ปราสาทตาเมืองธม


ปราสาทตาเมืองธม คิวต่อไปของไทย - กัมพูชา

ปราสาทตาเมือนธม คิวต่อไปของไทย - กัมพูชา



ปราสาทตาเมือนธม

ปราสาทตาเมือนธม



          กรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ยังไม่ทันยุติ ก็มีประเด็นใหม่ผุดขึ้นมาให้ได้คลางแคลงใจกันอีกระลอก สำหรับ "ปราสาทตาเมือนธม" ในกิ่งอ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ที่ทางกัมพูชาอ้างว่า ไทยส่งกำลังทหารยึดปราสาทดังกล่าว ทั้งที่เป็นดินแดนของกัมพูชานั้น เรื่องนี้ทำให้หลายคนเกิดความฉงนสงสัยเกี่ยวกับที่มาที่ไปของปราสาทตาเมือนธมกันไม่น้อย ....มากมายหลายคำถามที่ว่า ตกลงแล้วปราสาทนี้เป็นของใคร มีประวัติเป็นอย่างไร วันนี้เรานำข้อมูลมาฝากกันค่ะ

ประวัติปราสาทตาเมือนธม

          ปราสาทตาเมือนธม (คำว่า ตา เมือนธม เป็นภาษาเขมรแปลว่า ตาไก่ใหญ่) เป็นปราสาทหินทรายโบราณขนาดใหญ่ที่สุด ในกลุ่มปราสาทตาเมือน โบราณสถานแบบขอม 3 หลัง อันประกอบไปด้วย ปราสาทตาเมือน ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือนธม ปราสาททั้งสามตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน บนแนวภูเขาบรรทัด ในต.ตาเมียง กิ่งอ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ติดชายแดนกัมพูชา ห่างเพียง 100 เมตรเท่านั้น โดยตัวปราสาทตาเมือนธม สร้างคร่อมโขดหินธรรมชาติที่ศักดิ์สิทธิ์ในรูปของสวยัมภูลึงค์ หรือลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และนี่เองที่เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่า ปราสาทหลังนี้เป็นศาสนาสถานในศาสนาพราหมณ์  ลัทธิไศวนิกาย เป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรม แต่ภายหลังได้ถูกใช้เป็นพุทธสถาน นักโบราณคดีกำหนดอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 ตรงกับศิลปะขอมแบบบาปวน 

          ตัวปราสาทตาเมือนธมจะหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทอื่นๆ ที่มักหันหน้าไปทางทิศตะวันออก และทิศเหนือ เช่น ปราสาทพระวิหาร ซึ่งห่างจากด้านหน้าของปราสาทนี้ออกไปในเขตกัมพูชาจะมีสระน้ำ มีถนนตัดผ่านมาจากเมืองพระนครของเมืองเสียมราษฎร์ โดยถนนเส้นนี้ได้มีการกล่าวถึงในจารึกปราสาทพระขรรค์ ในเมืองพระนครว่า ได้ถูกตัดขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1763) เพื่อเชื่อมระหว่างเมืองพระนครกับเมืองพิมาย ตัดผ่านมาถึงสระน้ำของปราสาทหลังนี้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีความสำคัญพอสมควร 

ปราสาทตาเมือนธม

ปราสาทตาเมือนธม


          ปราสาทตาเมือนธม ประกอบด้วยปรางค์สามหลัง  มีปรางค์ประธานขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ตรงกลาง ปรางค์อีกสององค์อยู่ถัดไปด้านหลังทางด้านขวาและซ้าย ปรางค์ทั้งสามองค์หันหน้าไปทางทิศใต้ ที่ปรางค์ประธานมีลวดลายจำหลักที่สวยสดงดงาม แม้ว่าจะถูกลักลอบทำลายและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา องค์ปราสาทตาเมือนธม ก่อนหน้านี้ กรมศิลปากรเข้าไปบูรณะ แต่ถูกกัมพูชาประท้วงจึงต้องหยุดก่อน อาจเป็นหลังปักปันเขตแดนเสร็จสิ้น ถึงจะบูรณะต่อได้

          ส่วนทางด้านตะวันออกและตะวันตก มีวิหาร 2 หลังสร้างด้วยศิลาแลง อาคารทั้งหมดมีระเบียงคดซึ่งสร้างด้วยหินทรายล้อมรอบ มีโคปุระทั้งสี่ด้าน โคปุระด้านใต้ มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีบันไดทางขึ้นจากเชิงเขาด้านนั้น นอกระเบียงคดทางด้านทิศเหนือมีสระน้ำเล็ก 2 สระ ซึ่งในปราสาทเขมรทั่วๆ ไปมักจะพบว่า มีสระน้ำ หรือแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ใกล้ๆ เสมอ คาดว่าคงเป็นเรื่องของการจัดการแหล่งน้ำ และที่ลานริมระเบียงคดทางมุขด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีศิลาจารึกภาษาขอม กล่าวถึงชื่อ พระกัลปกฤษณะ จึงสันนิษฐานได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและลวดลายจำหลักต่างๆ ทำให้ทราบได้ว่า โบราณสถานแห่งนี้คงจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งเก่าแก่กว่าโบราณสถานอีกสองแห่งในกลุ่มปราสาทตาเมือน

          อย่างไรก็ตาม ปราสาทตาเมือนธม อยู่ห่างจากพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 15 ไปทางตะวันตกหลายร้อยกิโลเมตร แม้จะไม่โด่งดังเท่าปราสาทนครวัด หรือ ปราสาทพระวิหารที่เป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ อยู่ในขณะนี้ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมอันน่ามหัศจรรย์ของอาณาจักรขอมโบราณ ปราสาทตาเมือนธมถูกสร้างเป็นพระตำหนักพักผ่อนของกษัตริย์ขอมในยุคโบราณ ตั้งอยู่ริมถนนโบราณที่เชื่อมระหว่างเมืองที่ตั้งปราสาทนครวัด กับดินแดนที่เป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยในปัจจุบัน โดยฝ่ายไทยอ้างว่าปราสาทตาเมือนธมตั้งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อน

          และหากใครที่สนใจไปเยี่ยมเยือนปราสาทขอมโบราณแห่งนี้ ควรสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานทหารที่ดูแลพื้นที่ที่ตั้งอยู่บริเวณนั้นก่อน เนื่องจากโบราณสถานกลุ่มนี้อยู่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา การเที่ยวชมจึงควรอยู่เฉพาะภายในเขตปราสาทเท่านั้น ไม่ควรเดินออกไปไกลจากแนวต้นไม้รอบปราสาท เพราะพื้นที่นี้ยังไม่ปลอดภัย เนื่องจากอาจมีระเบิดฝังอยู่ และจะเดินไปเหยียบกับระเบิดได้

ความสำคัญของ...ปราสาทตาเมือนธม 

บ้านมีไฟ


          ปราสาทตาเมือนธม มีสิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่าเป็นที่พักคนเดินทาง หรือที่เรียกกันว่า "ธรรมศาลา-บ้านมีไฟ"แห่งหนึ่งใน 121 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายแห่งเมืองพระนคร โปรดฯ ให้สร้างขึ้นจากเมืองยโสธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรขอมโบราณไปยังเมืองพิมาย จึงถือว่าเป็นปราสาทหินที่เชื่อมโยงเส้นทางอารยธรรมขอมโบราณระหว่าง ปราสาทนครวัด-นครธม ประเทศกัมพูชา กับปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ และ ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา  

          นอกจากนี้ ปราสาทตาเมือนโต๊ด ในกลุ่มปราสาทตาเมือน ยังเป็นอโรคยศาลา(โรงพยาบาลในสมัยนั้น) หลังสุดท้ายในเขตประเทศไทย ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งเป็น 1 ใน 102 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างเพื่อช่วยเหลืออาณาประชาราษฎร์ ดังข้อความในจารึกของพระองค์ที่พบในประเทศ ไทยหลักหนึ่งระบุว่า...ทุกข์ของประชาราษฎร์ คือทุกข์ ในพระองค์...  

          สำหรับเรื่องราวที่กำลังเป็นข่าวอยู่ขณะนี้ การถามหาเจ้าของที่แท้จริงของปราสาทตาเมือนธมคงยังไม่ได้ข้อยุติโดยง่าย เพราะทั้งสองประเทศถือแผนที่กันคนละฉบับ โดยฝั่งกัมพูชายึดแผนที่จากการปักปันเขตแดนหมายเลขที่ 23 ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส เมื่อครั้ง ปี ค.ศ.1908 ซึ่งระบุว่า ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่ในดินแดนกัมพูชา ส่วนปราสาทตาเมือนตั้งอยู่ในดินแดนของไทย ขณะที่แผนชุด L 7017 ที่ฝ่ายไทยยึดถือ ปรากฎเส้นแบ่งเขตแดนคือ ตัวปราสาทตาเมือนธมอยู่ในเขตกัมพูชา และอีก 2 ปราสาท(ตาเมือนโต๊ดและตาเมือน) อยู่ในเขตไทย

ปราสาทตาเมือนธม


          อย่างไรตาม  นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวถึงกรณีที่กัมพูชาจะมาเรียกคืนปราสาทตาเมือนธม ที่ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ใน จ.สุรินทร์ว่า กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนปราสาทตาเมือนธมเป็นของไทยมานานแล้ว และไม่เคยเห็นกัมพูชาคัดค้านหรือเข้าไปดูแล และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการพิสูจน์สิทธิ์ แต่เกี่ยวกับเส้นปักปันเขตแดนว่าเป็นอย่างไร เหมือนกรณีเขาพระวิหาร และบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ก็มีแนวเขตแดนต่อกันยาวเป็น 100 กิโลเมตร ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว มีโบราณสถานหลายแห่ง

          เรื่องปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาเมือน จะจบลงอย่างไร จะกลายเป็นประเด็นร้อนระหว่างไทย-กัมพูชาขึ้นมาอีกหรือไม่ คงต้องดูท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้กันต่อไปนะคะ แต่ที่แน่ๆ งานนี้หลายฝ่ายเริ่มจับตามองเรื่องนี้กันไม่น้อยแล้วววว!!!


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, , ,
oeansmile.com และ ezytrip.com

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก prachatai.com

ข่าว
คำสำคัญ (Tags): #สมปรารถนา
หมายเลขบันทึก: 200386เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2008 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

เราจะเป็นของเขมรไปอีกแล้วเหรอคะ

สวัสดีค่ะ

เราจะช่วยกันจับตามองนะค่ะ ......

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท