ดี เอ็น เอ ใหม่ขององค์กร


Organization, New Organization DNA

  วิถีชีวิตของธุรกิจ(Corporate Value)เป็นสิ่งที่มีอยู่และเป็นสิ่งที่หลายธุรกิจยังเข้าใจไม่มากนักหรือแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เลย


  ผู้เขียนจำได้ว่าเคยได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง “การมีจิตสำนึกร่วมกัน” (Corporate Mind) ให้กับนายสถานีของ บมจ.การบินไทยซึ่งจะถูกส่งไปประจำสนามบินต่างๆ ซึ่งการบินไทยมีเที่ยวบินไปลงที่นั่น


  แต่ถ้าย้อนไปเกือบ 12 ปีในช่วงที่ผู้เขียนรับผิดชอบด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลให้กับห้างสรรพสินค้าชั้นนำแห่งหนึ่งของเมืองไทย  มีความจำเป็นต้องออกแบบระบบคุณค่าขององค์กร (Designing Corporate Value System) เพื่อใช้เป็น วิถีชีวิตของธุรกิจ (The Business Way of Life) ซึ่งเป็นสิ่งที่สนุกในการออกแบบระบบคุณค่า (Value System) สร้างวัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture) โดยที่มีทั้งธีม (Theme)  สโลแกน (Slogan) กิจกรรม (Activities) ฯลฯ


  พอในปัจจุบันการศึกษาในด้าน คุณค่าขององค์กรมีมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อธุรกิจต้องการผลักดันให้ “ทรัพยากรบุคคล” หรือ “ทุนมนุษย์” กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามากที่สุด  ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการพิสูจน์อีกต่อไป


  ขณะเดียวกันในกระบวนการคิดเชิงกลยุทธ (Strategic Thinking) ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญของการสร้าง “วิสัยทัศน์ธุรกิจ” (Strategic Vision) จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจสิ่งสำคัญประการหนึ่งของธุรกิจที่เรียกว่า “แรงขับทางกลยุทธ” (Strategic Driving Forces) และเป็นที่ทราบกันดีอีกว่า  แรงขับทางกลยุทธนั้นจะอยู่ภายใต้สิ่งหนึ่งหรือเกิดขึ้นจากสิ่งที่ทุกคนในองค์กรยึดถือ  ซึ่งสิ่งที่ว่านั้นเป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่า “เป็นสิ่งที่จับต้องได้ยากหรือมองไม่เห็น”  โดยอาจจะเป็นความเชื่อในคุณค่า (Values) บางอย่างของธุรกิจหรือวิธีคิด  วิธีทำงานที่ปลูกฝังถ่ายทอดกันมาตั้งแต่รุ่นผู้ก่อตั้งธุรกิจจนถึงผู้บริหารและพนักงานในปัจจุบัน หรือเป็น กฏ กติกา มารยาทขององค์กร
  โดยสรุปแล้วทั้งหมดนี้อาจเรียกว่าคือ วิถีชีวิตของธุรกิจ คุณค่าขององค์กร  วัฒนธรรมองค์กร หรือวินัยแห่งองค์กร  นั้นคือ ดี เอ็น เอ ใหม่ขององค์กร

สิ่งที่สร้างความสำเร็จของธุรกิจในอดีต
  เนื่องจากหัวเรื่องเป็นชื่อดี เอ็น เอ ใหม่ขององค์กร  ซึ่งผู้เขียนมีประเด็นที่อยากเล่าถึงที่ไปที่มาก่อนว่า
  การสร้างสิ่งใดก็ตามซึ่งเป็นสิ่งใหม่  ผู้เขียนให้คุณค่ากับสิ่งต่อไปนี้ในระบบการคิดทางธุรกิจคือ
# การศึกษาถึงอดีตหรือเรื่องราวที่ธุรกิจมีมาก  หรือมีการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ไว้มาก่อนแล้วว่ามีอะไรบ้าง  พร้อมทั้งมีสิ่งที่เป็นช่องว่างของการที่จะพัฒนาต่อไปได้อีกอย่างไร
# การปฏิบัติของธุรกิจภายใต้แนวคิดหรือหลักการที่นำมาใช้นั้นสามารถผลักดันหรือนำพาให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ในโลกธุรกิจจริงๆ อย่างแท้จริงหรือไม่
# การศึกษาในปัจจุบันและอนาคตที่จะเข้ามามีขีดกำหนดสิ่งที่เป็นแนวคิด หรือสมมติฐานที่ควรหยิบมาใช้บูรณาการกับสิ่งที่กล่าวไว้ทั้ง 2 ประการข้างต้น


ฉะนั้นในเรื่อง ดี เอ็น เอ ใหม่ขององค์กรจึงมีที่มาซึ่งนำมาสู่กรอบความคิดได้ อาทิ


* องค์กรที่ประสบความสำเร็จในอดีต  จะมีคุณลักษณะหรือองค์ประกอบ  ตาม
ที่ บัค รอดเจอรัล (อดีตรองประธายฝ่ายการตลาดของ IBM) ได้เคยศึกษาไว้ว่า
1) จะต้องมีความเชื่อบางอย่างที่เป็นศูนย์รวมของการดำเนินงานในทุกด้าน จึงจะสามารถอยู่รอดและประสบความสำเร็จ
2) องค์ประกอบที่มีความสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจคือ ความยึดมั่นอย่างจริงจังต่อความเชื่อเหล่านั้น
3) ถึงแม้ว่าองค์กรจะต้องเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่ผันแปรไปแต่ละองค์กรจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงความเชื่อเหล่านั้น


* องค์กรที่ประสบความสำเร็จด้วยการยึดถือคุณค่าในอดีตของธุรกิจไทย อย่างเช่น กรณี บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย
“หากถามชาวเครือซีเมนต์ไทยถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ  คำตอบที่ได้คงจะเป็นเสียงเดียวกันว่าคือ การยึดอุดมการณ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม  ซึ่งได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและเป็นสิ่งที่คณะกรรมการ  ฝ่ายจัดการและพนักงานทุกระดับได้ถือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอตลอดมา  อุดมการณ์เหล่านี้ประกอบด้วย
- ตั้งมั่นในความเป็นธรรม เครือชีเมนต์ไทยมีความรับผิดชอบที่จะให้ทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม
- ความมุ่งมั่นในความเป็นเลิศ พนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนที่ประกอบกันขึ้นเป็นเครือซีเมนต์ไทย  ตระหนักดีว่าเราทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ ความรู้และความสามารถทั้งมวลที่มีอยู่ให้มากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมอยู่เสมอ  เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคและก้าวหน้าต่อไปด้วยความมั่นคง                                                                                                                                                         - เชื่อมั่นในคุณค่าของคน
เครือซีเมนต์ไทยเลือกเฟ้นแต่คนดีเข้ามาทำงาน  และพัฒนาให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
- ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม
เครือซีเมนต์ไทยดำเนินธุรกิจ  โดยคำนึงถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่พึงมีต่อประเทศชาติและสังคมเป็นส่วนรวม
.......เครือซีเมนต์ไทยถือว่าผลประโยชน์ส่วนของประเทศชาติและสังคมย่อมอยู่เหนือผลประโยชน์อันพึงได้จากการค้าทั้งปวง
อุดมการณ์ทั้ง 4 ประการนี้ เมื่อผนวกเข้ากับการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสม  การเลือกทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพจึงนำมาซึ่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของเครือเป็นเวลาถึง 8 ทศวรรษและเป็นที่เชื่อแน่ว่าด้วยอุดมการณ์นี้จะนำความสำเร็จมาสู่เครือฯ ตลอดไปในอนาคต (สรุปมาจากรายงานประจำปีของ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย, 2536)


หากพิจารณาให้ดีความสำเร็จของธุรกิจในอดีต จะสอดคล้องกับการศึกษาของทอม ปีเตอร์และโรเบิร์ต วอเตอร์แมน ใน IN SEARCH OF EXCELLENCE (1982)  ซึ่งใช้กรอบการวิเคราะห์ตามทฤษฎี 7’S ของแมคคินเซย์ที่บอกว่ามีอยู่ 8 ประการด้วยกันคือ

 1) มุ่งเน้นการปฏิบัติ  2) มีความใกล้ชิดลูกค้า  3) มีอิสระในการทำงานและมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ  4) เพิ่มผลผลิตโดยอาศัยพนักงาน  5) ความเชื่อมั่นในคุณค่าที่เป็นแรงผลักดันทางกลยุทธและสัมผัสกับงานอย่างใกล้ชิด  6) ทำธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญและเกี่ยวเนื่อง  7) รูปแบบเรียบง่ายธรรมดา/พนักงานอำนวยการน้อย  และ 8) เข้มงวดและผ่อนปรนในเวลาเดียวกัน


สิ่งที่น่าสนใจคือ  ความสำเร็จในอดีตของธุรกิจ  จะการันตีความสำเร็จของธุรกิจในอนาคตได้หรือไม่  และคุณค่าใหม่ขององค์กรในอนาคตจะเป็นเฉกเช่นองค์กรในอดีตหรือแตกต่างอย่างสิ้นเชิง  คงต้องคุยกันต่อและอย่าพลาดนะครับ  เพราะสิ่งที่ธุรกิจหรือผู้บริหารท่านรู้อยู่จะเป็นคนละอย่างกับที่ผู้เขียนจะนำเสนอแน่นอน!

ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

หมายเลขบันทึก: 200306เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2008 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท