุธยาเอาไว้ได้จากอริราชศัตรู บทกวีมีดังนี้

       
   เจ็บนานนึกหน่ายนิตย์
ส่วนจิตบ่มีสบาย
แม้หายก็พลันยาก
ตริแต่จะถูกรึง
กลัวเป็นทวิราช
เสียเมืองจึงนินทา
    มะนะเรื่องบำรุงกาย
ศิระกลุ้มอุราตรึง
จะลำบากฤทัยพึง
อุระรัดและอัตรา
บ่ตริป้องอยุธยา
บ่ละเว้นฤาว่างวาย
       

     สองกษัตริย์ หรือ 'ทวิราช' ที่ทรงเอ่ยถึงเป็นพระนามซึ่งจดจำกันต่อๆมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๐ หมายถึง พระเจ้าอุทุมพร และพระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์สองพระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา

    ทำไมพระนามถึงเป็นที่ติฉินนินทากันต่อมายาวนานกว่าหนึ่งร้อยปี ก็เพราะคนไทยที่เหลือรอดมาตั้งอาณาจักรธนบุรี และรัตนโกสินทร์ถือกันว่า ทั้งสองพระองค์ควรรับผิดชอบยิ่งกว่าคนไทยอื่นๆในการเสียกรุงครั้งที่ ๒ ในฐานะที่ทรงเป็นผู้ปกครองและกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง

    เจ้าฟ้าอุทุมพรและเจ้าฟ้าเอกทัศน์ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ประสูติแต่พระมเหสีพระองค์ที่สอง (ต่างพระราชมารดากับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์) เจ้าฟ้าเอกทัศน์ เป็นพระเชษฐา แต่ว่าพระราชบิดาไม่โปรดพระโอรสองค์นี้เลย จึงมีพระบรมราชโองการ ให้ไปผนวชที่วัดกระโจม เพื่อให้พ้นทางที่เจ้าฟ้าอุทุมพรผู้มีพระปรีชาสามารถมากกว่าจะได้ขึ้นครองราชย์ต่อไป

     เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคต เจ้าฟ้าเอกทัศน์ก็ลาผนวชเสด็จกลับเข้าวังเพื่อแสดงสิทธิ์ของพระองค์ พงศวดารกล่าวว่าเสด็จเข้าไปในพระที่นั่งสุริยาศย์อมรินทร์ ประทับนั่งบนพระแท่นพาดพระแสงดาบไว้บนพระเพลา แล้วโปรดฯให้พระเจ้าอุทุมพรเข้าเฝ้า พระอนุชาผู้ขึ้นครองราชย์ได้ไม่กี่วันก็เข้าพระทัย ยอมถวายราชบัลลังก์ให้โดยดี แล้วหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะตามมา ด้วยการไปผนวชเสียที่วัดประดู่โรงธรรมให้หมดเรื่องไป

     พระเจ้าเอกทัศน์ครองราชย์ในช่วงแรก เมื่อพม่ายังไม่ได้มารุกราน บ้านเมืองก็กินบุญเก่ามาเรื่อยๆ ไม่เดือดร้อน บุญเก่าเริ่มหมดลงเมื่อมีศึกพม่าครั้งแรก ในพ.ศ. ๒๓๐๒-๐๓ พระเจ้าอลองพญายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ พระเจ้าเอกทัศน์ทรงเห็นเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะทรงสู้ศึกได้เอง จึงไปทรงขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชมาบัญชาการรบแทนพระองค์ พระเจ้าอุทุมพรก็ทรงยอมทำตาม ในการศึกครั้งนี้อลองพญาถูกกระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายไทยบาดเจ็บสาหัส จำต้องถอยทัพไปสิ้นพระชนม์กลางทาง อยุธยาก็พ้นศึกกลับมาสงบตามเดิม

    เมื่อศึกสงบ แทนที่จะทรงมอบหมายให้พระอนุชาครองราชย์อย่างที่ควรจะเป็น พระเจ้าเอกทัศน์ ก็ทรงใช้ไม้เดิม ประทับนั่งพาดพระแสงดาบบนพระเพลาให้รู้ว่าทรงทวงบัลลังก์คืน พระอนุชาก็ว่าง่าย ทูลลากลับไปผนวชอย่างเก่า จนได้สมญาว่าเป็น "ขุนหลวงหาวัด" คือช่างใฝ่พระทัยหันเข้าหาศาสนาอยู่หลายครั้งหลายหนเอาเสียจริงๆ  ส่วนความแท้จริงในพระทัยจะเป็นอย่างไรก็สุดจะรู้ได้

    เมื่อเกิดศึกพม่าครั้งต่อมา คือในสงครามครั้งสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา ไทยเริ่มเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำติดต่อกันหลายครั้งหลายคราว จนถึงคับขันจนกรุงใกล้จะแตก ราษฎรหมดความหวังในตัวพระเจ้าเอกทัศน์ ก็พากันไปถวายฎีการ้องทุกข์ ทูลขอร้องพระเจ้าอุทุมพรให้ลาผนวชมาช่วยบ้านเมืองอีกครั้ง แต่จะด้วยความเกรงพระทัยพระเชษฐา หรือเอือมระอาเต็มทีไม่อยากยุ่งเกี่ยวด้วยอีกก็ตาม ท่านก็เฉยไม่ยอมลาผนวชท่าเดียว ไม่ว่าราษฎรจะอ้อนวอนแค่ไหนก็ตาม ปล่อยให้พระเจ้าเอกทัศน์บัญชาการรบไปเอง จนกระทั่งวาระสุดท้ายของอยุธยามาถึงทั้งสองพระองค์

    พงศาวดารเล่าว่าพระเจ้าเอกทัศน์ทรงหนีออกจากอยุธยาไปได้ แต่ก็หนีไปไม่ตลอด เพราะอดอาหารมิได้เสวยถึงสิบเอ็ดสิบสองวัน จนไปสิ้นพระชนม์ที่ค่ายโพธิ์สามต้น แต่ใน History of the Kingdom of Siam ผู้เรียบเรียงคือ M. Turpin ระบุว่า ถูกปลงพระชนม์ที่ประตูวังนั่นเอง เมื่อพยายามเสด็จหนีจากเมือง ไม่ว่าเรื่องไหนจริงก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นถึงวาระสุดท้ายอันน่าสลดใจ ของผู้เคยอยู่ในฐานะประมุขสูงสุดของอาณาจักร

    ส่วนพระเจ้าอุทุมพรถูกจับเป็นเชลยพร้อมเจ้านายและขุนนางอื่นๆ จำนวนมาก ถูกนำตัวไปพม่า แล้วก็ทรงอยู่ในพม่าจนสิ้นพระชนม์ไปในที่สุด ระหว่างนั้นทรงให้ปากคำบันทึกกับชาวพม่า ถึงประวัติศาสตร์ของอยุธยา ต่อมาเรื่องนี้แปลเป็นไทยชื่อ "คำให้การของขุนหลวงหาวัด"

     กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทในรัชกาลที่ ๑ เคยเป็นมหาดเล็กหุ้มแพร ตำแหน่งนายสุดจินดาเมื่อตอนปลายอยุธยามาก่อน รู้ตื้นลึกหนาบางในพระบรมมหาราชวังดี จนถึงกับบรรยายเอาไว้ในพระนิพนธ์อย่างแค้นพระทัยในตัวพระเจ้าเอกทัศน์ว่า "ทรงเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียกรุง เนื่องจากทรงเลี้ยงข้าราชบริพารสอพลอไว้มาก แต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงทั้งที่ไม่มีฝีมือ แล้วยังมีจิตริษยาปัดแข้งปัดขาขุนนางอื่นๆ เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นมาจึงป้องกันบ้านเมืองไว้ไม่ได้"

       
... ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ
มิได้พิจารณาพวกข้าไท
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ
สุภาษิตท่านกล่าวเป็นราวมา
ไม่ควรอย่าให้อัครฐาน
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี
เสียยศเสียศักดิ์นคเรศ
เสียทั้งตระกูลนานา
    จะอาเพศกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่
เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา
ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา
จะแต่งตั้งเสนาธิบดี
จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี
จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา
เสียทั้งพระนิเวศน์วงศา
เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร  
       

      ไม่ว่าพระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศทรงกระทำการต่างๆ ที่ว่านี้ลงไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผลที่เกิดขึ้นคือความล่มจมของอาณาจักรที่ตั้งมาถึง ๔๑๗ ปี ถึงแม้ว่าสาเหตุใหญ่มาจากสงครามที่ไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้พม่า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงบทบาท และการตัดสินพระทัยของทั้งสองพระองค์ว่า มีผลต่อชะตากรรมของอยุธยา พระนามจึงเป็นที่จดจำกันต่อมานานนับร้อยปี.....

หมายเลขบันทึก: 20190เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2006 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นำไปสอนประวัติศาสตร์ได้ ขอบพระคุณมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท