รบทัพจับศึก


ภาพ และ เรื่องราวความรู้สึก เมื่อมองผ่านภาพวาดฝาผนัง ละครนอก สังข์ทอง ฝีมือจิตรกรเอก เจ็กเส็ง บนฝาผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ถึงเรื่องราวการเดินทัพทางไกล ของไพร่พลทหารสยาม ยามออกรบออกทัพ จับศึกยังดินแดนถิ่นไกล จึงมีคำถามในแต่ละความรู้สึก ยามเห็นภาพทหารหาญเดินทัพทางไกล เพื่อทำศึกเช่นนี้

รบทัพจับศึก

อ้างอิง - ภาพ Kati1789

ดูจะเป็นเรื่อง

เป็นความจริงจัง

ซึ่งยอมความกันไม่ได้

สำหรับความขัดแย้งในสังคมมนุษย์ ที่นำพาให้เรารบราฆ่าฟัน ประหัตประหารเข่นฆ่า และพร้อมจะใช้ความรุนแรง เข้าต่อยตีต่อกรกับใครคนอื่น ที่เราคิดว่าเป็นศัตรูคู่อาฆาต กระทั่งคิดไปเองว่า ภายหลังจากการรุกรบ จากศึกสงครามอันยิ่งใหญ่เหล่านั้น ตนเองจะต้องเป็นผู้ชนะ ได้ชัยชำนะบนความถูกต้องชอบธรรม หรือแม้กระทั่งเพื่อนำสู่การยุติปัญหาไปสู่ธรรม

หลายครั้งที่เรามักคิดกันไปเอง

ว่าเป็นหนทางยุติธรรม

ด้วยการรบกัน

บ้างก็ว่า หนทางแห่งการรุกรบและศึกสงครามนั้น ก็เพื่อนำพาไปสู่สันติภาพ นำพาผู้คนไปสู่ความสงบสุขอันจริงจัง หรือแม้กระทั่งการรุกรบนั้น คือเครื่องยืนยันของความจริงในสังคมมนุษย์ ว่าสันติสุขและสันติภาพ จะยังคงดำรงอยู่จริง ไม่ว่าใครจะคิดเยี่ยงใดอย่างไร หรือมีรายละเอียดแห่งแง่มุมศึกสงครามเพียงใด เราล้วนมีคำตอบของความจริงในสงคราม 

สิ่งหนึ่ง

ซึ่งเราแต่ละคน

ไม่อาจปฏิเสธได้ในผล

แห่งศึกสงครามอันยิ่งใหญ่ ต่ำต้อย พ่ายแพ้ หรือมีชัยชนะเช่นไร นั้นก็คือ ทุกสงครามย่อมทิ้งรอยบาดแผลใหญ่ไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลเล็กน้อย หรือมากมายเพียงใด จะแอบซ่อนรอยแผลในใจ หรือปรากฎบนร่างกายใบหน้าของผู้คน ทุกศึกสงครามย่อมต้องมีรอยแผล

ไม่ว่าจะเป็นผู้ชนะหรือผู้พ่ายแพ้

ทุกผู้ทุกคนย่อมประจักษ์

ในความจริงเหล่านี้

ยิ่งในยามเห็นความฮึกเหิมของผู้คน ตามคำกระเหี้ยนกระหือรืน หรือตั้งต้นตั้งใจว่า จะกระทำศึกสงคราม ด้วยความอิ่มเอมใจในชัยชนะ และเกียรติศักดิ์เกียรติภูมิของประเทศชาติและแผ่นดินเพียงใด ผมยิ่งนึกทหารหาญผู้บาดเจ็บกลับสู่บ้าน ไม่ต้องนับผู้ล้มตาย ที่ไม่ต้องเป็นภาระร่างกาย

แต่สำหรับทหาร

ผู้บาดเจ็บและสูญเสีย

ทั้งร่างกายและจิตใจต่างหาก

ที่เป็นคำถามต่อเนื่องติดตามมา ไม่ว่าจะเป็นไพร่พลขุนศึก ผู้คนที่ต่างบาดเจ็บกลับมา ย่อมมีบาดแผลมากมาย หลากหลายและซับซ้อนไว้ในรอยแผลเหล่านั้น นักรบหลายคนอาจร่ำไห้เมื่อมองเห็นฝ่ามือตัวเอง ซึ่งเคยแบกศพเพื่อนกลับมา พร้อมคำถามว่า ทำไมตัวเองยังคงไม่ตาย

ใครหลายคนอาจประทับใจ

ในภาพทหารหาญผู้กล้า

แต่ใครจะเห็นหัวใจ

ยามทหารหาญเหล่านั้นร้องไห้ ใครจะได้มีโอกาสเห็นภาพแห่งการรุกรบไปทั้งน้ำตา หรือเดินทางกลับมาพร้อมชัยชนะด้วยน้ำตา สำหรับใครที่เคยประจักษ์ในความจริงของร่างอันไร้วิญญาณ จากคนที่ตนรักซึ่งอยู่ในอ้อมกอด สำหรับความตายเพียงบางเบา ที่กระตุ้นใจในทุกครั้งที่คิดขึ้นมาได้ ไม่ใช่ผู้ชนะทุกคนจะมีรอยยิ้มให้กับการทำศึกสงคราม

ในแต่ละครั้ง

ของเรื่องราวความจริง

จากขบวนแถวของการรบทัพจับศึก

ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ในท่ามกลางความหมายของชีวิต ซึ่งไม่เพียงแอบซ่อนไว้ เฉพาะยามญาติกอดคอร่ำไห้ส่งทหารหาญสู่แนวหน้า หรือรอคอยชะเง้อชะแง้คอมอง เมื่อยามทหารหาญเหล่านั้นกลับคืนสู่บ้าน และย่างเท้าสู่แนวหลัง หลายครั้งที่งานวรรณกรรมมากมาย ต่างแอบซ่อน

 

 

ซึมซับเรื่องราวแห่งการรบทัพจับศึกไว้

ต่างคอยอธิบายแต่ละแง่มุม

ในห้วงลึกและจิตใจคน

ที่ต้องออกศึกสงคราม ที่ต้องเดินทางผ่านระยะเวลา จากการมีชีวิตอยู่สู่ความตาย หรือกระทั่งจากความหวังสู่ความสิ้นหวัง ในท่ามกลางวันคืนของชีวิต งานวรรณกรรมระดับโลก และงานประพันธ์วรรณกรรมของผู้คนในทุกอารยธรรม ต่างบันทึกถึงส่วนหนึ่ง ในเรื่องเล่าแห่งความตายอย่างเป็นทางการเหล่านี้ไว้ ความตายที่สังคมเป็นผู้สนับสนุนหลัก

ความตายแบบเป็นทางการ

ที่ได้รับการรับฉันทามติจากผู้คน

ซึ่งต้องการให้นักรบของเขาเดินไปตาย

ด้วยความเชื่อถึงชัยชนะ เกียรติยศ และผลประโยชน์ของประเทศชาติ ภาพของการเดินทัพทางไกลมากมาย ต่างเก็บงำเรื่องราว ถอดบทเรียนและเรื่องเล่าจากปากคำของผู้ผ่านสงคราม บ่อยครั้งที่มีแง่มุมอันละเอียดแอบซ่อนไว้ เหมือนเช่นที่คนทั่วไปจะคิดว่า ทหารต้องไม่มีน้ำตา

แต่เปล่าเลย สำหรับความจริงซึ่งถูกบันทึก

เมื่อทหารก็เป็นเช่นคนธรรมดาทั่วไป

ที่มีความรักและหัวใจอันบอบบาง

สำหรับภาพวาดจากการเดินทัพทางไกล ในงานเชิงพรรณนาของวรรณกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็น ลิลิตตะเลงพ่าย อิเหนา นิราศนรินทร์ นิราศหนองคาย หรือเสภาขุนช้างขุนแผน ต่างได้บันทึกแบบแผนการเดินทางยุคกรุงศรีอยุธยา ต่อเนื่องเชื่อมโยงสู่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ไว้อย่างชัดแจ้ง

มหกรรมความเจ็บปวด

และความรันทดใจมากมาย

ที่ทำให้งานวรรณกรรมนิราศหนองคาย

เป็นหนึ่งในความจริง ที่สะท้อนรอยด่างรอยแผล และคำถามของไพร่พลต่อขุนนางขุนศึก ในต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนถูกตำหนิและแอบซ่อนไว้เนิ่นนาน เพื่อไม่ให้ใครต้องเห็นรอยแผลแห่งสงคราม หรือเห็นรอยด่างแห่งการบังคับบัญชา เมื่อไพร่พลทหารตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็น

ภาพบันทึกทางประวัติศาสตร์สงคราม

อาจไม่ชัดแจ้งเท่ากับบทรำพัน

ถึงผืนป่าไข้ป่าและสิงสา

เมื่อก้าวย่างผ่านผืนป่า การบันทึกชื่อเมือง แหล่งน้ำทิวเขา กระทั่งอาหารการกินในแต่ละขณะของการเดินทาง ล้วนเป็นรายละเอียดแยกย่อย ที่เราสามารถแลเห็นได้จากความจริงเหล่านี้ หนึ่งในภาพการพรรณนา ถึงการเดินทัพของทัพสยาม นอกเหนือจากภาพแกะสลักผนังอังกอร์วัด อังกอร์ธม ถึงภาพทัพเสียมกุก ยังมีอีกมากมายหลายภาพให้คนไทยได้เห็น

หนึ่งในนั้น

คือภาพการเดินทัพ

ของไพร่พลทหารสยามแดนใต้

เมื่อขี่ช้างม้า เดินเท้าแบกปืน และเคลื่อนพลไปตามลำเนาทิวเขา จากภาพวาดของ เจ็กเส็ง ซึ่งวาดเรื่องลายเส้นวรรณกรรม สังข์ทอง ประดับไว้ในผนังด้านหนึ่งของ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ ซึ่งสันนิษฐานว่าได้มีการวาดลายขึ้น ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25

ภาพการเดินทัพทางไกลของไพร่พล

การแต่งกายและกิริยาท่าทาง

รวมทั้งการจัดขบวน

ถือเป็นหนึ่งในบทบันทึกภาพการเดินทัพ จากดินแดนหนึ่งสู่ดินแดนหนึ่ง ซึ่งชัดเจนและแจ่มแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ภาพ กิริยาอาการ สีหน้าสีตา และลักษณะการแต่งตัวไพร่พล แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่สามารถจะเขียนได้ชัดเจน เท่ากับคำรำพันในงานวรรณกรรมรจนาความทั้งหลาย นั่นคือ คำถามความรู้สึกของไพร่พลเหล่านี้ ในขณะเดินรบทัพจับศึก

ว่าไพร่พลเหล่านี้

รู้สึกนึกคิดใคร่ครวญเช่นไร

ยามต้องห่างบ้าน จากผู้เป็นที่รัก

เพื่อไปสู่สมรภูมิแห่งความตาย

 

 

 

หมายเหตุ : ภาพถ่ายชุดนี้ ถ่ายจากภาพฝาผนัง เรื่องสังข์ทอง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นผลงานวาดของ เจ็กเส็ง ในผนังวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่

 

หมายเลขบันทึก: 196036เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2008 17:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 19:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สงครามแต่ละยุค แต่ละสมัย  ...

* ... ล้วนมีที่มา ที่ไป แตกต่างกัน ?  ...

* เพื่ออะไรหนอ ... เพื่อสันติภาพ

* ... เพื่ออะไรนะ  ... เพื่อความถูกต้อง  ?

* เพื่ออะไรกัน  ...  เพื่อความเป็นธรรม

* ...  เพื่ออะไรเล่า  ....  เพื่อศักดิ์ศรี  ? ไร

* แต่จะเพื่ออะไรก็ตาม ... เรายังต้องเผชิญ  ....

* - -  *

* ... ไม่ว่าจะสงคราม แบบเปิดเผย ในอดีต ?

* หรือ สงครามเงียบ ... สงครามเย็น ในปัจจุบัน  ...

* ....  ใครเลยจะล่วงรู้  .... ใครหนอจะเข้าใจ  ?

- - คนทัพหน้า กับ คนทัพหลัง ความรู้สึกย่อมต่างกัน  - -

- - แล้ว คนกลางเล่า - - ทำไง ?  - -  ทุก ๆ ฝ่ายต่าง  - -

- -  สูญเสีย  ....  เจ็บปวด  .... มีรอยร้าว ... ในใจ ไม่ต่างเลย - -

- -  เป็นกำลังใจให้ ทุกๆ ท่าน ร่วมฟันฝ่า สู่ ภราดรภาพ - - นิรันดร์

... ขอบคุณภาพ จากน้องครูเอ ... เชียงใหม่ - แม่ฮ่องสอน ค่ะ  ...

 

สันติภาพ จงบังเกิด

อันว่าทุกข์อ้าโอ้ โหดร้ายปานเหลือ

โพยภัยพาลรุกรานอย่างฮ้าย

เป็นจั่งใดแท้คึดอ่าน เข่นฆ่า

ปรารถนา ชนะได้พ่ายแพ้ ท่อกัน

บ่มีสงครามใด ลุแม่ง ชนะศึก

บ่เคยมีบ่ตายม้างหลายศพล้น

เคยอยู่ดีกันแล้วไปมาหาสู่

พอเคียดขม กันแล้ว ศัตรูล้วนมิตรหาย

โอ้นอ สุ่มไทยเจ้า กำปูเจีย หมู่แพง สหายเอย

เป็นจั่งใดน้อลุง จั่งมาผิดกันซ้ำ

อยู่กันดีสุขล้น สราญอยู่ บ่เคยเปลี่ยน

พวกดังโม ตั๋วต้ม แผ่นดินเจ้า ลุกเป็นไฟ

เป็นเพื่อนบ้านพี่น้อง ย้ายหนีได้ละบ้อ ลุงเอย

บ่ฮักแพงแบ่งปัน เอ็ดแนวใดเป็นได้

โบราณเก่าอดีตบ่มีเขตแบ่งปัน ดอกพ่อ

อยู่กันคือพี่น้องส่มเซื้อป้าลุง

ไทยเขมรนั่น อื่นไกลอยู่บ้อ

คือได้พากันก่อสร้างสาโดนแล้ว

น้ำเต้าปุงหน่วยเดียวคลานกันออกมา

เป็นทั้งน้องกับอ้ายใหญ่กล้าฮ่วมเฮียง ท่อนั้นแล้ว

สะแม่นตาหัวร่อ ถืกต้มผิดกัน

บักดังโม สุ่มมัน วางแผน ดักเจ้า

ผิดกันทั่วทุกซอก ความเจริญหนีห่าง

ทุกข์ยากเข็ญเกิดได้ อุบายล้นเสวยสุข

ขายสินค้าเสพล้นทุกอย่างมันทำ

ความระยำสุ่มหัวเกิดทั่วทุกคุ้ม

ความรุ่งเรืองกำลังเกิด หลุดหายหดหนี

จักรพรรดินิยมนี้แผนฮ้าย ม้างเฮา พี่น้องเอย

จึงควรฮู้ทันแท้ อย่าหลงได้ หมู่เฮา

พากันค่อยโอ้โลม โสกัน อย่างแท้

อดส่าเจ้า อดทนแน่ หมู่เอย

มีแต่สุ่มซาวเซื้อ หลานลูก พญาแถน ท่อนั้นแหล่ว

ฮักกันไว้ ดีกว่า ซังกัน

หมู่ประสงค์แนวใด คอยจาโลมไว้

ถอยกันคนละก้าว จั่งคึด เจรจา

ไทยเขมร คงไว้ สันติภาพ ฮ่วมกัน

เด้อพี่น้องเอย

สาธุ

อิศรา ประชาไท

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท