เล่าเรื่องบทเรียน ตอนที่1


วิธีสอนดีๆที่นำมาบอกต่อ วิธีสอนจะดีหรือไม่ดูที่เป้าหมาย ถ้าเป้าหมายมีคุณภาพก็ ok

                                  เล่าเรื่องบทเรียน  ตอนที่1

        เล่าเรื่องบทเรียน เป็นชื่อหนังสือที่ได้พยายามสะท้อนวิธีสอนดีๆจากเพื่อนครูที่พบ  หนังสือเล่มนี้บันทึกไว้เป็นเรื่องเล่าไว้  9 เรื่อง ดำเนินการจัดทำโดย สนก. สพฐ. ขอรับรองว่า ทุกเรื่องได้เห็น ได้สังเกตุ จากสถานที่จริง บรรยากาศจริง สำหรับรายละเอียดคงเล่าไม่หมด ในที่นี้ จะนำจุดเด่นแต่ละเรื่อง มาบันทึก

                "รวมชั้น...เรียนรู้จากจุดศึกษา"    Best Practies ของครูมาลัย หรือ ครูพิกุล เรื่องนี้ขอแสดงความเคารพในดวงวิญญาณของ ครูพิกุล สิทธิเจริญ โรงเรียนวัดสารภีวิทยาคาร สพท.เขต 4 เจ้าของเรื่อง ท่านล่วงลับไปแล้ว ขอนำวิธีสอนดีๆของครูมาเป็นบทเรียน

            ครูพิกุลต้องการแก้ปัญหาการขาดครู ปัญหานักเรียนอ่าน- เขียนไม่คล่อง ครูอยากทำโรงเรียนให้น่าอยู่ น่าเรียน ครูอยากให้ชุมชนรักโรงเรียน และครูพิกุลเชื่อว่า ความรู้ไม่ได้อยู่ที่ครูบอก แต่อยู่ที่ครูจัดให้เด็กๆได้เรียนรู้ ครูพิกุล และคณะได้เนรมิตสิ่งแวดล้อมเป็นห้องเรียน และทุกคนพร้อมใจกันรวมชั้นสอน สิ่งที่ประทับใจเรามากคือ เด็ก ป.1และ ป.2 เรียนด้วยกัน อย่างมีความสุข วันนั้นเด็กๆเขาทดลองวิทยาศาสตร์เรื่องการแทนที่ของน้ำ การวัดปริมาณน้ำ น่าทึ่งมากเขาจดบันทึกการทดลองด้วย และที่สำคัญเขาบันทึกได้อย่างเร็ว (คล่อง) ครูพิกุลมีบทเรียนมาบอกว่า ระหว่างที่  นักเรียนเรียนรู้ ครูควรทำสิ่งต่อไปนี้อย่างสม่ำเสมอ

                           1. แนะนำกิจกรรมเพื่อทำความเข้าใจกับกิจกรรม ด้วยการถาม-ตอบ  และฝึกการเขียนบันทึก            2. เตือนให้รักษาสิ่งแวดล้อม

                           3.  เตือนให้ทำกิจกรรมให้ครบตามกำหนด               

                          4.  เตือนให้อ่านทุกข้อความและเขียนผลการศึกษา

                          5. ตรวจผลงานเป็นกลุ่มและรายคน

                          6. สะท้อนผลการเรียนรู้ อาจเป็นจุดที่ต้องปรับปรุง อาจเป็นคำชม

                          วิธีการที่เล่ามานี้อาจดูพื้นๆแต่จุดเด่นคือความร่วมมือของครูทุกคน การทำอย่างต่อเนื่อง  จริงจัง

                " การ์ตูนชวนนัก...รักอ่าน"  เรื่องนี้มาจากครูสุดารัตน์ ทับสาย โรงเรียนวัดทำนบ สพท. ราชบุรีเขต 2 ครูเล่าว่า นักเรียนประถมศึกษามีปัญหาคล้ายๆกันคือ การอ่าน-เขียน ไม่คล่อง ไม่สมกับระดับชั้น  ครูสุดารัตน์หนักใจมาก ห้องสมุดก็เล็ก หนังสือก็น้อย

           วันหนึ่งขณะที่ครูพักกลางวัน ครูสุดารัตน์ได้ยินเสียงหัวเราะของเด็กๆมาจากห้องสมุด ครูไปดูเห็นเด็กคนหนึ่งอ่านการ์ตูนจากนิตยสารเก่าๆให้เพื่อนฟัง เพื่อนหัวเราะชอบใจมาก  ครูยิ้มและเป็นที่มาของการนำหนังสือการ์ตูนมาเป็นสื่อ ให้อ่าน ให้ทำหนังสือการ์ตูนเอง (นักเรียนทำหนังสือ แบบตัดปะการ์ตูน) ใช้เวลาฝึกเป็นเทอม ที่สำคัญครูสุดารัตน์บอกว่า ต้องทำอย่างต่อเนื่อง นำหนังสือพิมพ์ หนังสือการ์ตูน ใบปลิวโฆษณา ฯลฯ มาเป็นสื่อ และโรงเรียนต้องจัดกิจกรรมสนับสนุนเช่น ประกวดยอดนักอ่าน ยอดนักสร้างหนังสือการ์ตูน ยอดนักอ่านคำประพันธ์ เป็นต้น

              ไม่น่าเชื่อที่เด็กๆมีหนังสือพิมพ์ฉบับยืนอ่าน (หนังสือพิมพ์บนบอร์ด) เป็นของตัวเอง

(ติดตามตอนต่อไป)

หมายเลขบันทึก: 196567เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2008 23:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 22:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • เป็นตัวอย่างที่ดีมากค่ะ ต้องขอยืมไปใช้กับเด็กนักเรียนบ้าง
  • เป็นกำลังใจให้นะคะ

ค่ะขอบคุณมาก  เสนอต่อนะคะ

       จะตามอ่านตอนที่ 2 ก็ได้ค่ะ

      เล่าสู่เพื่อนเรื่อง " เปตองสยาม" เรื่องนี้อยากบอกต่อกับเพื่อนครูที่ สอนกีฬา สอนพละ เป็นเรื่องของ ครูพงษ์พันธ์  ฉิมโหมด หรือ ครูเริงชัย จากโรงเรียนบ้านลานกระทิง สพท.กำแพงเพชร เขต1

   best practices เรื่องนี้อาจจะดูต่างกว่าเรื่องอื่นที่เคย  นำเสนอเพราะเป็นสื่อหรือเครื่องมือช่วยสอน ช่วยสอน "เปตอง" ช่วยฝึกนักเรียนในการเล่น "เปตอง" ด้วยตนเอง อย่างมีหลักการ กระบวนการทำงานของครูเริงชัย ทำให้ เห็นการวิเคราะห์หลักการสอน วิชาเปตอง (ทำให้เรารู้เรื่องเปตอง มากขึ้น) เห็นการร่วมมือกันทำงาน (ผลิตอุปกรณ์)  เห็นการประเมินการใช้และการปรับปรุงสื่อให้ดีขึ้น

         งานของครูเริงชัยเป็นคำตอบว่าถ้าคิดและทำสื่ออะไรสักชิ้นเ  มีวิธีการดูคุณภาพสื่ออย่างไร

     วิธีการออกแบบสื่อช่วยสอนหรือเปตองสยามชิ้นนี้    

      ครูเริงชัย มีบทเรียนมาบอกต่อดังนี้

        1. กำหนดจุดประสงค์ของสื่ออย่างชัดเจน (สามารถประเมินได้ที่ความสามารถนักเรียนโดยเปรียบเทียบกับการฝึกจากครู)

         2. เชื่อมโยงความรู้เดิม ในที่นี้คือความรู้ในการออกแบบและความรู้เรื่องไฟฟ้า

         3. เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วม ในที่นี้นักเรียนเป็นผู้ทดลอง แสดงความคิดเห็นและร่วมในการปรับปรุง

         4. หาผู้เชี่ยวชาญ ช่วยดูเรื่องคุณภาพ ในที่นี้คือผู้เชี่ยวชาญด้านช่างไม้ และด้านไฟฟ้า

         5.นำไปทดลองใช้ เฝ้าสังเกต บันทึกข้อมูลการใช้

          6.ปรับปรุงและทำเป็นต้นแบบ และนำไปใช้ จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

           7.เก็บข้อมูลปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

(รายละเอียดในหนังสือเล่าเรื่องบทเรียน ของ สนก.สพฐ.แจกให้ทุกสพท.และ รร.ในฝันทุก รร.)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท