ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

สาวเมืองกรุง..ที่ขนำหรือเถียงนา


ซื้อของกินจากตลาด 100 ปี สามชุกไปนั่งกินที่ขนำหรือเถียงนา

     คนชอบพูดกรอกหูให้ได้ยินเสมอว่า ทำอะไรต้องมีแผน  ทำให้ป้าเจี๊ยบจอมแหกคอกอยากทำอะไรแบบไม่มีแผนบ้าง  มาสบโอกาสตอนวันหยุดอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา (17-18 ก.ค.) จัดการพาตัวเองไป "เที่ยวแบบไร้แผน" ค่ะ

     สมาชิกครอบครัวมีแผนกันหมดเนื่องจากเป็นวันหยุดต่อเนื่องกันหลายวัน  เสาร์นี้จึงไม่มีวันครอบครัวตามปกติ  น้องแพรคู่หูของป้าเจี๊ยบไปเชียงใหม่กับพ่อแม่ตั้งแต่เที่ยงวันพุธ 

     พอรถน้องแพรลับตา ต่อมเที่ยวของป้าเจี๊ยบก็กระตุก  นึกอยากไปตลาด 100 ปีที่สามชุก สุพรรณบุรี เนื่องจากศุกร์ที่ผ่านมา (12 ก.ค) ป้าเจี๊ยบชวนป้าแจงไปตลาด 100 ปีที่คลองสวน ฉะเชิงเทรา  จึงอยากรู้ว่าบรรยากาศสองตลาดนี้ต่างกันอย่างไร

     สุ่มโทรศัพท์หาเพื่อนหลายคน ส่วนใหญ่มีแผนกันหมด สุดท้ายได้เพื่อนที่ไม่มีแผนมา 3 คน คือ รศ.ศุภานัน สิทธิเลิศ รศ.มาลี พัฒนกุล และอาจารย์พวงพยอม ณ ลำปาง  บอกเพื่อนว่าจัดกระเป๋าเผื่อค้างคืนด้วย เพื่อนก็ดีมาก ไม่ถามสักคำว่าจะค้างที่ไหน อย่างไร

     ป้าเจี๊ยบรับเพื่อนที่มหาวิทยาลัยตอนเก้าโมงเช้า  แล้วออกไปทางถนนบรมราชชนนี  ขับผ่านบางบัวทองเพื่อไปปสุพรรณบุรีค่ะ ใช้เวลานานเกือบ 2 ชั่วโมงทั้งๆ ที่ระยะทางแค่ร้อยกิโลเมตร  เพราะเห็นอะไรชอบใจระหว่างทางก็จอดลงไปดู  

     อย่างเช่น ฝักหางนกยูงซึ่งเพื่อนไม่เคยกิน  ป้าเจี๊ยบก็จอดให้ลงไปเก็บมาชิม   เห็นต้นไม้มีดอกหรือฝัก  ไม่ทราบได้  สีแดงเข้มสวย  เถียงกันไปเถียงกันมา  ก็ยุติข้อพิพาทด้วยการจอดข้างทางให้ลงไปดูกันเอง ฮืม...

     ตลาดสามชุกร้อยปี มีของกินมากมาย เป็นที่สบอารมณ์คนชอบเที่ยวและชอบกินทั้ง 4 เป็นกันมาก เพื่อนๆ ซื้อโน่นนิดนี่หน่อยชิมไปตลอดทางที่เดินผ่าน  ได้บรรยากาศแบบย้อนยุคเช่นกันกับที่คลองสวนค่ะ  แต่พื้นที่ใหญ่กว่ามาก มีหลายซอยให้เดิน  ขณะที่ตลาดคลองสวนเป็นร้านค้าคู่ขนานไปกับลำคลองยาวเป็นเส้นทางเดียวเท่านั้น 

      4 สหายเดิน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น กันประมาณ 2 ชั่วโมงก็ออกมากางแผนที่ดูว่าจะไปไหนต่อ  จะไปค้างที่บ้านกลางดงกับป้าแจง หรือจะไปสิงห์บุรี อ่างทอง อุทัยธานี...ฯลฯ  สรุปว่าไปเวียนเทียนที่อุทัยธานีกันเถิดเอย..

      เส้นทางที่มุ่งไปอุทัยธานีผ่านป้ายบอกทางไป บึงฉวาก ป้าเจี๊ยบก็เลี้ยวตามป้ายเข้าไปแวะดู  ขณะที่ขับผ่านสวนสัตว์ไปได้หน่อยนึง   ป้าเจี๊ยบเห็น ขนำ ริมทาง  รีบเอ่ยปากชวนเพื่อนว่าจอดกินข้าวที่ ศาลา ไหม?   ทุกคนเห็นด้วยก็เลยหยุดรถ ไปนั่งกินข้าวบ่ายกัน มองทุ่งนาสีเขียวสวย แถมลมพัดโกรกเย็นสบายซะอีก..

 ระหว่างกินก็เปิดอภิปรายว่าที่ป้าเจี๊ยบเรียก ขนำว่าศาลาเพราะคิดว่าเพื่อนๆ ไม่รู้จักคำนี้ ปรากฏว่าพวงพยอมคนพะเยากับมาลีคนสงขลาบอกว่ารู้จัก "ขนำ" ดี แถมมาลียังบอกว่าเรียก เถียงนา ก็ได้   ศุภานันเป็นคนเดียวที่ไม่รู้จักทั้งสองคำ  แถมได้ยินแล้วยังเรียกผิดเป็น เขียงนา ซะนี่.. 

พอกลับมาเล่าให้เพื่อนๆ ที่ทำงานฟังก็เกิดวงเสวนาเรื่องขนำกันขึ้น  

ผศ.บุญเที่ยงคนราชบุรีบอกว่า บ้านผมเรียกโรงนาไหงงั้น?  

อาจารย์สิริมณีบอกว่าเถียงนาของบ้านหนูหมายถึงบริเวณที่คันนาสี่ทิศมาชนกัน มีพื้นดินกว้าง พอนั่งกินข้าวได้  คนเก่าแก่ออกเสียงว่าเขียงนาก็มีค่ะโอ๊ะ.. งั้นศุภานันเรียกเพี้ยนก็ไม่เป็นไรนิ ..

ลงท้าย ป้าเจี๊ยบก็เลยเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตดูซะหน่อย ได้ความอย่างนี้ค่ะ

     ขนำ  [ขะหฺนํา] (ถิ่น-ปักษ์ใต้) น. กระท่อมชั่วคราวในทุ่งนาเป็นต้น
    
เถียง (ถิ่นอีสาน) น. เรือนพักชั่วคราวในทุ่งนา สําหรับอยู่เฝ้าข้าว

     เมื่อกูเกิ้ลคำว่า เถียงนาก็พบว่าในบ้านทรงไทยดอทคอมมีบทความในเรื่อง เถียงนาคืออะไร ของคุณยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ ซึ่งเป็นเพื่อนถาปัดเขียนไว้ด้วย  และมีการอธิบายคำ ขนำไว้ว่า เรือนเครื่องผูกชนิดหนึ่ง ยกพื้นสูง ไม่นิยมกั้นฝา ใช้สำหรับอาศัยอยู่ ชั่วครั้งชั่วคราว เช่น ขนำสำหรับอยู่เฝ้านา

     เป็นอันว่าตอนนี้รู้แน่ชัดแล้วว่า คำหนึ่งเป็นภาษาถิ่นปักษ์ใต้ อีกคำเป็นอีสาน  ฉะนั้นคนภาคกลางอย่างป้าเจี๊ยบเรียกศาลาก็น่าจะไม่ผิด....

       

    ป.ล. ป้าเจี๊ยบต้องขออภัยเจ้าของขนำไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ ที่เข้าไปใช้ประโยชน์โดยพลการ  และขอยืนยันว่าไม่ได้ทำลายสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นแต่อย่างใด  พร้อมทั้งดูแลทุกอย่างให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยก่อนออกเดินทางต่อ  ขอบคุณค่ะ..

หมายเลขบันทึก: 196101เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2008 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณครับป้า

  • อ่านเสียเพลินไปเลย
  • ขอยืนยันว่าเคยทำแบบเดียวกันหลายครั้งแล้ว
  • ได้อะไรมากกว่าที่คาดคิดเสมอ
  • ได้ใช้วิกฤติเป็นโอกาสก็บ่อย โดยเฉพาะตอนที่หลงทาง
  • บนเส้นทางแห่งความหลงนั่นเอง ได้เรียนรู้อะไรที่มาแบบไม่ต้องมีแผน และมักจะมีค่ากว่าที่คาดคิด
  • ผมเรียกมันว่า Planless Plan .. ก่อให้เกิด Planless Trip ก็หลายครั้งครับ
  • ไม่น่าเชื่อว่าครั้งหนึ่งขับรถจะไปสุราษฎร์ .. ไปเห็นตลาดนัดแถวชะอำก็เลยแวะเดินคุยกับแม่ค้า ชาวบ้านเสียเพลิน .. ได้อะไรหลายๆอย่างไปแวะทานกันที่ชายหาด .. ไปคุยกับชาวประมง  ไปเห็นบังกะโล เงียบๆดี เลยตัดสินใจกันเสียง่ายๆ นอนมันเสียที่นั่นคืนหนึ่ง .. สุดแสนจะไร้แผนเลยล่ะครับป้า
  • ลุง Handy เคย "ได้เรียนรู้อะไรที่มาแบบไม่ต้องมีแผน และมักจะมีค่ากว่าที่คาดคิด"
  • ใช้คำเก๋เชียวว่า Planless Plan
  • จะขอยืมเอาไว้พูดบ้างเนาะ 

อีกไม่นาน.. ป้าเจี๊ยบจะไปแอ่วถิ่นคุณจตุพรค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท