nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

หนังสามก๊ก (ตอนโจโฉแตกทัพเรือ) : อย่าคาดหวังว่าจะได้ดูหนังดี


หนังเรื่องนี้มีภาพที่สวยงาม มีดนตรีประกอบที่ไพเราะ แต่บรรดาศิลปะอื่นๆ ส่วนที่เหลือมันขาดๆ เกินๆ อย่างไรก็ไม่รู้ สรุปว่า “ไม่ลงตัว”

                จอห์น วู เป็นผู้กำกับชาวจีนที่ถนัดทำหนังบู๊  หนังทุกเรื่องของเขาเน้นฉากต่อสู้ที่ภาพสวยงาม   ดูสนุกแต่ไม่มีสาระที่ครบถ้วนตามที่หนังควรให้แก่คนดูเท่าไรนัก 

                สามก๊กเป็นวรรณกรรมที่คนไทยรู้จักดีและชื่นชอบ  พอจอห์น วูหยิบเอาตอนศึกสำคัญของเรื่องคือศึกเซ็กเพ็ก (จอห์น วู ตั้งชื่อภาษาอังกฤษว่า “Red Cliff”)  มาสร้าง แฟนๆ สามก๊กย่อมฮือฮา ตั้งใจรอดู เหมือนหนุ่มใหญ่หนุ่มน้อย ๒ คนของฉันที่ประกาศว่าต้องไปดู  รวมทั้งฉันที่ไม่อ่านแต่พอจะรู้จักตัวละครสำคัญจากการอ้างอิงในหนังสือเล่มต่างๆ ก็ติดตามไปดูด้วยตามประสาคนชอบหนัง

                ดูจบเดินออกจากโรงด้วยความเสียดายเวลา เสียดายเงิน เสียดายโอกาสที่ผู้กำกับหนังจากเอเชียจะได้อวดหนังที่สร้างจากสุดยอดวรรณกรรมต่อสายตาชาวโลก

                เดือนก่อนไปดูหนัง “The Others Boleyn Girl”  ด้วยความคาดหวังว่าจะได้ดูหนังที่เต็มอิ่มด้วยอรรถรสของ ภาษาหนัง อันเป็นศิลปะที่ถ่ายทอดจาก ภาษาหนังสือ   จากหนังสือที่เล่าเรื่องได้ดีมาก  คนแปลก็แปลได้เนียนสุดๆ    ความรู้สึกเมื่อดูหนังเรื่องนั้นจบคือ  เสียดายของดี   เป็นความรู้สึกเดียวกันเลยค่ะเมื่อดูสามก๊กจบลง

                หนังมีหน้าที่สำคัญประการแรกคือ เล่าเรื่อง  แต่จอห์น วู ซึ่งกำกับและร่วมเขียนบทไม่สามารถเล่าเรื่องสามก๊กให้คนไม่อ่านอย่างฉันได้รู้แจ้ง และไม่สามารถ จูงใจ (หน้าที่ของหนังประการที่ ๒) ให้คล้อยตาม ไม่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของหนัง   ตัวละครที่เคยมีสีสันเมื่ออยู่บนแผ่นกระดาษกลับแบนราบ ไร้มิติ  แม้จะพยายามสื่อถึงคติ ความสามัคคีร่วมใจเพื่อสู้อริราชศัตรู  แต่ก็ถ่ายทอดอย่างยัดเยียดโจ่งแจ้งจนไม่เกิดความซาบซึ้ง  สองหนุ่มที่ไปด้วยกันถามกันไปถามกันมาว่า  เอ๊ะ คนนี้ใคร  เอ๊ะมันยังไงกันนะ  สรุปทั้งสองคนที่เป็นแฟนหนังสือก็ต่างบ่นเสียดาย  ฉันที่ไม่เป็นแฟนหนังสือแต่คาดหวังจะได้ดูหนังดีๆ ให้อิ่มใจสักหนก็ผิดหวัง 

ความผิดหวังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความตั้งใจว่า  จะกลับไปอ่านหนังสือสามก๊กให้รวดเดียวจบทั้งสามเล่มเชียว

ปรมาจารย์ด้านภาพยนตร์คนหนึ่ง  นามปากกาของท่านคือ ทิวลิป   ชื่อท่านคือ  อาจารย์กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน  (ถ้าจำนามสกุลท่านผิด กรุณาทักท้วงด้วยจะเป็นพระคุณ)   เมื่อสามสิบปีก่อนโน้นท่านตอบข้อข้องใจของคอหนังอยู่ในนิตยสารเกี่ยวกับหนังฮอลลีวูดชื่อ สตาร์พิค  ฉันชื่นชอบความรอบรู้ของท่านผู้นี้มาก  หวังจะได้เจอตัวจริงสักหน   แล้ววันหนึ่งก็ได้เป็นลูกศิษย์วิชาภาพยนตร์ของท่าน   นอกจากการสอนทฤษฎีต่างๆ แล้ว  อาจารย์ก็กระหน่ำเอาหนังที่เป็นสุดยอดหนังดีมาฉายและสอนเรา  วันดีคืนดีก็เอาหนังมาให้เราดูเป็นการบ้าน  แล้วออกไปวิจารณ์หน้าชั้น  ตอนนั้นเกิดความสงสัยว่า เอ๊ะ  ถ้าเรารู้เบื้องหน้าเบื้องหลังของมันมากๆ เข้าจะดูหนังสนุกไหมนี่   อรรถรสในการชมจะหายไปหรือไม่หนอ  อาจารย์ตอบอย่างสุขุมยิ่งว่า  ไม่หรอก  เราจะดูหนังได้สนุกและลึกซึ้งกับมันมากขึ้น

อาจารย์บอกเราว่า  หนังดีเป็นสุดยอดศิลปะของการเล่าเรื่อง  เป็นการประมวลศิลปะแขนงต่างๆ มาไว้ด้วยกันอย่างลงตัว

ฉันคิดถึงคำอาจารย์ตอนที่ดูหนังสามก๊กจบลง เพราะเหตุว่า 

หนังเรื่องนี้มีภาพที่สวยงาม  มีดนตรีประกอบที่ไพเราะ  แต่บรรดาศิลปะอื่นๆ ส่วนที่เหลือมันขาดๆ เกินๆ อย่างไรก็ไม่รู้  สรุปว่า  ไม่ลงตัว

อดคิดไม่ได้ว่า  ถ้าเอาหนังสือเล่มนี้ให้ จางอี้โหมว หรือไม่ก็อั้งลี่ สร้างเป็นหนัง มันน่าจะเต็มอิ่มและลุ่มลึกกว่านี้

ท่านใด เป็นแฟนหนังสือ  มีเวลา  ไม่เสียดายเงิน  ไม่กลัวเสียของ  ก็ออกจากบ้านไปดูเถอะ  แต่ถ้าไม่มีเวลา เสียดายเงิน  รอดูตอนออกเป็น DVD ก็ไม่เสียหาย

อาทิตย์ที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑

หมายเลขบันทึก: 197364เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2008 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเรื่องที่ จำชื่อตัวละครยากจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท