การพัฒนาหลักสูตรคืออะไร


การพัฒนาหลักสูตร?
          

การพัฒนาหลักสูตร

 

ความหมายของการพัฒนาหลักสูตร

มีนักการศึกษาให้ความหมายของคำว่า การพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้

สงัด อุทรานันท์ ได้กล่าวถึงความหมายของการพัฒนหลักสูตรว่า

การพัฒนาตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Development” มีความหมายอยู่ 2 ลักษณะ คือ

•  การทำให้ดีขึ้นหรือทำให้สมบูรณ์ขึ้น

•  การทำให้เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้การพัฒนาหลักสูตรจึงมีความหมายใน 2 ลักษณะ คือ การทำหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น หรือสมบูรณ์ขึ้น กับการสร้างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีหลักสูตรเดิมเป็นพื้นฐานเลย

ทาบา (Taba) ได้กล่าวไว้ว่าการพัฒนาหลักสูตร หมายถึง การเปลี่ยนแปลงปรับปรุงหลักสูตรอันเดิมให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านการวางจุดมุ่งหมาย การจัดเนื้อหาวิชา การเรียนการสอน การวัดผลประเมินผล และอื่นๆ เพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายอันใหม่ที่วางไว้ การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระบบหรือเปลี่ยนแปลงทั้งหมด ตั้งแต่จุดมุ่งหมายและวิธีการ และการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรนี้จะมีผลกระทบกระเทือนทางด้านความคิดและความรู้สึกนึกคิดของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ส่วนการปรับปรุงหลักสูตร หมายถึง การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเพียงบางส่วนโดยไม่เปลี่ยนแปลงแนวคิดพื้นฐาน หรือรูปแบบของหลักสูตร

กู๊ด (Good) ได้ให้ความเห็นว่าการพัฒนาหลักสูตรเกิดได้ 2 ลักษณะ คือ การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงหลักสูตร การปรับปรุงหลักสูตรเป็นวิธีการพัฒนาหลักสูตรอย่างหนึ่งเพื่อให้เหมาะสมกับโรงเรียนหรือระบบโรงเรียน จุดมุ่งหมายของการสอน วัสดุอุปกรณ์ วิธีสอน รวมทั้งการประเมินผล ส่วนคำว่าเปลี่ยนแปลงหลักสูตร หมายถึงการแก้ไขหลักสูตรให้แตกต่างไปจากเดิม เป็นการสร้างโอกาสทางการเรียนขึ้นใหม่

เซเลอร์ และอเล็กซานเดอร์ (Saylor and Alexander) ให้ความหมายว่าการพัฒนาหลักสูตร หมายถึง การจัดทำหลักสูตรเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น หรือเป็นการจัดทำหลักสูตรใหม่โดยไม่มีหลักสูตรเดิมอยู่ก่อน การพัฒนาหลักสูตร อาจหมายรวมถึงการสร้างเอกสารอื่นๆ สำหรับนักเรียนด้วย

จากความหมายของการพัฒนาหลักสูตรที่นักการศึกษาได้กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้สามารถอธิบาย สรุปความหมายของการพัฒนาหลักสูตรได้ว่า การพัฒนาหลักสูตร (Curriculum Development) หมายถึง การจัดทำหลักสูตร การปรับปรุง การเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้ดีขึ้น เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของบุคคล และสภาพสังคม    (สญามล)

 

 

 สาเหตุที่ทำให้มีการพัฒนาหลักสูตร

          

การพัฒนาหลักสูตร จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพิจารณาถึงข้อมูลพื้นฐานในด้านต่างๆ เพื่อให้หลักสูตรที่สร้างขึ้นมานั้น สมบูรณ์ สามารถสนองความต้องการของบุคคล และสังคม พื้นฐานด้านต่างๆ ที่นักพัฒนาหลักสูตรต้องนำมาพิจารณานั้นมีหลายประการ ซึ่งมีนักการศึกษาได้ให้ความคิดเห็นว่าพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรด้านต่างๆ ที่ควรนำมาพิจารณาในการพัฒนาหลักสูตร มี 5 ด้าน ดังนี้

1.  พื้นฐานทางด้านปรัชญาการศึกษา

2.  พื้นฐานทางด้านจิตวิทยา

3.  พื้นฐานทางด้านสังคมและวัฒนธรรม

4.  พื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง

5.  พื้นฐานทางด้านวิทยาการและเทคโนโลย

 

กระบวนการการพัฒนาหลักสูตร

ทาบา (Taba) ได้กล่าวถึง กระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ตามความเชื่อที่ว่าผู้เรียนมีพื้นฐานแตกต่างกัน โดยกำหนดกระบวนการพัฒนาหลักสูตรไว้ 7 ขั้นตอน ดังนี้

1.  วินิจฉัยความต้องการ : สำรวจสภาพปัญหา ความต้องการ และความจำเป็นต่างๆ ของสังคม และผู้เรียน

2.  กำหนดจุดมุ่งหมาย : หลังจากได้วินิจฉัยความต้องการของสังคมและผู้เรียนแล้วจะกำหนดจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้ชัดเจน

3.  คัดเลือกเนื้อหาสาระ : จุดมุ่งหมายที่กำหนด แล้วจะช่วยในการเลือกเนื้อหาสาระให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย วัย ความสามารถของผู้เรียน โดยเนื้อหาต้องมีความเชื่อถือได้ และสำคัญต่อการเรียนรู้

4.  จัดเนื้อหาสาระ : เนื้อหาสาระที่เลือกได้ ยังต้องจัดโดยคำนึงถึงความต่อเนื่อง และความยากง่ายของเนื้อหา วุฒิภาวะ ความสามารถ และความสนใจของผู้เรียน

5.  คัดเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ : ครูผู้สอนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องคัดเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชา และจุดมุ่งหมายของหลักสูตร

6.  จัดประสบการณ์การเรียนรู้ : ประสบการณ์การเรียนรู้ควรจัดโดยคำนึงถึงเนื้อหาสาระและความต่อเนื่อง

7.  กำหนดสิ่งที่จะประเมินและวิธีการประเมินผล : ตัดสินใจว่าจะต้องประเมินอะไรเพื่อตรวจสอบผลว่าบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ และกำหนดด้วยว่าจะใช้วิธีประเมินผลอย่างไร ใช้เครื่องมืออะไร

 

สงัด อุทรานันท์ มีความเห็นว่าการพัฒนาหลักสูตรมีความครอบคลุมถึงการร่างหลักสูตรขึ้นมาใหม่ และการปรับปรุงหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นด้วย การใช้หลักสูตรและการประเมินหลักสูตรนั้น เป็นกระบวนการอันหนึ่งของการพัฒนาหลักสูตร โดยได้จัดลำดับขั้นตอนของการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้ คือ

1.  การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน

2.  การกำหนดจุดมุ่งหมาย

3.  การคัดเลือกและจัดเนื้อหาสาระ

4.  การกำหนดมาตรการวัดและการประเมินผล

5.  การนำหลักสูตรไปใช้

6.  การประเมินผลการใช้หลักสูตร

7.  การปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร

 กระบวนการพัฒนาหลักสูตรทั้ง 6 ขั้นดังกล่าว มีสาระสำคัญโดยสรุปดังนี้

1.  การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน คือ ข้อมูลทางด้านความต้องการ ความจำเป็นและปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง ตลอดจนนโยบายทางการศึกษาของรัฐ ข้อมูลทางด้านจิตวิทยา ปรัชญาการศึกษา ความต้องการของผู้เรียน ตลอดจนวิเคราะห์หลักสูตรเดิม เพื่อพิจารณาข้อบกพร่องที่ควรปรับปรุงแก้ไข

2. การกำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตร คณะกรรมการดำเนินงานจะต้องร่วมกันพิจารณากำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตรให้สอดคล้องกับข้อมูลพื้นฐาน โดยจุดมุ่งหมายของหลักสูตรจะระบุคุณสมบัติของผู้ที่จบหลักสูตรนั้นๆ มุ่งพัฒนาผู้เรียนทั้ง 3 ด้าน คือ พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย โดยกำหนดทั้งจุดมุ่งหมายทั่วไป และจุดมุ่งหมายเฉพาะ แต่ละรายวิชา ซึ่งจะเน้นการปฏิบัติมากขึ้น โดยคำนึงถึงพัฒนาการทางร่างกาย และจิตใจ ตลอดจนปลูกฝังนิสัยที่ดีงาม เพื่อให้เป็นพลเมืองดี

3.  การกำหนดเนื้อหาและประสบการณ์การเรียนรู้ หลังจากได้กำหนดจุดมุ่งหมายของหลักสูตรแล้ว ก็ถึงขั้นการเลือกสาระความรู้ต่างๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ เพื่อความสมบูรณ์ให้ได้วิชาความรู้ที่ถูกต้องเหมาะสม กระบวนการขั้นนี้ จึงครอบคลุมถึงการคัดเลือกเนื้อหาวิชาแล้วพิจารณาจัดลำดับเนื้อหาเหล่านั้นว่า เนื้อหาสาระใดควรเป็นพื้นฐานของเนื้อหาใดบ้าง ควรให้เรียนอะไรก่อนอะไรหลัง แล้วแก้ไขเนื้อหาที่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งแง่สาระและการจัดลำดับที่เหมาะสม ตามหลักจิตวิทยาการเรียนรู้

4.  การนำหลักสูตรไปใช้ เป็นขั้นของการแปลงหลักสูตรไปสู่การสอน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับครูผู้สอน หลักสูตรจะประสบผลสำเร็จ มีประสิทธิภาพนั้นขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงเรียน และครูผู้สอนจะต้องศึกษาทำความเข้าใจ และมีความชำนาญในการใช้หลักสูตร ซึ่งครอบคลุมถึงการเตรียมการสอน การจัดการเรียนการสอน การจัดสภาพแวดล้อมต่างๆ ภายในโรงเรียนเพื่อเสริมหลักสูตร การนิเทศการศึกษา และการบริหารการบริการหลักสูตร ฯลฯ นอกจากนี้ในขั้นนี้ยังครอบคลุมถึงการนำหลักสูตรไปทดลองใช้ก่อนนำไปเผยแพร่ด้วย

    5. การประเมินผลหลักสูตร เป็นการประเมินสัมฤทธิ์ผลของหลักสูตรว่าเมื่อได้นำหลักสูตรไปใช้แล้วนั้น ผู้ที่จบหลักสูตรนั้นๆ ไปแล้ว มีคุณสมบัติ มีความรู้ความสามารถตามที่หลักสูตรกำหนดไว้หรือไม่ นอกจากนี้ การประเมินหลักสูตรจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปรับปรุงหลักสูตรให้มีคุณค่าสูงขึ้น อันเป็นผลในการนำหลักสูตรไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ การประเมินหลักสูตรควรทำให้ครอบคลุมระบบหลักสูตรทั้งหมด และควรจะประเมินให้ต่อเนื่องกัน ดังนั้นการประเมินหลักสูตร จึงประกอบด้วยการประเมินสิ่งต่อไปนี้ คือ

 

5.1 การประเมินเอกสาร หลักสูตร เป็นการตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตร ว่ามีความเหมาะสมดี และถูกต้องตามหลักการพัฒนาหลักสูตรเพียงใด หากมีสิ่งใดบกพร่องก็จะได้ดำเนินารปรับปรุงแก้ไขก่อนจะได้นำไปประกาศใช้ในโอกาสต่อไป

5.2 การประเมินการใช้หลักสูตร เป็นการตรวจสอบว่าหลักสูตร สามารถนำไปใช้ได้ดีในสถานการณ์จริงเพียงใด มีส่วนไหนที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้หลักสูตร โดยมากหากพบข้อบกพร่องในระหว่างการใช้หลักสูตรก็มักได้รับการแก้ไขโดยทันที เพื่อให้การใช้หลักสูตรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

5.3 การประเมินสัมฤทธิผลของหลักสูตร โดยทั่วไปจะดำเนินการหลังจากได้มีผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรไปแล้ว การประเมินหลักสูตร ในลักษณะนี้มักจะทำการติดตามความก้าวหน้าของผู้สำเร็จการศึกษาว่าสามารถประสบความสำเร็จในการทำงานเพียงใด

     5.4 การประเมินระบบหลักสูตร เป็นการประเมินหลักสูตรในลักษณะที่มีความสมบูรณ์และสลับซับซ้อนมาก กล่าวคือ การประเมินระบบหลักสูตรจะมีความเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบอื่น ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลักสูตรด้วย เช่น ทรัพยากรที่ต้องใช้ ความสัมพันธ์ของระบบหลักสูตร กับระบบบริหาร โรงเรียน ระบบการจัดการเรียนการ

สอน และระบบการวัดและประเมินผลการเรียนการสอน เป็นต้น

6.  การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตร เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากได้ผ่านกระบวนการประเมินผลหลักสูตรแล้ว ซึ่งเมื่อมีการใช้หลักสูตรไประยะหนึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะแวดล้อมและสังคม จนทำให้หลักสูตรขาดความเหมาะสม จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

จากขั้นตอนดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กระบวนการพัฒนาหลักสูตรนั้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการมากขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงใหม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการพัฒนาหลักสูตรจะต้องใช้เวลาเป็นปีขึ้นไป ในการเตรียมการ และการดำเนินงานจำเป็นต้องใช้กำลังคน และงบประมาณมากพอสมควร เพื่อจะให้ได้หลักสูตรที่ดีมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลในการพัฒนาเยาวชนของชาติต่อไป

 ปัญหาของการพัฒนาหลักสูตร

                 ปัญหาของการพัฒนาหลักสูตร  คือปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยกระดับของหลักสูตรจากระดับที่เป็นขึ้นสู่อีกระดับหนึ่ง  ปัญหาอันเกิดจากการร่วมคิดร่วมทำ  ร่วมกันสร้างหลักสูตร และร่วมกันนำหลักสูตรไปใช้ มีดังนี้

1.             ปัญหาขาดครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสม

2.             ปัญหาการไม่ยอมรับและไม่เปลี่ยนแปลงบทบาทการสอน

     ของครูตามแนวหลักสูตร

3.             ปัญหาการจัดอบรมครู

4.             ศูนย์การพัฒนาหลักสูตร  ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน

5.             ขาดการประสานงานหน้าที่ดีระหว่างหน่วยงานต่างๆ

6.             ผู้บริหารต่าง ๆ ไม่สนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร

 

                  วิธีการการพัฒนาหลักสูตร มี  5 วิธีการ

1.             การพัฒนาหลักสูตรจากเบื้องบนสู่เบื้องล่าง

2.             การพัฒนาหลักสูตรจากเบื้องล่างสู่เบื้องบน

3.             การพัฒนาหลักสูตรแบบวิธีการสาธิต

4.             การพัฒนาหลักสูตรวิธีการอย่างมีระบบ

5.             การพัฒนาหลักสูตรโดยวิธีเชิงปฏิบัติการ

 

       การพัฒนาหลักสูตรที่ดีนั้นเราจะต้องรู้ถึงปัญหา   สภาพของปัญหาก่อน แล้วจึงระดมความคิดในการแก้ไขปัญหา  จะต้องมีการร่วมมือกันหลายฝ่ายเพื่อให้หลักสูตรที่ผ่านการพัฒนานั้นมีคุณภาพ

               (สญามล)

                            

 

 

                         ที่มา

 

        กรมวิชาการ.กระทรวงศึกษาธิการ.การพัฒนาหลักสูตร 
                       ตามความต้องการของท้องถิ่น.  
                       กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว,
                       พิมพ์ครั้งที่ ๒  ๒๕๔0.
 
        “หนังสือเรียนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น.”.{ออนไลน์ }.
                       เข้าถึงได้จาก:
                       http://yalor.yru.ac.th/~chujitt/info.htm
 
       “การพัฒนาหลักสูตร.”.{ออนไลน์ }.เข้าถึงได้จาก:  
                      http://members.thai.net/thaitap/ac
  
 

 

หมายเลขบันทึก: 196799เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2008 21:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ดีมากครับ ตอนนี้ผมกำลังศึกษาต่อปริญญาโท และเรียนเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรด้วยครับ

จึงอยากจะขอความคิดเห็นหน่อยครับ

ขอบคุณค่ะที่มีข้อมูลดีๆแบบนี้มาเผยแพร่ กำลังเรียน ป.โทเหมือนกันกับ คห.2 ขอคำอธิบายข้อมูลพื้นฐานด้านวิทยาการและเทคโนโลยีด้วยคะจะเอาข้อมูลไปทำรายงานค่ะ เพราะคลิกลิ้งค์เข้าไปดูแล้วเข้าไม่ได้เลยคะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลนะครับ ช่วยด้ายมากเลยทีเดียว

ขอบคุณอีกครั้ง

ขอบคุณค่ะ กำลังทำรายงานอยู่พอดี

ขอบคุณมากๆ นะคะ กำลังหาข้อมูลอยู่พอดี

ขอบคุณปัญญาชนผู้ให้ความรู้การศึกษาได้ขับเคลื่อนอยู่ตลอด

เป็นเนื้อหาที่มีประโยชน์มากขอบคุณมาก

หลักสูตรเบื่่องล่างสู่เบื่องบนคืออะรัยค่ะ

ขอทราบอ้างอิงของ "เซเลอร์ และอเล็กซานเดอร์ (Saylor and Alexander) ที่ได้ให้ความหมายว่า การพัฒนาหลักสูตร"

ได้ไหมครับ และรู้สึกว่า link ที่ให้มาไม่สามารถเชื่อมโยงได้เลย..ขอบคุณครับ

กำลังเรียน ป.โท สาขาหลักสูตรฯค่ะพอดีต้องรายงานเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของนักพัฒนาหลักสูตร สืบค้นทางเนตไม่เจอค่ะช่วยแนะนำแหล่งข้อมูลด้วยค่ะใครรู้ ขอบคุณค่ะ

เป็นเนื้อหาที่ดีมากครับ มีอ้างอิงด้วย ขอบคุณครับ

สนในเรื่องหลักสูตร และกำลังทำรายงานเรื่องนี้ค่ะ จะขอความอนุเคราะห์ขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ไหมคะ และสนในเรื่องสถานศึกษาแนวใหม่ คะ มีพอจะอธิบายได้ไหมคะ ขอบคุณมากๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท