NOC : แลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีศึกษา


กรณีศึกษาเป็นตัวต่อ เป็นสื่อกลาง สำหรับการไปทำงานในพื้นที่

เมื่อวันที่ ๑-๒ สิงหาคม ๒๕๕๑ มีการประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีศึกษารูปแบบการดูแลสุขภาพชุมชน ของแผนงานสร้างพยาบาลของชุมชนโดยชุมชนเพื่อชุมชน หรือ NOC ระยะที่ ๒ ที่ห้อง Sapphire 2-3 โรงแรมริชมอนด์ ถนนรัตนาธิเบศร์ นนทบุรี

ดิฉันและอาจารย์อุไร จเรประพาฬ ไปร่วมประชุมในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการของสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก่อนหน้าที่จะไปประชุมเราต้องรวบรวมรายงานกรณีศึกษา ๔ พื้นที่ เขียน Executive summary และเตรียม PowerPoint เป็นการทำงานที่ทุกฝ่ายรีบเร่ง มีเวลามาดูรายงานร่วมกัน ๑ ครั้งเพื่อปรับให้รูปแบบเนื้อหาของแต่ละพื้นที่ไปในทิศทางเดียวกัน อาจารย์อุไรจัดการส่งไฟล์เอกสารให้ทางแผนงานฯ ทาง EMS มารู้ภายหลังว่าการเดินทางของเอกสารล่าช้า ไปตกหล่นอยู่ภายใน office แถวๆ แผนงานนั่นแหละ แต่โชคดีที่อาจารย์อุไรเดินทางไปถึงล่วงหน้าและติดไฟล์ไปด้วย จึงนำมาพิมพ์ใส่แฟ้มเอกสารได้ทันการ

ลักษณะการประชุมเป็นการแบ่งกลุ่มย่อย ให้ผู้เข้าประชุมแลกเปลี่ยนผลการศึกษากรณีศึกษาตามกลุ่มประชากรเป้าหมายหรือประเด็นที่ศึกษา เช่น กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มโรคเรื้อรัง กลุ่มควบคุมป้องกันโรค กลุ่มไม่มีประเด็น (กลุ่มนี้ขอตั้งชื่อใหม่เป็นกลุ่มบูรณาการสาระ เพราะกรณีศึกษามีความหลากหลาย) ดิฉันถูกจัดให้ไปอยู่ในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ความที่ไม่ได้รู้รายละเอียดของรายงานกรณีศึกษา จึงขอทำหน้าที่เป็น group facilitator

กลุ่มผู้ด้อยโอกาสมีรายชื่อสมาชิกรวม ๙ คน ถึงเวลาจริงผู้ที่มาเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนสถาบันเสียครึ่งหนึ่ง ประกอบด้วย ดิฉัน อาจารย์พัชรีภรณ์ พรหมรักษา และอาจารย์ภิรมย์ ลี้สุวรรณ์ วพบ.จักรีรัช ราชบุรี อาจารย์สุภาภรณ์ วรอรุณ วพบ.สุพรรณบุรี อาจารย์ศรีสุภา ใจโสภา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รศ.จิรภา ศิริวัฒน์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาจารย์สุนันทา บุญรักษา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม อาจารย์ศิริพร พูลรักษ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญและทีมทำงานของผู้จัดการแผนงานฯ อีก ๑ คน วันที่สองมีสมาชิกเพิ่มมาอีก ๑ คนคืออาจารย์สุพัตรา จาก วพบ.สุพรรณบุรี

ประเด็นการแลกเปลี่ยนมี ๔ เรื่อง
๑. วิธีการทำงานดูแลสุขภาพชุมชนของกรณีศึกษา
๒. เครื่องมือและกระบวนการเพื่อการพัฒนาสุขภาพชุมชนของกรณีศึกษา
๓. บทบาทหน้าที่ขององค์กรหลักในการดูแลสุขภาพชุมชน
๔. ปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จ ประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบาย

กลุ่มของเราทำงานโดยอาศัยกรณีศึกษาของทีม ม.นเรศวร เรื่องกลุ่มผู้พิการตำบลบ่อทอง จ.พิษณุโลก กรณีศึกษาชุมชนพระสมุทรเจดีย์ของทีม ม.สยาม และเรื่องเล่าของทีม วพบ.จักรีรัช ราชบุรี ที่เป็นเรื่องการทำงานของ รพ.เลาขวัญ ที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม่ใช่แพทย์ มีการดูแลผู้พิการ ผู้ป่วยเอดส์ ได้อย่างน่าชื่นชม รวมทั้งกรณีศึกษาที่ อบต.ไร่โว่ อ.สังขละบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลและกันดาร ประชาชนมีความยากลำบาก แต่ปลัด อบต. รู้จักเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาเห็นความยากลำบาก ดึงทุนสังคมจากภายนอก ใช้กระบวนการประชาคมแก้ปัญหาได้อย่างน่าชื่นชม

ช่วงเช้ามีการนำเสนอผลงานกลุ่ม ๒ ประเด็น การนำเสนอของแต่ละกลุ่ม ทำให้เราเห็นความเหมือน-ความต่างในการทำงานของแต่ละพื้นที่ รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร และคุณด้วง ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ทำหน้าที่วิเคราะห์เพิ่มเติม ให้ความเห็น และตั้งคำถามให้คิดต่อ คุณด้วงย้ำว่าให้ treat กรณีศึกษาเป็นตัวต่อ เป็นสื่อกลาง สำหรับการไปทำงานในพื้นที่ ควรศึกษาให้ลึก แสดงให้เห็นเนื้อใน-วิธีการทำงานของชุมชน

ช่วงบ่ายเป็นการทำงานกลุ่มต่อจนครบทั้ง ๔ ประเด็น และเตรียมการสำหรับนำเสนอในวันรุ่งขึ้น กลุ่มของดิฉันเตรียมนำเสนอผลงานในประเด็นที่ ๓ ด้วย mind manager ทีมอาจารย์จาก วพบ.จักรีรัช ราชบุรี ช่วยกันพิมพ์ข้อมูล

 

บรรยากาศการประชุม ซ้าย ฟังการนำเสนอ ขวา ทำงานในกลุ่ม

 

วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๑
เริ่มการทำงานด้วยการนำเสนองานของบ่ายวานนี้ทีละกลุ่ม ทำให้รู้บทบาทหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ในชุมชนมากขึ้น เห็นได้ว่าการทำงานในชุมชนมีองค์กรที่เกี่ยวข้องมากมาย การวิเคราะห์ปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จ เป็นการค้นหาว่าอะไรทำให้เกิดความสำเร็จ ไม่ได้เล่าว่าความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

ตัวอย่างของหลายพื้นที่แสดงให้เห็นว่าสถาบันการศึกษาได้เรียนรู้จากชุมชนเยอะมาก ส่วนใหญ่เราเล่าเรื่องที่คนอื่นทำ สิ่งที่นำเสนอเป็นข้อมูล/เรื่องราวที่ผ่านการตีความแล้ว ดิฉันคิดว่าถ้าเราเอาเจ้าของเรื่องมาเล่าเอง น่าจะได้เรียนรู้อะไรที่ลึกซึ้งมากขึ้น

เกือบ ๑๒ น. อาจารย์ขนิษฐาสรุปว่าประเด็นแต่ละข้อที่ได้จากกรณีศึกษามีทั้งส่วนที่เหมือนและต่างกัน ขึ้นอยู่กับธรรมชาติการทำงานของพื้นที่ การจะสรุปให้ถูกต้องต้องรอรายงานกรณีศึกษาที่สมบูรณ์ พร้อมทั้งบอกว่าควรมีการสอบทานยืนยันกับเจ้าของพื้นที่ด้วย คุณด้วงเสนอให้แต่ละพื้นที่สรุปกรณีศึกษาแต่ละกรณีให้อยู่ใน diagram ที่ดูแล้วเข้าใจเลย คือชัดในแผ่นเดียว มีการนัดหมายให้ส่งกรณีศึกษาฉบับสมบูรณ์ภายในวันที่ ๑๖ กันยายน

การทำงานในลักษณะนัดหมายทำกิจกรรมเป็นระยะๆ อย่างนี้ น่าจะช่วยให้ทีมต่างๆ ทำงานเสร็จได้ทันตามแผน

หลังจากนั้นเป็นการเปิดอภิปรายทั่วไป ทำให้ได้รู้ว่าการดำเนินการของแต่ละสถาบันไปถึงไหน อย่างไร อาจารย์ขนิษฐาและคุณด้วงประชาสัมพันธ์ให้รู้ว่ามีแผนจะทำอะไรต่อไปบ้าง ทั้งด้านการพัฒนานักวิจัย (จะมี fellowship) และการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน กว่าจะได้รับประทานอาหารกลางวันวันนี้ก็เลยเวลา ๑๓ น.ไปมากแล้ว แต่ไม่มีใครบ่นหิวสักคน

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 200127เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2008 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

และแล้วก็ได้พบอาจารย์ในเวทีนี้ พบแล้วค่ะสถาบันพยาบาลที่เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญ ของการปฏิรูประบบสุขภาพ (แกะรอยตามคำประกาศพยาบาลชุมชนในระบบสุขภาพใหม่ ณ.นครเชียงใหม่ 2545 ) กำลังเติมเต็มกรณีศึกษาเพื่อส่งให้ทันตามกำหนด

ขอบคุณ รศ.ดร.ขนิษฐา และคุณดวงพร พลังสำคัญที่ช่วยให้เรามีเวทีเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเป้าหมายคือสุขภาวะชุมชน

ด้วยความขอบคุณอย่างสูงค่ะ

อุดม พานทอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท