เก็บตกจากโต๊ะสนทนาว่าด้วยการดำรงไว้ซึ่งสถานภาพชำนาญการและเชี่ยวชาญ


ความงดงามในสังคมศิลปากร

        เช้าของวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2551  หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ มีโอกาสต้อนรับเพื่อนๆ จากหน่วยงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยศิลปากรมาสนทนาว่าด้วยเรื่องการดำรงไว้ซึ่งสถานภาพชำนาญการและเชี่ยวชาญ   แรกเริ่มเดิมทีว่าจะคุยกันในวงเล็กๆ ของบุคลากรในสำนักหอสมุดกลาง ที่มีตำแหน่งทางวิชาการดังกล่าวซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายตำแหน่ง เริ่มจากบรรณารักษ์ นักวิชาการช่างศิลป์ นักวิชาการเงินและบัญชีและเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป

                หัวหน้าหอสมุดฯ มีความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ข้าราชการอย่างพวกเราต้องตระหนัก จึงหารือกับผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง  ซึ่งก็เห็นด้วยว่าหากอะไรๆ ที่เริ่มต้นมาจากพวกเราเองก็น่าจะดีกว่าและถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี  และได้เรียนให้ท่านอธิการบดีทราบด้วยว่า พวกเราได้คิดและทำอะไรกันอยู่

                    วงสนทนาเริ่มจากหัวหน้าหอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ นางกาญจนา สุคนธมณี  (พี่แมว) บรรณารักษ์เชี่ยวชาญ ระดับ 9 ในฐานะพี่เอื้อยมาเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของกิจกรรม  :  สิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน  ได้ฟัง  ตามประสาผู้ผ่านร้อน ผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน                     

                ต่อด้วยผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นรงค์  ฉิมพาลี  ในฐานะเป็นผู้ที่คลุกคลีกับข้าราชการ  เนื่องจากเป็นผู้บริหารในหลายตำแหน่งและอยู่ในหลายสถานภาพ  มาพูดเรื่อง สิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง :  ความน่าจะเป็น  สิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน  ได้ฟัง  ของทั้ง 2 ท่านโดยเนื้อหาแล้วคล้ายคลึงกัน แต่ต่างมุมมอง

                พี่แมว บอกว่าเราจะคงไว้ซึ่งสถานภาพชำนาญการและเชี่ยวชาญ อย่างไรนั้นขอให้แลกเปลี่ยนเรียน รู้กัน หรืออาจใช้แนวทางเดียวกันกับเกณฑ์ของสาย ก. เทียบเคียงก็ได้  ซึ่งคิดว่าไม่ใช่เรื่องยากที่พวกเราจะทำเพื่อความต่อเนื่อง

                อาจารย์นรงค์ บอกว่าความต่อเนื่องของการทำผลงานเป็นเรื่องที่ควรตระหนัก  แต่หากไปคิดกฎ หรือเกณฑ์อะไรที่ผูกมัดตัวเองแล้ว  เกรงว่าจะสร้างความอึดอัดขึ้นในใจ   เพราะเราจะรู้สึกว่าต้องทำเพราะถูกบังคับให้ทำ   หากทำอย่างใจสบาย ด้วยจิตสำนึกว่าอยู่ในสถานภาพ ชำนาญการ หรือ เชี่ยวชาญ  คิดว่าทุกคนสามารถแสดงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ได้   ศักยภาพที่ว่าอันเกิดจาก งานประจำ  ซึ่ง ชำนาญการ หรือ เชี่ยวชาญ  ต้องช่วยกันคิดว่าจะสร้างนวัตกรรม  หรือหาแนวทางอย่างไร  เพื่อไม่ให้งานประจำนั้น เป็นสิ่งที่ทำ ประจำ  ในแง่ลบ  เช่น  ผิดประจำ  ถามประจำ  ทำประจำเหมือนที่แล้วๆ มา  ไม่มีอะไรใหม่ที่คิดใหม่เพิ่มเติม            อะไรที่ใหม่ๆ ที่ว่านั้น  นอกจากเป็นประสบการณ์ซึ่งสะสมเป็นความรู้ในตัวเองแล้ว  ยังต้องอาศัยการเรียนรู้  เพื่อทำงานอย่างมืออาชีพให้เหมาะ ให้ควรกับความเป็นชำนาญการและเชี่ยวชาญ พร้อมกับเสนอว่าน่าจะมีเวทีสำหรับสายสนับสนุนในการเสนอผลงานในแต่ละปี

                หลังจากนั้นวงสนทนากันระหว่างผู้ชำนาญการ  ได้ข้อสรุปกันว่าสถานการณ์ปัจจุบันพวกเราก็ได้มีการทำผลงานอย่างต่อเนื่องกันอยู่แล้วในลักษณะต่างๆ กัน  มากบ้าง น้อยบ้างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทั้งของตนเองและหน่วยงาน  ผลงานที่ทำได้แก่ การวิจัยสถาบัน  การเขียนบทความ  เป็นต้น  ส่วนข้อเสนอที่ได้เช่น  ควรมีการนำผลงานที่เคยทำนั้นมาวิเคราะห์หรือนำมาปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย  ส่วนงานบางอย่างควรทำเป็นกรณีศึกษาแล้วเผยแพร่ให้ทราบทุกหน่วยงาน              

                ส่วนตัวแล้วมีความเห็นว่ากระบวนการจัดการความรู้สามารถเข้ามามีบทบาทอย่างมากทั้งสำหรับผู้ชำนาญการหรือการสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากหลากหลายหน่วยงานและหลากหลายความคิดของวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความงดงามในสังคมศิลปากร

หมายเลขบันทึก: 199707เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2008 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 01:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท