beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

เรื่องเล่าจากประวัติศาสตร์ "ทวิราช" (ความแตกสามัคคีทำให้เสียกรุงฯ)


ระหว่างสมเด็จพระเจ้าอุทุพรกับสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์

      เมื่อวันอาทิตย์ (19 มีนาคม 2549)   ผมได้ฟังรายการวิทยุที่ได้เล่าถึงประวัติศาสตร์ตอนหนึ่ง ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง (ก่อน พ.ศ. 2310)  ซึ่งผมพอจำได้และรีบนำมาบันทึกไว้ดังต่อไปนี้ (เล่าจากความจำ)

ทวิราช

   สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เป็นกษัตริย์ ครองกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. ๒๒๗๕-๓๓๐๑ ครองราชย์ 26 ปี สวรรคตเมื่อพระชนมายุได้ 77 พรรษา) ต่อจากสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ (พี่) ทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (น้อง) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๙ แล้วสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มิได้ทรงแต่งตั้งพระราชโอรสองค์ใด ขึ้นเป็นพระมหาอุปราชแทน เป็นเวลาถึง ๑๑ ปี เนื่องจากทรงมีพระราชโอรสที่เข้าข่ายจะตั้งเป็นรัชทายาท 2 พระองค์คือ

  1. เจ้าฟ้าเอกทัศน์ ต่อมาทรงเป็น "กรมขุนอนุรักษ์มนตรี"
  2. เจ้าฟ้าดอกเดื่อ ต่อมาทรงเป็น "กรมขุนพรพินิจ"

   พระองค์ทรงเห็นว่า เจ้าฟ้าเอกทัศน์เป็นเจ้าฟ้าที่เกเร หากแต่งตั้งเป็นรัชทายาทและได้ขึ้นครองราชย์ก็อาจทำให้กรุงศรีอยุธยาล่มสลายได้ เมื่อพระชนม์มายุมากเข้า จึงโปรดให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์ลาผนวช  แล้วจึงทรงตั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๐ ด้วยทรงเห็นว่าทรงพระปรีชา มีพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด

   ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ เสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตได้ขึ้นครองราชย์เมื่อ ปี พ.ศ.๒๓๐๑ ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔" แต่คนส่วนใหญ่รู้จักกันในนาม "สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร"

    ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์  เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีทรงแอบลาผนวชออกมา เสด็จเข้าประทับ ณ พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ตลอดเวลา และแสดงพระองค์ว่าต้องการขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจะจัดการประการใดก็มิได้เพราะเกรงสมเด็จพระราชชนนี

    สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรครองราชย์อยู่เดือนเศษ จึงทรงยอมสละราชสมบัติถวายพระเชษฐาธิราชและเสด็จออกผนวช โดยประทับอยู่ที่วัดประดู่โรงธรรม ครั้งนั้นขุนนางข้าราชบริพารที่มีความสามารถในหน้าที่การงาน พากันลาราชการออกบวชตามพระองค์เป็นจำนวนมาก  

   เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี จึงเสด็จขึ้นครองราชย์์เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๑ ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชามหาดิศรฯ"  แต่คนส่วนใหญ่มักขานพระนามว่า "สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์" และ "สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์" 

    ในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงครองราชย์อยู่นั้น ทางฝ่ายพม่าได้ยกกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๓ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้ทรงขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวช ออกมาช่วยบัญชาการรบ (โดยสัญญาว่าหากรบชนะพม่า พระองค์จะให้พระเจ้าอุทุมพรกลับมาเป็นกษัตริย์) พระเจ้าอุทุมพรจึงได้ทรงลาผนวช และเสด็จพร้อมด้วยข้าราชบริพารเดิม เข้าบัญชาการต่อสู้กับพม่า จนพระเจ้าอลองพญา กษัตริย์พม่า ที่ยกทัพมาได้รับบาดเจ็บจากปืนใหญ่ ต้องยกทัพกลับ และสิ้นพระชนม์ระหว่างทาง

    วันหนึ่ง สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรไปหาถึงในพระที่ แสดงให้เห็นพระแสงดาบวางพาดอยู่บนพระเพลา

    เมื่อสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเห็นเช่นนั้นก็เข้าพระทัยว่า สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ รังเกียจพระองค์ และไม่ยอมถวายราชสมบัติคืน จึงเสด็จออกจากพระราชวังหลวงไปประทับที่พระตำหนักบ้านคำหยาด (อยู่ใน จ. อ่างทอง) แล้วกลับมาทรงผนวชที่วัดประดู่โรงธรรม ภายในกรุงศรีอยุธยาดังเดิม ขณะนั้นบังเอิญทางพม่าเกิดความวุ่นวายภายใน เมืองไทยจึงได้สงบศึกมาหลายปี 

   ต่อมาปลายปี พ.ศ.๒๓๐๗ พระเจ้ามังระ โอรสองค์ที่ ๒ ของพระเจ้าอลองพญา ได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พม่า ได้ส่งกองทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาอีก (สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ก็ได้ไปทรงขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชอีกครั้ง แต่ครั้งนี้พระเจ้าอุทุมพรทรงนิ่งเฉยเสีย) โดยได้ตีเมืองรายทางมา แลเเข้าตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยานานถึง ๑ ปีกับ ๒ เดือน จึงตีพระนครได้ เมื่อวันที่ ๑๓ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๑๐ ตรงกับวันอังคาร ขึ้นเก้าค่ำ เดือนห้า ปีกุน (กรุงศรีอยุธยาจึงสิ้นสุดการเป็นราชธานี หลังจากสภาปนามา 417 ปี) สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้เสด็จหนีไปซ่อนตัวที่ป่าบ้านจิก ใกล้วัดสังฆาวาส ต้องอดอาหารกว่า ๑๐ วัน และเสด็จสวรรคต เมื่อพม่าเชิญเสด็จไปที่ค่ายโพธิสามต้น พม่าได้นำพระบรมศพไปฝังไว้ที่โคกพระเมรุ หน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร

   ส่วนสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขณะผนวชเป็นพระ) และข้าราชบริพานถูกจับเป็นเชลย ไปอยู่ที่พม่า และถูกสัมภาษณ์ (ภาษาปัจจุบัน) จึงทำให้เกิดเป็น "คำให้การของขุนหลวงหาวัด" สืบมาจนปัจจุบัน

   เรื่อง "ทวิราช" การมีพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ ในตอนปลายของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแสดงถึงความแตกสามัคคี แบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน ระหว่างพระเจ้าเอกทัศน์ และพระเจ้าอุทุมพร ทำให้กรุงศรีอยุธยาต้องตกเป็นเมืองขึ้นกับพม่า ผู้สูญเสียนอกจากกษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์แล้ว ประชาชนคนไทยทั้งแผ่นดินก็ต้องสูญเสียในครั้งนี้ด้วย......ท่านได้ข้อคิดจากประวัติศาสตร์เรื่องนี้อย่างไรบ้างครับ...
 

หมายเลขบันทึก: 20001เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2006 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์
  • ขอขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง...
  • ผมมีโอกาสติดตามคุณอาไปทำบุญที่กัมพูชา
  • คนกัมพูชาเก่ง ขยันมาก อุตส่าห์เรียนภาษาไทย เพื่ออ่านพระไตรปิฎกและอรรถกถาไทย
  • พระกัมพูชาเก่งมาก เรียนได้ไว เร็ว และเฉียบขาด(ปฏิภาณไหวพริบดีมาก) เรียนไม่กี่ปีก็จบบาลีใหญ่
    ที่ว่ากันว่า แสนจะยาก
  • คุณอาของผมท่านสันนิษฐานว่า กัมพูชาเป็นชาติที่มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตติดต่อกันมาเป็นเวลานาน
  • ทว่า... ถ้าไปดูกัมพูชาทุกวันนี้จะเห็นคนขาขาด แขนขาดเต็มไปหมด มองไปทางไหนก็เห็นสภาพที่ดูน่าหดหู่
  • ท่านพระซอน เซนชาวกัมพูชาชมเมืองไทยไว้ว่า
    "ไปที่ไหนก็มีต้นไม้(หมายถึงทรัพยากร)
    มีหลอดไฟ(หมายถึงความเจริญ)"
  • ขอคนไทยพึงได้เมตตาซึ่งกันและกันเถิด
    ขอบ้านขอเมืองไทยอย่าได้แตกกันเป็น "ทวิราช"
    ดังที่อาจารย์เขียนมาเลย...
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท