แต่งโคลงเล่นพอเพลินใจ (๑)


คนไทยแต่งโคลงออกเผยแพร่กันน้อยลง และอ่านน้อยลง จนแทบสูญหายไปจากความนึกคิดของคนรุ่นใหม่ไปหมดแล้ว

แต่งโคลงเล่นพอเพลินใจ : ฝึกแต่งโคลง ๔ สุภาพ

 

        ประวัติความเป็นมาของโคลง

                     สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่า (ประจักษ์  ประภาพิทยากร ,๔๕๒๐:๔๐)   "จะคิดแต่งกันขึ้นครั้งไรไม่ปรากฏ มีเค้าเงื่อนแต่ว่าโคลงนั้นดูเหมือนจะเป็นของพวกไทยข้างฝ่ายเหนือคิดขึ้น มีกำหนดอักษรนับเป็นบาท ๒ บาท ๓ บาท ๔ บาท เป็นบท  เรียกว่า โคลงสอง  โคลงสาม  โคลงสี่  โคลงเก่าๆ มีที่รับสัมผัสและที่กำหนดใช้อักษรสูงต่ำน้อยแห่ง  แต่มามีบังคับมากขึ้นภายหลัง  เห็นจะเป็นเมื่อพวกข้างฝ่ายใต้รับอย่างมาแต่งประดิษฐ์เพิ่มเติมขึ้น

                        กล่าวสรุปได้ว่า โคลงนิยมแต่งทางฝ่ายเหนือ (คะโลง หรือ กะโลง) มานานแล้ว แต่คงไม่เคร่งครัดฉันทลักษณ์มากนัก เราพบว่ามีการแต่งโคลงในวรรณคดีไทยหลายเล่ม เช่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา  พบ โคลงห้าในลิลิตโองการแช่งน้ำ โคลงสุภาพในลิลิตยวนพ่าย  ลิลิตพระลอ เป็นต้น   ต่อมาก็มีการพัฒนารูปแบบฉันทลักษณ์ ให้เคร่งครัดเป็นหลักฐานขึ้น และนิยมแพร่หลายต่อมาหลายยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน

     โคลง: ลมหายใจที่รวยรินของวัฒนธรรมไทย         

                         ดูเหมือนว่าในปัจจุบัน คนไทยแต่งโคลงออกเผยแพร่กันน้อยลง และอ่านน้อยลง จนแทบสูญหายไปจากความนึกคิดของคนรุ่นใหม่ไปหมดแล้ว  บรรดานักศึกษา นักเรียน ที่เรียนกันในสถานศึกษาก็คงพอทราบบ้างแต่จะให้แต่งกันออกมาอ่านอย่างจริงจังหรือแต่งเล่นพอเพลินใจคงยาก  ครูบาอาจารย์ภาษาไทยรุ่นใหม่ๆ เองก็แต่งโคลงกันไม่เป็นเสียแล้ว  คงต้องรอวันฟื้นฟูเหมือนกับคำประพันธ์ชนิดอื่นๆ  เช่นกัน

 

      ประเภทของโคลง    โคลงแบ่งออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ดังนี้

         ๑.โคลงโบราณ    เป็นโคลงที่ดัดแปลงมาจากกาพย์สารวิลาสินีของบาลี เคร่งครัดเฉพาะสัมผัส  ไม่เน้นเรื่องคำเอก คำโท   เช่น  โคลงวิชชุมาลี  โคลงมหาวิชชุมาลี   โคลงจิตรลดา   โคลงมหาจิตรลดา   โคลงสินธุมาลี   โคงมหาสินธุมาลี   โคลงนันททายี   โคลงมหานันททายี    ปัจจุบันหาอ่านได้ยากแล้วเพราะไม่มีใครแต่ง

         ๒.โคลงดั้น   เป็นโคลงที่มีลักษณะบังคับแตกต่างไปจากโคลงสุภาพในกลุ่มที่ ๓ ซึ่งไม่ค่อยมีใครนิยมแต่งมากนัก ส่วนใหญ่ปรากฏในวรรณคดีเก่าๆ  ได้แก่  โคลง ๒ ดั้น  โคลง ๓ ดั้น  โคลง ๔ ดั้น   โคลงดั้นจัตวาทัณที  โคลงตรีพิธพรรณ   โคลงดั้นกระทู้  โคลงดั้นจัตวาทัณที  โคลงดั้นตรีพิธพรรณ

         ๓.โคลงสุภาพ   เป็นโคลงที่ถือว่ายังปรากฏว่านิยมแต่งอยู่ในปัจจุบัน แต่ก็เป็นบางชนิดเท่านั้นโดยเฉพาะโคลง ๔ สุภาพ  โคลงสุภาพแบ่งเป็น  โคลง ๒ สุภาพ  โคลง ๓ สุภาพ  โคลง ๔ สุภาพ   โคลงตรีพิธพรรณ  โคลงจัตวาทัณที  โคลง ๕ (มณฑกคติ)  โคลงกระทู้

 

แต่งโคลง ๔ สุภาพ  แต่งอย่างไร

            ในที่นี้จะขอพูดอธิบายวิธีการแต่งเฉพาะโคลง ๔ สุภาพ  เพราะยังเป็นที่นิยมแต่งกันแพร่หลายอยู่  เนื่องจากมีความไพเราะน่าฟัง

ฉันทลักษณ์ของโคลง ๔ สุภาพ    ๑) คณะ    โคลง ๑ บท  มี ๔ บาท  บาทละ ๒ วรรคบาทที่ ๑,,  วรรคหน้า มี ๕ คำ  วรรคหลัง มี ๒ คำ  และอาจมีคำสร้อยอีก ๒ คำในบาทที่ ๑และ ๓ ส่วนบาทที่ ๔ วรรคหน้า ๕ คำ  วรรคหลัง ๔ คำ  รวมทั้งหมด ๑ บทมี๓๐ คำและมีคำสร้อยได้อีก ๒-๔ คำ     ๒) สัมผัส   คำที่ ๗ บาทที่ ๑ สัมผัสสระกับคำที่ ๕ ของบาทที่ ๒ และ ๓  คำที่ ๗ บาทที่ ๒  สัมผัสสระกับคำที่ ๕ ของบาทที่ ๔ การส่งสัมผัสระหว่างบท (เรียกว่า การร้อยโคลง)  คือ คำสุดท้ายของบาทที่ ๔ บทแรกส่งสัมผัสสระไปยังคำที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓  ของบาทที่ ๑ บทต่อไป  แต่อาจไม่จำเป็นต้องส่งสัมผัสระหว่างบทก็ได้  โคลงแต่ละบทสามารถมีอิสระต่อกัน ๓) คำเอก-คำโท  ลักษณะพิเศษของโคลงคือการบังคับคำเอก คำโท  หมายความว่า  คำเอก เป็นคำที่ปรากฏรูปวรรณยุกต์เอก (สามารถใช้คำตาย คือคำที่มีตัวสะกดในมาตราแม่ กก กบ  กด)และคำโท  คือคำที่ปรากฏรูปวรรณยุกต์โท  ในโคลง ๔ สุภาพ บังคับคำเอกไว้ ๗ แห่ง คือ บาทที่ ๑  คำที่ ๔ หรือ ๕  บาทที่ ๒  คำที่ ๒  และ คำที่ ๖   บาทที่ ๓  คำที่ ๓ และคำที่ ๕   บาทที่ ๔  คำที่ ๒  และคำที่ ๖   ส่วนคำโทบังคับไว้ ๔ แห่ง คือ  บาทที่ ๑  คำที่ ๔ หรือ ๕  บาทที่ ๒  คำที่ ๗  บาทที่ ๔  คำที่ ๕ และคำที่ ๗  (ดูแผนผังจากโคลงครูหรือโคลงแม่แบบ)

 

                         เสียงลือเสียงเล่าอ้าง                อันใด        พี่เอย

                  เสียงย่อมยอยศใคร                         ทั่วหล้า

                  สองเขือพี่หลับใหล                          ลืมตื่น       ฤาพี่

                  สองพี่คิดเองอ้า                               อย่าได้ถามเผือ

                                                                    (ลิลิตพระลอ)

สัมผัส  คำว่า  ใด  ส่งสัมผัสไปคำว่า  ใคร   ไหล   คำว่า  หล้า  ส่งสัมผัสไปคำว่า   อ้า

เอก-โท   คำเอก -    เล่า   ย่อม    ทั่ว    พี่    ตื่น    พี่     อย่า

              คำโท  -    อ้าง   หล้า     อ้า    ได้

 

โคลงที่ไพเราะอย่างไร

           ๑. ตำแหน่งเอก-โท  ในบาทแรก สลับกันได้  นอกนั้นสลับไม่ได้

           ๒. คำเอกใช้คำตายแทนได้  คำโท ใช้คำโทโทษ เช่น  เหล้น (เล่น)  หน้อย (หน่อย)   แต่ไม่ค่อยนิยม

          ๓. คำสุดท้ายของบท ไม่ควรใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์ หรือ คำตาย

          ๔. คำสัมผัสไม่ควรใช้คำที่มีเสียงเดียวกันแม้จะมีความหมายต่างกันก็ตาม

          ๕. คำที่ ๗ บาทแรก  และคำที่ ๕ ของบาทที่ ๒ และ ๓  ไม่ใช้คำที่มีรูปวรรณยุกต์

          ๖. คำสร้อยคำที่ ๒ ต้องไม่มีความหมายต่อเนื่องกับคำสร้อยคำแรก มักใช้ว่า นา แล  ฮา  ฤา  เฮย  แม่  พ่อ ฯลฯ

          ๗. อย่าใช้คำแย่งสัมผัสกับคำสัมผัสบังคับ ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม

          ๘. กรณีในบาทที่ ๔  คำที่ ๕ กับคำที่ ๗ ถ้าซ้ำคำได้ก็เป็นความไพเราะอย่างหนึ่ง  เช่น  มือแม่วีเดียวล้ำ   ยิ่งล้ำลมพาน

          ๙. คำที่ ๕ และ ๖ ของทุกบาทถ้าเป็นคำสัมผัสพยัญชนะ (ใช้พยัญชนะตัวเดียวกัน)  เป็นความไพเราะมาก เช่น

                 ศรีสมรรถเลิศล้ำ              ลำทรง

           เหมพิมานบันยงค์                  ยาตรเยื้อน

           เฉกอาสน์อิศวรองค์                อมเรศ

           จากสถานทิพย์เหลื้อน             ล่องฟ้ามาดิน

                                                    (ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง)

        ๑๐. โคลงนิยมสัมผัสพยัญชนะ มีมากเท่าใดยิ่งไพเราะ เช่น

                  แจ้วแจ้วจักจั่นจ้า             จับใจ

           หริ่งหริ่งเรื่อยเรไร                    ร่ำร้อง

           แซงแซวส่งเสียงใส                  ซาบโสต

           แหนงนิ่งนึกนุชน้อง                  นิ่มเนื้อนวลนาง

                                                     (โคลงนิราศสุพรรณ)

      ๑๑.อย่าแผลงคำเพื่อมุ่งสัมผัส  เช่น  กาย กายา กายี  กาเยศ

 

 

 

ตัวอย่างโคลงที่ถือว่าไพเราะ เป็นแม่แบบการแต่งได้ดี

                ชมแขคิดใช่หน้า            นวลนาง

        เดือนตำหนิวงกลาง                ต่ายแต้ม

        พิมพ์พักตร์แม่เพ็ญปราง          จักเปรียบ        ใดเอย

        ขำกว่าแขไขแย้ม                   ยิ่งยิ้มอัปสร

                                                (นิราศนรินทร์)

                สายัณห์หวั่นสวาทไท้      ธเรศตรี          ศวรแฮ

      สดับแต่เสียงชะนี                     ร่ายร้อง

      เหวยเหวยเรียกสวามี                 มรณาศ

      นึกดังเรียกนุชพร้อง                   พร่ำให้หาเรียม

                                                (นิราศนรินทร์)

                 โอ้ศรีเสาวลักษณ์ล้ำ        แลโลม          โลกเอย

      แม้ว่ามีกิ่งโพยม                         ยื่นหล้า

      แขวนขวัญนุชชูโฉม                    แมกเมฆ         ไว้แม่

      กีดบ่มีกิ่งฟ้า                              ฝากน้องนางเดียว

                                                  (นิราศนรินทร์)

 

      บันทึกนี้ยังไม่จบนะครับ  คราวหน้าเราจะมาบรรเลงเพลงโคลงกันต่อ เพราะเห็นรูปแบบและฉันทลักษณ์เข้าใจแล้ว รวมถึงได้เห็นตัวอย่างโคลงอันไพเราะของกวีโบราณ ทำให้หลายๆ คนส่ายหน้าว่าเห็นทีจะแต่งไม่ได้ แท้จริงแล้วเราสามารถนำเรื่องราวในยุคปัจจุบันมาแต่งเป็นโคลงไว้อ่านเล่นได้ ผมมีวิธีให้ท่านแต่งเป็นขั้นเป็นตอนง่ายๆ ครับ  พบกันในบันทึกครั้งต่อไปนะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 201451เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2008 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ รบกวนคุณช่วยแต่งโคลงให้สี่บท จะได้ไหมคะ เกี่ยวกับอะไรก้ได้

ขอบคุณค่ะ

หอมเอยหอมกลิ่นเจ้า มาลา ยิ่งเฮย

บานเบ่งดอกงามตา แต่เช้า

สีสันยิ่งสรรหา ใดเปรียบ

มวลหมู่ภู่ผึ้งเคล้า ซุกไซ้เกสร

พลับพลึงพวงแก้วยิ่ง ชบาแซม

กุหลาบหนูเข็มแนม ยิ่งล้ำ

ประยงค์ดอกเหลืองแกม ยี่สุ่น

สายหยุดพุดขาวย้ำ ยิ่งย้ำงามสวน

บัวบานรับเจิดจ้า แสงตะวัน

เหลืองเด่นชูช่อพรรณ กลีบซ้อน

รายเรียงดื่นสีสัน ดูเด่น

มวลหมู่ภู่ผึ้งย้อน เยี่ยมเวิ้งกลางบึง

เพลินชมดมดอกไม้ อุทยาน

ชีวิตแสนเบิกบาน แต่เช้า

ลมโชยกลิ่นสราญ สดชื่น

คุณค่ามาลาเจ้า ย่อมให้ใจงาม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท