HA มอง KM


         สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) จัด 7th HA National Forum  ระหว่างวันที่ 14 - 17 มีนาคม 2549   คนลงทะเบียนเข้าประชุมถึง 5,500 คน

         วันที่ 16 มี.ค.49  พรพ. จัดให้ห้องประชุม 3 เป็นห้องประชุม KM ตลอดวัน   โดยมี 4 session

         พรพ. มีวิธีเรียกแขกด้วยข้อความดังนี้

บูรณาการ KM ในงานบริการโรงพยาบาล
ศ. นพ. วิจารณ์  พานิช (ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม)

         วันนี้ใคร ๆ ก็รู้จัก KM  มีการทำ KM กันอย่างกว้างขวาง
         ต้องยอมรับว่าอาจารย์วิจารณ์เป็นผู้ที่ทำให้เกิดความตื่นตัวในการทำ KM ที่เป็น KM จริง ๆ  ไม่ใช่ KM เฉพาะในรูปแบบ  อาจารย์เสาะแสวงหาว่าเกิด KM ขึ้นที่ใดบ้างในประเทศไทย   เพื่อที่จะหาทางส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก KM ในทุกหย่อมหญ้า   อาจารย์มุ่งเน้นให้เกิดปัญญาปฏิบัติ   จึงมักจะบอกว่า "KM ไม่ทำไม่รู้"   อาจารย์น่าจะเป็นผู้ที่เขียน weblog เกี่ยวกับเรื่อง KM มากที่สุดในประเทศไทย   ผู้สนใจสามารถติดตามได้ที่ http://gotoknow.org/thaikm
         อาจารย์สนใจการทำ KM ในโรงพยาบาลมาก   ไปช่วยกระตุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น  สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายจัดการความรู้ในโรงพยาบาลภาคเหนือตอนล่าง   ไปคิดคำว่า R2R (Routine to Research) ให้กับศิริราชและก็ยังคงติดตามให้คำแนะนำอยู่อย่างต่อเนื่อง   ส่งเสริมเครือข่ายโรงพยาบาลในจังหวัดต่าง ๆ ที่มุ่งมั่นทำ KM จริงจังและติดตามไปดูให้กำลังใจ
         อาจารย์ให้ความเห็นเกี่ยวกับ "แก่นเพื่อการปฏิบัติ" ในการขับเคลื่อนระบบราชการไปสู่ระบบเรียนรู้ผ่าน KM ไว้ 10 ประการ  ซึ่งน่าจะประยุกต์กับองค์กรทุกประเภทได้ 10 ประการนั้น   ได้แก่ 1) สร้างวัฒนธรรมใหม่จากวัฒนธรรมอำนาจเป็นวัฒนธรรมความรู้   2) สร้างวิสัยทัศน์ร่วม  ไม่ใช่แค่ร่วมกำหนด  แต่ต้องร่วมกันตีความ  ทำความเข้าใจจนเกิดสภาพความเป็นเจ้าของ   3) สร้างและใช้ความรู้ในการทำงาน  เอาความรู้ในคนมาแลกเปลี่ยนยกระดับ  บันทึก  นำไปใช้  และไขว่คว้า จากภายนอก   4) เรียนลัดแล้วต่อยอดไปขอเรียนความรู้ในคน แต่ต้องไม่เรียนแบบคัดลอก   5) สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยยุทธศาสตร์เชิงบวก  เสาะหาตัวอย่างของวิธีการยอดเยี่ยมให้พบ   นำมายกย่องและแบ่งปัน   6) จัด "พื้นที่" หรือ "เวที" สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งอย่างเป็นทางการ  และไม่เป็นทางการ   ทั้งพื้นที่จริงและพื้นที่เสมือน   7) พัฒนาคนผ่านการทำงาน  ทำให้เป็นบุคคลเรียนรู้  มีทักษะในการเรียนรู้จากผู้อื่นและร่วมกับผู้อื่น   8) ระบบให้คุณ  ให้รางวัล  แก่ทีมงาน  ส่งเสริม  การเรียนรู้จากความล้มเหลว   9) หาเพื่อนร่วมทาง ทำเป็นเครือข่าย  เพื่อให้มีการกระตุ้นเสริมพลัง  มี "น้ำทิพย์ชโลมใจ"   10) จัดทำ "ขุมความรู้" (knowledge assets) เน้น "ความรู้จากการปฏิบัติ"  และ "ความรู้เพื่อการปฏิบัติ"

การจัดการความรู้สู่การสร้าง LO
ดร. ประพนธ์  ผาสุขยืด (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม)

         กล่าวได้ว่าอาจารย์ประพนธ์  เป็นมือขวาของอาจารย์วิจารณ์ในเรื่อง KM    นอกจากจะเป็นผู้เยี่ยมยุทธ์ในการจัด KM workshop ในบริบทต่าง ๆ แล้ว   อาจารย์ยังเป็นวิศวกรผู้มีพรสวรรค์ด้านอักษรศาสตร์  ผลงานการแปลหนังสือซึ่งแต่งโดย osho ถึงสามเล่ม  เป็นเครื่องยืนยัน
         อาจารย์มองว่าองค์กรที่ดีน่าจะห่างจากสุดโต่งของระหว่างการจัดตั้งมากเกินไป   กับการไม่มีการจัดตั้งเลย    ควรเป็นองค์กรที่พอดี ๆ กระฉับกระเฉงมีชีวิตชีวา   เรียกว่าเป็นองค์กรที่มีชีวิต   คนทำงานมีความสุข  เกิดการเรียนรู้พัฒนาตลอดเวลา
         ลองมาฟังกันว่า KM จะนำไปสู่การสร้าง LO หรือ Learning Organization ได้อย่างไร

Peer Assist in DM Network
ดร. วัลลา ตันตโยทัย (รพ.เทพธารินทร์)
ชนิกา สุระสิงห์ชัยเดช (รพ.เทพธารินทร์)
ภก. เอนก ทนงหาญ (รพ.ธาตุพนม)
นพ. นิพัธ  กิตติมานนท์ (รพ.พุทธชินราช)

         เป็นที่ยอมรับว่า รพ.เทพธารินทร์  เป็นแหล่งวิทยากรในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน   มีการพัฒนาระบบงานบนพื้นฐานของความรู้ที่ทันสมัย   ส่งเสริมการสร้างบุคลากรในสาขาที่จำเป็น  และที่สำคัญคือไม่หวงความรู้   ใคร ๆ ก็สามารถมาเรียนรู้ได้จากที่นี่
         เมื่ออาจารย์วัลลาเข้ามาเรียนรู้แนวคิดเรื่อง KM ก็เอาไปขยายผลสู่การปฏิบัติอย่างกว้างขวาง   รูปธรรมที่ชัดเจนอันหนึ่งคือการใช้เทคนิค peer assist หรือเพื่อนช่วยเพื่อนเต็มรูปแบบ  จนเห็นผลปรากฎชัด   การช่วยเพื่อนนี้ดูเผิน ๆ อาจจะคิดว่าเป็นการดูงาน 

         แต่ที่จริงมีอะไรที่ลึกซื้งกว่านั้น   ทั้งสองฝ่ายจะต้องเตรียมตัวกันอย่างหนัก   ทั้งฝ่ายที่จะขอเรียนรู้กับฝ่ายที่จะช่วยเหลือ   ช่วงเวลาสองวันเต็มที่ รพ.ธาตุพนมและรพ.พุทธชินราช   มาให้เพื่อนเทพธารินทร์ช่วยจึงเกิดการซักถามถ่ายทอดกันอย่างหนักหน่วง   แม้ในระหว่างการเดินทางกลับ   การสรุปบทเรียนจากที่เห็นมาก็เกิดขึ้นตลอดทาง
         ผลลัพธ์ของเพื่อนช่วยเพื่อน  ทำให้เพื่อนที่มาเรียนรู้กลับไปพัฒนาระบบงานของตน   ประยุกต์ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสม  รพ.ธาตุพนมจึงสามารถตัดรองเท้าให้แก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาได้เหมือนกับที่รพ.เทพธารินทร์ด้วยราคาที่ถูกกว่า   สามารถให้การดูแลแผลที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวานด้วย vacuum dressing เช่นเดียวกับที่เทพธารินทร์ ฯลฯ

เครือข่ายเกษตรปลอดภัย จ.พิจิตร
สุรเดช  เดชคุ้มวงศ์ (สสจ.พิจิตร)
พัด  สิงห์ทอง (รพ.วังทรายพูน จ.พิจิตร)
จำรัส  มาเนียม (เกษตรกร อ.วังทรายพูน)

         KM ในภาคเกษตรกรรมก็เป็นที่น่าสนใจ  น่าเรียนรู้สำหรับชาวโรงพยาบาลไม่น้อย   เป็น KM ที่เรียบง่าย  ไม่ต้องมีรูปแบบ  ไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก   แต่มาจากความต้องการใคร่รู้เพื่อความอยู่รอด   จึงไม่แปลกที่จะเห็น วปอ. (วิทยากร  การเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและการพึ่งพากันเอง)  มีแรงบันดาลใจที่จะหาทางออกในการทำการเกษตรแบบพึ่งตนเอง   ไม่ต้องใช้สารเคมี  มีการอบรม วปอ. มีการแสวงหาความรู้จากภายนอก   มีการเรียนรู้กับปราชญ์ในพื้นที่นำมาใช้กับตนเอง   สังเกตการเปลี่ยนแปลงและจดบันทึก   ทำให้ความรู้สามารถตรวจสอบได้   เปรียบเทียบกันได้แล้สนำความรู้มาแบ่งปันกัน   ทำให้ครอบครัวมีหนี้สินลดลง  มีสุขภาพดีขึ้น  มีความสุขมากขึ้น   แล้วพัฒนายกระดับไปสู่การมุ่งเปลี่ยนวิธีคิดซึ่งจะทำให้เกิดการมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง
         คุณสุรเดชเป็นนักพัฒนาที่แท้จริง   มองปัญหาสุขภาพอย่างเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม   จึงทุ่มเทสนับสนุนการเรียนรู้และการรวมตัวของเกษตรกรในจังหวัดพิจิตร   จนเห็นความสำเร็จที่เป็นทางออกของสังคม

         ขอบคุณ พรพ. ที่ช่วยจัดเวที KM ให้แก่สังคมไทยครับ

วิจารณ์  พานิช
 16 มี.ค.49
 

หมายเลขบันทึก: 19906เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2006 11:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ต้องขอชื่นชมว่า พรพ. เขียนเชิญชวนได้ดีมาก แต่ละเรื่องเขียนได้ตรงกับความเป็นจริง ด้วยภาษาที่ง่ายๆ ดิฉันอยากรู้จริงๆ ว่าใครเป็นผู้เขียน

หมออนุวัฒน์เขียนเองครับ

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท